กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
เดือนมิถุนายน 2565 มีเหตุการณ์เกี่ยวข้องกับแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ซึ่งพัฒนาโดย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่น่าสนใจอยู่ 2 เหตุการณ์
เหตุการณ์แรก สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเปิดขาย “สลากดิจิทัล” ตั้งแต่เวลา 06.00 น. วันที่ 2 มิ.ย. ที่ผ่านมา ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง ในราคา 80 บาท จำนวน 5,173,500 ฉบับ ผ่านตัวแทนจำหน่ายสลากดิจิทัล 10,258 ราย
โดยเป็นไปในลักษณะที่ ตัวแทนจำหน่ายสลากดิจิทัล สั่งจองสลากล่วงหน้างวดละ 5 เล่ม รวม 500 ฉบับ ก่อนจะให้สำนักงานสลากฯ สแกนสลากขึ้นไปบนแพลตฟอร์ม ให้คนซื้อผ่านแอปฯ เป๋าตัง และจัดเก็บสลากตัวจริงเอาไว้
เมื่อถูกรางวัล จะมีช่องทางรับเงินรางวัล 2 วิธี คือ โอนเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย มีค่าธรรมเนียม 1% กับไปขึ้นเงินรางวัลที่สำนักงานสลากฯ เอง โดยจองคิววันและเวลาที่จะไปขึ้นเงิน เพื่อให้ทางโน้นเตรียมสลากตัวจริงเอาไว้ให้
ปรากฏว่าผ่านไป 4 วัน พบว่าวันที่ 6 มิ.ย. สลากดิจิทัลจำหน่ายหมดเกลี้ยง โดยมีผู้ซื้อ 1,247,406 คน
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล พบว่ามีลูกค้าเข้ามาใช้บริการตรวจรางวัลสลากดิจิทัล บนแอปฯ เป๋าตังมากกว่าช่วงที่เคยสูงสุดถึง 15 เท่า จึงทำให้แอปฯ ออกอาการเดี้ยงไปบ้าง
ธนาคารได้พัฒนาระบบของแอปฯ เป๋าตังให้อยู่บนระบบคลาวด์ ซึ่งสามารถรองรับจำนวนผู้ใช้งานที่เข้ามาพร้อมกันได้จำนวนมาก ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ในเวลาอันรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม สำนักงานสลากฯ กำลังดำเนินโครงการ “สลาก 80” โดยให้ตัวแทนจำหน่ายสลากฯ รับสลากไปขายจุดละ 25 เล่ม หรือ 2,500 ฉบับ โดยต้องซื้อขายผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง และถุงเงินสำหรับฝั่งร้านค้าเท่านั้น
ปัจจุบันมีจุดจำหน่ายให้บริการแล้ว 362 จุด ในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ส่วนภาคเหนือและภาคใต้ กำลังคัดเลือกตัวแทนจำหน่ายและเซ็นสัญญา
อีกเหตุการณ์หนึ่ง กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เสนอขายพันธบัตรออมทรัพย์ รุ่นออมเพิ่มสุข วงเงินรวม 55,000 ล้านบาท โดยแบ่งจำหน่ายผ่านวอลเล็ต สบม. (สะสมบอนด์มั่งคั่ง) 10,000 ล้านบาท
ที่ผ่านมา สบน. ร่วมกับธนาคารกรุงไทย จำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านแอปฯ เป๋าตังแล้ว 5 ครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2563 วงเงิน 200 ล้านบาท ขายหมดภายใน 99 วินาที ครั้งต่อมาขายหมดในวันแรกของการจำหน่าย
ปรากฏว่า วันที่ 13 มิ.ย. ซึ่งเป็นวันแรกของการจำหน่าย ผ่านไป 40 นาที ขายหมดเกลี้ยงเต็มวงเงิน
ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า นักลงทุนสนใจซื้อเข้ามาพร้อมกันจำนวนมาก ตั้งแต่เปิดขายในนาทีแรก เวลา 08.30 น. และมากกว่าครั้งที่ผ่านมาถึง 4.5 เท่า ทำให้การซื้อสะดุดไปประมาณ 28 นาที
งานนี้ทำให้ธนาคารฯ ต้องเพิ่มทรัพยากรและประสิทธิภาพของระบบ (Capacity) ไปกว่า 5.5 เท่า จึงสามารถรองรับการซื้อได้ โดยสามารถปิดการขายได้ภายในเวลา 12 นาที ก่อนจะหมดลงในเวลา 40 นาที
