กลุ่มทรู รายงานผลการดำเนินงาน มีรายได้รวมจำนวน 33,797 ล้านบาทและรายได้จากการให้บริการจำนวน 26,648 ล้านบาทในไตรมาสสองของปี 2564 หนุนโดยฐานผู้ใช้บริการที่เติบโตต่อเนื่องทั้งธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ บรอดแบนด์และดิจิทัล ขณะที่รายได้จากทรูวิชั่นส์ปรับลดลงจากผลกระทบของเศรษฐกิจและ COVID-19 ทรูมูฟ เอช ยังเติบโตได้สูงกว่าอุตสาหกรรม มีรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 จากไตรมาสก่อนหน้า เทียบกับภาพรวมอุตสาหกรรมที่ทิศทางของรายได้ทรงตัวถึงลดลงหากไม่รวมทรูมูฟ เอช (ลดลงร้อยละ 0.3 จากไตรมาสก่อนและร้อยละ 1.8 จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อน) นอกจากนี้ การมุ่งเน้นบริหารต้นทุนและเพิ่ม productivity อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานรวมลดลงร้อยละ 11 จากไตรมาสก่อนและร้อยละ 8 จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อน ผลักดันให้ EBITDA เติบโตร้อยละ 4.5 จากไตรมาสก่อนและร้อยละ 12.5 จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อนเป็น 14,687 ล้านบาท และกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษี (EBIT) เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 จากไตรมาสก่อนและร้อยละ 35.4 จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อนเป็น 3,620 ล้านบาทในไตรมาส 2 ปี 2564
ทั้งนี้ จุดแข็งของกลุ่มทรูด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและโทรคมนาคมคุณภาพสูงอย่าง 5G, NB-IoT, คลาวด์ และ FTTx รวมถึงคอนเทนต์ยอดนิยมและสื่อดิจิทัลที่ครบครันจาก TrueID ภายใต้ True Digital Group ซึ่งเป็น Super App รองรับทุกความต้องการของผู้ใช้งาน ทำให้สามารถขยายฐานลูกค้าและสร้างรายได้ให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดเสมอมา โดยเติบโตร้อยละ 77 จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อน และร้อยละ 15 จากไตรมาสก่อน พร้อมด้วยบริการสตรีมมิ่งพรีเมียมคอนเทนต์จาก TrueVisions NOW ตลอดจนการขยายความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่แข็งแกร่งและมีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยหนุนให้กลุ่มทรูเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนในยุคใหม่ที่การใช้งานดิจิทัลเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม้ในสถานการณ์ COVID-19 ที่เป็นช่วงเวลาท้าทายนี้ ก็ยังมีหลายปัจจัยพื้นฐานสำคัญของกลุ่มทรูที่เป็นโอกาสให้กลุ่มทรูสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในทุกกระบวนการเพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้า ทำให้เพิ่มความพึงพอใจและสามารถขยายฐานลูกค้าคุณภาพของกลุ่มทรูได้อย่างแข็งแกร่ง ทั้งในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ บรอดแบนด์และดิจิทัลในไตรมาสสองที่ผ่านมา อีกทั้งความมุ่งมั่นที่จะขยายและเพิ่มประสิทธิภาพของเครือข่ายโทรคมนาคมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ชาวไทยมั่นใจในการใช้บริการได้อย่างมีคุณภาพโดยเฉพาะช่วงที่ต้องทำงานและเรียนที่บ้าน
ขณะเดียวกันเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพสูงที่กลุ่มทรูให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 นี้ ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนภาคส่วนอย่างโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามที่สร้างขึ้นมาเพื่อช่วยให้ประเทศก้าวผ่านวิกฤตนี้ด้วย นอกจากนี้ กลุ่มทรู ยังให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนไทยในยุคนี้ มีการส่งมอบนวัตกรรมแพลตฟอร์มดิจิทัลและผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มความสุขและความสะดวกให้กับคนไทย อาทิ แพลตฟอร์มโซลูชันผสานเทคโนโลยีคลาวด์ “True Virtual World” แพลตฟอร์มด้านสุขภาพ Teleclinic และ True Health เสริมทัพทีมแพทย์ รวมถึงการสรรหาคอนเทนต์คุณภาพชั้นนำที่หลากหลายมารวมไว้ใน TrueID และ TrueVisions
