xs
xsm
sm
md
lg

AIS-กรุงไทยนำ ‘พอยท์เพย์’ หนุนร้านค้าถุงเงินทั่วไทย ใช้ AIS Point ชำระค่าสินค้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



AIS ต่อยอดความร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย ในการนำ AIS Point ใช้ชำระค่าสินค้ากับร้านค้าถุงเงินกว่า 4 แสนแห่งทั่วประเทศ ภายใต้โครงการ ‘พอยท์เพย์’ หวังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากช่วยลดภาระผู้บริโภค เพิ่มโอกาสร้านค้า

นายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวว่า ตั้งแต่ทางเอไอเอส ร่วมมือกับธนาคารกรุงไทยในการเปิดให้ใช้งาน AIS Point เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการในช่วงปลายปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันมีลูกค้าแลกใช้งานไปแล้วกว่า 100 ล้านพอยท์ และคาดว่าจนถึงสิ้นปีนี้มีโอกาสเพิ่มขึ้นอีก 2-3 เท่า

“ภารกิจของ AIS คือการพัฒนาบริการดิจิทัลให้คนไทยได้ใช้งาน ร่วมกับการสนับสนุนธุรกิจรายย่อยในการแบ่งเบาภาระลูกค้า ทำให้เกิดความร่วมมือในครั้งนี้ขึ้นมา เพื่อที่จะช่วยสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย และเพิ่มช่องทางในการมอบสิทธิประโยชน์ให้แก่ลูกค้า”

นายธวัชชัย ชีวานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริการสายงาน สายงานบริหารจัดการทางการเงินเพื่อธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย กล่าวถึงโครงการพอยท์เพย์ว่า เป็นการนำจุดแข็งของ 2 องค์กรที่ต้องการนำนวัตกรรมมาตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภค

ด้วยการเปิดให้ร้านค้าที่สมัครใช้การรับชำระเงินผ่านถุงเงิน สามารถรับชำระค่าสินค้า และบริการจาก AIS Point รวมถึงคะแนนสะสมอื่นๆ ได้ ซึ่งนับเป็นการต่อยอดการใช้งานบริการดิจิทัลจากภาครัฐให้แก่เอกชนได้ใช้งานด้วย

ปัจจุบันกรุงไทยมีฐานผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการถุงเงินกว่า 1.6 ล้านร้านค้า โดยเป็นร้านอาหาร และเครื่องดื่มราว 8 แสนร้านค้า ในจำนวนนี้กว่า 4 แสนร้านค้าได้เข้าร่วมโครงการพอยท์เพย์แล้ว และคาดว่าจะสามารถขยายเพิ่มเป็นมากกว่า 1 ล้านร้านค้าได้ภายในสิ้นปีนี้ จากการขยายความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

โดยลูกค้า AIS สามารถใช้คะแนน AIS Point 2 คะแนน แทนเงินสด 1 บาท เพื่อซื้อสินค้า และบริการจากร้านค้าถุงเงินที่เข้าร่วมโครงการได้ทันที ซึ่งในฝั่งของร้านค้าจะได้รับเงินเข้าบัญชีในเวลา 10.00 น.ของวันรุ่งขึ้น

“การเชื่อมระบบร้านค้าถุงเงินให้รับชำระเงินผ่านช่องทางดิจิทัลได้หลากหลายขึ้น ถือเป็นส่วนช่วยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการชำระค่าสินค้า และบริการมากขึ้น ในขณะเดียวกันจะช่วยผู้ประกอบการให้สร้างรายได้เพิ่มขึ้น จากการที่ผู้บริโภคไม่ต้องชำระเงินสดในการซื้อของต่างๆ ด้วย”


กำลังโหลดความคิดเห็น