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้การจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านวอลเล็ต สบม. ครั้งที่ 5 รุ่น ออมไปด้วยกัน วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2564 พบว่าขายหมดภายในเวลา 12 นาที
สองเหตุการณ์ที่หยิบยกมานี้ สะท้อนให้เห็นว่าแอปฯ “เป๋าตัง” กลายเป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) ที่ประชาชนส่วนใหญ่คุ้นเคย ด้วยตัวเลขผู้ใช้งานล่าสุดกว่า 34 ล้านคน
เทียบกับประชากรทั้งประเทศ 66.17 ล้านคน เท่ากับว่ามีจำนวนผู้ใช้งานมากกว่า 51%
ย้อนกลับไปในอดีต ธนาคารกรุงไทยเปิดตัวแอปฯ เป๋าตัง เมื่อปี 2561 โดยใช้จังหวัดนครปฐมเป็นเมืองไร้เงินสดแห่งแรกในไทย แต่ขณะนั้นยังเป็นแอปฯ ที่ต้องผูกกับบัญชีกรุงไทย เพื่อชำระเงินผ่าน QR Code เท่านั้น
ขณะที่ฝั่งร้านค้าจะมีแอปฯ “เป๋าตุง” สำหรับรับเงินโอนจากช่องทาง QR พร้อมเพย์ ก่อนที่เวลาต่อมาจะเปลี่ยนชื่อเป็น “ถุงเงิน” ในปัจจุบัน พร้อมกับเพิ่มช่องทางรับเงิน เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
ต่อมารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำเนินโครงการ “ชิมช้อปใช้” โอนวงเงินคนละ 1,000 บาทจำนวน 10 ล้านคน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ และสนับสนุนการใช้จ่ายผ่านระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์
คนที่ลงทะเบียนโครงการชิมช้อปใช้ นับตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย. 2562 เป็นต้นมา จะมีรหัส “G-Wallet” กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับใช้ในโครงการภาครัฐ โดยการเติมเงินลงไปเพื่อใช้สิทธิต่างๆ เช่น เงินคืน ตามที่ภาครัฐกำหนด
G-Wallet อาศัยโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินอย่างระบบพร้อมเพย์ โดยใช้รหัส e-Wallet 15 หลัก สามารถเติมเงินเข้าไปในแอปฯ โอนออกเข้าบัญชีธนาคาร ทำธุรกรรมทั้งโอนเงิน เติมเงิน และจ่ายบิลค่าน้ำ ค่าไฟ ได้อีกด้วย
ที่ผ่านมาสารพัดโครงการของรัฐ ต่างก็ใช้ประโยชน์จากแอปฯ เป๋าตังในการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และเยียวยาประชาชนจากสถานการณ์โควิด-19 เช่น เราเที่ยวด้วยกัน เราชนะ ม.33 เรารักกัน ยิ่งใช้ยิ่งได้ ฯลฯ
แต่ที่ทำให้ยอดผู้ใช้ขึ้นมาแบบก้าวกระโดด คือ โครงการคนละครึ่ง ที่รัฐบาลมอบส่วนลด 50% สูงสุด 150 บาทต่อวัน พบว่าได้รับความนิยมจากประชาชน กระทั่งขยายสิทธิเป็น 29 ล้านคน และ 31 ล้านคนเพื่อให้มีผู้ลงทะเบียนทั่วถึง
ถือเป็นอานิสงส์ที่ทำให้ยอดผู้ใช้งานแอปฯ เป๋าตังเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดด้วยเช่นกัน
ไม่ใช่แค่โครงการของรัฐเท่านั้น แอปฯ เป๋าตังยังได้เพิ่มบริการใหม่ๆ เช่น บริการกระเป๋าสุขภาพ (Health Wallet) ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ผู้ใช้ตรวจสอบสิทธิหลักประกันสุขภาพของตนเอง
ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ยังใช้เป็นช่องทางลงทะเบียนฉีดวัคซีนใน โครงการไทยร่วมใจ กรุงเทพฯ ปลอดภัย และร่วมกับ สปสช. แจกชุดตรวจโควิด-19 ผ่านหน่วยบริการต่างๆ เช่น ร้านขายยา
บริการวอลเล็ต สบม. ร่วมกับ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดช่องทางการลงทุนในกลุ่มนักเรียน วัยรุ่น วัยทำงาน รวมถึงผู้มีรายได้น้อย ลงทุนขั้นต่ำครั้งละ 100 บาท และยังเช็กยอดถือครองพันธบัตรทุกรุ่น ทุกธนาคาร
บริการ Gold Wallet ส่งคำสั่งซื้อ-ขายทองคำแบบออนไลน์ ร่วมกับพันธมิตรอย่าง MTS Gold แม่ทองสุก, บริการซื้อขายหุ้นกู้ ที่ให้บริษัทเอกชนเสนอขายหุ้นกู้ให้กับประชาชน นำร่องกับ ปตท.สผ. เมื่อเดือน พ.ย. 2564
