เปิดเหตุผล “ทวีศักดิ์ แสงทอง” หัวเรือใหญ่ออราเคิลประเทศไทย (Oracle) ไม่หวั่นใจกับการประกาศเข้าลงทุนตั้งศูนย์ข้อมูล (เดต้าเซ็นเตอร์) ในประเทศไทยของ 2 ใน 3 ผู้ให้บริการคลาวด์ชั้นนำของโลก ทั้งกูเกิล คลาวด์ (Google Cloud) และอเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (AWS) ชี้ไร้ผลกระทบเพราะออราเคิลมีทางเลือกให้องค์กรไทยสามารถเก็บข้อมูลในไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา วางแผนปีหน้า 2023 ลุยลงทุนด้านบุคลากรเพื่อให้ความรู้ลูกค้าตามทันเทคโนโลยีที่ออกใหม่ทุก 3 เดือน สุดปลื้มไทยเป็นตลาดคลาวด์ที่มีการเติบโตสูงสุดในอาเซียนของออราเคิล
ในภาพรวม ออราเคิลเชื่อว่าธุรกิจคลาวด์ในประเทศไทยนั้นมีอนาคตสดใส แม้ตัวเลข GDP ประเทศไทยปีนี้-ปีหน้าคาดว่าจะมีอัตราเติบโตราว 3% ซึ่งเป็นการเติบโตที่ไม่ใช่การกลับมาอย่างรวดเร็วเหมือนที่หลายฝ่ายเคยคาดการณ์ไว้ แต่มีแนวโน้มว่าเม็ดเงินลงทุนคลาวด์ในภาคธุรกิจจะมีการขยายตัวต่อเนื่อง บนความท้าทายเรื่องค่าใช้จ่ายบานปลาย จนหลายองค์กรต้องเพิ่มงบอีกหลายสิบเปอร์เซ็นต์ จากที่เคยประเมินว่าจะลงทุนกับระบบคลาวด์เพิ่มราว 10% เท่านั้น
สิ่งที่ออราเคิลทำเพื่อตอบความท้าทายนี้ คือการเปิดทางให้ลูกค้าเข้าร่วม “โปรแกรมพิเศษ” ที่ให้ทางเลือกองค์กรสามารถเข้าร่วมเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการใช้คลาวด์ลง ขณะเดียวกัน เพิ่มดีกรีความเข้มข้นให้เทคโนโลยีคลาวด์ของบริษัทมีความแตกต่าง ซึ่งส่งให้ธุรกิจคลาวด์ของออราเคิลมีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในโลกช่วงไตรมาส 1 ปีการเงิน 2023 ได้เรียบร้อย
***รายได้คลาวด์พุ่งกระฉูด
ไตรมาส 1 ปีการเงิน 2023 ที่ออราเคิลเพิ่งปิดไปนั้นสามารถทำรายรับมากกว่า 1.14 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยรายได้จากคลาวด์ (ครอบคลุมบริการโครงสร้างพื้นฐานและบริการซอฟต์แวร์) คิดเป็น 3.6 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 45%
การเพิ่มขึ้น 45% ทำให้ออราเคิลเป็นค่ายคลาวด์ที่เติบโตเร็วที่สุดในกลุ่ม นำหน้ากูเกิลคลาวด์ที่โต 36% หรือเอสเอพีที่เติบโต 34% โดยแอปพลิเคชันและโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ของออราเคิลในขณะนี้ทำเงินได้กว่า 30% ของรายได้รวม ที่โดดเด่นคือ รายได้จากระบบ Fusion ERP Cloud ที่เพิ่มขึ้น 38% ยังมีระบบ NetSuite ERP Cloud ที่เพิ่มขึ้น 30% และรายได้จากการใช้ Oracle Cloud Infrastructure ที่เพิ่มขึ้น 103% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
ทวีศักดิ์เชื่อว่า 2 เหตุผลหลักที่ทำให้การเติบโตของออราเคิลไปไกลกว่าค่ายอื่น คือประสบการณ์ด้านการวิเคราะห์ข้อมูล โดยออราเคิลเทโฟกัสให้เอกชนสามารถใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์และสร้างการเติบโตทางธุรกิจได้ดี ทำให้สามารถแก้ปัญหาได้เร็วกว่าคู่แข่ง เบื้องต้นเห็นการลงทุนขยายตัวชัดเจนในกลุ่มโรงแรมที่เริ่มกลับมาลงทุน รวมถึงธุรกิจค้าปลีกที่ต้องการเทคโนโลยีที่ครบวงจร
