ส่องแผนปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจค้าปลีกเครือซี.พี. ภาพรวมระยะสั้นสร้างผลกระทบทั้ง CPALL และ MAKRO แต่ระยะยาวช่วยเพิ่มศักยภาพธุรกิจ ขณะที่ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาราคาหุ้นตอบรับไปแล้วในระดับหนึ่ง ส่วน CPF แม้สภาพคล่องดีขึ้น แต่ธุรกิจหลักยังมีอีกหลายปัจจัยที่กดดัน
นับเป็นเวลาจะร่วม 2 เดือนแล้ว ตั้งแต่การประกาศการจัดทัพธุรกิจค้าปลีกใหม่ของเครือ ซี.พี. ผ่านการปรับโครงสร้างธุรกิจ ซึ่งได้รับการจับตามมองจากนักลงทุนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะธุรกรรมการโอนกิจการทั้งหมดของ บริษัท ซี.พี.รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด (CPRH) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น 99.99% ในบริษัท โลตัสส์ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และ Lotuss Stores (Malaysia) Sdn. Bhd. ให้กับ บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) หลัง คณะกรรมการของ บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) และ คณะกรรมการ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ได้ออกประกาศมติเห็นชอบในการโอนกิจการทั้งหมดที่ดำเนินธุรกิจค้าปลีก Lotus’s Stores ในประเทศไทยและมาเลเซีย ของบริษัท ซี.พี.รีเทล โฮลดิ้ง ให้กับ MAKRO เป็นผู้กุมอำนาจสูงสุด
โดยธุรกรรมการโอนกิจการดังกล่าว MAKRO จะออกและจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 5,010 ล้านหุ้น ในราคาเสนอขาย 43.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2.17 แสนล้านบาท ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ CPRH ตามสัดส่วนการถือหุ้น และจากนั้นจะดำเนินการจดทะเบียนเลิกบริษัท จากปัจจุบัน CPRH มีผู้ถือหุ้นจำนวน 3 ราย ได้แก่ CPALL สัดส่วน 40% ถัดมาคือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (CPH) ในสัดส่วนเดียวกัน 40% และบริษัท ซี.พี.เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด (CPM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ CPF ถือหุ้น 99.99% ถือหุ้นในสัดส่วน 20%
ไม่เพียงเท่านี้ เพราะ การปรับโครงสร้างการถือหุ้นครั้งนี้ จะเป็นการรวมธุรกิจค้าปลีกภายใต้กลุ่มซี.พี. อีกทั้ง CPALL จะลดสัดส่วนการลงทุนใน MAKRO ลดลงจากเดิม 93% เหลือ 66% อย่างไรก็ตาม CPALL จะต้องรวมรายการสินทรัพย์/หนี้สิน และกระแสเงินสดจากธุรกิจ Lotus’s Store เข้ามาในงบการเงินขอบริษัทผ่านทางการรวมงบการเงินของ MAKRO ซึ่งจะส่งผลให้ CPALL มีขนาดงบดุลที่ใหญ่ขึ้น รวมถึงภาระหนี้ที่เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนกระแสเงินสดที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน
แต่ในเรื่องดังกล่าวมีการประเมินว่า อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของ CPALL ภายหลังจากการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งนี้ จะยังไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ CPF การปรับโครงสร้างการถือหุ้นครั้งนี้จะส่งผลให้จากเดิมที่ถือหุ้น 20% ใน CPRH จะเหลือเพียง 10% ใน MAKRO และจะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสถานะการเงินของบริษัทเช่นกัน
