ETDA ยันแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติต้องจดแจ้งในไทย ฝ่าฝืนผิด กม. ย้ำญี่ปุ่น-ยุโรปต่างใช้ กม.นี้แล้ว หากมีธรรมาภิบาลต้องปฏิบัติตาม กม.ไทย
นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กล่าวว่า (ร่าง) พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. ... เป็นสิ่งที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งในประเทศและต่างประเทศต้องปฏิบัติตาม ไม่เช่นนั้นจะถือเป็นผู้ให้บริการผิดกฎหมายไม่มีธรรมาภิบาลในการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ให้บริการต่างประเทศเมื่อต้องการมาลงทุนในประเทศไทยต้องดำเนินธุรกิจตามกฎหมายไทย ดังนั้น คนไทยจึงไม่ควรใช้บริการของแพลตฟอร์มต่างชาติ หรือ แพลตฟอร์มใดๆ ก็ตามที่ทำผิด กม.
หากไม่ทำตาม กม.นี้ มีการตั้งคณะกรรมการร่วม โดยมีปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธาน และปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นรองประธาน นอกจากนี้ ยังมีกรรมการที่มาจากทั้งตัวแทนภาครัฐและเอกชนกว่า 20 คน ในการร่วมกันกำหนดเงื่อนไขและส่งหนังสือไปยังสถานทูตในประเทศที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติตั้งสำนักงานใหญ่อยู่เพื่อเรียกร้องให้ปฏิบัติตาม กม.ไทยได้ รวมถึงยังมีบทบาทหน้าที่ในการกำหนดเงื่อนไขของบริการแพลตฟอร์มเฉพาะที่ยังไม่มี กม.ใดรองรับ เช่น บริการโรงพยาบาลเสมือน ให้ทำงานภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดก่อนที่จะมี กม.ออกมารองรับ เป็นต้น
ทั้งนี้ ETDA เองมีหน้าที่ตาม กม.อยู่แล้วกับผู้ประกอบการออนไลน์ ตั้งแต่การจดแจ้ง การขึ้นทะเบียน และการอนุญาต แต่ กม.ฉบับนี้ ETDA ให้ดำเนินการตามอำนาจเพียงการจดแจ้งเท่านั้นซึ่งนับว่าไม่ได้เป็นภาระของผู้ประกอบการแต่อย่างใด โดยเฉพาะผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติที่ต้องมีการแจ้งรายได้ประจำปีต่อสำนักงานตาม กม.นั้น จำเป็นต้องปฏิบัติเพราะจัดอยู่ในมาตรา 32 เรื่องความเสี่ยง โดยความมั่นคงทางการเงินและพาณิชย์เป็น 1 ในความเสี่ยงที่ต้องแจ้งด้วย เพราะเกี่ยวข้องกับผู้ใช้บริการคนไทย ในการสะท้อนถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่จะกระทบต่อคนไทย
กม.ฉบับนี้ นำ กม.ที่บังคับใช้ในญี่ปุ่นและยุโรปมาปรับใช้ โดยเฉพาะในประเทศยุโรปมีการใช้กับแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลส และเสริซเอนจิน มาแล้ว 2 ปี และกำลังจะประกาศใช้ กม.เพิ่มเติมภายในไม่เกินเดือน ส.ค.นี้ กับดิจิทัล เซอร์วิส และแพลตฟอร์มที่มีขนาดใหญ่ มีประชากรใช้งานเกิน 10% อีกด้วย เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าทั่วโลกให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ขณะที่ประเทศไทยเองต้องมี กม.นี้อย่างเร่งด่วน เพราะที่ผ่านมาปัญหาการฉ้อโกงทางออนไลน์มีจำนวนเพิ่มขึ้น สถิติจากศูนย์ร้องเรียน 1212 พบว่ามีเกือบ 50,000 เคสที่ร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งบางเคสก็จัดการได้ และบางเคสต้องใช้ กม.อื่นๆ หรือหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาเป็นกลไกในการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือประชาชน
สำหรับลักษณะบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบก่อนประกอบธุรกิจ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.บุคคลธรรมดาที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี 2.นิติบุคคลมีรายได้ในประเทศไทยเกิน 50 ล้านบาทต่อปี และ 3.ผู้มีจำนวนคนใช้งานในไทยเฉลี่ยเกิน 5,000 รายต่อเดือน ดังนั้นผู้ประกอบการออนไลน์รายเล็กไม่เข้าข่ายจดแจ้งตาม กม.นี้
ส่วนผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่ต่างประเทศที่มีลักษณะดังนี้ ได้แก่ แสดงผลเป็นภาษาไทย จดทะเบียนชื่อโดเมน .th หรือ .ไทย กำหนดให้ชำระเงินเป็นเงินบาท ให้ใช้กฎหมายไทยแก่ธุรกรรม จ่ายค่าตอบแทนแก่ เสิร์ซ เอนจิน เพื่อช่วยให้ยูสเซอร์ในไทยเข้าถึงบริการ จัดตั้งสำนักงาน หน่วยงาน หรือมีบุคลากรเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือยูสเซอร์ในไทย ต้องแจ้งสำนักงานก่อนประกอบธุรกิจและต้องมีการแต่งตั้งผู้ประสานงานในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม หากเป็นบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดใหญ่และที่มีลักษณะเฉพาะต้องมีการประเมินความเสี่ยง และมีมาตรการบริหารจัดการความเสี่ยงเสนอต่อสำนักงานทุกปีเพิ่มเติมด้วย ซึ่ง กม.ได้กำหนดผู้ที่จัดเป็นบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดใหญ่นั้นต้องมีรายได้จากการให้บริการในไทยแต่ละประเภทบริการเกิน 300 ล้านบาทต่อปี หรือรวมทุกประเภทบริการเกิน 1,000 ล้านบาทต่อปี และมีผู้ใช้งานแอ็กทีฟต่อเดือนเกิน 7 ล้านคน หรือ 10% ของจำนวนราษฎร
นอกจากนี้ กม.ได้ยกเว้นการบังคับใช้กับบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หรือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่แล้วเพื่อลดความซ้ำซ้อนในการดูแล โดย กม.จะมีผลบังคับใช้ 240 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจาฯ ผู้ที่ประกอบธุรกิจก่อนที่ กม.บังคับใช้ให้แจ้งการประกอบธุรกิจต่อสำนักงานภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ กม.ใช้บังคับ ระหว่างนั้นสามารถประกอบธุรกิจได้
กม.ดังกล่าวได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวกับเนื้อหาในหลักการของร่างกฎหมาย เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2564 แล้ว จากนั้นได้นำร่างดังกล่าวไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เริ่มพิจารณาร่างกฎหมายมาตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค.2565 ที่ผ่านมา ในระหว่างการพิจารณาได้มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งรัฐ เอกชน รวมถึงองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร เข้ามาร่วมให้ความเห็นต่อร่างกฎหมายนี้ เพื่อให้ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ทับซ้อน มีการประสานการทำงานร่วมกัน และในการร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่นี้จะต้องไม่เป็นข้อจำกัดของการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการหรือผู้ที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมาย เป็นต้น
ดังนั้นเพื่อให้เนื้อหาของการปรับปรุงร่างกฎหมายมีความถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุด คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้นำร่างที่ผ่านการพิจารณา วาระที่ 1 มาเปิดรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมอีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 10-25 มี.ค.2565 ก่อนที่จะทำการรวบรวมนำความเห็นที่ได้รับมาประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาในวาระที่ 2 ก่อนดำเนินการเวียนร่างกฎหมายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อยืนยันร่างและเสนอต่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ในลำดับต่อไป