xs
xsm
sm
md
lg

ศิริราช นำหน้าด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ให้คุณถึงมือแพทย์เร็ว ผ่านระบบการแพทย์ฉุกเฉิน SAVER

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ ( 30 ก.ย. 65) เวลา 9.30 น. ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เป็นประธานแถลงข่าว ศิริราชนำหน้าด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ให้คุณถึงมือแพทย์เร็ว ผ่านระบบการแพทย์ฉุกเฉิน SAVER (Smart Approach for Vital Emergency Responses) ร่วมกับ รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช รศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ผศ.นพ.ศรัทธา ริยาพันธ์ ประธานศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินศิริราช และ นาย ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ ประธานกรรมการ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด พร้อมผู้บริหาร ศิริราชมูลนิธิ และผู้บริหารบริษัท ศิริราชวิทยวิจัย จำกัด ซึ่งเป็นผู้มีส่วนในการร่วมพัฒนา ณ ห้องประชุมอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา ชั้น 26 โรงพยาบาลศิริราช

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ของประเทศไทยพัฒนาไปอย่างต่อเนื่องและมีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตดีให้กับประชาชนชาวไทย ในฐานะที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเป็นหนึ่งในสถาบันหลักผู้ดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนชาวไทยมากกว่า 134 ปี ก็ยังประสบปัญหาการเข้าถึงการให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉินที่มีคุณภาพแก่ประชาชนอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะในพื้นที่จำกัดและห่างไกล ทำให้การเข้าถึงการรักษาเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินเป็นไปได้ลำบากล่าช้า คณะฯมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนานวัตกรรมระบบการแพทย์ฉุกเฉิน โดยทีมผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินศิริราช และบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด จากโครงการโรงพยาบาลอัจฉริยะระดับโลกด้วยเทคโนโลยีเครือข่าย 5G จนนำมาสู่ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน SAVER ซึ่งทำให้การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้เร็ว ถูกเวลา ถูกสถานที่ และถูกต้อง เพิ่มประสิทธิภาพในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินให้ปลอดภัย ทั้งนี้ ระบบ SAVER นี้ เริ่มใช้ในศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินศิริราช และใช้กับผู้ป่วยฉุกเฉินไปกว่า 400 คนในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมา


ผศ.นพ.ศรัทธา ริยาพันธ์ ประธานศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินศิริราช กล่าวว่า ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน “SAVER” (Smart Approach for Vital Emergency Responses) เป็นบริการที่เกี่ยวกับ Smart EMS (Emergency Medicine Service) เป็นนวัตกรรม หรือ solution ที่เหมาะสมสำหรับการบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่ทันเวลา ถูกเวลา ถูกสถานที่ และถูกต้อง มีจุดเด่นที่จะทำให้การดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการเสียชีวิตและลดภาวะทุพพลภาพจากการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ดังนี้

1. ระบบหาตำแหน่งผู้ป่วยเพื่อหาเส้นทางที่รวดเร็วในการเข้าถึง โดยระบบของเราจะส่งข้อความไปที่โทรศัพท์ของผู้ติดต่อเพื่อขอความยินยอมให้ติดตามตำแหน่ง ระบบนี้จะเข้าถึงประชาชนได้ง่ายเพราะประชาชนไม่ต้อง download application ใดๆ เพิ่มเติมใช้เพียงมือถือที่มีอินเทอร์เน็ตก็สามารถใช้ระบบนี้ได้

2. ระบบเรียกอาสาสมัครภาคประชาชนในพื้นที่ในการร่วมดูแลผู้ป่วย หรือระบบ SIREN เมื่อมีผู้ป่วยฉุกเฉิน เช่น ผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น ระบบสามารถส่งตำแหน่งที่อยู่ผู้ป่วยฉุกเฉินไปยังอาสาสมัครภาคประชาชนที่ลงทะเบียนไว้ สามารถนำพาอาสาสมัครภาคประชาชนไปยังจุดเกิดเหตุได้ ปัจจุบันรพ.ศิริราชเริ่มใช้ระบบนี้แล้ว และมีอาสาสมัครภาคประชาชน เช่น ประชาชนทั่วไป มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ผ่านการอบรม และบุคลากรทางการแพทย์ที่อาศัยในพื้นที่ โดยอาสาสมัครเหล่านั้นไม่ต้อง download application ใดๆเพิ่มเติมเช่นกัน ระบบจะทำงานผ่าน LINE official account ทำให้สะดวกและประหยัดค่าดูแล application อย่างมาก

3. ระบบให้คำปรึกษาโดยแพทย์ทางไกล หรือ Teleconsult จุดเด่นของเราจะทำงานผ่าน แพลตฟอร์ม ที่ชื่อว่า True VROOM ของ ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป โดยที่ระบบจะไม่ยึดติดกับอุปกรณ์ใดก็ตาม สามารถใช้อุปกรณ์ใดที่มีกล้อง ไมค์ ลำโพง มีอินเทอร์เน็ต ก็สามารถใช้ระบบนี้ได้ ทำให้เหมาะกับขยายผลไปใช้ในวงกว้าง และที่สำคัญระบบออกแบบรองรับการปรึกษาแพทย์ได้หลายคนพร้อมกัน จึงทำเหมาะกับการทำงานหลายรูปแบบในหลายองค์กร สามารถลดปัญหาการสื่อสารที่ซ้ำซ้อนที่เป็นเหตุให้เกิดการรักษาที่ล่าช้าได้

