xs
xsm
sm
md
lg

ฟ้าใหม่ 2C2P บนทุน Ant Group (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลายคนตื่นเต้นเมื่อได้เห็นข่าวการเปิดตัวผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่ของ “ทูซีทูพี” (2C2P) ผู้ให้บริการระบบชำระเงินออนไลน์ หรือเพย์เมนต์ เกตเวย์ที่กินรวบให้บริการบริษัทค้าปลีกและสายการบินที่มีชื่อเสียงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ล่าสุด 2C2P ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อไทยถึงความเคลื่อนไหวนี้ บนความมั่นใจว่า 2C2P ยุคใหม่จะไปไกลนอกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แน่นอน

ความฝันเรื่องการโบยบินไปฟากฟ้าใหม่ของ 2C2P ไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนหน้านี้ 2C2P ตั้งใจบุกตลาดตะวันออกกลางมาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 รอบนี้ 2C2P หยิบแผนไปนอนคิดใหม่แล้วปักธงลุย “2C2P ยุโรป” ให้เกิดภายในปีนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ธุรกิจปี 65 เพื่อดันรายได้ให้ขยายตัวโต 2,000 ล้านบาทในสิ้นปี

การขยายตัวนี้น่าจับตาหลังจากช่วงโควิด-19 ที่เม็ดเงินจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและโรงแรมหดลงเหลือศูนย์ สำหรับ พ.ศ.2565 ซึ่งเป็นปีที่ 20 ของ 2C2P บริษัทมั่นใจว่าการเปิดประเทศจะทำให้เริ่มเห็นการฟื้นตัวมากขึ้นทั่วทั้งภูมิภาค ท่ามกลางเทรนด์การชำระเงินช่องทางใหม่ที่จะมาแรงแซงเงินสด-บัตรเครดิต ซึ่งบริษัทพร้อมเต็มที่ในการแตกไลน์บริการเพิ่มเพื่อคว้าโอกาสทองในไทยและตลาดโลก

***ปีนี้เห็นแน่ “2C2P ยุโรป”


ปิยชาติ รัตน์ประสาทพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงกลยุทธ์ธุรกิจปี 65 ว่าทิศทางและนโยบายการดำเนินธุรกิจของ 2C2P ตลอดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาช่วยผลักดันให้ 2C2P มีการเติบโตจนขึ้นเป็นผู้นำตลาดแพลตฟอร์มการชําระเงินชั้นนําในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับปีนี้ 2C2P ยังโฟกัสที่การเป็นผู้เชื่อมต่อระหว่างแบรนด์ระดับโลกให้เข้าถึงตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเชื่อมต่อบริษัทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เข้าถึงลูกค้าทั่วโลก โดยขณะนี้ได้ดำเนินการขยายไปยังตลาดยุโรป ซึ่งจะเปิดบริการได้ในสิ้นปี

“การลงทุนของเราที่ทำมาในอดีตหลายปีที่ผ่านมา ด้านแรกคือการขยายจำนวนร้าน คู่กับการขยายตลาดและลงทุนบุคลากร ด้านที่ 2 คือการไปลงทุนในบริษัทที่มีตลาดหรือมีไลเซนส์อยู่แล้ว จะเป็นทางลัดเพื่อขยายธุรกิจ ซึ่งตอนนี้เราจะไปยุโรปเหมือนที่ทำในอาเซียน การไปรับชำระเงินให้ร้านค้าในยุโรปต้องมีไลเซนส์ที่นั่น เราจึงต้องขยายเพื่อให้ร้านจากอาเซียนไปเติบโตที่นั่นได้ด้วย” ปิยชาติ ระบุ “ปีนี้จะเห็น 2C2P ยุโรป เราไปตั้งบริษัทที่ฟินแลนด์ ที่เลือกเพราะความได้เปรียบด้านภาษี และหัวหน้าทีมเป็นคนฟินแลนด์ที่อยู่ในไทยมานาน 10 ปีและกำลังจะกลับบ้านเกิด”

ก่อนโควิด-19 แพลตฟอร์มใหญ่อย่าง 2C2P มีแผนจะไปบุกตลาดตะวันออกกลาง การต้องแตะเบรกไว้ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีการไปในอนาคต จุดนี้ 2C2P ระบุว่าบริษัทกำลังคิดใหม่ด้วยการไม่ได้ขยายบริการไปด้วยตัวเอง ซึ่งหากมีความสามารถไปได้ด้วยพาร์ตเนอร์ 2C2P จะสามารถส่งบริการไปรับชำระเงินให้ร้านค้าอาเซียนในทุกตลาดได้รวดเร็วกว่าเดิม


