xs
xsm
sm
md
lg

21 ภาคีเครือข่ายจังหวัดนครพนม ผนึกกำลังร่วม MOU ภายใต้ “นครพนมโมเดล” เพื่อพัฒนาศักยภาพการศึกษาสำหรับเด็กเยาวชนนอกระบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“การศึกษา” คือการสร้างโอกาส การศึกษาคืออนาคตและการพัฒนาคน เด็กและเยาวชนทุกคนควรได้รับโอกาสทางการศึกษาตามศักยภาพอย่างมีคุณภาพและเสมอภาค เมื่อเห็นความสำคัญของการศึกษา 21 ภาคีเครือข่ายจังหวัดนครพนม จึงร่วมมือกันผลักดันพัฒนาเด็กและเยาวชนนอกระบบให้มีโอกาสทางการศึกษามากขึ้น

จากข้อมูลของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่า สิ้นปีการศึกษา 2564 จะมีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษากว่า 65,000 คน กระจายในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งจากการประมวลผลฐานข้อมูลเด็กนอกระบบในจังหวัดนครพนมระหว่างเดือนธันวาคม 2563 ถึงเดือนมีนาคม 2564 พบเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาแล้วกว่า 375 คน โดยแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม คือ 1.) เด็กเสี่ยงออกกลางคัน 2.) เด็กแขวน-ลอย 3.) เด็กออกกลางคัน 4.) เด็กเรียนจบ ม.3 ไม่เรียนต่อ 5.) เด็กในกระบวนการยุติธรรม และ 6.) เด็กไม่เคยเรียนเลย ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หนึ่งในปัญหาสำคัญเกิดจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้ครอบครัวยากจนซ้ำซ้อน ยากจนเฉียบพลัน และยากจนถาวร สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างและระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้มีเด็กนอกระบบเพิ่มมากขึ้น

“นครพนมโมเดล” คือโมเดลแห่งการพัฒนาเด็กนอกระบบอย่างเป็นองค์รวม เกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานในจังหวัดนครพนมที่มีเป้าประสงค์และทิศทางในการขับเคลื่อนเดียวกัน และมองว่าทุกชีวิตควรมีโอกาสและทางเลือกในการเรียนรู้และพัฒนาตนตามศักยภาพอย่างมีคุณภาพและเสมอภาค และมุ่งมั่นที่จะทำให้เด็กนอกระบบในจังหวัดนครพนมมีจำนวนลดลง จนกระทั่งไม่มีเด็กนอกระบบภายในจังหวัดอีกต่อไป อีกทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสให้เด็กและเยาวชนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ ที่ตอบโจทย์บริบทชีวิต ภายใต้ยุทธศาสตร์ 3 ปี 5 ความร่วมมือ โดยมี การเชื่อมฐานข้อมูลเด็กนอกระบบจังหวัดนครพนม, การพัฒนาหลักสูตรเด็กนอกระบบ, การร่วมจัดการเรียนรู้, การร่วมวัดและประเมินผล และการร่วมพัฒนาความร่วมมือให้เข้มแข็ง ขยายเครือข่ายพัฒนาเด็กนอกระบบ ยกระดับนครพนมโมเดล

21 ภาคีเครือข่ายนครพนม ได้ร่วม MOU บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาระบบสนับสนุนคุณภาพการเรียนรู้ และคุณภาพชีวิตเยาวชนในจังหวัดนครพนม (นครพนมโมเดล) โดยมี สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครพนม, สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครพนม, สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครพนม เขต 1, สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครพนม เขต 2, สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดนครพนม, สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครพนม, บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดนครพนม, องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม, สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครพนม, คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยนครพนม, คณะเกษตรและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนครพนม, สำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดนครพนม, สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครพนม, กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 23, เทศบาลเมืองนครพนม, สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานนครพนม, เรือนจำกลางนครพนม, บริษัท เอสไอแอลซี จำกัด และศูนย์การเรียนซี วาย เอฟ ซึ่งในปีที่ผ่านมานั้น ผลการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวเป็นที่ประจักษ์ในการเข้าถึงเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้ได้รับโอกาสในการเข้ารับการศึกษา รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตผ่านกระบวนการสัมมาชีพที่สร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในมิติการศึกษาตามเป้าหมายร่วมที่ว่า “จังหวัดนครพนมจะไม่ทิ้งเด็กคนไหนไว้ข้างหลัง เด็กและเยาวชนทุกคนต้องได้รับการพัฒนา”

