xs
xsm
sm
md
lg

“ชัยวุฒิ” หนุนการประชุมคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ระดมความร่วมมือข้ามหน่วยงานรัฐขับเคลื่อนโครงการสำคัญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ชัยวุฒิ” เปิดการประชุมคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี รับฟังรายงานผลการดำเนินงานของผู้ช่วยรัฐมนตรี และข้อเสนอมาตรการระดมความร่วมมือบูรณาการทำงานข้ามหน่วยงานรัฐ-ภาคเอกชน ขับเคลื่อนโครงการสำคัญ ตอกย้ำนโนบายรัฐบาลในการเร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงบริการภาครัฐ ยกระดับสู่รัฐบาลดิจิทัล

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวระหว่างเปิดการประชุมคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ครั้งที่ 2/2565 วันนี้ (24 ก.พ.) ว่า ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี พ.ศ.2546 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ให้มีการประชุมอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อพิจารณาและประเมินผลรายงานผลการดำเนินงานของผู้ช่วยรัฐมนตรี ในระยะเวลาที่ผ่านมา และเสนอมาตรการอันเป็นประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี ตลอดจนพิจารณาเรื่องอื่นๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย

สำหรับการประชุมวันนี้มีประเด็นเพื่อพิจารณาสำคัญๆ คือ การที่กระทรวงดีอีเอส รวมทั้งหน่วยงานในสังกัดต้องการขอรับการสนับสนุนและความร่วมมือจากกระทรวงต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนภารกิจและการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล รวมถึงข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ในการลดความเดือดร้อนของประชาชน เพิ่มความเข้มแข็งและประสิทธิภาพในการยกระดับสู่การบริหารราชการในรูปแบบรัฐบาลดิจิทัล สนับสนุนการเพิ่มความสะดวกประชาชนเข้าถึงบริการภาครัฐได้ครอบคลุมทั่วถึง จัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านกฎหมายคุ้มครองประชาชนในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย

นายทศพล เพ็งส้ม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่กระทรวงดีอีเอส กล่าวว่า การหารือในที่ประชุมครอบคลุมข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีใน 5 ด้าน ที่จะเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการสนับสนุนการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

ประกอบด้วย 1.การพัฒนาระบบข้อมูลขนาดใหญ่ในการบริหารแผ่นดิน 2.การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน 3.การพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและการส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยี 4.การป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ และ 5.ความคืบหน้าการดำเนินการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สำหรับประเด็นนำเสนอต่อที่ประชุมเพื่อขอรับการสนับสนุนและขอความร่วมมือจากกระทรวงต่างๆ ในโครงการสำคัญ ได้แก่ 1.การดำเนินงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงดีอีเอส (สป.ดศ.) โดยขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน ให้ความสำคัญกับการมอบหมายบุคลากรที่ทำหน้าที่ผู้ประสานงานตรวจสอบข่าวปลอมประจำหน่วย และขอให้แจ้งดีอีเอส ทราบทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อเป็นฐานข้อมูลในการติดต่อประสานงาน และขอความร่วมมือให้ตอบยืนยันข่าวทุกเรื่องที่ได้รับ เนื่องจากศูนย์ฯ ได้คัดเลือกแล้วว่าเป็นประเด็นที่กำลังถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางบนโลกออนไลน์ หากชี้แจงได้ครบถ้วน และทันต่อเวลา จะลดปัญหาข่าวปลอมได้เป็นอย่างมาก

2.โครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) ดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เพื่อวางกรอบการพัฒนาการใช้ประโยชน์ข้อมูลภาครัฐให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน บูรณาการและให้บริการข้อมูลข้ามหน่วยงานได้อย่างเป็นระบบ รวดเร็ว ปลอดภัย มาตรฐานสากล ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริหารนำไปใช้วิเคราะห์และใช้ประโยชน์ข้อมูลอย่างเป็นรูปธรรมในการพัฒนา ต่อยอดนโยบายต่างๆ สนับสนุนการพัฒนาประเทศ ปัจจุบันมีหน่วยงานใช้บริการแล้ว 283 กรม จำนวน 854 หน่วยงาน ซึ่งอยากขอความร่วมมือให้หน่วยงานภาครัฐใช้บริการเพิ่มขึ้น และนำระบบงานที่สามารถเปิดให้บูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐกับหน่วยงานอื่นได้ในรูปแบบข้อมูลเปิด (Opendata)

