“นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์” รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการพันธกิจด้าน Startups ร่วมกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “The evolution of digital health ecosystem utilizing 5G and shared economy for more accessible healthcare to the people” และขึ้นเวทีร่วมเสวนาในหัวข้อ “The perfect digital health storm” ร่วมกับ “ดร.พงษธร โชติเกษมศรี” CEO of Welala ในงาน BYOND MOBILE 2022 ซึ่งเป็นงานแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับธุรกิจ 5G อันเป็นจุดนับพบสำคัญของผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศของอุตสาหกรรม 5G เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะเชื่อมโยงทั้งผู้ให้บริการและสตาร์ทอัปได้มาพบปะเจรจาธุรกิจสำหรับการต่อยอดในอนาคต โดยมีผู้นำธุรกิจพร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมดิจิทัลทั้งไทยและต่างประเทศเข้าร่วมรับฟัง
“นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์” รองประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวถึงความสำคัญของเทคโนโลยี 5G และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องว่าเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญด้านการดูแลสุขภาพ ซึ่งมีศักยภาพช่วยให้เกิดการกระจายบริการสาธารณสุขให้ครอบคลุมในวงกว้าง โดยผู้ป่วยสามารถเข้าถึงและโต้ตอบกับบุคลากรทางการแพทย์ผ่านทางมือถือและอุปกรณ์ต่างๆ ได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยสร้าง "เครือข่ายอัจฉริยะ" ในระบบนิเวศด้านการดูแลสุขภาพ นำไปสู่แนวคิดการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาเชื่อมต่อระบบบริการสุขภาพและการรักษาทางไกลได้อีกทางหนึ่งด้วย ดังเช่น MorDee App ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้คนไทยสามารถปรึกษาอาการเบื้องต้น จนไปถึงพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับคำแนะนำ ใบสั่งยาแพทย์ และรอรับยาให้มาส่งถึงที่บ้าน นอกจากนี้ ยังสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ทางสุขภาพต่างๆ เพื่อนำข้อมูลมาเป็นประโยชน์ในการดูแลรักษาสุขภาพ ซึ่งถือเป็นแนวทางในการเสริมระบบและเชื่อมโยงการรักษาผู้ป่วยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับสภาดิจิทัลฯ ในฐานะองค์กรสำคัญในการทำงานร่วมกับภาคเอกชน ภาครัฐบาล และภาคประชาชน อันนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล รวมไปถึงการพัฒนาบุคคลากรด้านดิจิทัลนั้น พร้อมสนับสนุน Startups ในการใช้เทคโนโลยี 5G ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในพันธกิจสำคัญของสภาดิจิทัลฯ เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมของภูมิภาค โดยมุ่งเน้นสนับสนุนให้เกิดมาตรการเพื่อส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจ Startups ได้แก่ 1) การยกเว้นภาษี Capital Gains Tax สำหรับการลงทุนในธุรกิจ Startups ของไทย 2) อัตราภาษีเงินได้ 17% สำหรับชาวต่างชาติทักษะสูงเมื่อมาทำงานในประเทศไทย 3) การลดหย่อนภาษี 150% เมื่อธุรกิจจ้างงานทักษะอาชีพด้านดิจิทัล 4) การลดหย่อนภาษี 250% เมื่อธุรกิจอบรมบุคลากรในทักษะด้านดิจิทัล 5) การลดหย่อนภาษี 200% เมื่อธุรกิจซื้อซอฟต์แวร์ที่ผลิตในประเทศ 6) ตลาดหลักทรัพย์ Live Exchange สำหรับ SMES และ Startups และ 7) Convertible Debt, ESOP รวมทั้ง Crowdfunding สำหรับ SMES และ Startups ทั้งนี้ สภาดิจิทัลฯ มุ่งหวังให้ Startups และ นักลงทุนเกิดการใช้ประโยชน์สูงสุดจากมาตรการเหล่านี้ อีกทั้งยังช่วยดึงดูดนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในธุรกิจ Startupsและพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลต่อไปในอนาคต นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ รองประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าว
นอกจากนี้ ภายในงาน BYOND MOBILE 2022 สภาดิจิทัลฯ ยังได้ร่วมออกบูทเพื่อประชาสัมพันธ์มาตรการส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทยและพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล ตลอดจนแนะนำหลักสูตรเพื่อ Upskill และ Reskill กำลังคน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสภาดิจิทัลฯ และบริษัทเอคเซนเชอร์ ประเทศไทย โดยมุ่งเน้นหลักสูตรทักษะดิจิทัลที่กำลังเป็นที่ต้องการอย่างสูงในปัจจุบัน ภายใต้โครงการ Digital Skill Buffet ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สนับสนุนพันธกิจด้านการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ด้านดิจิทัล เพื่อยกระดับคุณภาพกำลังคนดิจิทัลในประเทศ การร่วมกิจกรรมดังกล่าวนับเป็นอีกหนึ่งงานที่ทางสภาดิจิทัลฯ แสดงจุดยืนการเป็นองค์กรที่พร้อมสนับสนุนระบบนิเวศดิจิทัลไทยและพร้อมสานต่อนโยบายภาครัฐเพื่อกระตุ้นการลงทุนเพื่อนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจ และยกระดับอุตสาหกรรมดิจิทัลให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