ถูกจับมาอาบน้ำประแป้งยกเครื่องครั้งใหญ่สำหรับแอปพลิเคชัน “สวัสดีบายเอโอที” (SAWASDEE by AOT) ผลงานการจับมือของสกาย ไอซีที (SKY ICT) และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. (AOT) ที่เริ่มโครงการหยิบเอา “ข้อมูลในสนามบิน” มาต่อยอดและหารายได้ตั้งแต่ปี 2562 แต่ต้องชะงักไปเพราะพิษโควิด-19 ล่าสุด ทั้งคู่ควงแขนกันระดมพันธมิตรสัญชาติไทย เพื่อยกระดับแอปให้เป็น “ซูเปอร์แอป” ด้านการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวไทยทุกคนควรโหลดมาใช้งานบนจุดเด่นเรื่องการเป็นแอปที่รวมสุดยอดข้อมูลซึ่งแอปอื่นไม่มี ด้วยงบประมาณที่เตรียมทยอยลงทุนต่อเนื่อง 100 ล้านบาทในช่วง 5-6 ปีจากนี้
แง่มุมของความเคลื่อนไหวนี้มีประเด็นน่าสนใจหลายเรื่อง แต่หนึ่งในมุมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ ภารกิจปั้นซูเปอร์แอปท่องเที่ยวไทยครั้งนี้ถูกเทียบเป็นการพลิกโฉมการท่องเที่ยวไทยสู่ยุคดิจิทัล เดิมพันนี้ทำให้ SAWASDEE by AOT วางกลุ่มเป้าหมายที่นักท่องเที่ยวไทย 25% และต่างชาติ 75% ครอบคลุมทั้งในและนอกสนามบิน แน่นอนว่าไม่เพียงแต่คนเดินทางที่ได้ประโยชน์จากแอปนี้เรื่องการเที่ยวเมืองไทยอย่างเป็นสุขและปลอดภัย แต่ ทอท. จะสามารถใช้แอปพลิเคชันนี้เป็นอาวุธในการรับมือพายุ “ซัปพลายเชนในธุรกิจการบินหดหาย” ซึ่งจะนำมาสู่ความไม่สมดุลกับความต้องการมหาศาล และความโกลาหลที่สนามบินจากจำนวนผู้โดยสารที่คาดว่าจะกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับก่อนโควิดแบบ 100% ช่วงปี 2567
MD ใหญ่ ทอท. เชื่อว่าแอปนี้จะเป็นพระเอกที่มีบทบาทสำคัญกับ ทอท. ในปีหน้า โดยเฉพาะโซลูชันที่สามารถลดความหนาแน่นของสนามบิน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปี 2566 ถือเป็นปีชี้เป็นชี้ตายของสถานการณ์การท่องเที่ยวไทยและทั่วโลก เนื่องจากแนวโน้มเบื้องต้นส่งสัญญาณว่าจะเกิดการโกลาหลอยู่ 1 ปีเต็ม ก่อนที่การท่องเที่ยวจะเข้าสู่ดุลยภาพใหม่ที่อาจมีผลต่อเนื่องไปอีก 10 ปี ขณะที่ CEO ของ SKY ICT ประเมินว่าแอปพลิเคชันนี้มีโอกาสดูดเงินสะพัดในระบบไม่ต่ำกว่าหลักหมื่นล้านบาทในช่วง 5 ปี โดยเม็ดเงินนี้ไม่ได้เข้ากระเป๋าของ SKY คนเดียว แต่จะกระจายไปสู่ระบบเศรษฐกิจทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวไทย
***เตรียมทุนร้อยล้าน ไม่ช้าเพราะไทมิ่งเหมาะ
สิทธิเดช มัยลาภ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) หรือ SKY กล่าวถึงการยกเครื่องแอปพลิเคชัน SAWASDEE by AOT ให้เป็นซูเปอร์แอป (Thailand Travel Super App) ในครั้งล่าสุดว่าไม่ได้เกิดขึ้นล่าช้าเกินไป โดยได้เตรียมทุนในการพัฒนาราว 100 ล้านบาทสำหรับการทยอยต่อยอดโครงการในช่วง 5 ปีจากนี้ สำหรับเป้าหมายการลงทุนนั้นไม่ได้อยู่ที่ส่วนแบ่งรายได้ หรือรายรับจากสปอนเซอร์ แต่บริษัทมองที่การเพิ่มศักยภาพให้ธุรกิจที่พัก โรงแรม ร้านอาหาร สปาไทย รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อยทั้งภาคเหนือและใต้ ซึ่งจะมีการขยายขอบเขตพันธมิตรจนมีเงินสะพัดระดับหมื่นล้านบาท
“ไม่ถือว่าช้า ตอนนี้เป็นเวลาที่เหมาะสม นักท่องเที่ยวกำลังเข้ามา SME สามารถมาร่วมกับเราได้เลย เรากำลังหาทางเป็นพาร์ตเนอร์กับสนามบินอื่นในต่างประเทศ เพื่อเชื่อมข้อมูลที่แม่นยำระดับเรียลไทม์”