สถานการณ์ดังกล่าว หลายฝ่ายมองว่านอกจาก เป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อให้เกิดความคล่องตัวแล้ว ยังเป็นการแก้ปัญหาเรื่องการกระจายการถือหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นรายย่อย (ฟรีโฟลท) ตามกฎของตลาดหลักทรัพย์ให้มากขึ้น ซึ่งหากการระดมทุนและเสนอขายหุ้นดังกล่าวประสบความสำเร็จ และนำเงินที่ได้จากการระดมทุนมาลดภาระหนี้สินของ CPALL และ CPF แล้ว อาจจะส่งผลเชิงบวกต่อสถานะการเงินของทั้งสองบริษัทมากขึ้น
ส่วนเหตุผลของการปรับโครงสร้างทางธุรกิจค้าปลีกของเครือ ซี.พี.ในครั้งนี้ “ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ MAKRO แสดงความเห็นเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า เครือ ซี.พี.ตั้งเป้าขยายร้านค้าปลีกและร้านค้าส่งของเครือให้ได้อย่างรวดเร็วทั่วภูมิภาค ซึ่งรวมถึงสาขาของสยามแม็คโคร และศูนย์ค้าปลีกค้าส่งรูปแบบอื่น ๆ ในเครือ จากปัจจุบันมีธุรกิจค้าปลีก และค้าส่งในประเทศจีน มาเลเซีย อินเดีย กัมพูชา เมียนมา ภายใต้แบรนด์ และรูปแบบร้านค้าที่หลากหลาย รวมประมาณ 337 แห่ง เพราะมองว่าธุรกิจค้าปลีกเป็นโอกาสสำคัญของไทยบนเวทีระดับโลก และสามารถประสบความสำเร็จบนเวทีโลกได้
ดังนั้น เพื่อที่จะประสบความสำเร็จบนเวทีโลกที่ซับซ้อน เครือซี.พี.จำเป็นต้องตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว เพราะจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ และยังมีประโยชน์อื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจสยามแม็คโคร ได้ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของประชาชนทั่วไปเป็น 2 เท่า จาก 7% จะเพิ่มเป็นมากกว่า 15% ขณะที่การถือหุ้นของเครือ ซี.พี.จะลดลงจาก 93% เหลือประมาณ 85%
นอกจากนี้ การจัดโครงสร้างใหม่ของธุรกิจค้าปลีกที่เกิดขึ้น จะช่วยสนับสนุนกลยุทธ์ “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” ที่เครือ ซี.พี.เพิ่งประกาศไปก่อนหน้านี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมความสามารถการแข่งขันของประเทศไทยในระบบเศรษฐกิจโลกยุคหลังวิกฤตโควิด – 19 ผ่าน มีการขยายช่องทางค้าปลีกในตลาดโลกให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลผลิตทางการเกษตร และอาหารสดที่จะช่วยสานฝันการเป็น “ครัวของโลก” (kitchen of the world)ของกลุ่ม อีกทั้งการที่ MAKRO เป็นเจ้าของโลตัส 100% จะยิ่งเป็นการเพิ่มอำนาจเหนือตลาด เพราะเครือซี.พี.มีธุรกิจต้นน้ำยันปลายน้ำทำให้ได้เปรียบและช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน โดยเฉพาะในการรุกตลาดอาเซียน โดยคาดว่าภายใน 5 ปี กลุ่มซี.พี.มีโอกาสครองตลาดเอเชียได้ไม่ยาก
ขณะที่การโอนกิจการครั้งสำคัญนี้ จะช่วยเพิ่มความคล่องตัวในเรื่องตัวเลขหนี้ของกลุ่ม ที่ใกล้เต็มเพดานแล้วให้กลับมาคล่องตัวอีกครั้ง เพราะ MAKRO นั้นมีตัวเลขหนี้น้อยที่สุด ดังนั้นการเข้ามารับภาระโลตัส จะทำให้มีช่องในการกู้ยืมเงินและเพดานหนี้ของบริษัทอย่าง CPALL CPF รวมถึง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) สะดวกมากขึ้นจากเดิมที่เคยติดขัดในการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน
ล่าสุด นับตั้งแต่มีการประกาศจัดทัพ หรือปรับโครงสร้างธุรกิจค้าปลีกของเครือ ซี.พี. พบว่าราคาหุ้นของทั้ง 3บริษัทค้าปลีกของกลุ่มที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการเคลื่อนไหวที่สอดรับกับเหตุการณ์ดังกล่าว เริ่มที่ CPALL พบว่าในรอบ1 ปี (29ต.ค.63 - 29ต.ค.64) ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้ว 17.97% อยู่ที่ 64.00 บาทต่อหุ้น จากช่วงเดียวกันปีก่อน อยู่ที่ระดับ 54.25 บาทต่อหุ้น ขณะที่ในรอบ 3 เดือน (ส.ค. - ต.ค.64) ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่ม 7.11% จากระดับ 57.00 บาทในช่วงต้นเดือนสิงหาคม ขยับขึ้นมาถึง 65.00 บาทต่อหุ้นในช่วงต้นเดือนกันยายน ก่อนอ่อนตัวลงเล็กน้อย แต่จากนั้นรีบาวนด์ขึ้นไปถึง 65.25 บาทต่อหุ้น (15ต.ค.) และอ่อนตัวลงมาที่ระดับ 64.00 บาทต่อหุ้นในปัจจุบัน
ขณะที่ CPF ในรอบ 1 ปี พบว่าราคาหุ้นยังอยู่ในทิศทางขาลง โดยติดลบ 0.98% จากระดับสูงสุดที่ทำได้จากระดับ 30.75 บาทต่อหุ้น เมื่อต้นเดือนมีนาคม มาอยู่ที่ระดับ 25.25 บาทต่อหุ้นในเดือนกรกฎาคม และในช่วงมีการประกาศจัดทัพธุรกิจค้าปลีกของกลุ่มใหม่ ราคาหุ้นรีบาวนด์ขึ้นเล็กน้อย มาเคลื่อนไหวอยู่ที่ 26.00 - 27.00 บาทต่อหุ้น อย่างไรก็ตามจากนั้นราคาหุ้น CPF ได้อ่อนตัวลงอีกครั้งมาอยู่ที่ 25.25 บาทต่อหุ้น (29ต.ค.) ส่วนการเคลื่อนไหวในรอบ 3 เดือนล่าสุด พบว่านับตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนซึ่งราคาอยู่ที่ระดับ 27.00 บาทต่อหุ้น จากนั้นราคาหุ้นลดลงต่อเนื่อง จนกลับมาเคลื่อนไหวที่ระดับ 25.25 บาทต่อหุ้นอีกครั้ง
ส่วน MAKRO ภาพรวมในช่วง 1 ปี ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้ว 19.25% โดยสามารถสร้างจุดสูงสุดที่ระดับ 56.25 บาทต่อหุ้น ในช่วงเดือนกันยายนหรือภายหลังมีการประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจ และทำให้บริษัทกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในโลตัส อย่างไรก็ตาม จากนั้นราคาหุ้นย่อตัวลงมาเคลื่อนไหวที่ระดับ 48.00 บาทต่อหุ้นในปัจจุบัน ขณะที่ภาพรวมในช่วง 3 เดือนล่าสุด ราคาหุ้น MAKRO ปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้ว 29.73%
CPF ได้แรงหนุนจากการขายหุ้น MAKRO
สำหรับทิศทางธุรกิจของแต่ละบริษัทต่อจากนี้ มีการประเมินว่ากำลังอยู่ในช่วงการฟื้นตัว หลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ล่าสุด CPF ถูกประเมินภาพรวมธุรกิจว่า บริษัทจะรายงานกำไรไตรมาส3/64 ที่ 3.47 พันล้านบาท ลดลง 54% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และลดลง 27% จากไตรมาสก่อน เพราะผลกระทบที่ยืดเยื้อจากการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า จนส่งผลให้การบริโภคลดลงทั่วทั้งภูมิภาค อีกทั้งราคาสุกรจากจีนที่ต่ำจนกดดันให้เกิดอุปทานล้นตลาด