นอกจากนี้ ยังเดินหน้านำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเพิ่มประสบการณ์การใช้งานของลูกค้าในทุกกลุ่มแบบ end-to-end มากยิ่งขึ้น ผ่านระบบนิเวศและแพลตฟอร์มที่ครอบคลุมครบทุกสินค้าและบริการคุณภาพสูงของกลุ่มทรู คอนเทนต์และสื่อดิจิทัล เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย การใช้ AI และวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Analytics) ผนึกกำลังของทั้งทรูดิจิทัลและ EGG Digital ด้วยความชำนาญด้านการตลาดดิจิทัลโดยเฉพาะ เพื่อนำเสนอสินค้า บริการและสิทธิประโยชน์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและภาคธุรกิจได้อย่างตรงจุด ตลอดจนการบำรุงรักษาเชิงรุก พร้อมบริหารความสัมพันธ์และเพิ่ม engagement ของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ การผสานความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่มีช่องทางการขายและจัดจำหน่ายอยู่ทั่วประเทศ ทำให้เพิ่มความเข้าใจลูกค้า สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอให้เข้ากับสภาวะตลาดในแต่ละพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งความพร้อมและครบครันเรื่องช่องทางออนไลน์และดิจิทัลในการให้บริการและการขาย ทำให้สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การทำธุรกรรมออนไลน์ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเร่งให้กลุ่มทรูเติบโตด้วยฐานะทางการเงินที่มั่นคง และเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของเราจะเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ในเร็ววัน
นางสาวยุภา ลีวงศ์เจริญ หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่ม ด้านการเงิน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “กลุ่มทรูมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นในไตรมาสสองที่ผ่านมา ด้วยความมุ่งมั่นบริหารค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ยังสามารถรักษาระดับรายได้ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ที่ส่งผลในวงกว้างอย่างรวดเร็ว โดยสามารถรักษาระดับการเติบโตของ EBITDA และกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษี (EBIT) ในอัตราแบบเลขสองหลักจากปีก่อน ในขณะที่ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนในระหว่างไตรมาส กระทบต่อผลกำไรของบริษัท ทั้งนี้ กลุ่มทรูจะเดินหน้าปรับโครงสร้างต้นทุนและรักษาวินัยทางการเงินอย่างเคร่งครัดเพื่อเพิ่ม productivity และผลตอบแทนจากการลงทุน มุ่งสู่การสร้างผลกำไรได้อย่างยั่นยืน พร้อมรากฐานที่มั่นคงให้สามารถปรับตัวและรองรับความท้าทายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต”
ทรูมูฟ เอช มีจำนวนผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิประมาณ 488,700 รายในไตรมาส 2 ทำให้รายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ1.2 จากไตรมาสก่อนเป็น 20,171 ล้านบาท ขณะที่ภาพรวมอุตสาหกรรมมีรายได้ที่ทรงตัวหรือลดลง ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ซึ่งขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ใช้บริการโดยเฉพาะในระบบเติมเงินมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น
โดยทรูมูฟ เอช มุ่งเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการด้วยแพ็กเกจที่คุ้มค่า ผสานคอนเทนต์และสิทธิประโยชน์หลากหลาย เพื่อช่วยสนับสนุนและลดผลกระทบต่อกลุ่มผู้ใช้บริการดังกล่าวได้มากขึ้น สำหรับกลุ่มลูกค้าระบบรายเดือน ทรูมูฟ เอช ยังคงเติบโตและมีจำนวนผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิประมาณ 352,300 ราย หนุนโดยผู้ใช้งาน 5G บนระบบทรูมูฟ เอช ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 43 จากไตรมาสก่อนเป็น 1 ล้านราย ผ่านเครือข่าย 5G ที่มอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีและครอบคลุมสูงสุดทั่วประเทศ ทำให้ฐานลูกค้ารวมเพิ่มขึ้นเป็น 31.7 ล้านราย
