xs
xsm
sm
md
lg

ศิริราชควงทรูเติม AI 04:32 ให้ระบบแพทย์ฉุกเฉิน “SAVER” เร็วกว่า ดีกว่า ไม่แพงกว่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศิริราช” ประกาศความสำเร็จพร้อมต่อยอดเชิงพาณิชย์ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน “เซฟเวอร์” (SAVER) ยืนยันถึงมือแพทย์เร็วขึ้นในราคาไม่เพิ่ม มั่นใจข้อมูลที่มากขึ้นจะทำให้เกิดปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่พัฒนาบริการให้เก่งขึ้นอีก นับถอยหลังพร้อมเชื่อมต่อกับโรงพยาบาลอื่นทั่วไทยใน 1-2 ปี ท่ามกลางบิ๊กดาต้าที่จะเนรมิตประโยชน์ต่อประเทศชาติ

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการไม่สามารถให้บริการอย่างทันท่วงทียังคงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตลอด 134 ปี ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้เป็นหนึ่งในสถาบันหลักผู้ดูแลสุขภาพของประชาชนชาวไทย เพื่อให้เกิดมีบริการที่เข้าถึงได้ดีขึ้นและเร็วขึ้น แพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จึงร่วมกับพันธมิตรพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินระดับโลก ที่สามารถให้บริการได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นบนทุนของศิริราชมูลนิธิ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. โดยมีบริษัทศิริราชวิทยวิจัย จำกัด หรือศิวิทย์ เป็นผู้บริหารจัดการและเผยแพร่ ทั้งนี้ แนวทางพัฒนาในอนาคตคือการต่อยอดจากข้อมูลมหาศาลที่เกิดขึ้นจากโครงการ คาดว่าจะนำไปสู่โครงการ AI และบิ๊กดาต้าที่สร้างประโยชน์ระดับประเทศ

“ข้อมูลที่มากขึ้นจะทำให้เกิดเป็น AI ที่มีประสิทธิภาพ นำไปสู่การพัฒนาบริการให้เก่งขึ้น เกิดเป็นบิ๊กดาต้าที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว “ทั้งข้อมูลโรงพยาบาล ข้อมูลหมอ ผู้เชี่ยวชาญ ข้อมูลประชาชนที่ต้องการเข้าถึงแพทย์ ข้อมูลเหล่านี้จะไหลเร็วมาก และ AI จะบอกได้ว่าต้องเริ่มจากอะไร การรักษาจะเร็วขึ้น และเจาะจงเฉพาะในพื้นที่มากขึ้น ลดการเสียชีวิตได้ เชื่อว่า 1-2 ปีจะมีการขยายพื้นที่มากขึ้น และเป็นต้นแบบซึ่งต้องปรับ ไม่ใช่รูปแบบเดียวใช้กับทุกพื้นที่”

SAVER หรือ Smart Approach for Vital Emergency Responses เป็นระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่นำเทคโนโลยีอัจฉริยะมาช่วยให้การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินทำได้เร็ว ถูกเวลา ถูกสถานที่ และถูกต้อง ระบบมีการใช้เทคโนโลยีเครือข่าย 5G ผ่านความร่วมมือกับบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด จากโครงการโรงพยาบาลอัจฉริยะระดับโลก ล่าสุดระบบ SAVER เริ่มใช้ในศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินศิริราช และใช้กับผู้ป่วยฉุกเฉินไปกว่า 400 คนในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมา

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา (ที่ 3 จากซ้าย)
รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า SAVER เป็นพันธกิจที่ศิริราชต้องการนำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาบริการด้านสุขภาพของคนไทย โดยที่ผ่านมา ประเทศไทยมีกฎหมายและความร่วมมือเพื่อรองรับการดูแลฉุกเฉิน แต่ประชาชนส่วนใหญ่มีเพียงเบอร์โทรศัพท์ของโรงพยาบาลใกล้บ้านแปะติดที่ข้างฝาผนัง ปัญหาที่เกิดขึ้นคือการไม่ทราบว่าผู้ป่วยโทร.จากพื้นที่ไหน การอธิบายถนนไม่ถูกต้อง ถือเป็นข้อจำกัดในการรับบริการฉุกเฉิน และเมื่อรถฉุกเฉินมาถึง อาจไม่มีบุคลากรและเครื่องมือที่พร้อมแก้ปัญหาเบื้องต้น หรือเมื่อแก้ปัญหาเบื้องต้นได้แล้ว ก็อาจจะไม่ทราบว่าควรจะส่งต่อโรงพยาบาลใดที่มีความเชี่ยวชาญ ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าการแพทย์ฉุกเฉินจะต้องใช้องค์ความรู้จากทีมที่มีความชำนาญ เพื่อให้เกิดระบบที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

“เราได้รับเลือกเป็นต้นแบบการนำ 5G มาใช้ด้านสุขภาพ เชื่อว่าจะลดการเสียชีวิต และช่วยให้ประชาชนได้เข้าสู่การรักษาที่ได้ไตร่ตรองแล้ว นี่จะเป็นระบบที่ดีมาก”

***ราคาไม่เพิ่ม

รศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวถึงจุดเด่นของ SAVER ว่าอยู่ที่ความ “ถูกที่ ถูกต้อง ถูกเวลา” เนื่องจากการมีระบบเทเลคอนเซาท์เพื่อให้แพทย์มีโอกาสเห็นผู้ป่วยจากระยะไกล ขณะเดียวกัน แพทย์ยังสามารถบันทึกข้อมูลต่างๆ ในระบบได้ง่าย และมีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการเลือกจุดไปส่งที่มีประสิทธิภาพที่สุด โดยทั้งหมดนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่ผู้ป่วยจะต้องแบกรับ

“เราใช้แมชชีนเลิร์นนิ่งสอนเครื่อง เพื่อพิจารณาจุดส่งผู้ป่วยจากอาการ ตำแหน่ง และปัจจัยอื่น ระบบสามารถเรียนรู้ได้เลยจากผู้ใช้ที่มีแล้ว 400 คนใน 4-5 เดือน ระบบสามารถลดเวลาที่ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาจากเฉลี่ย 43 นาที เหลือ 24 นาที คิดเป็นสัดส่วนความเร็วขึ้นครึ่งหนึ่ง แต่ในเชิงผลลัพธ์การรักษาจะยังต้องรอประมวลข้อมูลในภาพรวมอีกครั้ง”

รศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ (ที่ 3 จากซ้าย)
ที่ผ่านมา สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ. ได้กำหนดกลุ่มอาการฉุกเฉินวิกฤตที่ประชาชนสามารถเข้าใจได้ง่ายไว้ 10 อาการ เช่น การหมดสติ การหอบเหนื่อยรุนแรง การซึม-อาการชัก การเจ็บหน้าอกเฉียบพลัน อาการแขนขาอ่อนแรงแบบปัจจุบันทันด่วน การได้รับบาดเจ็บต่อสมอง-กระดูกสันหลัง การมีบาดแผลที่เสียเลือดมาก ถูกไฟฟ้าแรงสูง แผลไฟไหม้บริเวณกว้าง หรือการถูกยิง-แทงที่อวัยวะสาคัญ การถูกงูพิษกัดจนมีอาการหนังตาตก หญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการชัก มีน้ำเดินและเด็กโผล่ และการบาดเจ็บต่อดวงตาจากสารพิษจนมองไม่ชัด โดยผู้ที่มีอาการฉุกเฉินเข้าข่าย 10 อาการดังกล่าวแล้ว สามารถโทร.แจ้งขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ที่สายด่วน 1669 ทันที ไม่มีค่าใช้จ่าย