การยกเครื่องฟีเจอร์ใหม่บน SAWASDEE by AOT รอบนี้มุ่งตอบโจทย์ 3 ด้าน ได้แก่ 1.การยกระดับประสบการณ์ภายในสนามบิน ครอบคลุมท่าอากาศยาน 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ 2.การยกระดับบริการด้านการใช้จ่ายและสิทธิพิเศษ และ 3.การยกระดับความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว
สิทธิเดช อธิบายว่า การต่อยอด “SAWASDEE by AOT” สู่ Thailand Travel Super App นั้นทำจากหลายแกน ทั้งการผนึกกำลังพันธมิตรไทยเพื่อช่วยฟื้นการท่องเที่ยว โดยวางแผนเสริมบริการทั้งในและนอกสนามบิน ซึ่งทำคู่ไปกับการจับมือตำรวจท่องเที่ยว เปิดตัวเป็นระบบขอความช่วยเหลือนักท่องเที่ยว “Tourist Help” แบบทันที 6 ภาษา (ไทย อังกฤษ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และรัสเซีย)
นอกจากนี้ ยังมีการเปิดช่องทาง “Insurance” ให้ซื้อประกันเดินทางราคาพิเศษจากเมืองไทยประกันภัย ร่วมกับการจับมือกับธนาคารกรุงไทย (KTB) ให้ผู้ใช้แอปสามารถชอปปิ้งผ่านระบบ “SAWASDEE Pay” ขณะเดียวกันก็สามารถสะสม “AOT Points” แต้มที่สามารถโอนระหว่างสมาชิก King Power บัตรเติมน้ำมัน PT Max Card และบัตรเครดิตธนาคารต่างๆ สามารถใช้คะแนนแลกสิทธิพิเศษและส่วนลดสูงสุด 50%
ปัจจุบัน SAWASDEE by AOT มีผู้ดาวน์โหลดแล้วกว่า 7 แสนครั้ง เบื้องต้นตั้งเป้าว่าภายในปี 2567 จำนวนการดาวน์โหลดจะเพิ่มเป็น 4 ล้านราย และจะทะลุหลัก 10 ล้านรายภายใน 5 ปีจากนี้
โดยเหตุผลผลักดันยอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน SAWASDEE by AOT คือฟีเจอร์ “Flights” ที่สามารถเชื่อมต่อข้อมูลจากกระดานแสดงเที่ยวบิน หรือ Flight Board จากสนามบิน โดยผู้ใช้สามารถค้นหาเที่ยวบินทั้งขาเข้า-ขาออก สามารถบันทึกไฟลต์บินล่วงหน้าก่อนการเดินทาง พร้อมแจ้งเตือนหากมีการเปลี่ยนแปลงของเที่ยวบิน ขณะเดียวกัน ก็มีฟีเจอร์ “Queue Time” ระบบแสดงข้อมูลเวลารอคิวในทั้ง 3 โซนภายในสนามบิน ได้แก่ จุดเช็กอิน จุดตรวจค้นเพื่อการรักษาความปลอดภัย และจุดตรวจหนังสือเดินทาง เป็นตัวช่วยสำคัญให้นักท่องเที่ยวไม่ต้องเผื่อเวลาเดินทางมาสนามบินล่วงหน้า 3 ชั่วโมงอย่างที่เคย
นอกจากนี้ ยังมีส่วน “Taxi Reservation” บริการจองรถแท็กซี่ที่สามารถเรียกดูประวัติผู้ขับได้ ทั้งหมดนี้สิทธิเดชมองเป็นก้าวสำคัญของ SKY ICT ในการนำเทคโนโลยีมาผสานกับไลฟ์สไตล์ผู้คน ซึ่งจะพลิกโฉมภาพลักษณ์ของประเทศไทย และยกระดับบริการด้านการท่องเที่ยวไทยให้ก้าวสู่ดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรมเป็นครั้งแรก
***ท่องเที่ยวไทยปีหน้าเปลี่ยนสิ้นเชิง
นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยถึงวิสัยทัศน์ผลักดันแอปพลิเคชัน SAWASDEE by AOT ให้กลายเป็นซูเปอร์แอปว่า การท่องเที่ยวไทยในปีหน้าจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง นอกจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัวพร้อมกับความต้องการด้านบริการที่อาจเปลี่ยนไป ทอท. จึงนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาพัฒนาบริการในหลายมิติ โดยจะผลักดัน SAWASDEE by AOT ให้กลายเป็นตัวช่วยหลักของนักท่องเที่ยวตลอดการเดินทาง ซึ่งจะช่วยยกระดับมาตรฐานท่าอากาศยานไทยให้ทันสมัย สามารถส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ
“ปีหน้าจะเป็นปีแห่งความโกลาหล เพราะจะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการท่องเที่ยวไปตลอดกาล” นิตินัยระบุ “ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้เกิดการล่มสลายของห่วงโซ่อุปทานในธุรกิจการบิน ทั้งพนักงานยกกระเป๋าที่ถูกเลิกจ้าง ผู้ขับแท็กซี่ที่เดินทางกลับภูมิลำเนา นักบินที่ใบอนุญาตหมดอายุ แม้แต่รถแท็กซี่ยังเสื่อมสภาพไปในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ภาวะนี้ทำให้ซัปพลายในสนามบินไม่สามารถกลับมาได้ทันความต้องการ ที่จะเริ่มกลับเป็นปกติได้ในปี 2567”
หนึ่งในความโกลาหลที่นิตินัย ยกตัวอย่าง คือภาพผู้โดยสารจำนวนมากต้องรอรถแท็กซี่ที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ภาวะที่เกิดขึ้นวันนี้คือจำนวนแท็กซี่ที่ลงทะเบียนกับ ทอท.ราว 2,500 คันต่อวันนั้นลดเหลือเพียง 400 คันต่อวันในปัจจุบัน นอกจากจำนวนแท็กซี่อาจจะไม่กลับมามากเท่าเดิม ขณะเดียวกัน ผู้ขับแท็กซี่อาจจะยังสับสนว่าควรจะให้บริการในรูปแบบสหกรณ์หรือบริการแอปเรียกรถด้วย ซึ่งไม่เพียงแต่ประเทศไทย สถานการณ์นี้เกิดขึ้นแล้วในระดับโลก เช่น ประเทศอังกฤษที่พนักงานขนส่งสัมภาระถูกจ้างให้ลาออก จึงเกิดความโกลาหลเป็นภาพที่กระเป๋าเดินทางตกค้างที่สนามบินจำนวนมาก
นิตินัย ย้ำว่า ในเมื่ออีก “300 วัน” การท่องเที่ยวไทยจะกลับมาสดใส แต่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องอาจยังไม่สามารถตอบความต้องการที่มหาศาล สถานการณ์นี้จะทำให้เกิดภาวะผู้เล่นในตลาดน้อยลง โดยที่ “เค้กยังชิ้นใหญ่เท่าเดิม” ซึ่งทางเป็นไปได้นั้นมี 2 ทาง คือผู้เล่นรายเดิมอาจจะอ้วนขึ้น ขณะที่ผู้เล่นรายใหม่จะเกิดขึ้น เพราะมองเห็นช่องว่างที่ผู้เล่นรายใหญ่เข้าไม่ถึง
“แม้จะมีผู้มาใหม่ แต่สถานการณ์ที่ไม่สมดุล ซัปพลายที่ไม่สามารถกลับมาได้รวดเร็วพอ จะทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวอาจจะต้องเจอกับความไม่สมดุลตลอดปีนี้” นิตินัยอธิบาย “สิ่งที่ ทอท. ทำคือการผนึกกำลังกับ SKY ICT ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นการผนึกกำลังเพื่อเปลี่ยนความแออัดหรือความยุ่งยากที่เกิดขึ้นในการใช้สนามบินให้เป็นกลไกที่ง่ายขึ้น ดังนั้น จุดยืนใหม่จึงต่างจากจุดยืนเดิม คือการให้ความสำคัญกับห่วงโซ่อุปทานให้มากขึ้น”
ในภาพรวม สถิติล่าสุดชี้ว่าหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงและหลายประเทศปลดล็อกมาตรการให้ประชาชนสามารถเดินทางข้ามประเทศได้ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 เป็นต้นมา จำนวนชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยนั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทอท. จึงคาดการณ์ว่าในปี 2566 ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง จะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นถึง 96 ล้านคน ฟื้นตัว 68% เมื่อเทียบกับจำนวนผู้โดยสารก่อนการแพร่ระบาด และคาดว่าในปี 2567 จะกลับมาฟื้นตัวเป็นปกติเทียบกับก่อนเกิดโควิด-19 มีจำนวนผู้โดยสารมากกว่า 142 ล้านคน