กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) คือ หัวหอกหลักในการทำหน้าที่บริหารจัดการคลาวด์ภาครัฐให้มีการใช้งานคลาวด์ร่วมกันอันเป็นการประหยัดงบประมาณและบูรณาการข้อมูลร่วมกันได้ ดังนั้น นอกจากการรวมคลาวด์ของรัฐมาอยู่ด้วยกันแล้ว การให้บริการคลาวด์ภาครัฐแก่ประชาชนก็สำคัญด้วย
ดีอีเอสจึงได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับผู้ให้บริการคลาวด์ยักษ์ใหญ่ทั้ง 2 ราย อย่าง AWS และหัวเว่ย เทคโนโลยี่ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ด้านคลาวด์แก่บุคลากรภาครัฐ และนำไปสู่การหาบริการนำร่องที่เหมาะสมกับภาครัฐในการใช้งานเพื่อให้บริการคลาวด์ภาครัฐแก่ประชาชน อีกทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นใจในการดึงต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอีกด้วย เนื่องจากการเซ็น MOU ครั้งนี้เป็นสัญญาณแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยพร้อมสนับสนุนและต้องการสร้างประเทศให้เป็นฮับในอาเซียน
*** จับมือ 2 ยักษ์ใหญ่ ปูทางสู่ฮับในอาเซียน
‘ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นฮับในอาเซียนอยู่แล้วและมั่นใจว่าต่างชาติที่อยู่ในประเทศสิงคโปร์ ที่เขาใช้ฐานในประเทศสิงคโปร์ตั้งดาต้า เซ็นเตอร์ นั้น เขาก็เริ่มเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้วอย่าง AWS มาลงทุนผ่านดาต้า เซ็นเตอร์ ของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT รวมถึงหัวเว่ย เทคโนโลยี่ มีดาต้า เซ็นเตอร์ในไทยถึง 3 แห่ง การเซ็น MOU กับ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่เป็นเวลา 3 ปี ถือเป็นการยืนยันได้ว่า รัฐบาลไทยพร้อมสนับสนุนเพื่อให้เขามั่นใจมากขึ้นในการลงทุนในประเทศไทย อนาคตจะมีบริษัทยักษ์ใหญ่เข้ามาลงทุนและดึงเม็ดเงินลงทุนเข้ามาในประเทศไทยอีก
ทั้งนี้ กระทรวงดีอีเอส กับบริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส หรือ AWS มีกรอบในการทำงานร่วมกันในด้านการพัฒนาและสนับสนุนกิจกรรมการฝึกอบรมให้ข้าราชการ 1,200 คน ตลอดจนการให้คำปรึกษาในทิศทางที่เหมาะสมในการดำเนินงานคลาวด์ภาครัฐของรัฐบาล นอกจากนี้ ยังจะทำงานร่วมกันในการหาบริการคลาวด์ภาครัฐต้นแบบโดยในปีแรกดำเนินการนำร่อง 10 โครงการ ซึ่งอยู่ในระหว่างการหารือยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะเป็นบริการใดบ้าง สำหรับโครงการนำร่องเหล่านี้จะช่วยให้เห็นถึงความรวดเร็วที่หน่วยงานภาครัฐสามารถใช้เทคโนโลยีคลาวด์เพื่อสร้างและส่งมอบบริการต่างๆ ได้สำเร็จ
‘เรายังมีเป้าหมายที่จะหารือถึงทางเลือกที่ตกลงร่วมกัน เพื่อใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ทั่วโลกของ AWS เพื่อสนับสนุนความพยายามในการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของรัฐบาลไทยที่เกี่ยวข้องกับการโยกย้าย และปรับใช้เครื่องเสมือนบนโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์แบบไฮบริดในช่วง 4 ปีงบประมาณจากนี้ไป และเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากระบบคลาวด์ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง โดยจะเป็นจุดเริ่มต้นในการปลดล็อกระดับการประหยัดต้นทุนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการขับเคลื่อนและเพิ่มการใช้งานระบบคลาวด์กลางภาครัฐ’ ชัยวุฒิ กล่าว
ขณะที่การทำงานร่วมกับบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นการทำงานในแนวทางเดียวกันคือ การผลักดันการทำงานร่วมกันเกี่ยวกับเทคโนโลยีคลาวด์ การวิจัยนวัตกรรม รวมถึงการพัฒนาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ ด้วยการยกระดับพัฒนาบุคลากรภาครัฐ และเพิ่มพูนทักษะโดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 2,000 คน รวมถึงสร้างโอกาสให้เจ้าหน้าที่ของภาครัฐเดินทางแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ศูนย์นวัตกรรมและการเรียนรู้ระดับโลกของหัวเว่ย รวมทั้งได้สํารวจนวัตกรรมใหม่ในด้านเทคโนโลยีแห่งอนาคต เช่น บิ๊กดาต้า ปัญญาประดิษฐ์ (AI) การเชื่อมโยงของอุปกรณ์อัจฉริยะ (IoT) และเทคโนโลยี 5G นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังมองถึงการขยายความร่วมมือไปยังการจัดเก็บข้อมูลคลาวด์สาธารณะ (Public Cloud) เพื่อทันต่อความต้องการและรองรับการใช้งานของผู้ใช้ในหน่วยงานภาครัฐของไทยด้วยการใช้ประโยชน์จากบริการคลาวด์