จากผลการดำเนินงานดังกล่าว เพื่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน จึงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้เพื่อแสดงออกถึงเจตนารมย์ ความมุ่งมั่นตั้งใจ โดยมีประเด็นความร่วมมือ ดังต่อไปนี้ 1.) แต่งตั้งคณะทำงานในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบสนับสนุนคุณภาพการเรียนรู้และคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาในจังหวัดนครพนม (นครพนมโมเดล) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานภายใต้ความร่วมมือนี้ 2.) ร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการแบบบูรณาการ การพัฒนาระบบสนับสนุนคุณภาพการเรียนรู้และคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาในจังหวัดนครพนม (นครพนมโมเดล) 3.) ร่วมกันพัฒนาระบบฐานข้อมูลเด็กและเยาวชนจังหวัดนครพนม 4.) พัฒนารูปแบบระบบสนับสนุนคุณภาพการเรียนรู้และคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาในจังหวัดนครพนม (นครพนมโมเดล) 5.) ร่วมกันจัดกระบวนการ สนับสนุน ส่งเสริม และติดตามเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาและเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา และ 6.) ร่วมกันวิจัยเพื่อศึกษารูปแบบการศึกษาทางเลือกสำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา (การศึกษาจังหวัดต้นแบบนครพนมโมเดลเพื่อเยาวชนนอกระบบการศึกษา) ซึ่งได้ลงนาม ณ วันที่ 26 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนครพนม โดยมี นายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธาน

นางสาวศิริประกาย วรปรีชา รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวว่า “กรมพินิจฯ เองมีความตั้งใจที่จะให้เด็ก ๆ ได้รับการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นสายสามัญหรือสายวิชาชีพ ซึ่งที่เราคิดกันคือ เป็นการศึกษาเพื่อการพัฒนาคน เด็กก้าวพลาดส่วนใหญ่คือเด็กที่ออกนอกระบบการศึกษา ซึ่งมันจะเป็นปัญหาในการใช้ชีวิตของพวกเขาต่อไป วันที่เราได้เห็นเด็กเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมได้รับวุฒิการศึกษา ความที่เป็นคนกรมพินิจฯ การเห็นเด็กประสบความสำเร็จในหนึ่งระดับแม้คนอื่นจะมองว่าเล็กน้อย เราก็ยินดีกับเขามากและมีความสุขกับเขาไปด้วยค่ะ ก็ดีใจที่วันนี้เห็นหน่วยงานร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องนี้ และให้โอกาสทางการศึกษากับเด็ก ๆ กันอย่างจริงจัง”

จ่าเอกสุธีร์ บุษราคัม ผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครพนม กล่าวเสริมว่า “ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้เด็กเยาวชนมีโอกาสเรียนในระบบเพราะมีความพร้อมหลายอย่าง แต่ความเป็นจริงในปัจจุบันสังคมมีความหลากหลาย เพราะฉะนั้น ความคาดหวังก็คือ ไม่ว่าจะเป็นเด็กในระบบหรือนอกระบบ ก็อยากให้มีภาคีเครือข่ายร่วมกันพัฒนาตรงนี้ต่อไป เพื่อที่จะต่อยอดให้เด็กเยาวชนสามารถกลับไปเรียนต่อ หรือไปประกอบอาชีพได้”

นายธันญ์สุธี ภัคธารีรัตน์ ศึกษาธิการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า “การจัดการศึกษาในระบบหรือนอกระบบหรือตามอัธยาศัยมีความจำเป็น สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเล็งเห็นความสำคัญ ว่าการจัดการศึกษาจะไม่เน้นในระบบอย่างเดียว แต่จะเน้นนอกระบบและตามอัธยาศัยด้วย เพราะฉะนั้นในยุควิถีใหม่ จะต้องจัดการการเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อให้การพัฒนาเด็กและเยาวชนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”
 
ดร.วีรพล สารบรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครพนม เขต 2 ให้ความเห็นว่า “ปัจจุบันเด็กดรอปเอ้าหรือเด็กเสี่ยงมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งจากปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาครอบครัว ปัญหายาเสพติด ติดเกม ฯลฯ ทำให้เด็กเยาวชนส่วนหนึ่งของสังคมหลุดออกจากระบบการศึกษา และผิดพลาดในการดำเนินชีวิต ซึ่งถ้าเราปล่อยให้พวกเขาเหล่านี้ดำเนินชะตาชีวิตด้วยตนเองไปเรื่อย ๆ ประเทศชาติก็ไม่สามารถพัฒนาประเทศได้ เพราะเด็ก ๆ เหล่านี้จะเติบโตขึ้นไปในอนาคตและรับผิดชอบประเทศชาติแทนพวกเรา เพราะฉะนั้นเราต้องดึงพวกเขากลับมา ผมคิดว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่พวกเราทุกคนจะต้องช่วยเด็กเยาวชนทุกคน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

