ฟังไอเดียหมอไทยมองอนาคตบริการทางด้านสุขภาพที่จะไม่ได้จำกัดอยู่แค่ภายในโรงพยาบาลอีกต่อไป ระบุไทยยังมีความท้าทายไม่น้อยกว่า 4 ด้านที่ต้องข้ามให้พ้น ด้านสตาร์ทอัปเฮลท์เทคย้ำทุกฝ่ายจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องแค่ภายในโรงพยาบาลหรือเป็นแค่การรักษาอีกต่อไป แต่ควรต้องรวมถึงบริการดูแลสุขภาพ การดูแลเชิงพฤติกรรม ไปจนถึงเรื่องของ Wellness และไลฟ์สไตล์ด้วย
จักร โกศัลยวัตร President Thai HealthTech Association และ CEO PharmaSafe กล่าวในงาน “LINE Hospitality Tech 2021: Next in the new era” ว่าความท้าทายของอุตสาหกรรม HealthTech ไทยคือการก้าวสู่ยุค HealthTech 2.0 โดยจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องแค่ภายในโรงพยาบาลหรือเป็นแค่การรักษาอีกต่อไป แต่ยังรวมถึงการดูแลสุขภาพ การดูแลเชิงพฤติกรรม ไปจนถึงเรื่องของ Wellness และไลฟ์สไตล์ โดยปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ HealthTech ไทยพัฒนาก้าวหน้าต่อไปได้ คือในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ที่หลายภาคส่วนจะต้องร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในการเชื่อมต่อข้อมูลซึ่งกันและกันเป็นในระดับหรือรูปแบบแพลตฟอร์ม ไม่ใช่เป็นโซลูชันแยกย่อยต่างกันไปเหมือนในปัจจุบัน เพื่อสร้างมาตรฐานข้อมูลสุขภาพที่ตรงกันเพื่อให้สามารถใช้งานร่วมกันได้ เพื่อการวินิจฉัย การรักษา รวมถึงการบริหาร พัฒนา HealthTech ในระยะยาวที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม ทั้งในเชิงการออกแบบการรักษา ออกแบบชุดยา รวมไปถึงออกแบบข้อแนะนำด้านสุขภาพให้แต่ละคนได้อย่างตรงจุด
“การจะพัฒนา HealthTech ให้เติบโตก้าวหน้าได้ ต้องอาศัยแรงผลักดันทั้งจากภาครัฐ หน่วยงานกำกับดูแล องค์กรธุรกิจที่มีเทคโนโลยี และโซลูชันต่างๆ มาทำงานร่วมกัน ภายใต้เป้าหมายเดียวกัน เพื่อประหยัดเวลาในเรื่องของการพัฒนา ที่สำคัญคือ HeathTech เป็นอุตสาหกรรมระดับสากล ถ้าไทยยังไม่เริ่มพัฒนาให้แข็งแกร่งอย่างจริงจังจนแข็งแกร่งพอ จนมีผู้เล่นจากต่างประเทศเข้ามาให้บริการแล้วนั้น ไทยก็จะไม่สามารถแข่งขันได้ โดยเฉพาะการเสียอิสระภาพทางด้านข้อมูลสุขภาพของคนไทย”
มุมมองแนวโน้ม HealthTech ไทยนี้ถูกพูดถึงในหัวข้อ “The Rise of HealthTech” ซึ่งเป็นเนื้อหาในงาน ‘LINE Hospitality Tech 2021: Next in the new era ท่องเที่ยว สุขภาพ พลิกฟื้นประเทศไทย’ ที่เน้นว่าเทรนด์และความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ประกอบกับเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยขับเคลื่อน ทำให้ HealthTech กำลังถูกจับตามองต่ออนาคตของบริการด้านการแพทย์และสุขภาพไทยต่อจากนี้ ยิ่งในสภาวะหลังเปิดประเทศ ที่ความปลอดภัยด้านสาธารณสุขจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการท่องเที่ยว
ที่ผ่านมาธุรกิจ HealthTech ในประเทศไทยเกิดขึ้นมาประมาณ 5 ปีแล้ว และภาคสาธารณสุขหลายแห่งเริ่มให้ความสนใจ โดยเฉพาะการที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ สังคมสูงอายุ (Aging Society) ทำให้มองหาโซลูชัน หรือเทคโนโลยีมาช่วยให้บริการ ลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ประกอบกับในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาโควิด-19 ได้เข้ามาเร่งให้ผู้บริโภคเข้าถึงโซลูชันเกี่ยวกับ HealthTech มากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของบริการรักษาทางไกล (Telemedicine) ที่เติบโตแบบก้าวกระโดด
หากมีการปรับสร้างโครงสร้างพื้นฐานในโลก HealhTech ให้เชื่อมต่อกันแล้ว หมอก็จะสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยได้โดยละเอียดจากฐานข้อมูลที่ครอบคลุม ชัดเจน รวมไปถึงระบบการรักษาทางไกล ที่หมอสามารถติดตามอาการคนไข้พร้อมแบบ 24 ชั่วโมงในทุกวันได้ด้วยเทคโนโลยี จึงจำเป็นที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานของระบบสาธารณสุขไทย ให้ทันกับยุคสมัย ที่สุดท้ายข้อมูลสุขภาพต่างๆ ควรจะเชื่อมเข้าหากันอย่างไร้รอยต่อ (Seamless)
