ตอนที่เปิดตัวระบบชำระเงินดิจิตอลเมื่อเดือนกรกฎาคม 2019 แบงก์ชาติกัมพูชาคาดหวังให้ “บากอง” ช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมทางการเงินของประชาชน ตลอดจนเพิ่มการใช้สกุลเงินท้องถิ่นและลดการพึ่งพิงดอลลาร์ โดยไม่คาดคิดว่า โรคระบาดใหญ่อย่างโควิดจะช่วยให้บากองได้รับการตอบรับรวดเร็วเกินคาด
ธนาคารแห่งประเทศกัมพูชา (เอ็นบีซี) ที่ค้นคว้าวิจัยระบบชำระเงินบนบล็อกเชนมาตั้งแต่ปี 2016 เปิดตัว “บากอง” ที่ตั้งชื่อตามชื่อปราสาทโบราณในเสียมเรียบ อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว และจนถึงขณะนี้บากองกลายเป็นแพลตฟอร์มสำหรับธนาคารและสถาบันการเงินกว่าสิบแห่ง เข้าถึงผู้ใช้ราว 5.9 ล้านราย ด้วยมูลค่าธุรกรรมเฉียด 2,000 ล้านดอลลาร์
เจีย เสรี ผู้อำนวยการเอ็นบีซี บอกว่า ตอนที่เปิดตัวบากอง ไม่มีใครคาดคิดเลยว่า โควิดจะช่วยอุ้มสมให้โปรเจ็กต์นี้ได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็วในภาวะที่ประชาชนมากมายกังวลกับการจัดการเงิน
โควิดหนุนให้การทำธุรกรรมดิจิตอลเบ่งบานทั่วโลก จากการที่ภาคเอกชนช่วยกันส่งเสริมการชำระเงินออนไลน์ ขณะที่ภาครัฐดำเนินการขั้นตอนต่างๆ เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมทางการเงินของผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบได้เนื่องจากเครือข่ายการเชื่อมต่อด้อยประสิทธิภาพ มีความสามารถเข้าถึงอุปกรณ์มือถือจำกัด หรือมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีน้อย
บากองที่พัฒนาโดยโซรามิตสึ ซึ่งเป็นบริษัทบล็อกเชนของญี่ปุ่น ช่วยให้คนกัมพูชาสามารถใช้แอปบนมือถือจ่ายและโอนเงินผ่านแบงก์บนแพลตฟอร์ม แม้ไม่มีบัญชีกับแบงก์นั้นก็ตาม
เอ็นบีซียังบอกอีกว่า ประชาชนกว่า 200,000 คนที่ไม่เคยมีบัญชีธนาคารมาก่อน ตอนนี้ใช้อี-วอลเล็ตบากองอยู่
อย่างไรก็ดี ตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงเศษเสี้ยวของ 70% ของประชากรกัมพูชา 17 ล้านคนที่คาดว่า ไม่มีบัญชีธนาคาร ไม่เคยหรือเคยใช้บริการธนาคารน้อยมาก
มากาโตะ ทาเคมินะ ประธานบริหารกลุ่มบริษัทโซรามิตสึ โฮลดิ้งส์ในโตเกียว ชี้ว่า จากข้อเท็จจริงที่ประชากรส่วนใหญ่ไม่มีบัญชีธนาคาร การสร้างระบบเพื่อให้ผู้คนที่ไม่มีประสบการณ์กับแบงก์มาก่อนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างง่ายดายถือเป็นงานที่ท้าทายมาก
กระนั้น เขาสำทับว่า อัตราการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือในระดับสูง และการที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นหนุ่มสาวและใช้มือถือคล่อง ทำให้บากองได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็ว
ปัจจุบัน ผู้คนทั่วโลกใช้เงินสดลดลง ขณะที่ทางการกำลังหาวิธีปกป้องภัยคุกคามจากคริปโตที่ถูกมองว่า ผันผวนสูง เพิ่มความเสี่ยงเชิงระบบ สนับสนุนอาชญากรรม และส่งผลร้ายต่อนักลงทุน