3.การใช้งานแพลตฟอร์มภาครัฐเพื่อรองรับการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (GPPC) ซึ่ง สดช. เตรียมพัฒนาระบบโดยได้รับงบประมาณจากกองทุนดีอี ประกอบด้วย 4 ระบบงานหลัก ได้แก่ ระบบบริหารจัดการความยินยอม (มาตรา 19) ระบบบันทึกรายการกิจกรรมการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล (มาตรา 39) ระบบจัดการแจ้งเหตุละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล (มาตรา 37) และระบบจัดการคำขอใช้สิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล (มาตรา 30-36) โดยอยากขอความร่วมมือให้ภาครัฐนำไปใช้งาน ลดความซ้ำซ้อนด้านงบประมาณและเป็นมาตรฐานเดียวกัน

4.ความร่วมมือด้านการช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ ของศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ 1212 โดยสํานักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ซึ่งยังต้องการความร่วมมือและการสนับสนุนด้านต่างๆ ได้แก่ 1.ผลักดันหน่วยงานที่มีอํานาจ รับผิดชอบเร่งดําเนินการสืบสวน ดําเนินคดี แก้ไขปัญหาอย่างเข้มข้นและเป็นรูปธรรม และ 2.การพิจารณาหาหน่วยงานกลาง ในการดูแลแก้ไขการจับกุมผู้กระทําความผิดประเภทการพนัน การหลอกลงทุนทางออนไลน์ แชร์ลูกโซ่ และการหลอกลวงให้โอนเงินรูปแบบอื่นๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการช่วยเหลือ และจัดการปัญหาออนไลน์ให้เรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเข้มข้นและเป็นรูปธรรม

“หากสามารถผลักดันมาตรการความร่วมมือข้างต้นได้สำเร็จ จะช่วยยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับการช่วยเหลือและคุ้มครองอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เพื่อให้ก้าวทันสถานการณ์ปัจจุบันของพฤติกรรมผู้ใช้สื่อออนไลน์ของไทย ซึ่งใช้อินเทอร์เน็ตและทําธุรกรรมต่างๆ รวมถึงการซื้อขายสินค้าและบริการทางออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน และแพลตฟอร์มกันอย่างแพร่หลาย อาจเผชิญความเสี่ยงจากการทําธุรกรรมบนโลกออนไลน์ ทั้งการฉ้อโกง การรั่วไหลของข้อมูล การคุกคามทางไซเบอร์ และมีมิจฉาชีพในรูปแบบต่างๆ แฝงตัวเข้ามาหลอกลวงและหาผลประโยชน์จากผู้บริโภคทางออนไลน์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย” นายทศพล กล่าว

5.ขอความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐส่งบุคลากรเข้าร่วมอบรมหลักสูตรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยสํานักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เพื่อพัฒนาการยกระดับสร้างทักษะ (Skill) ขีดความสามารถ (Ability) และความรู้ความเข้าใจ (Knowledge) ของบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็นหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสําคัญทางสารสนเทศ (CII)


ด้านนายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดีอีเอส กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีโครงการสำคัญที่ต้องการได้รับการสนับสนุนความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนบูรณาการให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพต่อการบริหารประเทศ และการพัฒนานโยบายที่ตอบโจทย์ความคาดหวังของประชาชนได้ ได้แก่ 1.โครงการจัดทำบัญชีข้อมูลภาครัฐ (Government Data Catalog) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เพื่อให้บริการสืบค้นข้อมูลที่สะดวกรวดเร็ว ถือเป็นส่วนสำคัญในการบูรณาการข้อมูลข้ามหน่วยงานเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) และการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service)

