xs
xsm
sm
md
lg

ฤา อีก 10 ปีจะสิ้นคริปโต ควอนตัมคอมพิวเตอร์ถูกสร้างมาเพื่อทำลายเหรียญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กลายเป็นประเด็นชวนขบ ขมวดคิ้วของนักลงทุนคริปโตได้ไม่น้อย เมื่อ ดร.จิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร quantum technology foundation (thailand) ได้โพสต์ถึงมุมมองของพัฒนาการทางเทคโนโลยี Quantum computer ที่จะเข้ามาปฏิวัติเทคโนโลยีในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยรูปแบบของ Quantum Computer จะทำงานด้วยศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีควอนตัมฟิสิกส์ ต่างจากของคอมพิวเตอร์ธรรมดาซึ่งทำงานบนระบบเลขฐานสอง (Binary Digits หรือ Bits) โดยควอนตัมคอมพิวเตอร์นั้นจะใช้ Qubit (Quantum Bit) ซึ่งสามารถประมวลผลแปลแปรผลลัพธ์ของข้อมูลได้หลายสถานะในตำแหน่งเดียวด้วยเวลาที่รวดเร็ว ในขณะที่ Bits ธรรมดาเป็นได้เพียงแค่ 0 หรือ 1 เท่านั้น

อย่างไรก็ดีความแรงของควอนตัมคอมพิวเตอร์จะประเมินจากหน่วย Qubit ของหน่วยประมวลผล ซึ่งเมื่อปี 2019 นั้น Google ได้เปิดตัวหน่วยประมวลผล Sycamore ที่มีกำลังการประมวลผลขนาด 54-Qubit ในตอนนั้นถือว่ามันเป็นหน่วยประมวลผลของควอนตัมคอมพิวเตอร์ที่แรงที่สุดในโลก สามารถแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่คอมพิวเตอร์ธรรมดาทำไม่ได้ในเวลาอันรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น ในการคำนวณหนึ่งที่ควอนตัมคอมพิวเตอร์เครื่องนี้ใช้เวลาคำนวณ 200 วินาที ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ในระบบเลขฐานสองที่แรงที่สุดในโลกจะต้องใช้เวลานานถึง 10,000 ปีเลยทีเดียว (ซึ่งในภายหลังมีประเด็นออกมาว่าสิ่งที่ Google บอกนั้นไม่เป็นความจริง ซูเปอร์คอมพิวเตอร์นี้ใช้เวลาเพียง 2.5 วันเท่านั้น ไม่ได้ใช้เวลา 10,000 ปีอย่างที่กล่าวอ้าง)

โดยล่าสุดเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา คอวนตัมคอมพิวเตอร์จากประเทศจีน ของทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติจีน ได้ประสบความสำเร็จในการะพัฒนาพร้อมทั้งสาธิตประสิทธิภาพของหน่วยประมวลผลควอนตัมที่มีชื่อว่า Zuchongzhi ซึ่งมีกำลังการประมวลผลสูงถึง 66-Qubit เลยทีเดียว และจากข้อมูลการทดสอบระบุว่าหน่วยประมวลผล Zuchongzhi นี้ ใช้เวลาในการคำนวณประมาณ 70 นาที ในขณะที่ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่แรงที่สุดจะต้องใช้เวลานานถึง 8 ปี อีกทั้งยังกล่าวว่าประสิทธิภาพของชิปนั้นรองรับภาระงานได้มากกว่า Google Sycamore ถึง 100 เท่า