นางสาวแสงดาว อารีย์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครพนม กล่าวว่า “เรื่องการช่วยเหลือเด็กโดยเฉพาะเด็กนอกระบบ เด็กกลุ่มเสี่ยง หรือเด็กด้อยโอกาส มีความสำคัญมากกับหน่วยงานต่าง ๆ ไม่เฉพาะหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ทุกหน่วยงานต้องมาหาแนวทางในการช่วยเหลือว่าจะทำอย่างไรให้เด็กเยาวชนกลุ่มนี้หลุดพ้นจากวงจรของคำว่า ‘ด้อยโอกาสหรือขาดการศึกษา’ หรือการ ‘ไม่เข้าถึงโอกาสหรือการศึกษา’ ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในนครพนมโมเดลค่ะ”

นายอภิชัย ทำมาน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครพนม เขต 1 กล่าวว่า “สำหรับภาคีเครือข่ายที่มาร่วมกันพัฒนาการศึกษาในครั้งนี้ผมเห็นว่ามีความสำคัญ เพราะการจัดการศึกษานั้นไม่จำเป็นต้องให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งทำเพียงหน่วยงานเดียว เป็นสิ่งที่ดีที่เราต้องช่วยกันพัฒนาให้เด็กทุกกลุ่มได้มีโอกาสในการเรียนรู้ ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหนก็เขาได้รับการศึกษาเล่าเรียน มันจะปรับเปลี่ยนคุณภาพชีวิตของเขา รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการพัฒนาและให้โอกาสกับเด็กและเยาวชน"

นายศักดา ชัยภัย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครพนม กล่าวว่า “ผมถือว่าเป็นหน้าที่หลักของสพม.นครพนมที่จะขับเคลื่อนนโยบายเรื่องโอกาสของลูก ๆ นักเรียน ความคาดหวังสูงสุดก็อยากจะร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ประสานงานเรื่องข้อมูล สาเหตุ ปัญหา ร่วมกันวิเคราะห์และวางแผนดำเนินการ ยินดีที่จะร่วมมือกับทุกภาคีเครือข่ายในการลงพื้นที่ ในการพัฒนา ในการออกแบบต่าง ๆ”
 
นายวัฒนศักดิ์ เจียวิริยบุญญา รองนายกเทศมนตรีเมืองนครพนม กล่าวว่า “การเรียนนอกระบบมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าในระบบ เด็กบางคนอยากจะเรียนแต่ไม่มีโอกาส คนที่อยู่ในระบบอาจจะมองไม่เห็นตรงจุดนี้ ผมคิดว่าการศึกษาเป็นการเรียนรู้ที่ไม่รู้จบ เรียนรู้ได้ตลอดชีิวิต พวกเรายินดีสนับสนุนส่งเสริมร่วมกันและส่งต่ออย่างเป็นระบบ เพื่อที่จะให้โอกาสเด็กเยาวชนหลุดพ้นจากจุด ๆ นี้”

นายสุชัย พงศ์พัฒนพาณิชย์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานนครพนม กล่าวว่า “ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหนึ่งในการที่จะพัฒนาบุคลากร ผมคิดว่ามีความจำเป็นที่พัฒนาฝีมือแรงงานจะร่วมงานกับภาคีเครือข่ายในจังหวัดที่จะพัฒนาเด็กและเยาวชนของเราให้มีโอกาสทางการเรียนรู้ ไม่่ว่าจะเป็นด้านวิชาการหรือวิชาชีพ”

นายชัยกร บางศิริ คณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยนครพนม กล่าวว่า “ในมิติการทำงาน การสอนในระบบอย่างเดียวมันไม่ครอบคลุม ซึ่งนโยบายของคณะเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมก็มีแผนเรื่องการบริการวิชาการที่ดำเนินการมาตลอดอยู่แล้ว และมีความยินดีที่จะได้ร่วมกันแก้ปัญหาและพัฒนาเด็กนอกระบบร่วมกับภาคีเครือข่าย เพราะปัญหาต่าง ๆ ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่คนในชาติหรือคนในจังหวัดต้องร่วมกันแก้ไข”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญเยี่ยม ยศเรืองศักดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยนครพนม กล่าวว่า “ในการทำงาน ถ้าเราเอาศักยภาพของแต่ละหน่วยงานมาวางทับกัน มันจะสามารถปิดช่องโหว่ทั้งหมดได้ นี่คือแนวคิดของนครพนมโมเดล ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี และผมเชื่อว่าการทำงานครั้งนี้มันเป็นการทำงานแบบบูรณาการของจริง การเรียนทุกวันนี้เราไม่สามารถที่จะเรียนภาคทฤษฎีหรือปฏิบัติได้อย่างเดียว มันต้องเรียนเรื่องแนวคิด เรื่องเทคโนโลยีใหม่ ๆ และรวมไปถึงเรื่องซอฟสกิลหรือทักษะชีวิตด้วย ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าทุกคนในโลกนี้ล้วนแล้วแต่เคยเดินผิดพลาดมา สิ่งสำคัญคือ ใครจะใช้ความผิดพลาดนั้นมากำหนดวิถีชีวิตในการเดินต่อไปได้”

