xs
xsm
sm
md
lg

ด้านมืด Metaverse ดีสุดขั้ว-ชั่วสุดขีด!? (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แม้อีคอมเมิร์ซและร้านค้าออนไลน์จะดูเหมือนมีโอกาสเฟื่องฟู แต่ในยุคจักรวาลเมตาเวิร์ส ความรุ่งเรืองนั้นจะจำกัดอยู่บนแพลตฟอร์มซึ่งออกแบบไม่ให้รัฐบาลเข้าไปยุ่งเกี่ยว
เหรียญนั้นมี 2 ด้าน เทคโนโลยีที่โลกตื่นเต้นกันมากในขณะนี้อย่างเมตาเวิร์ส (Metaverse) ถูกมองว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย เหมือนกันกับพลังงานไฟฟ้าที่มีประโยชน์มากมายต่อมวลมนุษยชาติ แต่ก็มีอุบัติเหตุไฟฟ้าลัดวงจรจนทำให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน

กรณีของโซเชียลเน็ตเวิร์ก หรือเครือข่ายสังคมในปัจจุบัน แม้จะช่วยสร้างเงินปั้นรายได้จนหลายคนกลายเป็นเศรษฐีจากการอาศัยแพลตฟอร์ม (platform) ในการประกอบอาชีพ แต่มีผู้คนจำนวนมากที่ตกเป็นเหยื่อและลุ่มหลงใช้เวลากับสิ่งล่อลวงบนโซเชียล ซึ่งที่ผ่านมา มีความเสียหายถึงระดับเสียชีวิตเช่นกัน

ดังนั้น ในขณะที่เมตาเวิร์สถูกมองเป็นเทคโนโลยีโลกเสมือนที่มีศักยภาพที่ไร้ขีดจำกัด จนผู้เชี่ยวชาญระดับโลกต่างมุ่งวิจัยต่อยอดสร้างอาณาจักรใหม่ เพื่อเชื่อมโยงโลกแห่งความจริง พัฒนาไปสู่ความสุขที่ยั่งยืนในมิติดิจิทัล พวกเราชาวไซเบอร์จึงควรจะที่รับรู้ถึงด้านมืดที่กำลังคืบคลานเข้ามา เพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันและพร้อมรับมือกับภาวะดีสุดขั้ว และโอกาสเกิดสิ่งชั่วร้ายที่ไร้ขีดจำกัดของ “เมตาเวิร์ส”

   ปริญญา หอมเอนก
สำหรับคำว่าเมตาเวิร์ส นั้นเป็นคำที่คิดขึ้นมาโดย นีล สตีเวนสัน (Neal Stevenson) ในนวนิยายเรื่องสโนว์ แครช (Snow Crash) เมื่อปี 1992 ซึ่งกล่าวถึงเมตาเวิร์สว่า เป็นการพัฒนาอินเทอร์เน็ตขั้นตอนต่อไป (3.0) เป็นโลกดิจิทัลที่รวมโลกกายภาพเข้ากับเทคโนโลยีเสมือนจริง ทั้ง augmented reality (AR) และ virtual reality (VR) ซึ่งหลังจากที่เฟซบุ๊ก (Facebook) ยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการเครือข่ายสังคมเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็นเมต้า (Meta) ทั่วโลกจึงพร้อมใจพูดถึงเมตาเวิร์ส จุดกระแสให้แบรนด์ทั้งในและต่างประเทศต่างวางแผนเปิดสำนักงานและดำเนินโครงการในโลกเสมือนจริง จนในช่วงปีที่ผ่านมา คำว่าเมตาเวิร์สได้รับความนิยมอย่างมาก โดยมีการกล่าวโยงถึงในเกมและบริษัทชั้นนำอย่าง Fortnite, Microsoft, Roblox, Minecraft, Balenciaga และ Nike ด้วย

