เอคเซนเชอร์ เปิดศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงในประเทศไทย (Advanced Technology Center Thailand: ATCT) อย่างเป็นทางการ ย้ำจะเน้นพัฒนาทั้งเทคโนโลยีปัจจุบันที่มาแรงแล้วอย่างคลาวด์ และแอดวานซ์เทคทั้ง 5G, IoT และ Blockchain เพื่อสร้างการเติบโตในไทยและอาเซียน ระบุทุกเทคโนโลยีเป็นพื้นฐานสู่เมตาเวิร์สได้ ทำให้การลงทุนของศูนย์นี้เข้าข่ายเกี่ยวกับการสร้างฐานและการทำงานร่วมกันในการตีความเมตาเวิร์สของแต่ละธุรกิจ
นายดิวีเยช วิทลานี่ กรรมการผู้จัดการใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเอคเซนเชอร์กล่าวถึงการก่อตั้งศูนย์ ATCT ว่าเป็นส่วนหนึ่งของแผนการให้บริการและการสร้างคุณค่าของเอคเซนเชอร์ในแบบ 360 องศาแก่ทั้งลูกค้า ผู้ถือหุ้น พันธมิตร และชุมชนทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะช่วยให้ลูกค้าปรับสเกลของธุรกิจให้สอดคล้องกับโอกาสในตลาด ขณะเดียวกันก็เพิ่มทักษะในสายเทคโนโลยีที่สำคัญและความเชี่ยวชาญเชิงธุรกิจเฉพาะด้านให้กับบุคลากรของบริษัทอีกด้วย
“ทางเรามีความเชื่อมั่นว่าศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงในประเทศไทยนี้จะช่วยลูกค้าและองค์กรต่างๆ ให้ปรับเปลี่ยนการทำงานด้านดิจิทัลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจ เพิ่มความคล่องตัวให้ทันกับโอกาสและการสร้างรายได้ใหม่ๆ ที่เข้ามาได้อย่างทันท่วงที”
ในขณะที่ไม่เปิดเผยมูลค่าการลงทุน เอคเซนเชอร์ชี้ว่าการเปิด “ศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงในประเทศไทยจะเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการให้บริการและสนับสนุนด้านนวัตกรรมของเอคเซนเชอร์ที่มีทั้งหมด 50 ศูนย์ทั่วโลก โดยก่อนหน้าประเทศไทย ศูนย์ลักษณะมีการจัดตั้งแล้วในประเทศมาเลเซีย เป็นศูนย์ที่เน้นการให้บริการด้านอินเทอร์แอคทีฟและปัญญาประดิษฐ์ ขณะที่ศูนย์บริการด้านนวัตกรรมเกี่ยวกับคลาวด์เทคโนโลยีมีการจัดตั้งที่อินโดนีเซีย
การตั้งศูนย์ในประเทศไทยยังเป็นผลจากปัจจัยบวกเรื่องไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพและจุดเด่นหลายด้าน ทั้งความพร้อมในการลงทุนดิจิทัลที่เชื่อว่าจะเติบโตกว่า 10% ในปี 2022 ประเทศไทยยังมีการสนับสนุนเรื่องการลงทุนธุรกิจดิจิทัล ทำให้เป็นประเทศที่มีความพร้อมบนตลาดรวมที่โตดเด่น เห็นได้จากธุรกิจของบริษัทที่เติบโตรวดเร็วจากเริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2521 ก็สามารถขยายฐานรวดเร็วจนมีลูกค้าทั้งกลุ่มธนาคาร สินค้าสำหรับผู้บริโภค สุขภาพ และโทรคมนาคม ขณะเดียวกัน บริษัทยังเชื่อมั่นในศักยภาพบุคลากรทั่วประเทศ ว่ามีความสามารถได้มาตรฐาน มีโอกาสนำความรู้มาสร้างทักษะใหม่ในไทยต่อไปได้
“การเติบโตของตลาดอาเซียนเห็นได้ชัดจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง การสำรวจพบว่าลูกค้าจะไม่ซื้อถ้าพบประสบการณ์ไม่ดีเพียงครั้งเดียว ธุรกิจจึงต้องเร่งตื่นตัวและปรับให้อยู่รอดในยุคดิจิทัลอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ศูนย์นี้จะรับมือการเปลี่ยนแปลง และความท้าทาย ทำให้ทุกอย่างทำได้ดีขึ้น”
นางสาวนิธินันท์ สมบูรณ์วิทย์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยี เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กล่าวว่าเทรนด์ในตลาดไทยและทั่วโลกจะตอบได้ด้วยศูนย์นี้ โดยจากการทำสำรวจผู้บริหารไทยและทั่วโลกเร่ืองการนำเอาเทคโนมาใช้ในธุรกิจช่วง 5 ปีข้างหน้า พบว่าผู้บริหารเตรียมทำระบบอัตโนมัติมากขึ้น เท่ากับเทคโนโลยีจะมีบทบาทมากขึ้นในชีวิตผู้คน ธุรกิจจึงต้องมีการนำเทคโนโลยีมาใช้แบบมีความรับผิดชอบมากขึ้น ทั้งหมดชัดเจนว่าจะมีความต้องการเรื่องซีเคียวริตี้มากขึ้นเช่นกัน ทำให้ศูนย์ไทยจะให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีด้านซีเคียวริตี้ด้วย
