xs
xsm
sm
md
lg

‘พิรงรอง’ คาด 12 ต.ค. ควบรวมทรู-ดีแทค จบยากและอาจไม่มีการลงมติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คนวงในชี้บอร์ด กสทช.มีอำนาจเต็มที่ต้องโหวตอนุญาตแบบมีเงื่อนไขหรือโหวตไม่อนุญาตเท่านั้น กรณีควบทรู-ดีแทค แต่หากลงมติแค่รับทราบเสี่ยงติดคุกตามมาตรา 157 ขณะที่ “พิรงรอง” เชื่อ 12 ต.ค.นี้ยังไม่จบเหตุมีผลศึกษาใหม่เข้ามาเพิ่มเติม ในขณะที่ทรู-ดีแทค เข้าพบ กสทช.ยื่นเอกสารเพิ่มเติม
 
ในวันที่ 11 ต.ค.นี้ เวลา 11.00 น.ทรูกับดีแทคจะเข้าพบ กสทช.เพื่อยื่นเอกสารเพิ่มเติมกรณีควบรวมทรู-ดีแทค โดยมีผู้บริหารจากทั้ง 2 บริษัทเป็นตัวแทนเข้ายื่น ซึ่งพร้อมให้สัมภาษณ์ที่อาคารหอประชุมชั้น 1 สำนักงาน กสทช.

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ในวันที่ 12 ต.ค.2565 นี้ คณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช.อาจจะยังไม่สามารถลงมติเรื่องการอนุญาตหรือไม่อนุญาตการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ได้  เนื่องจากต้องมีการพิจารณาถึงอำนาจของบอร์ด กสทช.ก่อนว่ามีอำนาจหรือไม่ หรือทำหน้าที่เพียงแค่รับทราบตามที่สำนักงานเสนอ เพราะอาจจะเสี่ยงติดคุกได้แบบคดีที่นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ซึ่งถูกดำเนินคดีจำคุก 1 ปี ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 ทำให้รัฐเสียหายจากกรณีอนุมัติให้มีการแก้ไขสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียม โดยให้บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นบุคคลสัญชาติไทยจาก 51% เป็น 40% ทำให้เกิดความเสี่ยงในการครอบงำกิจการของชาวต่างชาติที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และกฎหมายกิจการโทรคมนาคม เพราะไม่ได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ทำตามคำหารือจากหนังสือที่อัยการสูงสุดให้ความเห็น จึงแสดงให้เห็นว่าเรื่องดังกล่าวไม่สามารถใช้ความเห็นของอัยการเป็นที่พิงหลังเพื่อไม่ให้ถูกดำเนินคดีได้
 
ดังนั้น กรณีดังกล่าวจึงอาจสามารถเทียบเคียงได้กับ กสทช.ที่มีการทำหนังสือไปสอบถามความเห็นจากสำนักงานกฤษฎีกา ซึ่งไม่จำเป็นต้องตีความให้ยุ่งยาก จากหนังสือที่กฤษฎีกาส่งมา แต่บอร์ด กสทช.ควรดูคำตัดสินของศาลปกครองกลาง จากกรณีที่นายณภัทร วินิจฉัยกุล นักกฎหมาย และอดีตกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) กสทช. ระบุชัดเจนว่า การรวมธุรกิจกันต้องมีการเข้าซื้อหุ้นหรือถือหุ้นนั้น ต้องได้รับอนุญาตจาก กสทช.หากเกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการให้บริการโทรคมนาคม กสทช.สามารถสั่งห้ามการรวมธุรกิจได้
 
การตัดสินใจของบอร์ด กสทช.ต้องลงมติว่าอนุญาตแบบมีเงื่อนไข หรือไม่อนุญาตเท่านั้น ไม่ควรลงมติเพียงแค่รับทราบ เพราะจะเสี่ยงถูกดำเนินคดี 157 เหมือนกรณีนายแพทย์สุรพงษ์ ซึ่งเป็นคดีที่ร้ายแรงกว่าการถูกเอกชนฟ้องร้องหาก กสทช.ลงมติตรงข้ามกับความต้องการของเอกชน เนื่องจากตอนนี้มีกระแสข่าวว่าเสียงโหวตของกรรมการ กสทช.อาจมีการอนุญาตแบบมีเงื่อนไข 2 เสียง และไม่อนุญาต 2 เสียง ส่วนอีก 1 เสียงกำลังลังเลและอาจจะลงมติแค่รับทราบ เท่ากับว่า กรรมการคนดังกล่าวนั้นเสี่ยงกับคดี 157

ทั้งนี้ เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 10 ต.ค.2565 น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช.โดยมี พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข เลขานุการประธาน กสทช. เป็นผู้แทนรับมอบ พร้อมด้วย น.ส.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. และนายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช.