***เร็ว-แรง-อิมแพกต์สูง

ปริญญา หอมเอนก ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นนัล เซ็นเตอร์ จำกัด ยกตัวอย่างที่สะท้อนถึงความรุนแรงของภัยจากเมตาเวิร์ส โดยเทียบว่าภัยในยุคอินเทอร์เน็ต 1.0 จะเหมือนกับการขี่จักรยานอยู่ที่บ้าน อุบัติเหตุจักรยานล้มอาจจะเกิดแผลถลอกที่ไม่ร้ายแรง เพราะผู้คนทั่วโลกยังไม่ค่อยนิยมใช้งานอินเทอร์เน็ต แต่การใช้โซเชียลในยุคอินเทอร์เน็ต 2.0 ก็อาจเปรียบเหมือนการขี่จักรยานยนต์ หรือมอเตอร์ไซค์เข้าไปวิ่งในเมือง ทำให้มีโอกาสเสียหายหรือได้รับอุบัติเหตุที่รุนแรงมากขึ้นบนถนนที่มีรถวิ่งเร็วและพลุกพล่าน แต่หากเป็นระดับเมตาเวิร์ส หรืออินเทอร์เน็ต 3.0 อาจจะเทียบเท่ากับการโดยสารเครื่องบิน ซึ่งมีความเร็วและแรง ทำให้อุบัติเหตุแต่ละครั้งมีผลกระทบสูงขึ้นอีก เนื่องจากความเสมือนจริงที่มากกว่าเครือข่ายสังคมในยุคปัจจุบัน

“ความเสมือนจริงของเมตาเวิร์สที่จะสร้างประสบการณ์เหมือนจริงมาก มีโอกาสจะดึงดูดให้ผู้คนหันไปใช้ชีวิตในโลกเสมือนมากขึ้น ทำให้น่ากังวลว่าจากสถิติการดูวิดีโอของคนไทยเฉลี่ย 8-9 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งเมื่อหักลบเวลาที่ต้องนอนหลับ 8 ชั่วโมง และเวลาทำงานทิ้งไป มนุษย์อาจจะเหลือเวลาพูดคุยต่อหน้ากันไม่ถึง 15 นาที และมีความเป็นไปได้ว่า ผู้ใช้อาจจะหายเข้าไปในเมตาเวิร์สตั้งแต่เช้า แล้วออกมาอีกครั้งเมื่อฟ้ามืด”

ความเสมือนจริงของเมตาเวิร์สที่จะสร้างประสบการณ์เหมือนจริงมาก ผู้ใช้อาจจะหายเข้าไปในเมตาเวิร์สตั้งแต่เช้า แล้วออกมาอีกครั้งเมื่อฟ้ามืด
นอกจากนี้ ประสบการณ์ใหม่บนเมตาเวิร์สที่มีโอกาสจะทำให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์ที่ดีกว่าชีวิตจริง อาจทำให้กลุ่มเปราะบางถูกล่อลวงด้วยภาพลักษณ์ที่ปรุงแต่งเกินจริง ขณะเดียวกัน หากเกิดปัญหาการขายยาเสพติดบนเมตาเวิร์สขึ้น อาจจะยากต่อการจับกุม และการแกะรอยอาชญากรบนเมตาเวิร์สก็ยิ่งทำได้ยาก ทำให้ผู้ที่แยกแยะไม่ได้อาจตกเป็นเหยื่อได้สูงมาก

ความเป็นไปได้ของภัยล่อลวงบนเมตาเวิร์ส อาจยังอยู่ในรูปแชร์ลูกโซ่ที่ต้มตุ๋นด้วยกลยุทธ์แบบเดิมๆ อาชญากรฐานะยากจนอาจจะใช้รถสปอร์ตบังหน้าเพื่อออกอุบายสร้างความเสียหาย แม้แต่กลลวงต้มตุ๋นที่มิจฉาชีพเคยโกหกว่าพบเจอทองหน้าสถานที่คนพลุกพล่าน ก็อาจจะถูกนำไปต้มตุ๋นหน้าห้องนอนของผู้ใช้ทุกคน

