xs
xsm
sm
md
lg

'แอปเปิล' ในมือซีอีโอ 'ทิม คุก' สร้างตำนานใหม่ มูลค่าตลาดทะลุ 3 ล้านล้านดอลลาร์เป็นบริษัทแรก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


โลโก้ “แอปเปิล” ที่ด้านหน้าของร้านแอปเปิลสโตร์แห่งหนึ่ง ในเมืองซังเตียบลัง ใกล้ๆ เมืองนองต์ ของฝรั่งเศส (ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 16 ก.ย. 2021)
“แอปเปิล” กลายเป็นบริษัทแห่งแรกที่มีมูลค่าตลาดทะลุ 3 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อวันจันทร์ (3 ม.ค.) ถึงแม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม ตอกย้ำความปังของอุตสาหกรรมไฮเทคในช่วงวิกฤตโรคระบาด และถือเป็นความสำเร็จล่าสุดของซีอีโอ “ทิม คุก”

ในวันแรกของการซื้อขายในปีใหม่ 2022 หุ้นของบริษัทในซิลิคอนแวลลีย์รายนี้สร้างสถิติดังกล่าวเมื่อเวลาราว 18.45 น.วันจันทร์ ตามเวลามาตรฐานเมืองกรีนิช (ตรงกับประมาณ 01.45 น.วันอังคารที่ 4 ตามเวลาเมืองไทย) เมื่อราคาทะยานแตะระดับ 182.88 ดอลลาร์ ทำให้มูลค่ารวมตามราคาตลาดของแอปเปิลทะลุหลัก 3 ล้านล้านดอลลาร์เล็กน้อย ถึงแม้ในตอนตลาดปิด หุ้นตัวนี้ขยับถอยลงมาอยู่ที่ราคาหุ้นละ 182.88 ดอลลาร์ ยังคงขึ้นจากวันก่อน 2.5% แต่ก็ทำให้มูลค่ารวมตามราคาตลาดอยูที่ 2.99 ล้านล้านดอลลาร์

ก่อนหน้านี้ ยักษ์ใหญ่ไฮเทคผู้ผลิตไอโฟนแห่งนี้เคยเป็นบริษัทแห่งแรกที่มีมูลค่าตลาดทะลุ 2 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อเดือนสิงหาคม 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนักและกระตุ้นดีมานด์ที่มีต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล บริการดิจิทัล เช่น บริการสตรีมมิ่งของแอปเปิล และแอปสโตร์ในสมาร์ทโฟน

นอกจากนั้น แอปเปิลยังเป็นบริษัทแห่งแรกที่มีมูลค่าตลาด 1 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อเดือนสิงหาคม 2018 สถิติใหม่นี้ถือเป็นความสำเร็จล่าสุดของทิม คุก ที่รับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของแอปเปิล มาตั้งแต่ปี 2011 หรือก่อนที่สตีฟ จ็อบส์ ผู้ก่อตั้งบริษัท จะเสียชีวิตไม่นาน รวมทั้งสะท้อนว่า นักลงทุนเชื่อมั่นว่าผู้บริโภคจะยังคงยอมจ่ายเงินซื้อไอโฟน แมคบุ๊ก และบริการ เช่น แอปเปิล ทีวี และแอปเปิล มิวสิกต่อไป

แม้ในช่วงแรกเคยถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับความสามารถในการนำทางและสร้างสรรค์พรมแดนเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับจ็อบส์ แต่ภายใต้การบริหารของคุก แอปเปิลทำรายได้เพิ่มขึ้นมหาศาลจากบริการ เช่น การสตรีมวิดีโอและเพลง ซึ่งช่วยให้บริษัทสามารถลดการพึ่งพิงยอดขายไอโฟนจากกว่า 60% ของรายได้รวมในปี 2018 เหลือราว 52% ในปีการเงินที่ผ่านมา ผ่อนคลายความกังวลของนักลงทุนที่ห่วงว่า แอปเปิลพึ่งพิงไอโฟนมากเกินไป

ทิม คุก ซีอีโอของแอปเปิล ขณะรอเวลาเปิดร้านแอปเปิลสโตร์แห่งใหม่ ที่ คาร์เนกี ไลบรารี ในกรุงวอชิงตัน สหรัฐฯ (ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 11 พ.ค. 2019)
คุกยังชนะใจวอลล์สตรีทจากการสื่อสารที่ชัดเจนและการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังสร้างธุรกิจใหม่ๆ ที่รวมถึงอุปกรณ์สวมใส่ (wearable) ที่กวาดยอดขายกว่า 38,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว

การเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น 5จี ความจริงเสมือน (virtual reality) และปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) อย่างรวดเร็ว เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้แอปเปิลและบิ๊กเทคแห่งอื่นๆ มีเสน่ห์ดึงดูดนักลงทุนมากขึ้น

นอกจากนั้น แอปเปิลยังสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดสมาร์ทโฟนในจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในโลก ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 เอาชนะคู่แข่งเจ้าถิ่นอย่างวีโว่ และเสี่ยวหมี่ ทั้งนี้ จากข้อมูลของเคาน์เตอร์พอยต์ รีเสิร์ช

และขณะที่เทสลาเป็นบริษัทรถไฟฟ้าที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกในปัจจุบัน เนื่องจากวอลล์สตรีทกำลังทุ่มเดิมพันกับอีวี นักลงทุนจำนวนมากจึงคาดหวังให้แอปเปิลเปิดตัวรถไฟฟ้าภายใน 2-3 ปีข้างหน้า

ถึงแม้ในบรรดาบริษัทชั้นนำในตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะถูกครอบงำโดยบริษัทในซิลลิคอนแวลลีย์ แต่นอกจากแอปเปิลแล้ว มีเพียงไมโครซอฟท์เท่านั้นที่มีมูลค่าเกิน 2 ล้านล้านดอลลาร์

สำหรับสถานะในปัจจุบัน เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แอปเปิลรายงานว่าช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ (ก.ค.-ก.ย.2021) มีรายได้สุทธิ 20,500 ล้านดอลลาร์ จากรายรับ 83,400 ล้านดอลลาร์ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดใหม่ ขณะที่รายรับตลอดปีการเงิน 2021 อยู่ที่ 365,800 ล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัวจากทศวรรษที่แล้ว

กระนั้น ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาแอปเปิลต้องเผชิญความกดดันจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานเช่นเดียวกับยักษ์ใหญ่ไฮเทคอีกหลายแห่ง ซึ่งรวมถึงการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก และการผลิตชะงักงันในเอเชียเนื่องจากโควิด

ราคาหุ้นแอปเปิลดิ่งลงหลังการรายงานผลประกอบการในเดือนตุลาคม แต่ถัดจากนั้นก็กลับกระเตื้องขึ้นและพุ่งขึ้นเกือบ 20% ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2021

ในอีกด้านหนึ่ง แอปเปิลก็เหมือนกับยักษ์ไฮเทครายอื่นๆ ในโลกตะวันตกเวลานี้ ที่ถูกฝ่ายนิติบัญญัติทั้งของสหรัฐฯ และของยุโรป จับจ้องตรวจสอบพฤติกรรมอาศัยฐานะความได้เปรียบของตนมาผูกขาดตลาด ถึงแม้กล่าวได้ว่า แอปเปิลยังเจอน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทเทคด้วยกัน

(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น