xs
xsm
sm
md
lg

5G ไทยสดใสตามเทรนด์โลก อีริคสันมอง "ทรูรวมดีแทค" ทำแข่งดุคุณภาพเครือข่าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ในปี 2570 ยอดผู้ใช้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนียจะเป็นผู้ใช้ 5G ถึง 560 ล้านราย
อีริคสัน (Ericsson) คาดยอดสมัครใช้บริการ 5G ทั่วโลกปีนี้ทะลุ 660 ล้านบัญชี ขยับเพิ่มจาก 580 ล้านบัญชีที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ ฟันธงตัวเลขผู้ใช้ 5G จะพุ่งถึง 4.4 พันล้านบัญชีในอีก 6 ปีข้างหน้า (สิ้นปี พ.ศ.2570) คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของการใช้งานโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมดในขณะนั้น

สำหรับประเทศไทย การสำรวจของอีริคสันประเมินไว้ในระดับภูมิภาค คาดว่าในปี 2570 ยอดผู้ใช้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนียจะเป็นผู้ใช้ 5G ถึง 560 ล้านราย คาดว่าในปีนั้น 45% ของผู้ใช้มือถือในอาเซียนจะเป็นสมัครบริการ 5G และอีก 46% จะเป็น 4G ที่เหลือจะเป็นเทคโนโลยีเก่าอย่าง 3G

อิกอร์ มอเรล  ประธานบริษัทอีริคสัน ประเทศไทยเชื่อว่าภาวะ 5G สดใสที่เกิดขึ้นทั้งในทุกพื้นที่ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย เป็นเพราะความต้องการใช้งานดาต้าที่สูงขึ้น ซึ่งทำให้เกิดความต้องการโครงข่ายที่มีศักยภาพตามไปด้วย

อิกอร์ มอเรล  ประธานบริษัทอีริคสัน ประเทศไทยคนใหม่
ส่วนตัวแม่ทัพอีริคสัน ประเทศไทยคนใหม่มองว่าประเทศไทยที่มีโครงสร้างพื้นฐาน 5G แล้ว จำเป็นต้องสร้างเครือข่าย 5G ที่สามารถตั้งโปรแกรม มีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้เกิดนวัตกรรมสู่บริการใหม่ที่ดีขึ้น รับกับความต้องการและการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นในยุคหลังดีลควบรวมทรู-ดีแทค ซึ่งเชื่อว่าจะนำไปสู่การแข่งขันเรื่องคุณภาพเครือข่ายอย่างดุเดือด

***ไทยยังอยู่กลุ่มเดียวกับสิงคโปร์

แม้จะประเมินตัวเลขประเทศไทยโดยรวมในสถิติระดับภูมิภาค แต่ผู้บริหารอีริคสัน ประเทศไทยเชื่อว่าจำนวนบัญชีผู้ใช้งาน 5G ของไทยจะอยู่ในกลุ่มเดียวกับประเทศหลัก เช่น ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแรงผลักดันเรื่องความต้องการใช้งานดาต้า ที่ผลักดันให้เกิดความต้องการแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อพัฒนาธุรกิจ โดยเฉพาะการนำ 5G มาช่วยยกระดับการจัดการด้านซัปพลายเชนและระบบอัตโนมัติ ในภาคการผลิต อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมพลังงาน และอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ของไทย

สำหรับในอนาคต การสำรวจของอีริคสันชี้ว่าผู้ใช้ 5G ในประเทศไทยจะคิดเป็นสัดส่วน 50-55% ของผู้ใช้รวมภายในปี 2568 คาดว่าตัวเลขผู้ใช้ 4G จะลดลงเหลือประมาณ 40% ตัวเลขนี้แม้จะเป็นคนละชุดกับในรายงานอีริคสันโมบิลิตี้รีพอร์ต (Ericsson Mobility Report) ฉบับล่าสุด แต่ก็เป็นตัวเลขที่ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในวงการเทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้นอย่างเร็วขึ้นอีก

เฉพาะปี 2564 รายงานคาดว่ายอดผู้ใช้มือถือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนียจะเพิ่มเป็น 1.1 พันล้านราย โดยมียอดผู้สมัครใช้บริการ 5G สูงแตะ 15 ล้านราย และจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีนี้ โดยคาดว่าในปี 2570 จะมียอดผู้ใช้ 5G ถึง 560 ล้านราย นอกจากนี้ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนียจะมีปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตต่อสมาร์ทโฟนหนึ่งเครื่องเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในโลก แตะ 46 กิกะไบต์ (GB) ต่อเดือน ในปี 2570 หรือเติบโตเฉลี่ย 34% ต่อปี สอดคล้องกับปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือทั้งหมดที่เติบโตต่อปีที่ 39% ส่งผลให้มียอดการใช้เน็ตต่อเดือนสูงถึง 46 เอกซะไบท์ (EB) เป็นผลมาจากจำนวนผู้สมัครใช้บริการ 4G และ 5G ที่เพิ่มขึ้นในตลาดที่เปิดให้บริการ 5G