การสำรวจความคิดเห็นธนาคารกลาง 65 แห่งเมื่อต้นปีที่จัดทำโดยธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (บีไอเอส) พบว่า 86% กำลังสำรวจหรือทดสอบสกุลเงินดิจิตอล โดยแบงก์ชาติในประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนามีแนวโน้มมากกว่าที่จะเปิดตัวสกุลเงินดิจิตอลที่ออกโดยธนาคารกลาง (ซีบีดีซี)
บาฮามาสเป็นประเทศแรกในโลกที่ออกซีบีดีซีในชื่อ “แซนด์ ดอลลาร์” เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ขณะที่ไนจีเรียเป็นประเทศแรกในแอฟริกาที่ออกเงินดิจิตอล “อีไนรา” ในเดือนตุลาคมปีนี้ สำหรับบากองนั้นถูกระบุว่าเป็นไฮบริดซีบีดีซี
เอมีร์ ฮันจิก หัวหน้าฝ่ายฝึกอบรมด้านฟินเทคของสถาบันการเงินดิจิตอลแห่งเอเชีย บอกว่า นวัตกรรมเทคโนโลยีการเงินส่วนใหญ่อยู่ในตลาดเกิดใหม่ ขณะที่ตลาดพัฒนาแล้วถูกยึดครองโดยบัตรเดบิตและบัตรเครดิต
ด้านเจียสำทับว่า ประเทศขนาดเล็กยอมรับเงินดิจิตอลเร็วกว่าเพราะมีความท้าทายที่ต้องเอาชนะอย่างแท้จริง และความเสี่ยงในการยอมรับเทคโนโลยีใหม่ถือว่า ต่ำกว่าความเสี่ยงจากการไม่ทำอะไรเลย
อีกหนึ่งวัตถุประสงค์ของบากองคือช่วยธุรกิจขนาดเล็ก และลดต้นทุนการโอนเงินกลับประเทศของแรงงานกัมพูชากว่า 1 ล้านคนในต่างแดนที่เดิมต้องจ่ายค่าธรรมเนียมแพงลิ่วให้บริการโอนเงินหรือเอเยนต์นอกระบบ
ปี 2019 แรงงานกัมพูชาส่งเงินกลับประเทศถึง 1,500 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 6% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของกัมพูชา โดยขณะนี้ยังมีเพียงแรงงานกัมพูชาในมาเลเซียเท่านั้นที่สามารถส่งเงินกลับบ้านได้ แต่เอ็นบีซียืนยันว่า กำลังหาทางเพิ่มประเทศอื่นๆ บนแพลตฟอร์ม
อย่างไรก็ตาม แม้บากองมีประโยชน์อีกมากมาย เช่น ช่วยให้รัฐบาลโอนเงินสด และองค์กรบรรเทาทุกข์และหน่วยงานด้านการพัฒนาสามารถส่งความช่วยเหลือให้ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนในช่วงโควิด แต่การที่ประชาชนยังขาดความรู้ด้านการเงินและดิจิตอลถือเป็นความท้าทายสำคัญ ดังจะเห็นได้จากข่าวการหลอกลวงทางไซเบอร์ที่ระบาดมากขึ้นในกัมพูชา
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทาเคมิยะให้ความมั่นใจว่า ระบบบากองไม่ใช้ข้อมูลที่สามารถระบุตัวตน อีกทั้งยังปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ แต่ขณะเดียวกันก็เปิดทางให้ธนาคารกลางสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของธุรกรรมได้ นอกจากนี้ฟีเจอร์ความปลอดภัยมากมายของบล็อกเชนยังช่วยลดความเสี่ยงในการฉ้อโกงและการโจมตีทางไซเบอร์
ทาเคมิยะเสริมว่า ขณะนี้บริษัทกำลังวิจัยโมเดลซีบีดีซีให้ลาว ซึ่งเป็นประเทศที่ประชากรจำนวนมากไม่มีช่องทางเข้าถึงบริการธนาคารรูปแบบดั้งเดิม แต่มีการเข้าถึงอุปกรณ์มือถือสูงเช่นเดียวกับกัมพูชา
ทางด้านเอ็นบีซีทิ้งท้ายว่า ธนาคารตระหนักดีถึงความท้าทายต่างๆ และหวังว่า จะเพิ่มการยอมรับในระบบบากองด้วยการปรับปรุงความรู้ทางการเงินและระบบดิจิตอลแก่แรงงานที่ออกไปทำงานต่างแดนและครอบครัวของคนเหล่านั้น