“44 ปีที่ผ่านมา ออราเคิลสามารถขยายฐานลูกค้าสู่ทุกอุตสาหกรรม” ทวีศักดิ์ ระบุ พร้อมให้ข้อมูลว่าฐานลูกค้าของออราเคิลครอบคลุมทั้งกลุ่มสาธารณสุข การเงินการธนาคารและอีกหลากหลาย โดยปัจจุบัน ออราเคิลมีลูกค้าองค์กรธุรกิจมากกว่า 400,000 รายทั่วโลก รวมทั้งติ๊กต็อก (TikTok) และซูม (Zoom) ซึ่งถือเป็นรายชื่อบริษัทที่ยืนยันการเติบโตของออราเคิลได้ดี
สำหรับประเทศไทยที่ถูกยกเป็นแหล่งรายได้ที่สร้างเงินสะพัดสูงสุดเมื่อเทียบกับที่ออราเคิลทำได้ในภูมิภาค พบว่ามีการเติบโตในอุตสาหกรรมการเงินและธนาคารที่ลงทุนเพิ่มขึ้นไปอีกขั้นจากที่เคยลงทุนไปแล้ว โดยหลายธนาคารต้องการใช้เทคโนโลยีที่มากกว่าเพื่อไปดิสรัปฟินเทค นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มค้าปลีกและภาครัฐ รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตที่มีข่าวหนาหูเรื่องการย้ายฐานการผลิตจากไทยไปเวียดนาม ทำให้ภาคการผลิตของไทยมีความพยายามทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ รวมถึงการยกระดับการวิเคราะห์ในสายการผลิตเพิ่มขึ้นอีก
***มั่นใจสู้ได้นานแล้ว
ทวีศักดิ์ เชื่อว่า สถานการณ์ที่ประเทศไทยมีการลงทุนคลาวด์ระดับภูมิภาค (region) ของผู้ให้บริการรายใหญ่ระดับโลกนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบถึงออราเคิล ซึ่งเห็นได้ชัดจากผลประกอบการของออราเคิลประเทศไทยที่มีการขยายตัวสูงสุดในภูมิภาค
“เหตุผลเป็นเพราะออราเคิลมีทางเลือกให้องค์กรไทยสามารถเก็บข้อมูลในไทยได้ตลอดหลายปี ซึ่งธนาคารและสถาบันการเงินที่เป็นลูกค้าออราเคิลมีการทำมาหลายปีแล้ว และยังขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นการทำ dedicated region ได้เหมือนกับ public cloud ซึ่งมีหลากหลายให้เลือก” ทวีศักดิ์ระบุ “อีกจุดคือออราเคิลทำตัวเป็นระบบเปิด ปัจจุบันลูกค้าองค์กรจะเลือกทำมัลติคลาวด์ เนื่องจากไม่ต้องการถูกล็อกไว้กับใคร แต่จะมีปัญหาคือค่าใช้จ่าย ดังนั้นระบบเปิดจะทำให้เกิดความครอบคลุมที่แตกต่าง ขณะเดียวกันก็มีระบบการจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลที่รองรับข้อมูลระดับมหาศาล ทำให้ระบบเปิดมากกว่าเดิม ไม่ปิดกั้นกับเฉพาะค่ายไหน”
แม้จะมองว่าออราเคิลมีดีพร้อมอยู่แล้วและไม่จำเป็นต้องลงทุนตั้งเดต้าเซ็นเตอร์ในไทยเหมือนคู่แข่ง แต่ออราเคิลยอมรับว่าการลงทุนในประเทศไทยที่เกิดขึ้นถือเป็นสัญญาณดีที่จะสามารถต่อยอดจากธุรกิจระบบฐานข้อมูลที่ออราเคิลฝังรากลึกในองค์กรไทย
“ถ้ามีการลงทุนในระหว่างนี้ต้องถือเป็นสิ่งยืนยันว่าจะมีการใช้งานคลาวด์ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นสูงมาก นี่เป็นสัญญาณดีที่แปลว่าไทยไม่ล้าหลังเรื่องการใช้งานคลาวด์ สำหรับออราเคิล เชื่อว่าบริษัทจะไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากมีฐานลูกค้าจำนวนมากอยู่แล้วในประเทศไทย องค์กรมากมายใช้งานออราเคิลทั้งระบบการเงิน ระบบ ERP มีการใช้ระบบฐานข้อมูล การใช้ซันไมโครซิสเต็มส์ (Sun) การลงทุนจะเพิ่มการรับรู้และตื่นตัวขององค์กรจะเป็นผลดีกับออราเคิลที่มีบริการซึ่งเข้าถึงได้ง่าย เช่น โปรแกรมที่ให้องค์กรได้ใช้ฟรี 35% ของการใช้งาน ทำให้งบการลงทุนต่ำลงได้”
