ดีอีเอส เซ็นเอ็มโอยูหัวเว่ย เป็นเวลา 3 ปี ผลักดันทักษะคลาวด์แก่บุคลากรภาครัฐ 2,000 คน รวมถึงบิ๊กดาต้า เอไอ และไอโอที รวมถึงการปรับโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์สาธารณะ รองรับความต้องการบริการแก่ผู้ใช้งานบริการสาธารณะผ่านระบบคลาวด์ของรัฐ
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า วันนี้ (25 ก.พ.) ได้มอบหมายให้ น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดีอีเอส เป็นผู้ลงนามความร่วมมือข้อตกลง (เอ็มโอยู) ระหว่างกระทรวงดีอีเอส และบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ในการผลักดันการทำงานร่วมกันเกี่ยวกับเทคโนโลยีคลาวด์ การวิจัยนวัตกรรม รวมถึงการพัฒนาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ ด้วยการยกระดับพัฒนาบุคคลากรภาครัฐ และเพิ่มพูนทักษะ โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 2,000 คน รวมถึงสร้างโอกาสให้เจ้าหน้าที่ของภาครัฐเดินทางแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ณ ศูนย์นวัตกรรมและการเรียนรู้ระดับโลกของหัวเว่ย และได้สํารวจนวัตกรรมใหม่ในด้านเทคโนโลยีแห่งอนาคต เช่น บิ๊กดาต้า ปัญญาประดิษฐ์ (AI) การเชื่อมโยงของอุปกรณ์อัจฉริยะ (IoT) และเทคโนโลยี 5G
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังมองถึงการขยายความร่วมมือไปยังการจัดเก็บข้อมูลคลาวด์สาธารณะ (Public Cloud) เพื่อทันต่อความต้องการและรองรับการใช้งานของผู้ใช้ในหน่วยงานภาครัฐของไทยด้วยการใช้ประโยชน์จากบริการคลาวด์ ทั้งนี้ หัวเว่ย ได้มีการเซ็นเอ็มโอยู กับกระทรวงดีอีเอสครั้งแรกเมื่อช่วงเดือน พ.ย.2560 ในโครงการต่างๆ จนมีการสานต่อในเชิงลึกมากขึ้น ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยเร่งการเปลี่ยนผ่านบริการของรัฐบาลจากแบบดั้งเดิมสู่ระบบคลาวด์ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่าย ปรับปรุงและยกระดับบริการต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน
“การเซ็นเอ็มโอยูคลาวด์กับเอกชน โดยเฉพาะต่างชาติ นอกจากเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกันแล้ว ยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้ต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ว่ารัฐบาลยอมรับ อันจะเป็นการดึงเม็ดเงินลงทุนและสร้างให้ประเทศไทยเป็นฮับของคลาวด์ในอาเซียนในที่สุด”
ด้านนายอาเบิ้ล เติ่ง ประธานกรรมการบริหาร หัวเว่ย เทคโนโลยี่ กล่าวว่า จุดแข็งของหัวเว่ยคือ การมีดาต้า เซ็นเตอร์ในไทย 3 แห่ง ซึ่งหมายความว่า ธุรกิจในประเทศไทยสามารถใช้งานได้ด้วยความพร้อมในการให้บริการสูงและค่าความหน่วงของการส่งผ่านข้อมูลที่ต่ำกว่า รวมถึงปกป้องและจัดเก็บข้อมูลที่มีความเสี่ยงภายใต้กฎหมายไทย