เมื่อเป็นเช่นนั้น คนไทยน่าจะได้เห็นเทคโนโลยีต่างๆ ในด้าน Health เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น จนผู้คนแยกไม่ออกว่าคือการรักษาอยู่ อาจจะมีหมอที่รู้ข้อมูลทุกอย่างแต่คนไข้ไม่เคยเจอหมอเลย รวมถึงในอนาคต หมออาจจะมาในรูปแบบของอุปกรณ์เครื่องใช้ที่อยู่ในบ้าน เช่น พรมเช็ดเท้าที่สามารถชั่งน้ำหนักได้ หรือเตียงที่สามารถวัดสัญญาณชีพ ทั้งความดันโลหิต อุณหภูมิ ชีพจน และการหายใจในขณะที่นอนหลับอยู่ เป็นต้น
หมอไทยมอง 4 ความท้าทาย
น.พ.คณพล ภูมิรัตนประพิณ CEO Health at Home ให้มุมมองอีกด้านของความท้าทายคือ 1) การออกข้อกำหนด หรือข้อบังคับของหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งถ้ามีความชัดเจน จะช่วยผลักดันให้ HealhTech เกิดการเติบโต 2) ผู้ประกอบการต้องเข้าใจในหลากหลายด้าน ทั้งในเรื่องศาสตร์การรักษา เรื่องธุรกิจ และเรื่องเทคโนโลยีเพื่อมาขับเคลื่อนสิ่งนี้ให้เดินหน้าไปได้ 3) เงินทุน ทั้งจากภาครัฐ หรือ Venture Capital ที่จะทำให้หน่วยงานเล็กใหญ่ที่เกี่ยวข้องสามารถยืนระยะได้ ถ้ามีองค์ประกอบเหล่านี้ครบ เชื่อว่า HealthTech ในไทยจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง
พญ.พิรญาณ์ ธำรงธีระกุล CEO & Co-Founder CHIIWII กล่าวเสริมถึงอีกหนึ่งปัจจัยความท้าทายคือ การขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขา โดยเฉพาะแพทย์เฉพาะทาง และทีมงานที่มองเห็นเป้าหมายเดียวกัน จนไปถึงความท้าทายในการให้ความรู้ สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ใช้ได้เข้ามาลองใช้เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ เพื่อการรักษาอย่างเต็มตัว โดยพบว่ากลุ่มคนไข้ที่เข้ามาใช้งาน CHIIWII ส่วนใหญ่จะเป็น Early Adopter ในช่วงอายุ 25-35 ปี ที่เลือกใช้บริการส่งอาหารออนไลน์ หรือสั่งซื้อสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซเป็นปกติอยู่แล้ว เพราะมีความคุ้นเคยกับบริการออนไลน์แล้ว จึงนับเป็นพื้นฐานที่ดีในการให้คนไทยมาเริ่มใช้เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพกันอย่างจริงจังมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังพบว่าคนไข้กลับมาใช้บริการซ้ำ โดยเฉพาะช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา มีการเข้าใช้งานเพิ่มมากขึ้น หลังจาก CHIIWII ได้เป็นพันธมิตรกับบริษัทประกัน ทำให้ผู้ใช้สามารถพบหมอ สั่งยา และเคลมประกันผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทันที สร้างความสะดวกให้ลูกค้า และไม่ต้องเสี่ยงกับการติดเชื้อ และเสียเวลาไปโรงพยาบาลด้วย
ในภาพรวม จักร ยังเปิดเผยถึงเทรนด์ของ HealthTech ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นั่นคือการทำ Personalization เพราะผู้ป่วยแต่ละคนล้วนมีปัจจัยแตกต่างกันทางด้านสุขภาพ จากข้อมูลต่างๆ ที่ได้เพิ่มขึ้นจากยุคดิจิทัล การออกแบบการรักษาจึงต้องปรับให้เฉพาะบุคคลมากขึ้น รวมถึงการออกแบบประสบการณ์ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ที่เก็บข้อมูลทางการแพทย์ได้เอง อย่างเซ็นเซอร์หรือสมาร์ทวอทช์ที่จะคอยเก็บข้อมูลสุขภาพ และในอนาคตก็จะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
อีกเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้งานมากขึ้นคือ บรรดา Automation และ Robotics ต่างๆ เพราะเมื่อมีดาต้า มี AI มาช่วยทำงาน การบริหารจัดการข้อมูลเอกสาร การให้คำแนะนำ การจัดยา จะเริ่มเห็นว่าปัจจุบันหลายๆ โรงพยาบาลเริ่มมีการนำมีหุ่นยนต์มาช่วยในการไปจัดส่งเวชภัณฑ์ตามห้องผู้ป่วยแล้ว และในอนาคตก็จะมีความหลากหลายมากขึ้นอีก
สุดท้าย คือเทคโนโลยีสำหรับการคาดการณ์ (Predictive) อย่างการรักษาจาก Genomics หรือข้อมูลพันธุกรรมเฉพาะบุคคล ร่วมกับข้อมูลสุขภาพอื่นๆ ที่กำลังอยู่ในช่วงของการวิจัยและพัฒนา ซึ่งจะกลายเป็นอนาคตของบริการสุขภาพที่สามารถป้องกันได้ก่อนเกิดโรค
“การมีสุขภาพที่ดีไม่ต้องรอป่วยและไปรักษา เพราะถ้ามีการเก็บข้อมูลสุขภาพต่อเนื่องจะสามารถนำไปวิเคราะห์เพื่อออกแบบและวางแผนการดูแลสุขภาพในอนาคตจากเครื่องมือต่างๆ เหล่านี้ได้ทันที ทั้งการพักผ่อน การออกกำลัง การรับประทานอาหาร สิ่งต่างๆ เหล่านี้ถือเป็น HealthTech ทั้งหมด”.