xs
xsm
sm
md
lg

LINE สรุปความเคลื่อนไหวในปี 2564 เดินหน้าเป็นเครื่องมือเข้าสู่ดิจิทัลของคนไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปี 2564 เป็นปีที่ LINE ครบรอบ 10 ปี สามารถพิชิตยอดผู้ใช้งานถึง 50 ล้านคน นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นพลเมืองดิจิทัลของคนไทยมากกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนประชากรไทยทั้งหมด LINE ยังคงทำหน้าที่ช่วยเชื่อมผู้คนผ่านฟีเจอร์สื่อสารต่างๆ ให้ได้ใกล้กันอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกันกับในสถานการณ์ล็อกดาวน์ ที่การสื่อสารของคนไทยไม่สะดุดแม้ต้องรักษาระยะห่าง เห็นได้จาก LINE Group VDO Call ที่ทะยานสูงถึง 99% (ระหว่าง ม.ค.-ต.ค. เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า) ในขณะเดียวกัน LINE Meeting ก็เติบโตสูงขึ้นถึง 191% (นับตั้งแต่ช่วงเปิดตัวเมื่อ ส.ค.2563) สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยนั้นนอกจากจะใช้ LINE สื่อสารในชีวิตประจำวันแล้ว ยังใช้ในการทำธุรกิจและการทำงานช่วง Work From Home อีกด้วย

ขณะเดียวกัน LINE OpenChat ก็เป็นคอมมูนิตีออนไลน์ที่ต้องจับตามอง เพราะนอกจากจะมียอดผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น 52% มีกรุ๊ปใหม่ๆ เกิดขึ้นถึง 106% (ม.ค.-ก.ย.64 เทียบกับปีก่อนหน้า) ตัวเลขดังกล่าวไม่ได้ใช้เพียงแค่การเติบโตของตัวเลขเท่านั้น แต่ยังเห็นโอเพนแชตในหลายบทบาท โดยเฉพาะการเรียนออนไลน์ เกม แฟนด้อม คอมมูนิตีแหล่งรวมความรู้ด้านการเงินและการลงทุน หรือแม้แต่การใช้โอเพนแชตเพื่อเป็นศูนย์ประสานงานและศูนย์ให้ความช่วยเหลือในสถานการณ์เกี่ยวกับโควิด-19 ของโรงพยาบาล มูลนิธิ และกลุ่มอาสาสมัครต่างๆ มากมาย
ไม่เพียงเท่านี้ ก่อนส่งท้ายปี ได้มีการเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ LINE VOOM แท็บที่สามบนแอป LINE ที่มาเสริมบริการด้านโซเชียลมีเดียให้แข็งแรงและชัดเจนยิ่งขึ้น โดยผู้ใช้ LINE สามารถเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ได้ง่ายๆ โดยเฉพาะวิดีโอสั้นรูปแบบต่างๆ

“LINE Official Account” โตก้าวกระโดด ดันโซลูชันใหม่ช่วยธุรกิจไทยโตยั่งยืนบนสนาม Social Commerce


LINE Official Account ยังคงครองตำแหน่งช่องทางยอดนิยมของธุรกิจไทยในการนำเสนอสินค้าและบริการ พร้อมการพูดคุยและปิดการขาย ด้วยยอดการใช้งานที่เพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านบัญชี (ณ เดือน ส.ค.2564) เป็น การเติบโตถึง 25% ภายใน 1 ปี ครองใจผู้ประกอบการทุกขนาดทั้งองค์กรใหญ่ MSMEs รวมไปถึงแบรนด์แฟชั่นลักชัวรี ด้วยการเป็นช่องท่างที่ช่วยให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าอย่างถึงลูกถึงคน