อย่างไรก็ตามแม้ว่าควอนตัมคอมพิวเตอร์จะสามารถประมวลผลได้เร็วกว่าคอมพิวเตอร์ทั่วไป แต่ในปัจจุบันยังถูกจำกัดในการใช้งานอยู่เพียงในวงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องการผลิตและการประยุกต์ใช้งานต่าง ๆ ตลอดจนต้นทุนการผลิดที่มีมูลค่าสูง ไม่สะดวกต่อการขนย้ายทำ และใช้พลังงานสูง ตลอดจนต้องมีการกำหนดพื้นที่ควบคุมอุณหภูมิในการใช้งาน เนื่องจากในระหว่างการทำงานนั้นมีอุณหภูมิสูงมาก อย่างไรก็ดี เชื่อว่าในอนาคตมันจะมีประโยชน์อย่างมากในการช่วยประมวลผลทางด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ขั้นสูง เช่นเส้นทางการโคจรของดวงดาว หรือดาวหาง การหาผลลัพธ์ค่าสูตรสมการทางคณิตศาสตร์ หรือสมมุติฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้ ในการที่จะช่วยเผยความลับทางวิทยาศาสตร์ที่มนุษย์รอคอยคำตอบก็เป็นได้

ขณะเดียวกันในส่วนของเหรียญคริปโตซึ่งทุกคนรู้จักกันดีคือ "บิทคอยน์" ทราบกันอยู่แล้วว่า ถูกสร้างขึ้นมาให้มีจำกัดที่จำนวน 21 ล้านเหรียญ เพราะ “ซาโตชิ นากาโมโต (Satoshi Nakamoto)” บุคคลนิรนามซึ่งเป็นผู้สร้างเหรียญบิทคอยน์ ได้ประเมินสถานการณ์ไว้ว่า หากบิทคอยน์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและไม่มีจำกัด อาจทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ และจะทำให้มูลค่าของเหรียญลดลงจนหายไปจากตลาดได้ ดังนั้นการจำกัดจำนวนเหรียญบิทคอยน์จึงเป็นการรักษาสมดุลด้าน อุปสงค์-อุปทาน และมูลค่าของเหรียญไว้ ซึ่งด้วยคุณสมบัติและปริมาณเหรียญที่มีอยู่อย่างจำกัดของบิทคอยน์นี้เอง ทำให้มูลค่าของบิทคอยน์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคตนั่นเอง

โดยปัจจุบัน บิทคอยน์ถูกขุดพบแล้วกว่า 18 ล้านเหรียญ โดยเหลืออีกไม่ถึง 3 ล้านเหรียญเท่านั้น และจากการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์มองว่าเหรียญที่เหลือดังกล่าวจะถูกขุดขึ้นมาครบ 21 ล้านเหรียญ ในปี พ.ศ. 2683 หรืออีก 119 ปีนั่นเอง

แต่ในทางกลับกันของนักลงทุนคริปโต ที่ถกเถียงกันว่า หากใช้การประมวลผลของ Quantum Computer มาแปรผลลัพธ์ของบิทคอยน์ละ จำนวน 3 ล้านเหรียญที่เหลืออยู่ ซึ่งใช้เวลาอีกกว่า 119 ปี ถึงจะขุดครบ......แต่อาจใช้เวลาเพียงไม่นานก็ได้

ขณะที่ ดร.จิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์ ให้มุมมองของ Quantum Computer ที่มีต่ออุตสาหกรรมคริปโตว่า "ควอนตัมคอมพิวเตอร์ถูกสร้างมาเพื่อทำลายเหรียญคริปโต"

พักหลังได้ยินคนพูดคุยเรื่องทำนองนี้บ่อย ผมเชื่อว่าถ้านักฟิสิกส์ควอนตัมได้ยิน หลายคนฟังก็คงจะรู้สึกขัดใจ เพราะสิ่งที่ขับเคลื่อนนักฟิสิกส์ หรือ นักวิทยาศาสตร์ จริง ๆ แล้วคือ ความต้องการที่จะแสวงหาความจริงของธรรมชาติ

ริชาร์ด ไฟแมนต์ นักฟิสิกส์รางวัลโนเบล ชาวอเมริกัน ได้พูดถึงเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 1983 (เกือบสามสิบปี ก่อนที่จะมีบิทคอยน์) ไว้ว่า

"Nature isn't classical, dammit, and if you want to make a simulation of nature, you'd better make it quantum mechanical, and by golly, it's a wonderful problem, because it doesn't look easy."