ออราเคิลประเทศไทยจะยังคงให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านบุคลากร โดยเฉพาะการทำ talent management ซึ่งเป็นการปรับจูน พัฒนา และให้ความรู้กับลูกค้าในทุก 3 เดือนที่ออราเคิลออกเทคโนโลยีใหม่ ขณะเดียวกันบริษัทได้ลงทุนตั้ง “คลาวด์เซ็นเตอร์” เพื่อเป็นศูนย์ถ่ายทอดความรู้ ให้ลูกค้าองค์กรสามารถเรียนรู้และหยิบใช้เทคโนโลยีอย่างเห็นผล เป็นการลดเวลาในการพัฒนา และอาจมีผลพวงเรื่องความสามารถลดการปล่อยคาร์บอนฯ ขององค์กรได้ด้วย
นอกจากการวางแผนลงทุนกับทีมเทคนิค เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถเปลี่ยนจุดเจ็บปวดมาเป็นพื้นที่เติบโตใหม่ (หาไอเดียธุรกิจ) ออราเคิลมีแผนจะเร่งส่งต่อเทคโนโลยีใหม่ที่เปิดตัวในงาน Oracle CloudWorld 2022 งานอีเวนต์แฟล็กชิปประจำปีของออราเคิลซึ่งเพิ่งจัดขึ้นที่สหรัฐอเมริกาเมื่อกลางตุลาคมที่ผ่านมา หลังจากหยุดการจัดงานไป 3 ปี หนึ่งของในเทคโนโลยีเด่นที่ถูกเปิดตัวในงานนี้คือ Oracle Alloy แพลตฟอร์มโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์รูปแบบใหม่ที่ช่วยให้พันธมิตรธุรกิจสามารถกลายเป็นผู้ให้บริการคลาวด์และเปิดตัวบริการคลาวด์ใหม่ๆ ให้แก่ลูกค้าของแต่ละรายได้เอง
ขณะเดียวกัน ออราเคิลยังเปิดตัว MySQL HeatWave Lakehouse ช่วยให้ลูกค้าสามารถประมวลผลและสร้างรายการของข้อมูลนับพันเทระไบต์จากศูนย์เก็บข้อมูลที่มีไฟล์หลากหลายฟอร์แมต รวมถึงการเปิดตัว Oracle Cloud Infrastructure, Oracle Analytics, Oracle Database ตลอดจนการประกาศข่าวนักพัฒนา พันธมิตร และลูกค้ารายอื่นๆ
ที่สำคัญคือออราเคิลได้เปิดตัว Oracle B2B Commerce บริการใหม่ที่บูรณาการและเปลี่ยนให้การทำธุรกรรมระหว่างหน่วยงานธุรกิจเป็นระบบอัตโนมัติได้ในทุกขั้นตอน ยังมี Oracle Applications Platform ช่วยให้ลูกค้าและพันธมิตรสามารถสร้างระบบการทำงานบนชุดแอปพลิเคชันคลาวด์ของออราเคิลได้อย่างสมบูรณ์ และยังสร้างแอปพลิเคชันที่รองรับการทำงานรูปแบบเฉพาะของอุตสาหกรรมหลักต่างๆ
“เทคโนโลยีที่หลายค่ายทำนั้นไม่เชื่อมกัน ทั้งธนาคาร ระบบหลังบ้าน ระบบผู้ซื้อขายและอีกหลายส่วนที่ไม่เชื่อมต่อกัน แต่ระบบของออราเคิลที่ประกาศออกมานั้นครอบคลุมพันธมิตรประมาณ 40,000 ราย ซึ่งจะทำงานร่วมกันแบบอัตโนมัติ เพิ่มประสบการณ์ที่ดี ลดต้นทุน และง่ายต่อการจัดการ ขณะเดียวกัน มีการเปิดตัวระบบบัญชีการเงินที่เปิดให้องค์กรสามารถปรับส่วนติดต่อผู้ใช้ให้เหมาะกับการใช้งานของทุกคนในองค์กร ในอีกด้าน ออราเคิลยังประกาศความร่วมมือกับเอ็นวิเดีย (Nvidia) ซึ่งจะร่วมมือกันพัฒนาชิปประมวลผล ที่มุ่งให้ความสำคัญกับการประมวลผลระบบ AI และ Machine Learning เป็นการต่อยอดจากความร่วมมือดั้งเดิมที่ทำให้ประสิทธิภาพของชิปถูกยกระดับมากขึ้นไปอีกขั้น” ทวีศักดิ์ กล่าวสรุป
เพราะแบบนี้ออราเคิลจึงไม่หวั่นใจ แม้คู่แข่งคลาวด์จะลงทุนในไทยจนเป็นข่าวใหญ่โต