สำหรับหัวเว่ย เทคโนโลยี่ นั้น กระทรวงดีอีเอส ได้มีการลงนามกันครั้งแรกเมื่อเดือน พ.ย.2560 ในโครงการต่างๆ กันมาอย่างต่อเนื่องและมีการลงรายละเอียดเชิงลึกมากขึ้น การลงนามครั้งนี้จะช่วยเร่งเปลี่ยนผ่านบริการภาครัฐแบบดั้งเดิมสู่ระบบคลาวด์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน ปรับปรุงและยกระดับบริการต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน
*** ชูจุดเด่นเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ระดับโลก
‘อีริค คอนราด’ กรรมการผู้จัดการสำหรับกลุ่มลูกค้าภาครัฐ AWS ในภูมิภาคอาเซียน กล่าวว่า การเซ็น MOU ครั้งนี้ บริษัทจะช่วยยกระดับไอทีที่ทันสมัยให้ภาครัฐโดยการนำเทคโนโลยีระดับโลกมาช่วยหน่วยงานทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กในประเทศไทยให้สามารถใช้บริการคลาวด์ที่มีมาตรฐานระดับโลก มีโครงสร้างที่เสถียรภาพเพราะบริษัทมีบริการมากกว่า 200 บริการ ทั้งด้านการประมวลผล การจัดเก็บข้อมูล ฐานข้อมูล เครือข่าย การวิเคราะห์ ตลอดจน AI และ IoT เป็นต้น เพื่อช่วยให้ภาครัฐสามารถขับเคลื่อนนวัตกรรม ประหยัดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน
ทั้งนี้ เครือข่ายพันธมิตรและคู่ค้าของบริษัทรวมถึงสตาร์ทอัปในประเทศไทยของบริษัท จะช่วยเร่งการสร้างนวัตกรรมด้านการให้บริการประชาชนได้ ซึ่งบริษัทมีกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายกลุ่มในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรด้านเทคโนโลยี ด้านการให้คำปรึกษา ส่วนแผนการอบรมทักษะบุคลากรภาครัฐให้ได้มากกว่า 1,200 คนนั้น บริษัทจะจัดเป็นหลักสูตรดิจิทัลแบบออนดีมานด์ และอำนวยความสะดวกในการอบรม เพื่อให้บุคลากรภาครัฐสามารถพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการนำเทคโนโลยีคลาวด์ไปใช้ในวงกว้าง รวมถึงสามารถตัดสินใจในการดำเนินงานต่างๆ ที่ใช้ข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อนได้ดียิ่งขึ้น
ด้าน ‘อาเบล เติ้ง’ ประธานกรรมการบริหาร หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) กล่าวว่า จุดแข็งของหัวเว่ยคือ การมีดาต้า เซ็นเตอร์ในไทย 3 แห่ง ซึ่งหมายความว่า ธุรกิจในประเทศไทยสามารถใช้งานได้ด้วยความพร้อมในการให้บริการสูงและค่าความหน่วงของการส่งผ่านข้อมูลที่ต่ำกว่า รวมถึงปกป้องและจัดเก็บข้อมูลที่มีความเสี่ยงภายใต้กฎหมายไทย โดยบริษัทให้บริการคลาวด์ในประเทศไทยมากกว่า 3 ปี และเป็นผู้ให้บริการคลาวด์ระดับโลกรายแรกที่เปิดตัว Available Zone (AZ)ในประเทศไทยที่มี AZ จำนวน 3 แห่งตั้งอยู่ที่นี่
นอกจากนี้ หัวเว่ยยังส่งเสริมศักยภาพของอีโคซิสเต็มให้แก่เอสเอ็มอี และบุคลากรที่มีความสามารถด้านดิจิทัลให้แก่ประเทศไทยผ่านการริเริ่มโครงการต่างๆ ซึ่งรวมถึงโปรแกรมการแข่งขัน Huawei Spark Ignite, Huawei ASEAN Academy และ Seed for Future ด้วยเป้าหมายความสำเร็จต่างๆ ในวันนี้ จะเร่งให้เกิดการใช้งานบริการคลาวด์และเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย ขับเคลื่อนไปสู่ศูนย์กลางดิจิทัลแห่งอาเซียน
‘ชัยวุฒิ’ กล่าวเสริมว่าปัจจุบันโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) ดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เพื่อวางกรอบการพัฒนาการใช้ประโยชน์ข้อมูลภาครัฐให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งบูรณาการและให้บริการข้อมูลข้ามหน่วยงานได้อย่างเป็นระบบ รวดเร็ว ปลอดภัยตามมาตรฐานสากล ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริหารนำไปใช้วิเคราะห์และใช้ประโยชน์ข้อมูลอย่างเป็นรูปธรรมในการพัฒนาต่อยอดนโยบายต่างๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศ
โดยในขณะนี้มีหน่วยงานใช้บริการแล้ว 283 กรม จำนวน 854 หน่วยงาน ซึ่งอยากขอความร่วมมือให้หน่วยงานภาครัฐมาใช้บริการเพิ่มขึ้น เพื่อนำระบบงานที่สามารถเปิดให้บูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐกับหน่วยงานอื่นๆ ได้ ในรูปแบบข้อมูลเปิด (Opendata)
‘ตอนนี้ประเทศไทยได้ขึ้นเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี 5G ในภูมิภาคอาเซียน โดยมีคลาวด์เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านดิจิทัล อนาคตอันใกล้นี้ ผมหวังว่าเราจะได้เห็นประชาชนสามารถเข้าถึงการให้บริการภาครัฐผ่านอุปกรณ์ทุกชนิด’ รมว.ดีอีเอส กล่าวทิ้งท้าย