***5G AI IoT ต้องมา

หากไม่มีระบบเทคโนโลยีโทรคมนาคม ICT ที่ทันสมัย สัญญาณของระบบ SAVER อาจขาดหายจนทำงานสะดุด พันธมิตรที่เข้ามาตอบโจทย์นี้คือทรู ดิจิทัล กรุ๊ป โดยนายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ ประธานกรรมการ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า Smart EMS หรือ ระบบการแพทย์ฉุกเฉินอัจฉริยะ เป็นหนึ่งในโซลูชันที่กลุ่มทรูได้รับความไว้วางใจจากโรงพยาบาลศิริราชให้ร่วมพัฒนาในโครงการ “ศิริราชต้นแบบโรงพยาบาลอัจฉริยะระดับโลกด้วยเทคโนโลยีเครือข่าย 5G” ซึ่งทรู ดิจิทัล ได้นำเทคโนโลยี IoT และระบบ AI มาพัฒนาและเชื่อมโยงการทำงานผ่านเครือข่ายอัจฉริยะทรู 5G เพื่อให้เจ้าหน้าที่ในรถฉุกเฉินของศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินศิริราช (SiEMS) สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ

นานาเทคโนโลยีในรถฉุกเฉินอัจฉริยะ หนึ่งในนั้นสามารถแก้ปัญหาการไม่ทราบว่าผู้ป่วยโทร.จากพื้นที่ไหน และการอธิบายถนนไม่ถูกต้อง
โซลูชันทันสมัยในรถฉุกเฉินของทรู ครอบคลุมตั้งแต่การรับผู้ป่วยจากจุดเกิดเหตุจนถึงการส่งเข้ารักษาที่โรงพยาบาล โดยโซลูชัน Smart EMS เปลี่ยนรถพยาบาลธรรมดา ให้เป็น 5G Smart Ambulance ประกอบด้วย ระบบอัจฉริยะต่างๆ เช่น ระบบเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT เช่น อุปกรณ์วัดสัญญาณชีพ และกล้องความละเอียดสูง ที่สามารถส่งข้อมูลและภาพที่ชัดเจนและแม่นยำแบบเรียลไทม์ แสดงผลผ่านแพลตฟอร์มเพื่อให้แพทย์ใช้ประกอบการรักษาได้ทันที ระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ช่วยให้แพทย์เริ่มต้นการรักษาได้รวดเร็วเสมือนอยู่ที่จุดเกิดเหตุ ระบบจัดเก็บข้อมูลผู้ป่วยฉุกเฉิน เพื่อการรักษาพยาบาลที่ต่อเนื่อง ช่วยลดภาระงานเอกสารของเจ้าหน้าที่

นอกจากนี้ ยังมีระบบติดตามรถพยาบาล และเทคโนโลยีประมวลผลข้อมูลผู้ป่วยและตำแหน่งของจุดเกิดเหตุ เพื่อค้นหาโรงพยาบาลในการเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด ซึ่งการผสานและหลอมรวมอัจฉริยภาพของเทคโนโลยีดิจิทัลและเครือข่ายทรู 5G ในครั้งนี้ นับเป็นต้นแบบของการใช้ 5G และเทคโนโลยีดิจิทัลล้ำสมัยต่างๆ ในด้านการแพทย์ฉุกเฉินและสาธารณสุข ที่นอกจากจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยและลดการเสียชีวิตแล้ว ยังช่วยยกระดับการดูแลผู้ป่วยให้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของโรงพยาบาล อีกทั้งโซลูชัน Smart EMS ยังสามารถนำไปต่อยอดและปรับใช้ในการดูแลและช่วยเหลือผู้ป่วยในสถานการณ์ต่างๆ ได้อีกด้วย

“โครงการนี้สอดคล้องกับความมุ่งมั่นให้ 5G เป็นส่วนสนับสนุนสังคม โซลูชันที่เกิดขึ้นเป็นผลลัพธ์จากการร่วมมือกับทุกฝ่ายจนเกิดประโยชน์ กลายเป็นเทคโนโลยีอัจฉริยะที่ใช้งานได้จริง ลดโอกาสเกิดภาวะทุพพลภาพได้”