ในภาพรวมเศรษฐกิจ แม้อีคอมเมิร์ซและร้านค้าออนไลน์จะดูเหมือนมีโอกาสเฟื่องฟู แต่ในยุคจักรวาลเมตาเวิร์ส ความรุ่งเรืองนั้นจะจำกัดอยู่บนแพลตฟอร์มซึ่งออกแบบไม่ให้รัฐบาลเข้าไปยุ่งเกี่ยว เหมือนกับที่เป็นอยู่ในยุคโซเชียลเน็ตเวิร์กขณะนี้ ซึ่งปัจจุบัน การใช้เงินบูทโพสต์ หรือการประกอบธุรกิจอื่นๆ บนแพลตฟอร์มนั้นไม่มีช่องว่างให้รัฐบาลของประเทศคู่ค้าเข้าไปดำเนินการด้านภาษีได้

“ในมุมของภาครัฐ การจะเข้าไปกำกับดูแลนั้นยากมากเพราะไม่ใช่เจ้าของแพลตฟอร์ม ทำให้ไม่สามารถควบคุมได้อย่างเต็มที่ ที่สุดแล้ว สิ่งที่รัฐบาลไทยทำได้คือ การปรับปรุงกฎหมายให้ไล่ตามทัน การบังคับใช้จะต้องอุดช่องโหว่ที่ในทุกวันนี้รัฐบาลไม่สามารถควบคุมได้ ขณะเดียวกัน ผู้ใช้ควรดึงด้านดีมาใช้ประโยชน์ในเรื่องการทำเงิน การสร้างรายได้ โดยต้องไม่ลืมปลูกฝังให้เยาวชนและกลุ่มเปราะบางเข้าใจถึงความเสี่ยง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อถูกล่อลวงได้”

หลังจากที่เฟซบุ๊ก (Facebook) ยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการเครือข่ายสังคมเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็นเมต้า (Meta) ทั่วโลกจึงพร้อมใจพูดถึงเมตาเวิร์ส
หากมีเมตาเวิร์สเกิดขึ้นจริงในไทย ปริญญา ย้ำว่า จะต้องมีหน่วยงานเหมือน สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) แต่เป็น สสส.ไซเบอร์ ที่สนับสนุนทุกด้านเพื่อเตือนภัยให้คนมีความรู้เท่าทันกลลวงที่อาจเกิดขึ้นได้

ความกังวลของปริญญา นั้นตรงกับความเห็นของ “หลุยส์ โรเซนเบิร์ก (Louis Rosenberg)” นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และผู้พัฒนาระบบ AR ที่ใช้งานได้ครั้งแรกที่ห้องปฏิบัติการวิจัยกองทัพอากาศ ซึ่งเคยเขียนบทความเตือนภัยเรื่องเทคโนโลยีเมตาเวิร์สไว้ ว่า ตัวเขากังวลเกี่ยวกับการใช้ AR อย่างถูกกฎหมาย โดยผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่ทรงพลังซึ่งจะควบคุมโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดแบบเบ็ดเสร็จ

สิ่งที่โรเซนเบิร์ก กล่าวนั้นไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะ “แพร ดํารงค์มงคลกุล” Country Director ของ Facebook ประเทศไทย จาก Meta กล่าวว่า บริษัทจะแยกธุรกิจเมตาเวิร์สเป็น 2 ส่วน คือ การสร้างเวอร์ชวลแพลตฟอร์มที่เปิดให้คนมาตอบโต้กันได้ที่ Horizon Worlds ซึ่งเปิดตัวแล้วที่สหรัฐฯ และแคนาดา และเข้าถึงได้ด้วยอุปกรณ์โอคูลัส (Oculus) ส่วนที่ 2 คือ การสร้างสะพานเชื่อมกับสิ่งที่บริษัทมี เพื่อให้ธุรกิจอื่นได้เข้าไปมีตัวตนในแพลตฟอร์ม เชื่อว่าในอนาคตจะมีธุรกิจทั่วโลก รวมถึงไทยเข้ามามีส่วนร่วมกับแพลตฟอร์มอย่างแพร่หลาย