ขณะเดียวกัน ยังเพิ่ม 2 โซลูชันที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพ LINE Official Account ให้ครบรอบด้านยิ่งขึ้น ได้แก่ MyRestaurant โซลูชันสำหรับธุรกิจร้านอาหารยุคใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมจากผู้ประกอบการร้านอาหารทั่วประเทศ และ MyCustomer โซลูชันในการจัดการบริหารข้อมูลลูกค้า สำหรับธุรกิจองค์กรให้สามารถขับเคลื่อน การเติบโตของธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มการเงิน ประกัน และการธนาคาร (Financial, Insurance/Banking) กลุ่มรีเทลและอีคอมเมิร์ซ (Retail & E-commerce) และกลุ่มภาครัฐ (Government & Public Sector)

ทางด้านช่องทางการลงโฆษณาอย่าง LINE Ads Platform ก็เติบโตถึง 42% (ณ ตุลาคม 2564 เทียบกับปีก่อนหน้า) โดย Smart Channel ยังคงครองตำแหน่งโฆษณายอดฮิต ครองใจนักการตลาดในตลาดโฆษณาออนไลน์ ที่มีตัวเลขการเติบโตอย่างก้าวกระโดดถึง 63% นับตั้งแต่ต้นปี

ชอปปิ้ง-สั่งอาหารออนไลน์ หัวใจหลักช่วยให้ไลฟ์สไตล์ NOW NORMAL ไม่สะดุด


ด้าน LINE SHOPPING ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ยังคงครองตำแหน่งแพลตฟอร์ม Social Commerce ในใจคนไทย ด้วยยอดขายเติบโตเกือบ 5 เท่าจากปีก่อนหน้า โดยสินค้าความงาม แฟชั่น และอาหารครองแชมป์ยอดขายสูงสุด ขณะเดียวกัน ด้าน LINE SHOPPING Seller ทั้งธุรกิจเล็กใหญ่ก็เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า โดยมีโซลูชัน MyShop ช่วยเพิ่มขีดการแข่งขันให้ผู้ค้าบนสนามอีคอมเมิร์ซเมืองไทย

ส่วนทางด้าน LINE MAN จะเรียกว่าเป็นปีทองก็คงไม่ผิด เพราะการเติบโตแบบก้าวกระโดด รุกหนักเพิ่มพื้นที่ให้บริการครอบคลุม 77 จังหวัด 222 อำเภอ ดันยอดผู้ใช้ทั่วประเทศเติบโต 2.5 เท่า ครองแชมป์ฟูดเดลิเวอรีที่มีร้านอาหารเยอะที่สุดกว่า 500,000 ร้าน ความสำเร็จในการขยายบริการครอบคลุมทั่วประเทศ ถือเป็นหลักไมล์แรกที่ตั้งเป้าช่วยพัฒนาและยกระดับธุรกิจท้องถิ่นในไทย ผ่านการเชื่อมต่อลูกค้า ไรเดอร์ และร้านอาหารท้องถิ่นเข้าด้วยกัน

คอนเทนต์โดนใจ ครบรส ทั้งสาระ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ สายมู จัดเต็มตลอดปี

ขณะที่ LINE STICKERS ช่วยให้ทุกช่วงเวลาแชตสนุกยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยจำนวนสติกเกอร์ที่วางขาย ณ ปัจจุบันกว่า 4.4 ล้านเซต เพิ่มขึ้นมากกว่าปีก่อนถึง 20% ปัจจุบันมีครีเอเตอร์กว่า 9 แสนราย ขณะที่เสียงรอสาย เสียงเรียกเข้า LINE MELODY ก็เดินหน้าเพิ่มเพลงฮิตใหม่ๆ รวมกว่า 37,000 เพลง ยอดดาวน์โหลดเติบโต 57% จากปีก่อน ถือเป็นบริการที่ได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 2.4 ล้านราย

ส่วนคอนเทนต์และความบันเทิง LINE TV ก็ขอส่งท้ายด้วยความประทับใจด้านงานคุณภาพ เพราะสามารถพาออริจินัลคอนเทนต์กวาดรางวัลทั้งในและต่างประเทศตลอดปี โดยเฉพาะ “แปลรักฉันด้วยใจเธอ” กับรางวัล International Drama of The Year จากเวที Seoul International Drama Awards เกาหลีใต้

