xs
xsm
sm
md
lg

‘พอยท์เพย์’ เชื่อมคะแนนสะสมเอกชน-รัฐ ช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็ก (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ด้วยจำนวนผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ ของธนาคารกรุงไทยกว่า 52 ล้านคน แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของผู้บริโภคชาวไทยที่เข้าถึงดิจิทัลเซอร์วิส โดยเฉพาะบริการทางการเงินในรูปแบบดิจิทัลที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในการใช้งานได้อย่างน่าสนใจ

แน่นอนว่าจุดเริ่มต้นของ ‘เป๋าตัง’ คือการเปิดให้คนไทยสามารถเข้าถึงโครงการช่วยเหลือของภาครัฐ จนถึงล่าสุดคือการซื้อสลากดิจิทัล แต่ในอีกมุมหนึ่งคือการเปิดโอกาสให้หน่วยงานรัฐสามารถเชื่อมต่อบริการของภาคเอกชน เข้ากับแอปพลิเคชันของภาครัฐในการรับชำระเงิน และกลายเป็นอีกช่องทางที่ส่งเสริมให้การใช้งานดิจิทัลเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในวงกว้างมากขึ้น


หนึ่งในรูปแบบการทำงานร่วมกันระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐที่น่าสนใจคือ ความร่วมมือระหว่าง AIS และ KTB ที่เข้ามาเชื่อมต่อชำระเงินของร้านค้าถุงเงินที่มีความสามารถในการรับชำระค่าสินค้า และบริการด้วยรูปแบบที่หลากหลาย ออกมาเป็นการนำยอดคะแนนสะสม หรือ Point มาใช้ในการชำระเงินให้แก่ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ

จากจำนวนฐานลูกค้าของ AIS ที่มีผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือกว่า 45 ล้านราย และบริการอินเทอร์เน็ตไฟเบอร์กว่า 1.8 ล้านราย ให้สามารถนำ AIS Point ไปแลกรับส่วนลดเงินสดกับ ‘ร้านค้าถุงเงิน’ กว่า 4 แสนแห่งทั่วประเทศ และคาดว่าจะเพิ่มเป็นกว่า 1 ล้านแห่งทั่วประเทศภายในสิ้นปีนี้

‘ปรัธนา ลีลพนัง’ หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ชี้ให้เห็นเป้าหมายหลักของโครงการ ‘พอยท์เพย์’ ว่า ต้องการทำให้ผู้ประกอบการทุกคนได้รับประโยชน์ในการนำเงินไปใช้งานผ่านแอปเป๋าตัง รวมถึงโครงการต่างๆ ของภาครัฐ โดยเฉพาะการนำ AIS Point ไปใช้เป็นเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจฐานราก

โดยตั้งแต่เริ่มโครงการมาในช่วงเดือนกันยายนปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีลูกค้า AIS ที่เข้าร่วมการสะสม AIS Point แล้วกว่า 20 ล้านราย มีการใช้สิทธิในการเปลี่ยน AIS Point มาชำระค่าอาหาร และเครื่องดื่มไปแล้วกว่า 100 ล้านแต้ม หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 50 ล้านบาท เพียงแต่หลักๆ แล้วจะเปิดการใช้งานในพื้นที่กรุงเทพฯ ถึง 70% ในขณะที่ต่างจังหวัดยังมีการใช้งานน้อยกว่ามาก

“ความร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นตัวอย่างสำคัญมากๆ ที่จะปูทางไปถึงความร่วมมือในอนาคต เพราะธนาคารกรุงไทย ถือว่ามีโครงข่ายที่พร้อมเข้าไปช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในขณะที่ AIS มีฐานลูกค้าและพันธมิตรที่สามารถเชื่อมให้เข้ามาใช้งานดิจิทัลแพลตฟอร์มในการเชื่อมต่อจากลูกค้า ไปถึงผู้ประกอบการ”

โครงการพอยท์เพย์ เปรียบเสมือนแพลตฟอร์มที่จะสนับสนุนการเติบโตของสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ผ่านช่องทางดิจิทัล ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งาน AIS สามารถนำคะแนนสะสมที่ได้จากการใช้งานมาใช้ชำระค่าสินค้า และบริการแทนเงินสด หนุนให้ร้านค้ารายย่อย ร้านอาหารข้างทาง ร้านค้าในตลาดสด เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจฐานราก


นอกจากนี้ ในอนาคตยังมีแผนที่จะขยายจากกลุ่มร้านอาหาร เครื่องดื่ม เข้าสู่ร้านขายของชำ และขยายไปสู่แทบทุกเรื่องของการใช้ชีวิตทั่วไปของประชาชน เพื่อให้ผู้ประกอบการทุกภาคส่วนสามารถใช้ประโยชน์จากการสมัครเข้าร่วมโครงการร้านค้าถุงเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ธวัชชัย ชีวานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริการสายงาน สายงานบริหารจัดการทางการเงินเพื่อธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย ให้ข้อมูลเพิ่มว่า ปัจจุบันมีร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการต่างๆ มากกว่า 1.6 ล้านร้านค้า โดยอยู่ในกลุ่มอาหาร และเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทั่วไปต้องใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ประมาณ 8 แสนราย และมีกลุ่มร้านค้าที่กดเข้าร่วมโครงการพอยท์เพย์แล้วกว่า 4 แสนราย

“การที่ร้านค้าเข้าร่วมโครงการนี้จะได้รับโอกาสจากการที่ลูกค้าไม่ต้องชำระเงินผ่านเงินสด โดยเฉพาะการชำระค่าอาหาร และเครื่องดื่มที่มีจำนวนไม่มาก เมื่อลูกค้ามี AIS Point ก็สามารถซื้อสินค้าได้ทันที ซึ่งที่ผ่านมาผลตอบรับฝั่งร้านค้าถือว่าดีมากๆ เพราะแต่เดิมการที่จะได้ใช้จะมาจากโครงการภาครัฐเป็นหลัก แต่กลายเป็นครั้งแรกที่จะได้รับชำระจากภาคเอกชน”

เบื้องต้น กรุงไทยคาดหวังให้ร้านอาหาร และเครื่องดื่มกว่า 8 แสนราย เข้ามาสมัคร รวมถึงร้านค้าที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการถุงเงินด้วย โดยปัจจุบันสัดส่วนร้านค้าหลักๆ กว่า 70% จะกระจายอยู่ในต่างจังหวัดทั่วประเทศอยู่แล้ว โดยเฉพาะในส่วนของเศรษฐกิจฐานรากที่จะช่วยให้ขยับขยายต่อยอดไปได้หลายเท่า ทำให้โครงการนี้ผู้ประกอบการทั่วประเทศจะได้รับประโยชน์ด้วย

สำหรับความร่วมมือในอนาคตระหว่าง AIS และกรุงไทย มีโอกาสที่จะขยายไปยังบริการอื่น อย่างร้านขายของชำ หรือในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เนื่องจากทางกรุงไทยมีฐานของผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมที่รับเงินจากโครงการเราเที่ยวด้วยกันอยู่แล้ว จึงสามารถขยายได้ไม่ยาก

ธวัชชัย กล่าวถึงความพร้อมของประชาชนในการใช้งานบริการดิจิทัลปัจจุบันว่า จากโครงการภาครัฐต่างๆ ที่เกิดขึ้นทำให้ประชาชนรับรู้ และมีประสบการณ์ใช้งานมาแล้ว ทำให้คิดว่าในปัจจุบันไม่ถือเป็นปัญหาแล้วเมื่อเทียบกับ 3 ปีที่ผ่านมา และเชื่อว่าหลังจากเริ่มมีการกลับมาใช้ชีวิตปกติ ปริมาณการใช้งานจะเพิ่มขึ้น พร้อมกับการเร่งสื่อสารในพื้นที่ เพื่อให้ลูกค้ารับรู้ว่าร้านต่างๆ รับการชำระผ่านโครงการพอยท์เพย์

ในฝั่งของ AIS ได้วางงบประมาณสำหรับโครงการนี้ไว้ที่ 1,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการใช้ AIS Point แลกส่วนลดเงินสด เนื่องจากในปัจจุบันจากฐานลูกค้าที่สะสม AIS Point กว่า 20 ล้านราย มีคะแนนสะสมในระบบกว่า 2,600 ล้านคะแนน และจะเพิ่มขึ้นราว 220 ล้านคะแนนในทุกๆ เดือน พร้อมกับตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มจำนวนลูกค้าที่ใช้สิทธิให้เพิ่มเป็น 10 เท่า หลังจากขยายร้านค้าที่รับชำระเพิ่มเติมเป็น 1 ล้านแห่งทั่วประเทศ

สำหรับการสะสมคะแนน AIS Point ในปัจจุบันจะมีทั้งจากการชำระค่าบริการในอัตราค่าใช้จ่าย 25 บาท เท่ากับ 1 คะแนน รวมถึงการนำคะแนนสะสมบัตรเครดิต หรือคะแนนสะสมสมาชิกอื่นๆ ที่เป็นพันธมิตรกับทาง AIS มาแลกเป็น AIS Point ได้เช่นกัน หลังจากนั้น สามารถนำ AIS Point ไปแลกรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในแอปพลิเคชัน myAIS หรือเลือกนำไปใช้ชำระแทนเงินสดในโครงการพอยท์เพย์ 2 คะแนน เท่ากับ 1 บาท


กำลังโหลดความคิดเห็น