นายฤทธิเดช ไตรยวงค์ รองผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัดนครพนม / รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดนครพนม กล่าวว่า “การพัฒนาประเทศจะต้องให้บุคลากรหรือประชาชนของประเทศมีความรู้ อย่างน้อย ๆ ความรู้พื้นฐานอ่านออกเขียนได้ กับการนำความรู้ที่ได้รับไม่ว่าจะเป็นจากสถานศึกษาใด ๆ ไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของเขา ไม่ว่าจะเป็นอาชีพส่วนตัว หรืออาชีพที่ทำในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ความร่วมมือของภาคีเครือข่ายนครพนมโมเดลผมเห็นเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะกลุ่มเป้าหมายของผู้เรียนนอกระบบหรือนอกโรงเรียนมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก ไม่่ว่าจะเป็นเรื่องอายุ เพศ อาชีพ ประสบการณ์ หรือแม้แต่ฐานะ ภาคีเครือข่ายที่มาร่วมจัดการศึกษาในครั้งนี้แต่ละองค์กรมีความเชี่ยวชาญแต่ละด้าน เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับเด็กและเยาวชนอย่างมาก”

ด้าน นายวิทิต เติมผลบุญ ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนซี วาย เอฟ/ เลขานุการมูลนิธิส่งเสริมพัฒนาเด็กและเยาวชน/ ผู้ก่อตั้งนวัตกรรมโรงเรียนมือถือ (Mobile School) กล่าวปิดท้ายว่า “ปัจจุบันซี วาย เอฟ ทำงานกับ 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ในสถานพินิจ คือปลายน้ำ ส่วนกลางน้ำคือเด็กแขวนลอยที่อยู่ตามหมู่บ้าน กลุ่มที่ 3 คือเด็กกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในโรงเรียน วันนี้เด็กนอกระบบอาจจะเป็นกลุ่มที่น้อยมาก อาจจะแค่ 10 เปอร์เซนต์ แต่อย่าลืมว่าเด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะเข้าไปอยู่ในสถานพินิจ หรือเข้าไปอยู่ในกระบวนการก่ออาชญกรรม ถ้าเขาไม่มีทางออก ซึ่งเราต้องต้องใช้ชีวิตอยู่กับพวกเขาในสังคมนี้ “นครพนมโมเดล” เป็นเหมือนตัวอุดช่องว่างโดยใช้รูปแบบการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้กำหนดมา ซึ่งที่ผ่านมาซี วาย เอฟ ได้เห็นการศึกษาในรูปแบบมาตรา 12 ซึ่งเป็นการศึกษาเฉพาะกลุ่ม เรามองว่าเป็นเรื่องดีที่กระจายอำนาจการศึกษามาสู่ภาคสังคม สิ่งที่รัฐกำหนดมาคือการศึกษาภาคบังคับแล้วก็ตัวชี้วัด เรามองว่ามันดี แต่ตัวหลักสูตรต้องตอบโจทย์กับคนในสังคมด้วย ซึ่งวันนี้เราต้องยอมรับว่าด้วยกฎกติกาของสังคม ความซับซ้อนของสังคม ปัญหาของเด็กก็ไม่เหมือนกัน เราเข้าใจโรงเรียนรัฐว่าไม่สามารถจัดหลักสูตรเป็นรายบุคคลได้ แต่ถ้าเราเอาปัญหาของเด็กมาเป็นที่ตั้งก่อน และเข้าใจว่าเด็กบางคนเขามีฝันไม่เหมือนกับที่รัฐกำหนดมา เราจะช่วยกันแก้ปัญหาได้ “นครพนมโมเดล” คือการใช้กลไกของภาครัฐ ใช้รูปแบบที่รัฐกำหนดมาให้เกิดประโยชน์กับเด็กมากที่สุดนั่นเอง”

ติดตามการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม ‘นครพนมโมเดล เครือข่ายพัฒนาเด็กนอกระบบ’ เพิ่มเติมได้ในคลิป https://www.youtube.com/watch?v=yOc9U1XajGo และสารคดีเชิงข่าว ‘โอกาสทางการศึกษาของเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม’ ที่ https://www.youtube.com/watch?v=lROljUwONRM&t=4s เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการให้กำลังใจ ผลักดัน และสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนของชาติทุกคนได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างมีคุณภาพตามศักยภาพและเสมอภาค











กำลังโหลดความคิดเห็น