“ในภาพรวม ศูนย์นี้เป็นการขยายเครือข่ายเข้ามาตั้งในไทย เราตั้งเป้าจะขยายฐานเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จะดันบุคลากรให้มีความรู้ใหม่ รองรับลูกค้าในไทยและอาเซียน สามารถทำโปรเจ็คขนาดใหญ่ทั่วภูมิภาคได้ชัดขึ้น คาดว่าจะพัฒนาบุคลากรด้วยศูนย์นี้ได้ 1,000 คนในปี 2024 จะให้โอกาสบุคลากรได้มากขึ้น”
เทคโนโลยีที่โฟกัสในศูนย์คือคลาวด์อินฟราสตรัคเจอร์และปัญญาประดิษฐ์ สามารถนำเทคโนโลยีจากศูนย์อื่นเข้ามาปรับใช้ได้เลยไม่ต้องเริ่มใหม่ทั้งหมด ถือเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาอย่างจริงจังมูลค่าหลายล้านเหรียญสหรัฐต่อปีของบริษัท
สำหรับการวางแผนเติบโตในช่วงแรกของศูนย์นี้ จะเริ่มต้นจากแนวโน้มตลาดไทยและอาเซียนที่เห็นการปรับตัวเพื่อใช้คลาวด์คอมพิวติ้ง และเน้นการทำแอปพลิเคชันบนคลาวด์ของธุรกิจ อีกด้านคือด้านการรักษาความปลอดภัย รวมถึงการนำปัญญาประิษฐ์มาใช้ในการทำงานต่างๆ และการทำโครงสร้างพื้นฐานบนคลาวด์ ซึ่งในปีถัดมาจะมีการประเมินต่อเพื่อหาแนวโน้มในอนาคตต่อไป
อีกส่วนที่บริษัทจะลงทุนในศูนย์ไทยคือแอดวานซ์เทค หรือเทคโนโลยีล้ำสมัยที่เห็นโอกาสเติบโตในภูมิภาคทั้ง 5G, บล็อกเชน, ไอโอที ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ใช่เพื่อเพิ่มยอดขาย แต่เพื่อการปรับโมเดลธุรกิจและการบริหารจัดการทรัพย์สินดิจิทัล
“ทิศทางของตลาดอาเซียนดีมาก ลูกค้าเน้นการสร้างประสบการณ์ การวิเคราะห์ดาต้าและ AI จะเป็นเรื่องจำเป็นและขยายตัวรวดเร็วมาก ความท้าทายคือธุรกิจอาจกังวลว่าจะปรับให้เร็วและทันได้อย่างไร จุดเริ่มต้นจะต้องมองให้เห็นว่าการปรับเข้าดิจิทัลนั้นเลี่ยงไม่ได้ เป็นเรื่องจำเป็น เมื่อเริ่มมองเห็นจุดนี้ได้ ก็จะรู้เองว่าต้องลงมือทำ”
ที่สุดแล้ว เทคโนโลยีเหล่านี้จะเป็นรากฐานไปสู่เมตาเวิร์ส หรือโลกเสมือนจริงที่ทุกคนจะใช้ชีวิตควบคู่ขนานไปกับโลกจริงแบบไม่มีหน้าจอกั้น ซึ่งแม้จะยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาแนวคิด แต่เอคเซนเจอร์เชื่อว่าในเมตาเวิร์สจะต้องมีเทคโนโลยีพื้นฐานเช่น การประมวลผลแบบกระจายศูนย์ และยังต้องมี Blockchain รวมถึงระบบสกุลเงินดิจิทัล และระบบการยืนยันตัวดิจิทัลที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว ทำให้สรุปได้ว่าแอคเซนเจอร์มีฐานสู่เมตาเวิร์ส และจะทำงานร่วมกับลูกค้าเพื่อไปสู่เมตาเวิร์สเช่นเดียวกับหลายองค์กร
“หากแยกย่อยเมตาเวิร์สออกมา ก็จะเห็นว่ามีหลายเทคโนโลยีประกอบกัน เรียกว่ามีทุกอย่างที่นำเข้ามาในศูนย์นี้ ซึ่งความเชี่ยวชาญจากศูนย์อื่น เช่นเรื่องตัวตนดิจิทัล ก็จะนำเข้ามาจับได้ แม้เรื่อง Extended reality เรายังมีไม่มากแต่ก็อยู่ในแผนจะทำในอนาคต เราจะทำงานร่วมกับลูกค้าเพื่อนำแนวทางนี้มาปรับให้เข้ากับธุรกิจ การลงทุนของศูนย์นี้จะเกี่ยวกับการสร้างฐานสู่เมตาเวิร์สแน่นอน และจะทำงานร่วมกันในการตีความสิ่งเหล่านั้นออกมา”
เมตาเวิร์ส (Metaverse) ถูกอธิบายว่าจะเป็นยุคต่อไปของการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะมอบประสบการณ์การใช้โซเชียลมีเดียบนโลกออนไลน์ในปัจจุบันในรูปแบบไฮบริด โดยจะเป็นการขยายประสบการณ์สู่รูปแบบสามมิติ หรือมีการแสดงภาพสู่โลกแห่งความจริง สิ่งนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถแชร์ประสบการณ์โลกเสมือนจริงแก่ผู้อื่นได้แม้ในขณะที่พวกเขาไม่ได้อยู่ด้วยกัน รวมถึงทำกิจกรรมที่ไม่สามารถทำร่วมกันในโลกความจริงได้อีกด้วย
ทั้งนี้ ศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงในประเทศไทย มีกำหนดเปิดทำการอย่างเต็มรูปแบบภายในเดือนพฤศจิกายน 2564.