ปัจจุบัน 2C2P ให้บริการลูกค้าหลากหลายรูปแบบ เช่น บริการ Payment Gateway การรับชำระเงินออนไลน์ด้วยบัตรเครดิตหรือเดบิต บริการ Qwik สำหรับร้านค้าที่ขายผ่านโซเชียล เน็ตเวิร์กกิ้ง (social commerce) บริการออกกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ออกบัตรเวอร์ชัวร์ ออกบัตร Prepaid ทั้ง MasterCard และ Visa และบริการ easyBills ศูนย์รวมการจ่ายบิลสาธารณูปโภคด้วยบัตรเครดิต รวมทั้ง easy2Send การให้บริการโอนเงินข้ามประเทศ จุดนี้ 2C2P ให้ข้อมูลว่าในช่วงปี 64 ที่ผ่านมา บริษัทมีปริมาณธุรกรรมมากกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปัจจัยในการสนับสนุนการเติบโตทางธุรกิจ คือการมีเครือข่ายพันธมิตรและผู้ค้าที่กว้างขวาง เช่น ธนาคาร ผู้ให้บริการรับชำระเงินต่างๆ และผู้ค้าที่มีความแข็งแกร่งมั่นคงในระดับภูมิภาค เช่น Grabpay Shopeepay และ HOOLAH 

“สำหรับการเติบโตในแง่รายได้ ในช่วงโควิด 2 ปีเรายังโตตามมาตรฐาน 30-50% ทุกปี ที่โตไม่มากเพราะโควิด-19 มีผลกับเม็ดเงินอีคอมเมิร์ซ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว โรงแรม ในอาเซียนใช้เราเกือบหมด เม็ดเงินที่หายไปแสนล้านบาททำให้ไม่เกิดการเจริญเติบโตแบบบูมมาก แต่หลังจากปีนี้เราน่าจะเริ่มกลับมา เริ่มเห็นการจองโรงแรมในประเทศเต็มเกือบหมด”

อีกหนึ่งปัจจัยการเติบโตคือ 2C2P สามารถเข้าถึงภาคอุตสาหกรรมและประเภทธุรกิจอื่น เช่น การจับมือเป็นพันธมิตรกับแบรนด์แฟชั่นระดับโลก บริษัทประกันภัย ภาคการบิน รวมถึงการพัฒนาการบริการในด้านผู้ค้าที่มีอยู่ เช่น สินค้าและบริการดิจิทัล รวมถึงการทำธุรกรรมชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือโซลูชันเฉพาะสำหรับอุตสาหกรรม รวมถึงโซลูชันเพิ่มเติมสำหรับ SME เป็นต้น จึงทำให้สามารถทำรายได้ในปีที่ผ่านมาสูงถึง 2,000 ล้านบาท และตั้งเป้ารายได้สิ้นปีนี้เพิ่มขึ้น 25-30% จากปีที่ผ่านมา

“แนวโน้มใหม่ที่จะเห็นคือหนึ่งการพาร้านจากเมืองนอกให้เข้ามาทำตลาดในอาเซียนมากขึ้น จะมีการเจริญเติบโตในเชิงจำนวนร้านค้า สองคือ การเพิ่มช่องทางรับชำระให้มากขึ้น ปัจจุบันเรามี 250 เพย์เมนต์ซอร์ส อีกจุดคือ Buy Now Pay Later ซึ่งทำแล้ว และที่กำลังศึกษาอยู่คือการรับชำระด้วยคริปโตฯ ซึ่งยังต้องรอเพราะยังติดการกำกับดูแล”

ปิยชาติ ย้ำว่า บริการ 2C2P ไม่ใช่การรับชำระเงินเท่านั้น เพราะบริษัทสามารถให้บริการทั้งขารับเงินและขาจ่ายเงิน บริการอย่าง “กิฟต์การ์ด” จึงเป็นบริการมาแรงที่เห็นการขยายตัวสูงเพราะทำให้เกิดการลดต้นทุนมหาศาลให้ร้านค้าซึ่งต้องเสียค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต นอกจากนี้ บริการใหม่ที่เริ่มให้บริการแล้วแต่ได้รับผลกระทบจากโควิดทำให้ไม่ขยายตัวเท่าที่ควรคือ บริการโอนเงินข้ามประเทศ ซึ่งจะเจาะกลุ่มแรงงานต่างด้าว คาดว่าจะกลับมาโฟกัสเต็มที่หลังจากโควิด-19 มีสถานการณ์ดีขึ้น

***ตลาดเพย์เมนต์โลกแข่งดุ


ปิยชาติ มองว่าวันนี้ตลาดระบบรับชำระเงินนั้นแข่งขันกันที่การให้บริการ ทั้งในแง่ความเสถียรและความสามารถให้บริการได้ตลอดเวลา ไม่ใช่การแข่งที่ราคาค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่า

