สื่อใหญ่อย่างวอลสตรีทเจอร์นัล (WSJ) เปิดหลักฐานมัดยักษ์ใหญ่อย่าง "เฟซบุ๊ก" (Facebook) ว่ามีท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้นเพื่อล้มกฎหมายเนื้อหาข่าวในออสเตรเลียให้ได้ โดยเอกสารวงในระบุว่า มีการจงใจป่วนด้วยการปิดเพจแบบใช้อัลกอริธืม ซึ่งเจ้าพ่อโซเชียลรู้อยู่แล้วว่าจะส่งผลกระทบต่อหลายเพจทั้งที่เฟซบุ๊กแสดงจุดยืนว่าวางเป้าหมายปิดเพจสำนักข่าวเท่านั้น แถมยังจงใจป่วนด้วยการงดระบบร้องเรียนขออุทธรณ์หากเพจถูกปิดด้วย ด้านเฟซบุ๊กปฏิเสธทุกขัอกล่าวหา ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นข้อผิดพลาดแบบไม่ได้ตั้งใจ
โฆษกของบริษัทเมต้า (Meta) ต้นสังกัด Facebook กล่าวปฏิเสธทุกขัอกล่าวหาพร้อมย้ำว่าทุกอย่างเป็นข้อผิดพลาดทางเทคนิค และการเคลื่อนไหวทั้งหมดไม่ใช่กลยุทธ์การเจรจา ขณะที่การใช้อัลกอริธึมนั้นเป็นวิธีการจัดการแบบกว้าง เพื่อลดผลกระทบของกฎหมายที่อาจมีผลเสีย ขณะเดียวกันกฎหมายก็ไม่ได้ระบุสิ่งที่ถือเป็นข่าวด้วย
“นี่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเฟซบุ๊กตั้งใจที่จะช่วยให้เพจของรัฐบาลออสเตรเลียไม่พบกับผลกระทบของกฎหมายที่เป็นอันตรายนี้ให้น้อยที่สุด” โฆษกของ Meta กล่าว “เมื่อไม่สามารถทำได้ตามที่ตั้งใจไว้เนื่องจากข้อผิดพลาดทางเทคนิค เราขออภัยและดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง”
คำว่าผลกระทบของกฎหมายที่เป็นอันตราย มีต้นเรื่องมาจากสงครามเต็มรูปแบบที่ระเบิดขึ้นเมื่อปี 64 นั่นคือ ปมความขัดแย้งระหว่างเฟซบุ๊กและรัฐบาลออสเตรเลีย ก่อนหน้านี้ทั้งคู่ขัดแย้งเรื่องกฎหมายซึ่งจะบีบให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอย่างเฟซบุ๊ก หรือกูเกิล และค่ายอื่นต้องจ่ายเงินสำหรับเนื้อหาข่าวที่ถูกแชร์ในระบบ ซึ่งจากเดิมที่เริ่มตอบโต้แบบยังถนอมน้ำใจกันอยู่บ้าง วันนี้สถานการณ์กำลังตึงเครียดถึงขีดสุด หลังจากเฟซบุ๊กลงดาบ "แบน" หรือปิดกั้นเนื้อหาข่าวของสื่อออสเตรเลียทั้งหมดจากแพลตฟอร์ม โดยความขัดแย้งได้พัฒนาไปสู่ระดับใหม่ที่เข้มข้นกว่าเดิม ด้วยการเปิดโปงหลักฐานว่าเฟซบุ๊กมีพฤติกรรมปากพูดอย่างหนึ่ง แต่มือนั้นลงมือทำไปอีกอย่างหนึ่ง
***จงใจกดดัน?
หลักฐานล่าสุดที่วอลสตรีทเจอร์นัลอ้างถึงในรายงาน คือบันทึกภายในที่ทีมพัฒนาเฟซบุ๊กใช้สื่อสารกัน บันทึกนี้มีเนื้อหายกย่องทีมงานที่ปฏิบัติการลบเพจของรัฐบาลออสเตรเลีย รวมถึงเพจบริการด้านฉุกเฉินและองค์กรการกุศลของประเทศ ตัวเอกสารถูกส่งไปรายงานให้ทางการออสเตรเลียและสหรัฐฯ ทราบว่าเฟซบุ๊กไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนมาตรฐานในการเริ่มแบนข่าวจากแพลตฟอร์มในออสเตรเลียเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งในกรณีของเฟซบุ๊กนั้น หลักฐานชี้ว่า Meta ได้พยายามบีบเพื่อโน้มน้าวกระบวนการทางการเมืองของออสเตรเลีย ด้วยการใช้ "อำนาจการเจรจาต่อรองขั้นสูงสุด"
WSJ อ้างว่าหากเฟซบุ๊กมีเป้าหมายไปที่สำนักข่าว บริษัทจะไม่จำเป็นต้องใช้อัลกอริธึม แต่เฟซบุ๊กกลับยังใช้อัลกอริธึมในการตัดสินใจว่าจะลบเพจใด ซึ่งบริษัทรู้ดีว่ามีผลกระทบมากกว่ากลุ่มสำนักข่าวอย่างแน่นอน และเพจที่ได้รับผลกระทบก็ไม่ได้รับแจ้งล่วงหน้า และไม่มีระบบสำหรับอุทธรณ์ด้วย
แม้ว่าโฆษกของ Meta จะแถลงการณ์ขึงขังว่าไม่เห็นด้วยกับบทสรุปการเปิดโปงของ WSJ แต่รายงานนี้เป็นการจุดประกายภาพสีเทาของเฟซบุ๊ก เช่น ในกรณีที่โซเชียลเน็ตเวิร์ก Instagram ของ Meta ที่ทราบถึงผลกระทบด้านลบต่อผู้ใช้แอปที่อายุน้อย แต่ก็ให้บริการอยู่เฉยต่อไปโดยไม่สามารถแก้ปัญหาใดๆ ได้ หรือในอีกกรณีหนึ่งคืออดีตผู้จัดการผลิตภัณฑ์เฟซบุ๊ก ที่ออกมาแฉว่าเฟซบุ๊กเป็นบริษัทที่ปล่อยให้ผลกำไรมาก่อนความปลอดภัยของผู้ใช้
สำหรับกรณีนี้ เฟซบุ๊กถูกมองว่ากำลังจะทำให้เกิดความโกลาหล เพื่อกดดันผู้ร่างกฎหมายของออสเตรเลียให้ต้องยอมแพ้ ผ่านการใช้อัลกอริธึมที่รู้ว่าจะส่งผลกระทบต่อเพจอื่นเมื่อไม่ได้แจ้งหน้าเพจที่ได้รับผลกระทบล่วงหน้า และการลบเพจก็เริ่มขึ้นก่อนที่กระบวนการอุทธรณ์จะพร้อม ซึ่งอาจเป็นการหยุดชะงักที่มีโอกาสทำให้เกิดผลเสียตามมา
ไม่แน่ การป่วนนี้อาจสำเร็จ นำไปสู่การล้มกฎหมายเนื้อหาข่าวในออสเตรเลียก็ได้