“ประเทศไทย คือ หนึ่งในประเทศที่มีประชากรใช้อินเทอร์เน็ตสูงที่สุดในโลก เมื่อกล่าวถึงภาคอุตสาหกรรมและองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ประเทศไทยคือหนึ่งในศูนย์กลางสำคัญของภาคอุตสาหกรรมในระดับภูมิภาค โดยมีธุรกิจที่มีศักยภาพจำนวนมากที่นำเทคโนโลยี 5G มาปรับปรุงการดำเนินงานให้มีความทันสมัย ผมมองว่าประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างเครือข่าย 5G ที่สามารถตั้งโปรแกรม มีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ”


การสำรวจพบว่าตั้งแต่ปี 2554 การนำเครือข่าย 4G LTE มาใช้งานได้ถือเป็นปัจจัยกระตุ้นสำคัญที่เพิ่มยอดผู้ใช้สมาร์ทโฟนทั่วโลกพุ่งเป็น 5.5 พันล้านคน และเกิดอุปกรณ์ที่รองรับการเชื่อมต่อ 4G ขึ้นในตลาดมากกว่า 20,000 รุ่น ในรายงานยังชี้ให้เห็นว่าวงจรเทคโนโลยีของอุปกรณ์ 5G นั้นเปลี่ยนแปลงไปได้รวดเร็วกว่า ในปัจจุบันมีโทรศัพท์มือถือ 5G คิดเป็นสัดส่วน 23% ของมือถือทั้งหมดทั่วโลก เทียบกับโทรศัพท์มือถือ 4G ที่ลดเหลือ 8%

***“โทรศัพท์มือถือ 5G” ปัจจัยเร่ง

ผลการสำรวจล่าสุดของอีริคสันพบว่าการสมัครใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเทคโนโลยี 5G ในปี 2564 ทะยานเพิ่มขึ้นเพราะแรงหนุนจากความต้องการที่แข็งแกร่งเกินคาดในจีนและอเมริกาเหนือ ทำให้ยอดสมัครใช้ 5G ในปี 64 เพิ่มขึ้นจากที่เคยประเมินไว้ 580 ล้านราย เป็น 660 ล้านราย โดยรายงานพบว่าความต้องการเหล่านี้ในเพิ่มขึ้นเพราะราคาอุปกรณ์ 5G ที่ลดลง

สำหรับช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมาการสำรวจพบว่าทั่วโลกมียอดผู้ใช้ 5G เพิ่มขึ้นสุทธิที่ 98 ล้านบัญชี เทียบกับผู้สมัครใช้ 4G รายใหม่ที่ 48 ล้านบัญชี และคาดว่าเครือข่าย 5G จะครอบคลุมผู้ใช้งานกว่า 2 พันล้านคนภายในสิ้นปี 2564

การนำเครือข่าย 4G LTE มาใช้งานได้ถือเป็นปัจจัยกระตุ้นสำคัญที่เพิ่มยอดผู้ใช้สมาร์ทโฟนทั่วโลกพุ่งเป็น 5.5 พันล้านคน และเกิดอุปกรณ์ที่รองรับการเชื่อมต่อ 4G ขึ้นในตลาดมากกว่า 20,000 รุ่น
ในภาพรวมบริษัทมองว่า 5G กำลังจะกลายเป็นเครือข่ายหลักของโลกในปี 2570 เพราะผู้ใช้ 5G จะมีสัดส่วนประมาณ 50% ของจำนวนผู้ใช้มือถือทั้งหมดทั่วโลก โดยครอบคลุมประชากรโลกถึง 75% และคิดเป็น 62% ของปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตบนสมาร์ทโฟนทั่วโลก

***10 ปี ปริมาณการใช้ดาต้ามือถือพุ่ง 300 เท่า

หากประมวลข้อมูลตลอด 10 ปีที่อีริคสันจัดทำและเผยแพร่รายงาน Ericsson Mobility Report เป็นครั้งแรกในปี 2554 พบว่าปัจจุบันมีปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือเพิ่มขึ้นเกือบ 300 เท่า โดยพบว่าที่ผ่านมา ชาวอาเซียนถูกกระตุ้นให้ใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด ตัวอย่างสถิติไตรมาส 3 ปี 64 พบว่าเติบโตที่ 42% หรือประมาณ 78 เอกซะไบต์ (EB) ซึ่งนับรวมปริมาณอินเทอร์เน็ตจากบริการบรอดแบรนด์อินเทอร์เน็ตไร้สาย (Fixed Wireless Network)