ขณะที่ฟาก LINE TODAY ที่กลายเป็นแพลตฟอร์มคอนเทนต์ที่มากกว่าแค่สาระ ให้ตามทันทุกเทรนด์ ก็มียอดเพจวิวโตถึง 50% จากปีก่อน เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ด้วยสารพันคอนเทนต์ไลฟ์สไตล์หลากหลาย คอนเทนต์วิดีโอสั้นมาแรงที่มีผู้ชมเพิ่มถึง 7 เท่า และไม่ลืมที่จะเอาใจสายมูด้วยฟีเจอร์เซียมซีจาก 80 วัดดัง แล้วไปมูกันต่อยาวๆ กับ LINE DOODUANG บริการใหม่ที่ออกมาเพื่อเสริมประสบการณ์ขอพร แก้บนออนไลน์ได้โดยไม่ต้องออกจากบ้าน


ด้าน LINE GAME ก็ไม่เคยทำไมคอเกมต้องเบื่อ เพราะมียอดผู้เล่นเติบโตในทุกเกม โดยเกมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ LINE Let’s Get Rich ในขณะที่เกมที่เติบโตและขายไอเท็ม (Gross Sale) ได้มากที่สุดคือ LINE Rangers ส่วนสายการ์ตูนอย่าง LINE WEBTOON ก็มียอดวิวของออริจินัลคอนเทนต์สูงขึ้นถึง 16% (เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า) ส่งให้ยอดขายโดยรวมสูงขึ้นถึง 85% โดยหมวดหมู่คอนเทนต์ที่มาแรงมากในปีนี้ได้แก่แอ็กชัน แต่ที่ได้รับความนิยมสูงสุดยังคงเป็นแนวโรแมนติก

แชต-ยืม-โอน-จ่าย ดันบริการ Fintech ของ LINE โตถ้วนหน้า


จากความสามารถในการตอบโจทย์และความต้องการการใช้งานในแบบแชต-ยืม-โอน-จ่าย ที่ทำให้บริการด้าน Fintech ของแอป LINE สมบูรณ์และโดดเด่นสำหรับผู้ใช้ในเมืองไทย เห็นได้จากการเติบโตของบริการด้านการเงิน อย่าง LINE BK บริการ social banking รายแรกของไทย ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา LINE BK มีผู้ใช้บริการกว่า 3.9 ล้านราย มีการเปิดใช้งานบัญชีเงินฝาก 4.5 ล้านบัญชี บัตรเดบิต 2 ล้านบัตร ส่วนใหญ่เป็นบัตรประเภทออนไลน์ ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมชอปปิ้งออนไลน์ที่สูงขึ้น ขณะที่ด้านบริการให้กู้ยืมนั้นมีวงเงินให้ยืมทั้งสิ้นกว่า 5 แสนบัญชี เพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เชื่อถือได้สำหรับเหล่าฟรีแลนซ์และผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำ

ขณะที่ Rabbit LINE Pay ก็ไม่น้อยหน้า มีผู้ใช้รายเดือนเติบโตขึ้น 35% เมื่อเทียบกับต้นปี พบผู้บริโภคมีแนวโน้มหันมาใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและเดบิตมากขึ้นเป็น 31% ขณะที่มูลค่าการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตสูงขึ้น 126% เมื่อเทียบกับต้นปีเพราะความสะดวกและคุ้มค่าเช่นเดียวกัน

รวมๆ แล้วในปี 2564 นอกจากจะเป็นความท้าทายสำหรับผู้ใช้ในทุกแง่มุมของการใช้ชีวิตและดำเนินธุรกิจ ขณะเดียวกัน ก็เป็นช่วงเวลาที่ LINE ไม่ได้นิ่งนอนใจที่จะพิสูจน์บทบาทการเป็นแอปพลิเคชันโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถดำเนินชีวิตและมีไลฟ์สไตล์ในหลากมิติได้อย่างราบรื่นและพร้อมที่จะเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยนำผู้ใช้ไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในปี 2565 อย่างแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น