ปัจจุบัน มีจำนวนชุดข้อมูลในระบบบัญชีข้อมูลภาครัฐแล้ว 841 ชุดข้อมูลจากหน่วยงานนำร่อง 31 หน่วยงานและ 3 จังหวัด (ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา) ปัจจุบันมีหน่วยงานที่มีระบบบัญชีหน่วยงานแล้ว 117 หน่วยงาน ซึ่งโครงการนี้จะมีความสมบูรณ์จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานเจ้าของข้อมูล เพื่อจัดทำบัญชีข้อมูลหน่วยงาน และลงทะเบียนบัญชีข้อมูล (ชื่อชุดข้อมูล คำอธิบายชุดข้อมูล และทรัพยากรชุดข้อมูล) เข้าสู่ระบบนี้ โดยควรเป็นชุดข้อมูลที่มีคุณค่าสูงที่เป็นประโยชน์ และอยู่ในรูปแบบโครงสร้างข้อมูลที่สามารถสืบค้นเนื้อข้อมูล (Data) ในเอกสารได้ เป็นการแบ่งปันและใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

2.โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลเพื่อการระบุตำแหน่งสถานที่ และเพื่อการขนส่ง (Digital Infrastructure for Logistics and Location Based Services) โดยบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) โดยจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบพิกัดตำแหน่งที่อยู่จากแบบเดิมคือ รหัสไปรษณีย์ ให้เป็นที่อยู่ดิจิทัล (Digital Address) หรือที่เรียกว่า Digital Post ID ที่สามารถระบุพิกัดที่ตั้งและใช้เป็นข้อมูลในการยืนยันตัวตนได้ สนับสนุนการต่อยอดใช้งานเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ เศรษฐกิจ และสังคมได้ต่อไป และเตรียมพร้อมโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลเพื่อการระบุตำแหน่งสถานที่ และเพื่อการขนส่งของประเทศ

“เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้เราต้องการความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเป็นภาคีความร่วมมือดำเนินการกำหนดมาตรฐาน พัฒนาระบบงาน และการกำหนดแนวทางการประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป โดยโครงการนี้ยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์และดิจิทัล” นายเนวินธุ์ กล่าว

3.โครงการพัฒนาระบบจัดการด้านเอกสารอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร (Total Document Handling : TDH) ที่มีกรอบแนวคิดในการพัฒนาระบบกลางสำหรับใช้รับส่งเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชนที่เป็นมาตรฐานเดียวกันด้านการรับฝากส่งต่อ และนำจ่ายทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยชูความพร้อมทั้งด้านการใช้เทคโนโลยีทันสมัยพัฒนาบริการอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับความแข็งแกร่งของเครือข่ายและโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง ซึ่งปณท ขอสนับสนุนจากกระทรวงดีอีเอสสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดีอีเอส ใช้ระบบบริการ TDH ซึ่งล่าสุดอยู่ในขั้นตอนการเจรจากับกลุ่มบริษัทที่คาดว่าจะมาเป็นพันธมิตรพัฒนาบริการนี้ โดยเป็นตัวกลางที่ได้รับความเชื่อถือ (Trusted Third Party) เพื่อสร้างความมั่นใจเรื่องระบบความปลอดภ้ยข้อมูล โดยคาดหวังจะเปิดให้บริการบางส่วนในไตรมาสที่ 2 ปีนี้

และ 4.ความร่วมมือด้านการส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และการจัดทำแผนส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลรายพื้นที่ ร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วน โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ยังขอความร่วมมือสนับสนุนจากพันธมิตรหลายภาคส่วนในการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดแผนการพัฒนา และบริการในเมืองอัจฉริยะให้เป็นไปตามเป้าหมาย ครอบคลุมกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สำนักงบประมาณ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดและหอการค้าจังหวัด บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ภาควิชาการ/สถาบันการศึกษาในพื้นที่ ตลอดจนหน่วยงานในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง เช่น อบจ. เทศบาล อบต. เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น