xs
xsm
sm
md
lg

บช.น.แจงประทับบ่ายิงกระสุนยางคุมม็อบเป็นไปตามมาตรฐาน อันตรายน้อยกว่าไม่เล็ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - โฆษก บช.น.แจง แนวทางการทำงานของสื่อมวลชนในพื้นที่การชุมนุม และกฎการใช้กำลังเกี่ยวกับยุทธวิธีในการใช้กระสุนยาง

วันนี้ (14 มิ.ย.) เวลา 20.30 น. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น.ในฐานะโฆษก บช.น.ชี้แจงแนวทางการทำงานของสื่อมวลชนในพื้นที่การชุมนุม และกฎการใช้กำลังเกี่ยวกับยุทธวิธีในการใช้กระสุนยาง สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผบช.น.ห่วงใยเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพและความปลอดภัยของสื่อมวลชนในการรายงานข่าวในพื้นที่การชุมนุม จึงเชิญผู้บริหารของ 6 องค์กรสื่อ 76 สำนักข่าว เพื่อเข้าร่วมประชุมหารือแนวทางการทำงานของสื่อมวลชนร่วมกัน ประกอบด้วย 1. สภาการสื่อสารมวลชนแห่งชาติ 2. สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 3. สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย 4. สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย 5. สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย และ 6. สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์

โดยในที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับเรื่องที่สำคัญดังนี้ ประการที่ 1 เห็นชอบการจัดทำปลอกแขนแบบใหม่ของสมาคมนักข่าว เพื่อให้สื่อมวลชนใช้แสดงตัวตน เพื่อประโยชน์ในการประสานงานกับตำรวจ ประการที่ 2 มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อให้เกิดความปลอดภัยของนักข่าว โดยเฉพาะการจัดเตรียมพื้นที่ปลอดภัยในการทำข่าวของสื่อมวลชน การใช้ป้ายผ้าเตือน ธง หรือแสง เพื่อแจ้งเตือนก่อนจะใช้กำลัง หรือยุทธวิธีการปฏิบัติตามกฎการใช้กำลัง และการกำหนดระยะเวลาที่เพียงพอเพื่อให้สื่อมวลชนได้รับทราบและหลีกเลี่ยงก่อน เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการใช้กำลัง และประการที่ 3 ได้มีการหารือร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติของตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) เพื่อไม่ให้เป็นการปิดกั้น หรือคุกคามการทำงานของสื่อมวลชน เว้นแต่กรณีที่สื่อมวลชนเข้าไปสนับสนุน หรือมีส่วนร่วมเกี่ยวกับการชุมนุม และกรณีที่มีเหตุการณ์ที่ตำรวจผู้ปฏิบัติอยู่ในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องป้องกันตนเอง

สำหรับกรณีที่มีการวิจารณ์กรณีเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. ตำรวจ คฝ.ได้ใช้กระสุนยางไม่เป็นไปตามแนวปฏิบัติของสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชน โดยมีการยิงแบบประทับบ่า และไม่ได้เล็งต่ำไปที่ท้องส่วนล่าง หรือขานั้น ขอชี้แจงว่า ผบช.น.ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว จัดให้มีการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง และเน้นย้ำให้ปฏิบัติภายใต้กรอบของกฎหมายโดยเคร่งครัด โดยเฉพาะในเรื่องกฎการใช้กำลังนั้น จะต้องยึดหลักปฏิบัติ 4 ประการ คือ 1. ต้องมีกฎหมายรองรับ 2. ต้องมีความจำเป็น 3. ต้องได้สัดส่วน และ 4. ต้องมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ กรณีการใช้กระสุนยางถือเป็นอาวุธที่ไม่ได้เจตนาทำร้ายถึงชีวิต แต่เป็นการใช้เพื่อระงับยับยั้งกลุ่มผู้ชุมนุมที่ใช้ความรุนแรงกับตำรวจ ซึ่งเป็นไปตามหลักสากลในการควบคุมฝูงชน

สำหรับการยิงแบบประทับบ่านั้น ถือเป็นท่าพื้นฐานและเป็นไปตามมาตรฐานในการใช้อาวุธ ที่ทำให้สามารถเล็งเป้าหมายได้ และมีอันตรายน้อยกว่าการยิงในท่าที่ไม่มีการเล็ง หากยิงท่าอื่นที่ไม่มีการเล็งอาจจะถูกอวัยวะที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บขึ้นได้ ในขณะที่ท่ายิงที่มีการเล็งนั้น สามารถเลือกบริเวณจุดที่ไม่เกิดอันตราย หรือบาดเจ็บกับผู้ที่ถูกกระสุน ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าท่าที่ไม่มีการเล็ง กรณีไม่ได้เล็งต่ำโดยปกติจุดของการเล็งระหว่างร่างกายช่วงบนและช่วงล่าง มุม หรือองศาของกระบอกปืนจะไม่แตกต่างกันมาก การโฟกัสไปที่กระบอกปืนอย่างเดียวไม่สามารถยืนยันได้ว่า ผู้ยิงเล็งปากกระบอกปืนไปยังจุดใด นอกจากนี้ สถานที่เกิดเหตุก็มีส่วนสำคัญ ขณะนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่ในจุดที่สูง หรือต่ำกว่าผู้ยิงหรือไม่ เพราะฉะนั้นการยิงในท่านอนก็อาจยิงจุดที่สูงได้ ในขณะที่ท่ายืนก็อาจจะยิงในจุดที่ต่ำได้ การพิจารณาเฉพาะท่าการยิงและสรุปว่าเป็นการยิงสูง จึงอาจมีน้ำหนักไม่เพียงพอที่จะสรุปว่าเล็งสูงได้

บช.น.จึงขอเรียนชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบ เกี่ยวกับแนวทางการทำงานของสื่อมวลชนในพื้นที่การชุมนุม และกฎการใช้กำลังกับยุทธวิธีในการใช้กระสุนยาง


กำลังโหลดความคิดเห็น