ขณะเดียวกันคาดว่า รายได้ไตรมาส3/64 ของ CPF จะลดลง 25% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพราะได้รับผลกระทบจากการนำธุรกิจ Feed and Farm ในประเทศจีนภายใต้ CTIออกจากกลุ่ม) และ 9% จากไตรมาสก่อน จากการบริโภคที่ลดลงสะท้อนโดยราคาสุกรไทยที่ลดลงแล้ว- 14% รวมถึงกได้รับผลกระทบจากธุรกิจในหน่วยภูมิภาคเนื่องจากการระบาดที่แพร่กระจายไปทั่วภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายคาดว่า ใน ไตรมาสล่าสุด บริษัทได้มีการดำเนินงานสำคัญหลายอย่าง เช่นการเข้าซื้อกิจการสุกรในรัสเซีย การโอนและการจำหน่ายหุ้น MAKRO , การลงทุนในธุรกิจอาหารทะเล และ plant-based ในโปแลนด์ , การซื้อหุ้นคืน และ การ privatization CPP (ใช้เวลา 3-4 เดือน) ซึ่งจะมีผลต่อศักยภาพการเติบโตในระยะยาวทำให้มีราคาเหมาะสมที่ระดับ 40.00 บาทต่อหุ้น ถือว่ามีอัพไซด์อยู่สูงมากจากราคาหุ้นในปัจจุบัน
โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก ราคาสัตว์บกในไทยและต่างประเทศ อาจฟื้นตัวในไตรมาสสุดท้าย หลังจากสถานการณ์การระบาดของโรคเริ่มดีขึ้น แต่จะยังไม่กลับมาดีเหมือนในช่วงต้นปี อย่างไรก็ตามในด้านต้นทุนอาหารสัตว์ อาจได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ และการเก็งราคาวัตถุดิบ ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้นจนอาจกดดันกำไรปกติในไตรมาสนี้ จนไม่สามารถฟื้นตัว แต่เชื่อว่าบริษัทจะบันทึกกำไรพิเศษจากการขายหุ้น MAKRO ในการทำ PO เข้ามาช่วยหนุนได้บ้าง เพราะหากนำเงินไปลดหนี้ คาดว่าจะช่วยลดดอกเบี้ยจ่ายส่งผลบวกต่อกำไรอีกราว 1-2% โดยยังคงแนะนำ "ซื้อ" หุ้น CPF ให้ราคาเป้าหมายที่ 33.00 บาทต่อหุ้น
CPALL กระทบแค่ช่วงเวลาตั้งไข่
ส่วน CPALL ถูกประเมินว่า แผนการควบรวมโลตัสผ่าน MAKRO คาดว่าการโอนกิจการทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน ต.ค. และจะเริ่มกระบวนการ PO ช่วงสิ้นปี 2564 ถึงต้นปี 2565 โดยคาดว่าคาดว่าการเติบโตด้านกำไรของ CPALL จะแผ่วลงในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ หรือชะลอตัวลงใน 2-3 ปีข้างหน้า แต่ยังจะคุมงบดุลได้อยู่ หลังจากธุรกรรมข้างต้นแล้วเสร็จ CPALL จะยังมีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ MAKRO ด้วยสัดส่วนการถือครองหุ้น 51-55% ทำให้ CPALL ยังสามารถรวมงบการเงินของ MAKRO เข้ามาเช่นเดิม
สำหรับในแง่ของกำไรบนงบรวมคาดว่า รายได้ของ CPALL ในปี 2565 เติบโต 40% ขณะที่อัตราการเต็บโตของกำไรชะลอลงเหลือ 35% จากเดิมที่ 41% จากผลการดำเนินงานที่อ่อนแอลงจากโลตัสในช่วงการเปลี่ยนผ่านนี้ แต่ มีทัศนเชิงบวกต่อประโยชน์ร่วมที่อาจเกิดขึ้นระหว่าง MAKRO และโลตัสจากการร่วมแชร์ฐานลูกค้า แพลตฟอร์ม O2O และหน่วยธุรกิจในต่างประเทศ โดยการคำนวณเบื้องต้น คาดว่า CPALL จะได้รับเงินสดจากการขายหุ้นใน MAKRO จำนวน 2-3 หมื่นล้านบาท และจะใช้ไปกับการชำระหนี้
นอกจากนี้ CPALL ยังได้รับโอกาสที่จะสร้างประโยชน์ร่วมกันในรูปด้านฐานลูกค้า (B2B และB2C) โอกาสในการก้าวสู่ผู้เล่นระดับภูมิภาค ความประหยัด ต่อขนาดบนแพลตฟอร์ม O2O และการปฏิรูปธุรกิจผ่านระบบจิทัล ที่จะช่วยสร้างมูลค่าส่วนเพิ่มในระยะกลางถึงยาว โดยมีราคาเหมาะสมที่ระดับ 67.00 บาทต่อหุ้น
ดังนั้นการปรับโครงสร้างธุรกิจรีเทลของกลุ่ม CPALL ค่อนข้างเหมาะสมและมีผลเชิงบวกในระยะกลางและระยะยาว อีกทั้งยังเป็นโอกาสที่ดีของ MAKRO ที่จะปลดล็อกเรื่องฟรีโฟลทต่ำได้ทำให้เป็นหุ้นที่น่าสนใจมากขึ้นและเมื่อคาร์เร็คเคอร์ของกลุ่มชัดเจนแล้ว ระยะถัดไปมีโอกาสที่จะเกิดดีลใหม่นอกกลุ่มได้เช่นกัน