4. ระบบลงข้อมูลสำหรับหน่วยรถพยาบาลที่ใช้ง่าย ปัญหาของคนทำงานในรถพยาบาลฉุกเฉินตอนนี้คือการลงข้อมูลที่ถูกต้อง ขณะที่ต้องทำงานดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน ระบบนี้ถูกออกแบบการใช้งานที่สะดวกต่อการกรอกข้อมูลเพียงนิ้วมือกด ก็สามารถลงข้อมูลได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ โดยได้ข้อมูลที่ครบถ้วนเหมาะกับการพัฒนางานในอนาคตต่อไป

5. เมื่อทีมการแพทย์ฉุกเฉินได้ดูแลผู้ป่วยเบื้องต้น ก็จะพิจารณาส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลต่างๆ ที่เหมาะสมต่อไป ระบบยังสามารถให้คำแนะนำรพ.ที่เหมาะสมโดยดูจากปัจจัยต่าง ๆ ตามที่ต้องการได้นอกจากนี้


นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ ประธานกรรมการ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า Smart EMS หรือ ระบบการแพทย์ฉุกเฉินอัจฉริยะ เป็นหนึ่งในโซลูชันที่กลุ่มทรูได้รับความไว้วางใจจากโรงพยาบาลศิริราชให้ร่วมพัฒนาในโครงการ “ศิริราชต้นแบบโรงพยาบาลอัจฉริยะระดับโลกด้วยเทคโนโลยีเครือข่าย 5G” ซึ่งทีมงานผู้เชี่ยวชาญของ ทรู ดิจิทัล ได้นำเทคโนโลยี IoT และ ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาพัฒนาและเชื่อมโยงการทำงานผ่านเครือข่ายอัจฉริยะทรู 5G เพื่อให้เจ้าหน้าที่ในรถฉุกเฉินของศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินศิริราช (SiEMS) สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่รับผู้ป่วยจากจุดเกิดเหตุจนถึงการส่งเข้ารักษาที่โรงพยาบาล โดยโซลูชัน Smart EMS เปลี่ยนรถพยาบาลธรรมดา ให้เป็น 5G Smart Ambulance ประกอบด้วย ระบบอัจฉริยะต่างๆ อาทิ ระบบเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT เช่น อุปกรณ์วัดสัญญาณชีพ และ กล้องความละเอียดสูง ที่สามารถส่งข้อมูลและภาพที่ชัดเจนและแม่นยำแบบเรียลไทม์ แสดงผลผ่านแพลตฟอร์มเพื่อให้แพทย์ใช้ประกอบการรักษาได้ทันที ระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ช่วยให้แพทย์เริ่มต้นการรักษาได้รวดเร็วเสมือนอยู่ที่จุดเกิดเหตุ ระบบจัดเก็บข้อมูลผู้ป่วยฉุกเฉิน เพื่อการรักษาพยาบาลที่ต่อเนื่อง ช่วยลดภาระงานเอกสารของเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ ยังมี ระบบติดตามรถพยาบาล และ เทคโนโลยีประมวลผลข้อมูลผู้ป่วยและตำแหน่งของจุดเกิดเหตุ เพื่อค้นหาโรงพยาบาลในการเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด ซึ่งการผสานและหลอมรวมอัจฉริยภาพของเทคโนโลยีดิจิทัลและเครือข่ายทรู 5G ในครั้งนี้ นับเป็นต้นแบบของการใช้ 5G และเทคโนโลยีดิจิทัลล้ำสมัยต่างๆ ในด้านการแพทย์ฉุกเฉินและสาธารณสุข ที่นอกจากจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยและลดการเสียชีวิตแล้ว ยังช่วยยกระดับการดูแลผู้ป่วยให้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของโรงพยาบาล อีกทั้ง โซลูชัน Smart EMS ยังสามารถนำไปต่อยอดและปรับใช้ในการดูแลและช่วยเหลือผู้ป่วยในสถานการณ์ต่างๆได้อีกด้วย สอดคล้องกับความมุ่งมั่นตั้งใจของกลุ่มทรูในการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการนำอัจฉริยภาพเครือข่ายทรู 5G และระบบนิเวศดิจิทัลครบวงจร ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนไทยและประเทศไทย


จากผลสำเร็จของการค้นคิดนวัตกรรม ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน “SAVER” โดยระบบการแพทย์ฉุกเฉินนี้ได้พัฒนาขึ้นด้วยทุนสนับสนุนจากศิริราชมูลนิธิ ขอขอบคุณสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช ซึ่งร่วมบริจาคเงินเพื่อให้เกิดโครงการที่มีประโยชน์ต่อระบบการแพทย์และช่วยผู้ป่วย โดยจะมีบริษัทศิริราชวิทยวิจัย จำกัด หรือ ศิวิทย์ เป็นผู้บริหารจัดการและเผยแพร่ระบบนวัตกรรมการแพทย์ฉุกเฉิน SAVER ผู้สนใจติดต่อ ได้ที่ 02 411 5480 หรือ email: office.admin@sivitt.com
กำลังโหลดความคิดเห็น