ล่าสุด ยังร่วมกับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาการจำหน่ายสลากเกินราคา ได้แก่ สลากดิจิทัล และ โครงการสลาก 80 มุ่งหวังที่จะให้ประชาชนเข้าถึงสลากได้ในราคาที่กำหนด คือ 80 บาทต่อฉบับ
ปัจจุบัน “เป๋าตัง” พัฒนาโดย บริษัท อินฟินิธัส บาย กรุงไทย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของธนาคารกรุงไทย ก่อตั้งเมื่อปี 2563 ให้บริการดิจิตัลแพลตฟอร์ม รวมถึงบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีโดยเฉพาะ
แอปฯ เป๋าตัง ถูกวางตำแหน่งให้เป็น Thailand Digital Open Platform เปิดกว้างในการนำแพลตฟอร์มไปใช้ด้านต่างๆ ทั้งการใช้จ่ายในโครงการภาครัฐ การลงทุน และการตรวจสอบสิทธิหลักประกันสุขภาพ
นอกจากนี้ ธนาคารกรุงไทยยังพัฒนาแพลตฟอร์มอื่นๆ ทั้งแอปฯ “ถุงเงิน” มีร้านค้าใช้งานกว่า 1.5 ล้านแห่ง, บริการแจ้งเตือนเงินเข้า-ออก ผ่านไลน์ Krungthai Connext มีผู้ใช้งานกว่า 16 ล้านคน
โดยเฉพาะแอปฯ ถุงเงิน นอกจากรับเงินโครงการของรัฐแล้ว ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตร เช่น เอไอเอส ที่ให้ลูกค้าโปรแกรมเอไอเอส พอยท์ กว่า 20 ล้านคน นำคะแนนไปแลกสินค้าและบริการตามร้านค้าถุงเงิน นำร่อง 400,000 ร้านค้า
รวมทั้ง บัตรกรุงไทย (KTC) ที่เพิ่งพัฒนาแพลตฟอร์มรวมคะแนนสะสมจากบัตรสมาชิก ที่ชื่อว่า MAAI (มาย) นำคะแนนไปแลกสินค้าและบริการตามร้านค้าถุงเงิน ที่เป็นร้านค้าอาหารและเครื่องดื่มรวม 20,000 แห่งทั่วกรุงเทพฯ
หากเรียงลำดับผู้ใช้งานแอปพลิเคชันอี-วอลเลตในไทย พบว่าแอปฯ เป๋าตัง มีจำนวนผู้ใช้งานกว่า 34 ล้านราย รองลงมาคือ ทรูมันนี่ วอลเล็ต 24 ล้านราย แรบบิท ไลน์เพย์ 8.2 ล้านราย และดอลฟิน 4 ล้านราย
จุดแข็งที่ทำให้แอปฯ เป๋าตังมีผู้ใช้งานแบบก้าวกระโดด ปฏิเสธไม่ได้ว่า ด้วยความที่เป็นธนาคารพาณิชย์ของภาครัฐ ทำให้โครงการของรัฐย่อมใช้ระบบแอปฯ เป๋าตัง เช่นเดียวกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่มีผู้ถือบัตร 13.6 ล้านราย
แต่ด้วยความที่แอปฯ เป๋าตังใช้ระบบการชำระเงินพร้อมเพย์ อี-วอลเล็ต ทำให้การทำธุรกรรมต่างๆ ร่วมกับธนาคารอื่น เช่น การเติมเงินเข้า การสแกนจ่าย การโอนเงินออก เป็นไปอย่างไร้รอยต่อ โดยไม่มีค่าธรรมเนียม
อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่มีโครงการของรัฐ เช่น คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ฯลฯ ในขณะนี้ การใช้งานแอปฯ เป๋าตังจึงยังมีผู้ใช้เฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มผู้ซื้อสลาก กลุ่มผู้ลงทุนในพันธบัตร หุ้นกู้ ทองคำ ที่อาจจะยังไม่ลบแอปฯ ออกไป
แต่ถึงกระนั้น หากใครลบแอปฯ ไปแล้ว ในภายภาคหน้ามีโครงการของรัฐเกิดขึ้นมา สามารถกลับมาดาวน์โหลดและยืนยันตัวตนใหม่อีกครั้งได้อีก ทั้งผ่านสแกนใบหน้า หรือผ่านช่องทางอื่นๆ ของธนาคารกรุงไทย
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า มีผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินอิเล็กทรอนิกส์ประมาณ 37 ราย ซึ่งพบว่าบางรายกำลังพัฒนาระบบอี-วอลเล็ต เพื่อเชื่อมโยงกับโปรแกรมสะสมคะแนนของตัวเอง
แม้วันนี้แอปฯ เป๋าตัง ยังไม่มีโครงการของรัฐ แต่ก็มีผลิตภัณฑ์สลากดิจิทัล เป็นจุดขายใหม่ที่กำลังนิยมในเวลานี้ แต่ก็ต้องดูว่าระยะยาว แอปฯ “เป๋าตัง” จะมีอะไรที่พอดึงดูดผู้ใช้งานกลับมาได้อีก