“มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย” ร่วมกับ “สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย” เปิดเวทีความคิด “The Disruption of Business, Competition, and Transformation, Ready for the FUTURE. : โลกปรับ เกมเปลี่ยน พร้อมพลิกโฉมธุรกิจอนาคต” เพื่อสะท้อนมุมมองของนักธุรกิจชั้นนำของประเทศและระดับโลก รวมถึงนักการตลาดและนักวิชาการที่มีต่อสถานการณ์ Digital Disruption ในปัจจุบัน เพื่อนำไปสู่ทางออกและมุมมองใหม่ๆ ทั้งในระดับองค์กรและระดับประเทศ ที่จะต้องรับมือกับเกมการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง และเตรียมพร้อมพลิกโฉมสู่อนาคต
โดยเวทีความคิดนี้แบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ 1.เพราะโลกปรับ ธุรกิจต้องเปลี่ยน โดย นายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย นายกัณฑ์พงษ์ พานทองประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บจก.โอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์ (ประเทศไทย) นายนรุตม์ เจียรสนอง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) 2.เกมเปลี่ยน ประเทศไทยต้องปรับ โดย Mr.Jon Omund Revhaug (จอน โอมุนด์ เรฟฮัก) Senior Vice President เทเลนอร์กรุ๊ป ภูมิภาคเอเชีย นายนพเดช กรรณสูต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานการลงทุน นวัตกรรม และความยั่งยืนบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) นายวิธวินท์ อิทธิภาณุวัต กรรมการบริหาร Vertex Ventures Southeast Asia and India 3.ธุรกิจต้องพร้อม พลิกโฉมสู่อนาคต โดย นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) นายพุฒิกานต์ เอารัตน์ Head of People & Branding, SCB 10X และกรรมการผู้จัดการ Chief Digital Asset Officer บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มยุรี ศรีกุลวงศ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยมี นายสุทธิชัย หยุ่น และนายบัญชา ชุมชัยเวทย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
รศ.ดร.สถาพร อมรสวัสดิ์วัฒนา รองอธิการบดีอาวุโส สายงานวิชาการและงานวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า โลกศตวรรษที่ 21 เต็มไปด้วยการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ไร้ซึ่งการหยุดนิ่ง ปรากฏการณ์ Digital Disruption จึงถือเป็นท้าทายต่อการดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบันที่ต้องก้าวให้ทัน และปรับตัวรับการเกมการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป โดยปัจจุบันจะเห็นได้ว่าทุกบริษัทไม่ว่าเล็ก กลาง ใหญ่ต้องปรับตัว ไม่ว่าในไทยหรือทั่วโลก เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและอยู่รอดได้ในการดำเนินธุรกิจ และนอกจากนี้ภาครัฐจะต้องเดินเกมแข่งขันในระดับประเทศเช่นกันเพื่อดึงดูดนักลงทุนและเม็ดเงินเข้าประเทศ จึงจำเป็นต้องมีการปรับตัวไม่แตกต่างจากภาคธุรกิจเอกชน
ด้าน นายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า Digital Disruption มีผลต่อเกมการแข่งขันทางธุรกิจทั่วโลก การเข้ามาของเทคโนโลยีในระยะหลังได้สร้างผลกระทบต่ออุตสาหกรรมแทบทั้งหมด มีการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และข้อมูลขนาดใหญ่ เครือข่ายการเชื่อมต่อความเร็วสูง 5G-6G และเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ ทำให้เป็นโอกาสในการสร้างนวัตกรรมที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งถือได้ว่าเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเล็ก กลาง ใหญ่ ได้พัฒนานวัตกรรม ทำให้ผู้ประกอบการสร้างบริการใหม่ๆ ผ่านโลกดิจิทัลได้ ธุรกิจลักษณะนี้มีความได้เปรียบเพราะใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ผู้ให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นผู้ลงทุน และไม่ถูกควบคุมโดยกฎระเบียบที่บังคับ ทำให้การให้บริการผ่านทางอากาศ (over the top) เป็นการลงทุนน้อยแต่ให้บริการได้ทั่วโลก ในทางกลับกันประเทศที่พัฒนาแล้วสามารถให้บริการข้ามประเทศมายังประเทศไทย และชิงส่วนแบ่งรายได้จากผู้ประกอบการไทยได้เช่นกัน ดังนั้น หากผู้ประกอบการไทยปรับโครงสร้างไม่ทันก็จะยากในการแข่งขัน ซึ่งการปรับตัวในยุค Digital Disruption นี้เป็นไปได้ในหลายรูปแบบ ทั้งการพัฒนานวัตกรรม การหาพันธมิตร การรวมธุรกิจ เพราะทุกธุรกิจไม่สามารถยืนอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ ซึ่งจะทำให้เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจให้พร้อมรับมือกับโลกอนาคต สร้างโอกาสใหม่ให้เกิดขึ้น ซึ่งจะไม่เป็นประโยชน์เพียงภาคธุรกิจเท่านั้น แต่ยังประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้พร้อมแข่งขันกับทั่วโลกอีกด้วย