xs
xsm
sm
md
lg

หัวเว่ยคลอดดาต้าเซ็นเตอร์ใหม่ ลดเวลาก่อสร้าง-ประหยัดพื้นที่-มี AI กันระบบล่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ชาร์ลส์ หยาง (Charles Yang) รองประธานอาวุโสของหัวเว่ย และซีอีโอของหัวเว่ย ดาต้าเซ็นเตอร์ ฟาซิลิตี้
หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ (Huawei Technologies) เปิดตัวดีไซน์ศูนย์ข้อมูล หรือดาต้าเซ็นเตอร์ใหม่อย่างเป็นทางการ การันตีว่าสามารถติดตั้งได้ในเวลาประมาณครึ่งหนึ่งจากที่ดาต้าเซ็นเตอร์ดั้งเดิมต้องการก่อนหน้านี้ เบื้องต้น วางเป้าทำสัญญากับหน่วยงานรัฐทั่วจีน ถือเป็นก้าวใหม่เพื่อกระจายธุรกิจภายใต้แรงกดดันจากการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ

นายชาร์ลส์ หยาง (Charles Yang) รองประธานอาวุโสของหัวเว่ย และซีอีโอของหัวเว่ย ดาต้าเซ็นเตอร์ ฟาซิลิตี้ กล่าวในงาน Next-Generation Data Center Release Conference ที่เมืองตงกวน มณฑลกวางตุ้ง ว่าดาต้าเซ็นเตอร์ใหม่ของหัวเว่ยถูกออกแบบมาเพื่อการจัดส่งถึงผู้ใช้ได้รวดเร็ว โดยสามารถลดเวลาการก่อสร้างและติดตั้งระบบลงได้ครึ่งหนึ่ง นอกจากนี้ ยังสะดวกด้วยรูปแบบโมดูลาร์ทำให้ระบบใช้พื้นที่ขนาดเล็ก และยังตอบสนองต่อการหยุดชะงักของระบบได้ด้วย AI

จุดเด่นของดาต้าเซ็นเตอร์ใหม่ของหัวเว้ยคือการออกแบบให้มีส่วนประกอบเป็นโมดูลที่สร้างขึ้นจากนอกสถานที่ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถนำไปปรับใช้ได้รวดเร็วขึ้น โดยยกตัวอย่างว่าดาต้าเซ็นเตอร์ขนาด 1,000 ชั้นวาง (rack) จะสามารถจัดส่งได้ในเวลา 6-9 เดือน ลดลงจากเวลาการก่อสร้างอย่างน้อย 18 เดือนที่เคยเป็นในดาต้าเซ็นเตอร์ดั้งเดิม

วิธีการติดตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ใหม่นี้จะช่วยลดพื้นที่ที่จำเป็นสำหรับการติดตั้งระบบลง 40% ในขณะที่ปัญญาประดิษฐ์จะช่วยจัดการกับภาวะการเกิดปัญหาทั้งระบบล่ม และข้อผิดพลาดอื่นเพื่อการบำรุงรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น คาดว่าหัวเว่ยจะพร้อมใช้ศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีใหม่สำหรับบริการคลาวด์ของหัวเว่ยอย่างเต็มที่ในอนาคต


หัวเว่ยย้ำว่าบริษัทมุ่งมั่นจัดหาศูนย์ข้อมูลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงานให้ทุกอุตสาหกรรม ปัจจุบัน หัวเว่ยมีศูนย์ข้อมูลให้บริการใน 5 ภูมิภาคของจีน รวมถึงให้บริการในตะวันออกกลาง อเมริกาใต้ และตลาดต่างประเทศอื่นๆ คาดว่าหัวเว่ยจะเร่งทำตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ใหม่อย่างเต็มที่นับตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีนี้เป็นต้นไป

การประกาศเปิดตัวดาต้าเซ็นเตอร์ดีไซน์ใหม่ของหัวเว่ยเกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลจีนเปิดตัวโครงการ Eastern Data and Western Computing ในปีนี้ ซึ่งเป็นแผนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการส่งข้อมูลจากเมืองชายฝั่งตะวันออกไปทางตะวันตกไปยังศูนย์ประมวลผลภายในประเทศ จุดนี้หัวเว่ยย้ำถึงความพยายามว่าบริษัทจะเดินหน้าต่อไปเพื่อยกระดับเทคโนโลยีที่จะสนับสนุนโครงการระดับชาติต่อไป

นอกจากดาต้าเซ็นเตอร์ หัวเว่ยยังเปิดตัวระบบจ่ายไฟแห่งอนาคตในชื่อ "เพาเวอร์พอด 3.0" (PowerPOD 3.0) แจ้งเกิดเป็นโซลูชันจ่ายไฟดาต้าเซ็นเตอร์ที่ช่วยประหยัดพื้นที่ พลังงาน และเวลา ระบบใช้สถาปัตยกรรมและเครื่องสำรองไฟที่มีความหนาแน่นสูงเป็นพิเศษ ทำให้สามารถลดจำนวนตู้ที่ต้องจัดวางลงได้จาก 22 เหลือ 11 ตู้ ส่งผลให้ใช้พื้นที่ลดลง 40%

เฟย เจินฝู ซีทีโอของหัวเว่ย ดาต้าเซ็นเตอร์ ฟาซิลิตี้ ชี้ว่าประสิทธิภาพการเชื่อมต่อของโซลูชันการจ่ายไฟโดยทั่วไปจะต่ำกว่า 94.5% แต่โซลูชันเพาเวอร์พอด 3.0 มีประสิทธิภาพสูง 97.8% โดยประเมินว่าการใช้โซลูชันเพาเวอร์พอด 3.0 ในดาต้าเซ็นเตอร์ขนาด 12 เมกะวัตต์จะช่วยประหยัดงบประมาณได้เกือบ 300,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี


สำหรับการเปิดตัวระบบจ่ายไฟซึ่งเป็นเหมือนแกนหลักของดาต้าเซ็นเตอร์ดีไซน์ใหม่ของหัวเว่ย ถือเป็นการพยายามปรับตัวทางธุรกิจเพื่อกระจายความเสี่ยงหลังจากที่ธุรกิจของหัวเว่ยได้รับผลกระทบหนักจากการถูกขัดขวางทำให้ไม่สามารถจัดหาชิปประสิทธิภาพสูงมาใช้ในสายพานการผลิต ทั้งหมดเป็นผลจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ซึ่งทำให้หัวเว่ยต้องลดขนาดธุรกิจสมาร์ทโฟนลง และไม่สามารถแข่งขันกับแอปเปิล (Apple) และซัมซุง (Samsung Electronics) ได้อย่างเคย

เมื่อจำใจต้องออกจากธุรกิจสมาร์ทโฟน หนึ่งในจุดสนใจใหม่ของหัวเว่ยคือธุรกิจระบบประมวลผลและโครงสร้างพื้นฐานของเครือข่ายคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นตลาดที่มีทิศทางเติบโตสูง โดยสถิติจากไอดีซี (IDC - International Data Corporation) พบว่ามูลค่าตลาดคลาวด์คอมพิวติ้งทั่วโลกอาจทะลุ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าตลาดในประเทศจีนจะสูงกว่า 1 ล้านล้านหยวนในไม่กี่เดือนนับจากนี้




กำลังโหลดความคิดเห็น