การสาธิตระบบเทเลคอนเซาท์ ที่จะทำให้แพทย์สามารถมองเห็นผู้ป่วยที่จุดเกิดเหตุ
นอกจากโซลูชันจากทรูที่เปลี่ยนให้รถรับส่งผู้ป่วยจากจุดเกิดเหตุและส่งต่อ กลายเป็นยานยนต์อัจฉริยะที่มีระบบเรียลไทม์ เพื่อให้แพทย์ได้รักษาผู้ป่วยตั้งแต่จุดเกิดเหตุ รวมถึงมีระบบติดตามตำแหน่งที่แม่นยำ โครงการยังมีการเริ่มนำร่องที่ชุมชนบางกอกน้อย เพื่อเป็นต้นแบบในการปรับใช้กับพื้นที่อื่นทั่วประเทศ โดยหนึ่งในจุดเด่นของ “บางกอกน้อยโมเดล” คือการอาสาจากผู้ขับวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างในเขตบางกอกน้อย ให้มีความรู้ความสามารถทำ CPR ได้อย่างถูกต้อง โดยมีการฝึกอบรม และมอบใบประกาศแก่ผู้ผ่านหลักสูตรทุกคน

***ไม่ใช่เรื่องใหม่? 

อย่างไรก็ตาม โซลูชันอัจฉริยะเหล่านี้มีการเริ่มใช้งานแล้วในบางระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทย แต่จุดต่างของ SAVER คือระบบค้นหาตำแหน่งที่ไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันอื่นเพิ่มเติม ระบบจะมีการส่งเอสเอ็มเอสให้ผู้แจ้งเหตุกดยืนยันตำแหน่งที่ถูกต้อง เพื่อจะได้ส่งต่อทีมรถ ขณะเดียวกัน แม้รถจะออกไปรับทันที แต่ในระหว่างนี้จะมีช่องว่างระหว่างบริการ จึงมีระบบ SIREN ที่ไม่ต้องมีแอปพลิเคชันเพิ่ม แต่จะใช้บัญชีทางการของไลน์ หรือ Line OA ในการสื่อสารกับทีมสั่งการ โดยระหว่างนี้ระบบเทเลคอนเซาท์จะทำให้แพทย์สามารถมองเห็นผู้ป่วยที่จุดเกิดเหตุ ซึ่งทั้งหมดแม้จะไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ แต่ระบบสามารถเชื่อมโยงกับอุปกรณ์ทุกรุ่น ขณะที่ระบบประชุมออนไลน์ VROOM ของทรูนั้นสามารถมอบทางเลือกให้ผู้แจ้งเหตุได้มีโอกาสปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแบบ 1 ต่อ 1 หรือมากกว่า

ในอีกด้าน ปัญหาที่รถฉุกเฉินมักพบในขณะนี้คือการขาดการบันทึกข้อมูลที่เชื่อถือได้ การพิมพ์ในภาวะฉุกเฉินนั้นยากและมีข้อจำกัด ระบบจึงพัฒนาให้เอื้อต่อการเก็บทุกข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการแพทย์ฉุกเฉิน ทั้งสิทธิการรักษาที่รองรับ แต่ในเบื้องต้นยังไม่มีข้อมูลจำนวนเตียงของโรงพยาบาล ซึ่งถือเป็นแนวทางพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ในภาพรวม SAVER ถือเป็นจุดเริ่มในการพัฒนาต่อเนื่องของระบบการแพทย์ฉุกเฉินไทย นอกจากการเป็นเหมือนท่อต่อเชื่อมเทคโนโลยีหรือสิ่งที่มีอยู่แล้ว แต่ระบบยังคงต้องการพันธมิตรเพิ่มซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านข้อมูลที่มากขึ้น ซึ่งจะเอื้อให้ AI สามารถพัฒนาบริการให้เก่งขึ้น ก่อนจะเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลอื่นทั่วประเทศ กลายเป็นบิ๊กดาต้าที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนคนไทยทุกคน


กำลังโหลดความคิดเห็น