ทรูออนไลน์ มีจำนวนผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิ 105,000 ราย ขยายฐานผู้ใช้บริการเป็น 4.4 ล้านราย หนุนรายได้จากการให้บริการบรอดแบนด์เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากไตรมาส 2 ของปีก่อนและร้อยละ 2 จากไตรมาสก่อนหน้าเป็น 7,317 ล้านบาท การเติบโตที่แข็งแกร่งนี้เป็นผลจากการใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยและการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกในการบำรุงรักษาเชิงรุกและนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่คุ้มค่าและมีคุณภาพสูงอย่างต่อเนื่อง
ทรูวิชั่นส์ มีรายได้จากการให้บริการ 2,381 ล้านบาทในไตรมาส 2 ปี 2564 โดยสัดส่วนรายได้จากการสมัครรับชมคอนเทนต์เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 61.5 ของรายได้จากการให้บริการ เทียบกับร้อยละ 60.8 ในไตรมาสก่อน ธุรกิจของ ทรูวิชั่นส์ได้รับผลกระทบจากการสถานการณ์ COVID-19 โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าโรงแรม การระมัดระวังในการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น และการจัดอีเวนท์บันเทิงที่ลดลง
อย่างไรก็ตาม ทรูวิชั่นส์เล็งเห็นศักยภาพการเติบโตในตลาด OTT และมุ่งสร้างรายได้ทั้งจากคอนเทนต์ยอดนิยมจากต่างประเทศและในประเทศ พร้อมตอกย้ำความแข็งแกร่งในฐานะผู้นำคอนเทนต์กีฬาชั้นนำ King of Sports ที่มีหลากหลายประเภทกีฬาที่ครบมากสุดในไทย อีกทั้งยังให้บริการในรูปแบบคอนเทนต์สตรีมมิ่ง TrueVisions NOW ซึ่งทรูวิชั่นส์เชื่อว่าพัฒนาการเหล่านี้จะช่วยเพิ่มรายได้และขยายฐานลูกค้าให้เติบโตจากกว่า 3.7 ล้านราย ณ สิ้นไตรมาส 2 อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความผูกพันที่เหนียวแน่นยิ่งขึ้นเพราะลูกค้าสามารถเพิ่มการรับชมคอนเทนต์ได้แบบทุกที่ ทุกเวลาผ่านแพลตฟอร์มที่หลากหลายของกลุ่มทรู
ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ขยายระบบนิเวศและสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ในไตรมาส 2 ปี 2564 ทรูไอดี ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสื่อดิจิทัลสามารถสร้างรายได้ที่เติบโตร้อยละ 77 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2563 และร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2564 อีกทั้ง มีจำนวนผู้ใช้งานรายเดือนเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 25 ล้านคน และมียอดรับชมคอนเทนต์วีดิโอต่อเดือนโดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นที่ 265 ล้านครั้งต่อเดือน ประกอบกับการเพิ่มความแข็งแกร่งคอนเทนต์ในทรูไอดีแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มียอดจำนวนการซื้อคอนเทนต์ด้านบันเทิงเพื่อรับชมภายใน แอปพลิเคชันเพิ่มขึ้นร้อยละ 17
ในขณะที่คอนเทนต์ด้านกีฬารวมถึงพรีเมียร์ลีกอังกฤษ เพิ่มขึ้น 3.3 เท่า จากไตรมาส 2 ปี 2563 นอกจากนี้ ทรูไอดียังขยายผลิตภัณฑ์สื่อดิจิทัล โดยเปิดตัว ทรูไอดีพลัสซึ่งเป็นบริการออนไลน์ในรูปแบบสมัครสมาชิกเพื่อรับชมคอนเทนต์วีดิโอตามความต้องการทุกที่และทุกเวลาบนแพลตฟอร์มของทรูไอดี ทั้งแอปพลิเคชัน เวบไซต์ และกล่องโทรทัศน์ ขณะเดียวกัน ทรูไอดี ทีวี มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยมียอดสูงถึง 2.5 ล้านกล่อง สำหรับด้านลูกค้าองค์กร
กลุ่มธุรกิจดิจิทัลโซลูชัน มีรายได้เติบโตสูงถึงร้อยละ 29 จากไตรมาส 1 ปี 2564 และร้อยละ 15 จากไตรมาส 2 ปีก่อนหน้า ด้วยการขยายโซลูชันที่ให้บริการและเชื่อมต่ออุปกรณ์เซ็นเซอร์ IoT ได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ยังถือเป็นครั้งแรกที่ได้มีการนำเสนอแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน ทรู โดรน อย่างเป็นทางการ โดยเป็นการนำโดรนมาใช้ในการฉีดพ่นทางการเกษตร ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายสำหรับเกษตรกร นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาระบบ True Smart Energy Management เพื่อช่วยการบริหารพลังงานและลดค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้าองค์กร โดยจากการทดสอบสามารถช่วยประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่ายได้ถึงร้อยละ 10 ต่อเดือน