MAKRO รอเวลาสยายปีก
ในส่วนของ MAKRO นั้น จากเดิมที่ไม่ค่อยมีบทบาทในตลาด เพราะฟรีโฟลทน้อย แต่หลังจากนี้ เมื่อมีการขาย PO เรียบร้อย ฟรีโฟลทที่เพิ่มขึ้นจะจะทำให้ MAKRO คึกคักมีการให้มูลค่าเพิ่ม สามารถเข้าสู่ SET50 ทำให้มีบทบาทมากขึ้นจนมีนักลงทุนเข้ามาถือหุ้นมากขึ้น เพราะดีลในครั้งนี้ส่งผลดีต่อ MAKRO มากที่สุด โดยจะขึ้นแท่นเป็นผู้นำทั้งธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งของประเทศ และภูมิภาค ด้วยยอดขายแต่ละปีกว่า 4.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากปี 2563 ที่ 2.2 แสนล้านบาท และ EBITDA รวมรายได้อื่นเป็น 3.47 หมื่นล้านบาท เทียบกับปี 2563 อยู่ที่ 1.25 หมื่นล้านบาท แม้ประเมินช่วง 1-2 ปีแรก กำไรส่วนเพิ่มจากการเข้าถือหุ้นกิจการโลตัสอาจยังไม่ชดเชย Dilution Effect ที่จะเกิดจากการเพิ่มทุนครั้งนี้ 57% ได้ทั้งหมด แต่ด้วย Synergy ที่จะเกิดขึ้นจากอำนาจการต่อรองที่สูงขึ้น และการต่อยอด ธุรกิจร่วมกัน
นอกจากนี้การที่ MAKRO มีฟรีโฟลทเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 15 % จากเดิมที่ 6% รวมถึงจากการเพิ่มทุนจะทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป)ของบริษัทเพิ่มขึ้น เป็น 4.1 แสนล้านบาท จาก 2 แสนล้านบาท และหลังเสนอขาย PO เพิ่มเป็น 4.8 แสนล้านบาท ทำให้สามารถเข้าคำนวณดัชนีทุกดัชนีทั้งของตลาดหลักทรัพย์และดัชนีประเทศ เช่น MSCI ฟุตซี่ ในอนาคต นั่นจะทำให้นักลงทุนสถาบันและต่างประเทศ เข้ามาลงทุนใน MAKRO และการเพิ่มทุน PO คาดจะได้เงินเพิ่ม 5-6 หมื่นล้านบาท ใช้ในการดำเนินธุรกิจ และการรวมกิจการยังทำให้เกิด Synergy ร่วมกัน ขณะที่ CPALL ได้ประโยชน์จากการลดภาระการให้การสนับสนุนด้านเงินทุน กับโลตัสในการขยายธุรกิจ
โดย คาดว่าไตรมาส3/64 กำไรของบริษัทเติบโตจากช่วงเดียวกันปีก่อน ด้วยปัจจัยหนุนจากยอดขายในแต่ละสาขาเพิ่มขึ้น แม้มีการล็อคดาวน์ในช่วงจำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้น ขณะที่ผู้ค้าปลีกรายอื่นมียอดขายแต่ละสาขาติดลบ และการประหยัด SG&A -3% ช่วยลดผลกระทบจากอัตรากำไรขั้นต้นที่ลดลง ทำให้อัตรา EBITDA ทรงตัวที่ 4.0%
ดังนั้นหลังรวมผลประกอบการ Lotus’s, เงินเพิ่มทุน 6.13หมื่นล้านบาท PO ที่ 45 บาท (ภายใน 4Q21), และผลของการไดลูทจากจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้นเป็น 11หมื่นหุ้นจาก 4.8พันหุ้น จึงปรับราคาเป้าหมาย MAKRO เป็น 52.00 บาทต่อหุ้น โดยมีอัพไซด์ที่จำกัด
สรุปได้ว่า แม้ในระยะสั้นการปรับโครงสร้างธุรกิจค้าปลีกของเครือ ซี.พี. จะสร้างแรงกดดันต่อราคาหุ้น CPALL และ MAKRO แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าจะเกิดขึ้นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่เมื่อการผ่อนคลายล็อกดาวน์ของรัฐบาลเกิดขึ้น และการดำเนินธุรกิจกลับมาสู่ภาวะปกติการเติบโตในตัวเลขผลดำเนินงานของทั้ง 2 บริษัทจะกลับมามีความน่าสนใจและผลักดันให้ราคาหุ้นไปต่อได้ ขณะที่ CPF ด้วยสัดส่วนที่ถือหุ้นใน MAKRO น้อยลง แม้จะได้เงินจากการจำหน่ายหุ้นบางส่วนช่วยลดภาระหนี้ แต่ธุรกิจหลักยังมีอีกหลายปัจจัยที่กดดัน ทำให้จำเป็นต้องรอคอยให้สถานการณ์ต่าง ๆ ดีขึ้นก่อน