“ไม่จำเป็นต้องค่าธรรมเนียมถูกที่สุด การเสนอราคาที่ถูกไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับร้านใหญ่ แต่เป็นเรื่องคุณภาพบริการ และการรับชำระที่หลากหลาย”


ในภาพรวมธุรกิจอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปิยชาติ เชื่อว่ามีการเติบโต และคาดการณ์ว่าการใช้จ่ายด้านอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเพิ่มขึ้นจาก 162% เป็น 179.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2568 ทั่วทั้งภูมิภาค โดยการชำระเงินดิจิทัลคิดเป็น 91% ของการชำระเงินอีคอมเมิร์ซทั้งหมด

สำหรับการกลับมาของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการบริการหลังเปิดประเทศจะเริ่มเห็นมากขึ้นทั่วทั้งภูมิภาค ในแง่ของตลาดอีคอมเมิร์ซ คาดว่าอนาคตตลาดที่ใหญ่ที่สุด ได้แก่ อินโดนีเซีย (83 พันล้านดอลลาร์) เวียดนาม (29 พันล้านดอลลาร์) และไทย (24 พันล้านดอลลาร์) ตามลำดับ ส่งผลให้สถานการณ์ตลาดอีเพย์เมนต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตมีมูลค่าถึงประมาณ 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2573

สำหรับในประเทศไทยยังพบว่า ประชากรส่วนใหญ่นิยมใช้สมาร์ทโฟน ทำให้กระเป๋าเงินดิจิทัลเป็นวิธีการชำระเงินดิจิทัลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศไทยเช่นกัน ซึ่ง 2C2P ได้มองเห็นถึงโอกาสและช่องทางในการขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้เศรษฐกิจแห่งอนาคตหลังจากนี้

“ช่องทางชำระเงินแบบ COD (เก็บเงินปลายทาง) ลดลงพอสมควร เพราะมีข้อไม่ดีหลายอย่าง ตอนนี้นอกจากจ่ายด้วยบัตรเครดิต โลคัลเพย์เมนต์อย่างพร้อมเพย์นั้นมียอดเพิ่มขึ้น เงินสดลดลงเห็นได้ชัด ขณะเดียวกัน มีลูกเล่นการชำระเงินมากขึ้น ก่อนนี้มีการผ่อนบวกดอกเบี้ยเล็กน้อย แต่อันนี้เป็นเทรนด์ที่จะมาเจาะกลุ่มผู้ไม่มีบัตรเครดิต นั่นคือ Buy Now Pay Later คือซื้อแล้วจะไปจ่ายใน 3-6 เดือนข้างหน้า ตรงนี้จะเกิดลูกค้ากลุ่มใหม่ ที่อาจไม่ได้เกิดการจ่ายรวดเดียวมูลค่าสูง แต่จะเป็นฐานลูกค้าใหม่ที่จะเกิดในอนาคต”

ปิยชาติ ประเมินว่าการแข่งขันของ 2C2P ในวันนี้ส่วนใหญ่มาจากธนาคาร ซึ่งหันมาให้บริการเพย์เมนต์ เกตเวย์ด้วยตัวเอง แม้ไทยจะมีบริการเพย์เมนต์ เกตเวย์เกิดใหม่มากขึ้นในรอบ 10 ปี แต่ถือว่าไม่ใช่คู่แข่งโดยตรงเพราะเน้นตลาดองค์กรใหญ่และเอสเอ็มอีต่างกันไป สำหรับคู่แข่งระดับภูมิภาคนั้นลดน้อยลงเพราะการเทกโอเวอร์ ขณะที่คู่แข่งในระดับโลกนั้นยังอยู่ครบ และไม่ได้โฟกัสในอาเซียน

ที่สุดแล้วการลงทุนที่ไม่เปิดเผยมูลค่าของต้นสังกัดอาลีเพย์ (Alipay) อย่างแอนท์กรุ๊ป (Ant Group) กับ 2C2P นั้นเกิดขึ้นได้เพราะการมองเห็นในทิศทางเดียวกัน สัดส่วนการถือหุ้นใหญ่ช่วยให้ Ant สามารถเข้าถึงผู้ค้าปลีกและสายการบินระดับภูมิภาคที่ 2C2P ดูแลอยู่ ขณะที่ปีกของ Ant ก็จะขยายให้ 2C2P มองไปไกลนอกตลาดอาเซียนได้ จากเดิมที่ 2C2P ในยุคที่ก่อตั้งขึ้นโดยอองโจโม (Aung Kyaw Moe) โปรแกรมเมอร์ชาวพม่าที่อาศัยในไทยช่วงปี 2546 นั้นเคยมุ่งเน้นเฉพาะที่ตลาดใหญ่ 6 อันดับแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น