แพร ดํารงค์มงคลกุล
อย่างไรก็ตาม แพรมองต่างไปจากปริญญา และย้ำว่า การพัฒนาเมตาเวิร์สไม่ได้มุ่งหวังหรือมีจุดมุ่งหมายในการดึงเวลาให้ผู้ใช้จมจ่อมกับเมตาเวิร์สนานขึ้น แต่เป้าหมายคือ การพัฒนาให้ประสบการณ์ใช้งานเครือข่ายสังคมมีความสมจริงมากขึ้น และบริษัทมุ่งมั่นสร้างเมต้าเวิร์สอย่างมีความรับผิดชอบ เห็นได้จากการลงทุนสร้างเทคโนโลยีที่ปลอดภัยต่อผู้ใช้มากที่สุด รวมถึงการทำวิจัยและสร้างโครงการระยะเวลา 2 ปี ต่างๆ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐ นักวิชาการ และอุตสาหกรรมเพื่อประเมินความเสี่ยงและพัฒนางานเมตาเวิร์สให้ถูกต้องและปลอดภัยตั้งแต่แรกเริ่ม

"ความเสี่ยงของเมตาเวิร์สในไทยนั้นเหมือนกับความเสี่ยงในทั่วโลก ทั้งเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ความปลอดภัย และความทั่วถึงในการเข้าถึงเป็นประเด็นที่สำคัญ บริษัทเห็นปัญหาเหล่านี้จึงต้องเริ่มสร้างพื้นฐานให้เมตาเวิร์ส เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ให้สามารถควบคุมได้มากขึ้น ด้วยการสร้างให้มีส่วนควบคุม หรือบล็อกได้ ต้องมีการพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้อยู่ในการควบคุมได้ มีการจัดการได้"


แพรเชื่อว่าการใช้งานที่เปลี่ยนไปบนเมตาเวิร์ส คือยิ่งเสมือนจริงมากขึ้น และเมื่อธุรกิจฝันตัวเข้าไปในเมตาเวิร์สจะทำให้มีโอกาสเติบโตมากขึ้น เพราะสามารถให้ประสบการณ์กับลูกค้าได้อย่างไร้ขีดจำกัด แบบไม่ต้องรอลูกค้าเข้าร้าน นอกจากนี้ โลกเมตาเวิร์สยังเป็นโลกของครีเอเตอร์ เฟซบุ๊กจึงพยายามจุดประกายให้ครีเอเตอร์ไทยและโลกพยายามเปิดรับเทคโนโลยี AR ทั้งด้านแฟชัน ศิลปะ ดิจิทัลเมอร์เชนไดส์ รวมถึง NFT ที่จะสามารถทำรายได้มากขึ้นแน่นอน

"เชื่อว่าครีเอเตอร์จะโตมาก 5-10 ปีข้างหน้า ถ้าครีเอเอตร์ลงทุน AR จะสร้างเงินได้มากขึ้น และเพิ่มโอกาสทางอาชีพในอนาคต"

บทสรุปของเรื่องนี้คือ เรายังต้องรอดูอนาคตของเมตาเวิร์สกันต่อไป โดยที่ทุกคนต้องท่องให้ขึ้นใจว่าทุกอย่างมีทั้งดีและเสีย แต่ถ้าไปเมตาเวิร์ส ความเสียหายอาจจะรุนแรงขึ้นแน่นอน เนื่องจากในยุคโทรศัพท์มือถือหรือ AR เมื่อแบตเตอรี่หมด คนอาจจะปิดเครื่อง แต่หากเป็นเมตาเวิร์ส อาจจะมีการพัฒนาให้ระบบไม่มีวันปิดก็ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น