น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า ในนาม สอบ. ได้มายื่นหนังสือต่อประธาน กสทช. เนื่องจากวันที่ 12 ต.ค.นี้ ในการประชุมบอร์ดจะมีการพิจารณาวาระเรื่องการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค ซึ่งเป็นดีลใหญ่กระทบต่อสาธารณะ จึงอยากให้กรรมการ กสทช.ทั้ง 5 ท่าน ทำหน้าที่บนหลักนิติธรรม ไม่เอื้อกลุ่มทุน และยึดมั่นตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ มาตรา 60 และตามแผนแม่บท กสทช. เพื่อพิจารณาผลกระทบจากการควบรวมก่อนลงมติ ซึ่งหากไม่อ้างอิงตามแผนแม่บทฯ หากมีคดีไปศาลปกครอง อาจมีปัญหาในเรื่องกระบวนการได้ และที่สำคัญควรรับฟังความคิดเห็นของผู้ใช้บริการดีแทค 19 ล้านราย ที่ไม่อยากใช้บริการของทรู และเอไอเอส ซึ่งใครจะรับผิดชอบในคนกลุ่มนี้ จึงควรพิจารณาผลกระทบต่อคนกลุ่มนี้ด้วย ซึ่งต้องคิดให้รอบคอบก่อนจะลงมติ

“ในวันที่ 12 ต.ค. หากมีการลงมติให้ควบรวมได้ ทาง สอบ. มีแนวนโยบายอยู่แล้วว่าเรื่องนี้คงไปจบที่ศาลปกครอง ไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไรก็คงมีการฟ้องร้องตามหลักนิติธรรมปกติ แต่ขอให้ กสทช. มั่นใจว่าถ้าลงมติเพื่อประโยชน์สาธารณะแล้ว ถูกเอกชนฟ้องทาง สอบ. ก็พร้อมสนับสนุนในขั้นตอนของศาล แต่หากผลลงมติดูแล้วเอื้อเอกชนมากกว่าสาธารณะ ทาง สอบ. ก็ต้องฟ้องต่อศาลปกครองเช่นเดียวกัน ซึ่งสุดท้ายแล้วเรื่องนี้ต้องไปพึ่งพิงความยุติธรรมของศาลปกครองอยู่แล้วไม่ว่าผลลงมติจะออกมาทางไหน” น.ส.สุภิญญา กล่าว
 
ด้าน น.ส.พิรงรอง รามสูต กสทช.กล่าวว่า การประชุมวันที่ 12 ต.ค. ได้มีการบรรจุเรื่องควบรวมไว้ในวาระการประชุม แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีการลงมติเลยหรือไม่ ทางบอร์ดต้องมาคุยรายละเอียดในขั้นตอนต่างๆ รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งพ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม  พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และประกาศต่างๆ ของ กสทช. ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ตามที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะประโยชน์ต่อสาธารณะและการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมที่มองข้ามไม่ได้ เป็นเรื่องปกติที่มีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ก็ต้องดูตามเนื้อผ้า รายงานการศึกษาต่างๆ ของทั้งคณะอนุกรรมการและที่ปรึกษาทั้งในและต่างประเทศที่ได้ว่าจ้าง โดยเฉพาะผลศึกษาจากต่างประเทศที่เพิ่งจัดทำเสร็จ ซึ่งน่าสนใจ และการรับฟังความคิดเห็นต่างๆ ต้องเอามาประกอบกันทั้งหมดในการพิจารณา ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วคิดว่าการการประชุมบอร์ดในวันพุธที่ 12 ต.ค.นี้ เรื่องควบรวมทรู-ดีแทค คงจะจบยาก อาจยังไม่มีการลงมติ


กำลังโหลดความคิดเห็น