ยังมีปัญหาอีกมากมายในโลก ที่คอมพิวเตอร์ดิจิทัลแบบเดิมไม่สามารถคำนวนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบตัวยา สารเคมี การทำนายสภาพภูมิอากาศ และการทำ optimization

ผมเชื่อว่านักวิทยาศาสตร์ ส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจที่จะสร้างควอนตัมคอมพิวเตอร์ขึ้นมาเพื่อทำลายเหรียญคริปโต

แต่เผอิญ มันเป็นสัจพจน์ทางคณิตศาสตร์ ไม่ใช่การคาดการณ์ ที่ว่าเมื่อควอนตัมคอมพิวเตอร์สร้างเสร็จสมบูรณ์ 100% ระบบ public-key cryptography ในปัจจุบันเช่น RSA และ ECC จะถูกทำลายลง ซึ่งระบบนี้ถูกใช้อยู่บนระบบของ blockchain ที่เป็นพื้นฐานของเหรียญคริปโตต่าง ๆ

เปรียบได้กับการที่อัจริยะอย่าง สตีฟ จ็อบส์ คงไม่ได้คิดจะสร้าง iphone ขึ้นมาเพื่อทำลายบริษัทอย่าง Kodak แต่ Kodak ถูก disrupt เอง เพราะปรับตัวไม่ทัน

แล้วทำไมต้องสนใจ ณ ตอนนี้?

หนึ่ง ระบบ public-key cryptography ที่เรียกว่า post-quantum cryptography ซึ่งเชื่อว่าสามารถป้องกันการโจมตีของควอนตัมคอมพิวเตอร์ได้ ยังไม่มีมาตรฐาน และในอดีตกว่าที่เราจะสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ให้ระบบ public-key cryptography ที่ใช้ในปัจจุบันได้ ต้องใช้เวลาร่วม 20 ปี

ถ้าองค์กรต่าง ๆ ในประเทศ ไม่เริ่มเตรียมความพร้อมตั้งแต่ตอนนี้ แสดงว่าเรากำลังเอา digital infrastructure ของประเทศไปเสี่ยงอย่างจริงจัง อ้างอิงจากคำประกาศของ National Institute of Standard and Technology (NIST) ประเทศสหรัฐอเมริกา

"If large-scale quantum computers are ever built, they will be able to break many of the public-key cryptosystems currently in use. This would seriously compromise the confidentiality and integrity of digital communications on the Internet and elsewhere."

สอง Global Risk Institute ได้ทำการสำรวจความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านควอนตัมคอมพิวเตอร์ทั่วโลก พบว่า 20% เห็นว่ามีโอกาสมากกว่า 50% ที่ควอนตัมคอมพิวเตอร์จะสามารถทำลายระบบ RSA ได้ภายในเวลา 10 ปี

สาม ถ้าเราย้อนกลับมามองประเทศไทย มีองค์กรไหนในไทยที่ตอนนี้ มีความเข้าใจเชิงลึก ว่าควอนตัมคอมพิวเตอร์ทำงานอย่างไร ตอนนี้พัฒนาถึงไหนแล้ว ในอนาคตจะสามารถโจมตีระบบความปลอดภัยตรงจุดไหนบ้าง แล้วจะต้องป้องกันอย่างไร

อนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน แต่สิ่งที่แน่นอนคือ อะไรที่ปรับตัวไม่ทัน ก็จะสูญหายไปตามวิวัฒนาการของธรรมชาติ!

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีแนวคิดต่อ ควอนตัมคอมพิวเตอร์ ต่ออุตสาหกรรมคริปโต แต่เชื่อว่าในอนาคตคริปโตจะเป็นหนึ่งในการพัฒนาด้านสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความก้าวหน้า ทันสมัย ปลอดภัยมากขึ้น ตามพัฒนาการของเทคโนโลยีด้านเศรษฐศาสตร์และการเงิน ที่ไม่หยุดนิ่ง




กำลังโหลดความคิดเห็น