xs
xsm
sm
md
lg

THAI พร้อมเพิ่มฝูงบินเป็น 70 ลำ รับผู้โดยสารเพิ่ม ส่วนผลงานโค้ง 3 พลิกขาดทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การบินไทยเล็งเพิ่มฝูงบินเสริมทัพ ตั้งเป้า 70 ลำปี 67 หลังธุรกิจการบินของไทยกลับมาทำการบินราว 70% หากเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ขณะที่อัตราบรรทุกผู้โดยสารปัจจุบันสูงกว่า 80% และมีปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ย 2 หมื่นคนต่อวัน ด้านผลประกอบการโค้ง 3 ปีนี้พลิกขาดทุน 4.78 พันล้านบาท ลดลง 111% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน-การด้อยค่าของสินทรัพย์ ฉุดงบ 9 เดือน ขาดทุนรวมกว่า 1.12 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 122%

นายสุวรรธนะ สีบุญเรือง รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาพรวมธุรกิจการบินไทยกลับมาทำการบินราว 70% หากเทียบกับช่วงปี 2562 หรือก่อนเกิดโควิด-19 โดยปัจจุบันการบินไทยเปิดให้บริการเส้นทางบินรวมทั้งในและต่างประเทศ 68 จุดบิน เทียบกับปี 2562 ที่เปิดให้บริการกว่า 80 จุดบิน และมีอัตราบรรทุกผู้โดยสารปัจจุบันสูงอยู่ที่ราว 80% มีปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ย 2 หมื่นคนต่อวัน

"การเดินทางฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เที่ยวบินของบริษัทฯ มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย 80.4% และเมื่อรวมผู้โดยสารต่างประเทศของสายการบินไทยสมายล์ด้วยแล้ว บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีผู้โดยสารต่างประเทศรวมเฉลี่ยต่อวันจำนวน 21,557 คน คิดเป็นสัดส่วน 30% ของจำนวนผู้โดยสารต่างประเทศทั้งหมดที่เดินทางเข้าออกสนามบินสุวรรณภูมิ" รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีส่วนแบ่งปริมาณการขนส่งสินค้าคิดเป็นสัดส่วน 28% ส่งผลให้รายได้รวมจากกิจกรรมการขนส่งปรับตัวขึ้นไปสู่ระดับ 10,000 ล้านบาท และยังคงมีอัตราการสำรองที่นั่งล่วงหน้าในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2565 ในระดับที่สูงต่อเนื่อง

เล็งเพิ่มฝูงบินเป็น 70 ลำ ภายในปี 67

สำหรับแนวโน้มการฟื้นตัวของปริมาณผู้โดยสารที่เกิดขึ้นนั้น ส่งผลให้การบินไทยประเมินแผนจัดหาอากาศยานเสริมฝูงบินเพิ่มเติม จากปัจจุบันมีอากาศยานให้บริการราว 44 ลำ และในส่วนของสายการบินไทยสมายล์อีก 20 ลำ โดยคาดว่าในปี 2567 การบินไทยจะมีอากาศยานในฝูงบินราว 70 ลำ เพื่อเพียงพอต่อการให้บริการผู้โดยสาร

ขณะนี้การบินไทยได้รับอนุมัติจากกระทรวงคมนาคมให้จัดหาฝูงบินเพิ่มเติมรุ่น A350-900 จำนวน 2 ลำ มีกำหนดทยอยรับมอบลำแรกในเดือน มี.ค.2566 และครบตามจำนวนภายในปี 2566

นอกจากนี้ การบินไทยยังได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้จัดหาอากาศยานเพิ่มเติมอีก 4 ลำ และการบินไทยยังมีแผนจะทยอยจัดหาอากาศยานในปีหน้าเพิ่มเติมอีก 5 ลำ โดยเป้าหมายจะเป็นการจัดหาในลักษณะเช่า และจะเช่าในอากาศยานรุ่นใหม่ที่มีเทคโนโลยีทันสมัย เพื่อให้บริการผู้โดยสารได้หลากหลายและตอบโจทย์มากขึ้น

อีกทั้งยังนำเครื่องบินเก่ามาซ่อมบำรุงและนำกลับมาใข้งานจำนวน 5 ลำ คือ โบอิ้ง 777-200ER จำนวน 2 ลำ และแอร์บัส A330 จำนวน 3 ลำ และยังอยู่ระหว่างพิจารณานำเอาอากาศยานที่ปลดระวางแล้วมาซ่อมบำรุงเพื่อกลับมาใช้เพิ่มเติม เช่น แอร์บัส A380 เนื่องจากขณะนี้ดีมานด์การเดินทางของผู้โดยสารเพิ่มอย่างก้าวกระโดด ขณะที่อากาศยานในตลาดมีความต้องการสูง เพราะหลังโควิด-19 คลี่คลายหลายสายการบินทยอยจัดหาอากาศยานเสริมฝูงบินมากขึ้น

ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนเพิ่มความถี่เที่ยวบินและเปิดให้บริการเส้นทางบินใหม่เพิ่มเติมในเส้นทางสตอกโฮล์ม ไทเป โตเกียว (ฮาเนดะ) ฟุกุโอกะ ซัปโปโร นิวเดลี มุมไบ ไฮเดอราบัด กัลกัตตา เจดดาห์ สิงคโปร์ เมลเบิร์น กวางโจว และคุนหมิง เพื่อรองรับปริมาณความต้องการเดินทางที่ยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเร่งขยายขนาดฝูงบินทั้งโดยการนำเครื่องบินในฝูงบินของบริษัทฯ กลับมาให้บริการ และจัดหาเครื่องบินใหม่เข้ามาประจำการด้วยวิธีเช่าดำเนินการให้เพียงพอต่อแผนเส้นทางบินและจำนวนเที่ยวบิน และเพื่อบรรลุเป้าหมายการหารายได้ตามแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ

ผลงาน Q3/65 พลิกขาดทุนกว่า 4.7 พันล้านบาท จากขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน

บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เปิดเผยผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ประกอบการไตรมาส 3/65 มีผลขาดทุน 4,785 ล้านบาท ลดลง 111% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 39,996 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ จากการตีมูลค่าทางบัญชี เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินบาท และผลขาดทุนจากด้อยค่าของสินทรัพย์ ถึงแม้จะมีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้และกำไรจากการขายสินทรัพย์ในงวดดังกล่าว

ทั้งนี้ มีรายได้รวมทั้งสิ้น 32,860 ล้านบาท เติบโต 582.2% จากปีก่อนที่อยู่ระดับ 28,043 ล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักเกิดจากรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าเพิ่มขึ้น 27,656 ล้านบาท หรือ 855.2% จากการที่บริษัทกลับมาเปิดเส้นทางบินในภูมิภาคต่างๆ มากขึ้นทั้งในยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย พร้อมทั้งยังมีการเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินมากขึ้น โดยมีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (CabinFactor) เฉลี่ยอยู่ที่ 77% ประกอบกับมีรายได้จากการบริการอื่นๆ เพิ่มขึ้น 378 ล้านบาท จากเที่ยวบินลูกค้าที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน 3,920 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 173.8% จากปีก่อนที่อยู่ระดับ 9,230 ล้านบาท นับเป็นไตรมาสแรกตั้งแต่มีสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่บริษัทกลับมามีผลกำไรจากการดำเนินงาน และมีค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 28,940 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 18,813 ล้านบาท เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่แปรผันตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าน้ำมันเครื่องบินที่เพิ่มสูงขึ้นมาก จากราคาน้ำมันที่สูงกว่าปีก่อนถึง 80.3%

ส่วนด้านผลประกอบการงวด 9 เดือนของปี 65 บริษัทมีผลขาดทุนรวม 11,252 ล้านบาท หรือลดลง 122% เมื่อเปรียบเทียบกับงวด 9 เดือนของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 51,121 ล้านบาท โดยบริษัทและบริษัทย่อยมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว ส่วนใหญ่เกิดจากขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และผลขาดทุนจากด้อยค่าของสินทรัพย์ ถึงแม้จะมีกําไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ การปรับโครงสร้างองค์กร และโครงสร้างค่าตอบแทนบุคลากร รวมถึงกำไรจากการขายเงินลงทุนและทรัพย์สิน

อย่างไรก็ตาม รายได้รวมช่วง 9 เดือนของปี 65 (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) มีจำนวน 65,567 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50,730 ล้านบาท หรือ 341.9% ซึ่งมีสาเหตุหลักเกิดจากรายได้จากกิจการขนส่งเพิ่มขึ้น 51,426 ล้านบาท และมีรายได้จากค่าโดยสารและน้ำหนักส่วนเกินเพิ่มขึ้น 1,573.7% จากปริมาณการขนส่งผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้จะมีรายได้จากผู้โดยสารเฉลี่ยต่อหน่วยต่ำกว่าปีก่อน เนื่องจากปีก่อนส่วนใหญ่เป็นเที่ยวบินพิเศษ


กำลังโหลดความคิดเห็น