นอกจากนี้ ยังพบว่ายอดการใช้เน็ตมือถือในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา มีปริมาณเทียบเท่าปริมาณเน็ตที่เคยมีมาทั้งหมดจนถึงปี 2559 ซึ่งจากการคาดการณ์ล่าสุดยังเผยว่าในปี 2570 จะมีการใช้เน็ตมือถือเพิ่มขึ้นสูงถึง 370 เอกซะไบต์

“10 ปีที่ผ่านมา อีริคสันเห็นการเปลี่ยนผ่านที่ยิ่งใหญ่ บนแรงผลักดันหลักคือความต้องการและการใช้งานที่เปลี่ยนไป แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการดิสรัปเกิดขึ้นจนทำให้วงจรเทคโนโลยีใหม่สั้นลง และทำให้เทคโนโลยีการเชื่อมต่อมีความสำคัญมากขึ้น” อิกอร์ กล่าวเสริม

 5G จะยังอยู่ต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 5 ปี ขณะที่เทคโนโลยี 6G กำลังอยู่ระหว่างการวางมาตรฐานและการพัฒนา
ในฐานะประธานบริษัทอีริคสัน ประเทศไทยคนใหม่ อิกอร์ มองว่าประเทศไทยเป็นตลาดที่เติบโตเร็ว สิ่งที่จะให้ความสำคัญในอนาคตจึงเป็นการนำเอาผู้ใช้มาสู่เครือข่าย 5G เหล่านี้ ทำให้บริษัทวางแผนร่วมมือกับพันธมิตรทั้งระบบอีโคซิสเต็ม ให้เกิดการพัฒนาเพื่อผลักดันให้เกิดการใช้งานมากขึ้น ทำให้เกิดบริการ 5G ที่ดีกว่า หรือเป็นการเสนอบริการใหม่เพื่อตอบความต้องการในราคาที่ต่ำลง

สำหรับการควบรวมของดีแทคและทรู ประธานบริษัทอีริคสัน ประเทศไทยมองว่าการควบรวมจะทำให้เกิดทางเลือกที่น้อยลง แต่จะผลักดันคุณภาพเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยให้ดีขึ้น เพราะการเหลือผู้เล่น 2 รายจะทำให้เส้นแบ่งบางลง เป็นสถานการณ์ที่ผู้เล่นหลัก 2 รายในตลาดต้องพยายามแข่งขันเรื่องคุณภาพเครือข่ายแบบเข้มข้นกว่าเดิม

ในอนาคต อีริคสันเชื่อว่าเทคโนโลยีที่กำลังขยายตัวทั้งโลกเสมือนจริงเมตาเวิร์ส ควอนตัมคอมพิวติ้ง และคริปโตเคอร์เรนซี ล้วนต้องการโครงสร้างที่สามารถรับส่งข้อมูลมหาศาล โดยเฉพาะควอนตัมคอมพิวติ้งที่จะช่วยเสริมศักยภาพ 5G เชื่อว่าทั้งหมดจะเร่งให้ตลาดมีความต้องการระบบโครงข่าย รวมถึงส่วนพื้นที่เก็บข้อมูล เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถสร้างโลกเสมือนหรือบริการไฮเทคขึ้นมารองรับความต้องการได้

เมื่อถามถึง 6G ประธานบริษัทอีริคสัน ประเทศไทยมองว่าขณะนี้ยังเป็นช่วงเริ่มต้นของยุค 5G ทำให้เชื่อมั่นว่า 5G จะยังอยู่ต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 5 ปี โดยยอมรับว่าเทคโนโลยี 6G กำลังอยู่ระหว่างการวางมาตรฐานและการพัฒนา เชื่อว่าจะต้องมีระบบที่เปิดกว้างและสามารถดำเนินการได้อย่างอัตโนมัติมากขึ้นกว่า 5G และน่าจะมีผู้เล่นรายใหม่ รวมถึงบริการใหม่ที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

ปัจจุบัน บริษัทสัญชาติสวีเดนอย่างอีริคสันยังต้องแข่งขันกับหัวเว่ย (Huawei) ของจีนและโนเกีย (Nokia) ของฟินแลนด์ สถิติเครือข่าย 5G ที่อีริคสันเปิดให้บริการแล้วในขณะนี้คือ 104 โครงข่ายใน 46 ประเทศ จากทั้งหมด 182 โครงข่าย 5G ที่มีให้บริการทั่วโลก


กำลังโหลดความคิดเห็น