การกลับมาจัดงานประชุมนักพัฒนาอีกครั้งในปี 2021 นี้ของกูเกิล (Google) ถือเป็นงานเวอร์ชวลคอนเฟอเรนซ์ระดับโลกครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดเหตุการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของกูเกิล เนื่องจากในปีที่ผ่านมา กูเกิลได้ยกเลิกงานประชุมนักพัฒนาประจำปีไป แต่ก็ยังมีการเปิดตัวระบบปฏิบัติการ Android รุ่นใหม่ รวมถึงสมาร์ทโฟนในตระกูล Pixel ตามปกติ
พอมาในปี 2021 นี้ เมื่อทุกอย่างพร้อมมากขึ้น กูเกิลจึงได้ใช้ช่วงวันที่ 18-20 พฤษภาคม ในการจัดงาน Google I/O 2021 หรืองานประชุมนักพัฒนาประจำปีขึ้นมาโดย ครอบคลุมเนื้อหาที่น่าสนใจหลากหลาย ทั้งการเปิดตัวระบบปฏิบัติการ Android 12 และการพัฒนาฟีเจอร์ต่างๆ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานสะดวกขึ้น
ซุนดาร์ พิชัย ซีอีโอกูเกิล เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อชุมชนทั่วโลก ทำให้ที่ผ่านมา กูเกิลเริ่มปรับเปลี่ยนเป้าหมายในการจัดการข้อมูลที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ให้มีประโยชน์ และถูกนำมาใช้งานมากยิ่งขึ้น สำหรับทุกคน
จึงเป็นที่มาของการที่ในปีนี้ Google I/O 2021 ได้มีการประกาศเปิดตัวเครื่องมือ และฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่จะเข้าไปช่วยให้ผู้ใช้ก้าวผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากให้ไปได้สะดวกมากขึ้น ภายใต้วิถีการทำงานแบบใหม่ที่มีความยืดหยุ่น ซึ่งหลายๆ บริษัทเริ่มเปิดทางให้พนักงานสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ รวมถึงกูเกิลเองก็เช่นกัน
“ในปีที่ผ่านมา กูเกิลได้นำเครื่องมือเข้าไปช่วยเหลือทั้งผู้ใช้งาน โดยเฉพาะในภาคการศึกษาที่มีนักศึกษากว่า 150 ล้านคน เข้าใช้งานห้องเรียนเสมือน Google Classroom รวมถึงการปรับปรุงรูปแบบการให้ข้อมูลบน Google Maps ให้แสดงสภาพการจราจรได้แม่นยำขึ้น เพื่อช่วยลดอุบัติเหตุ จนถึงการเข้าไปช่วยเหลือธุรกิจท้องถิ่นให้เข้าสู่โลกออนไลน์ในช่วงวิกฤตนี้”
ปัจจุบัน Chormebook ได้กลายเป็นโน้ตบุ๊กที่ถูกใช้งานมากที่สุดสำหรับนักเรียนในระดับประถม และมัธยม และมีการนำระบบแปลภาษาที่มีความแม่นยำสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่าง Google Translate ไปใช้เพื่อการศึกษา ร่วมกับ Google Lens ที่สามารถแปลภาษาได้กว่า 100 ภาษา ซึ่งในเดือนที่ผ่านมามีผู้ใช้งานระบบแปลภาษามากกว่า 2 หมื่นล้านครั้ง
เพิ่มเครื่องมือให้ทำงานร่วมกัน
หนึ่งในชุดเครื่องมือที่ผู้คนทั่วโลกหันมาใช้งานกันมากขึ้นในช่วงล็อกดาวน์คือ บริการอย่าง Google Workspace ที่มีการให้บริการแอปพลิเคชันหลักอย่าง Docs Sheets และ Slide ซึ่งให้บริการมานานกว่า 15 ปีแล้ว
ภายในงาน Google I/O ได้มีการเพิ่มเครื่องมือที่จะช่วยให้พนักงานในแต่ละองค์กรที่ใช้งาน G Suites ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการนำ Smart Canvas มาใช้ เป็นพื้นที่ในการสร้างสรรค์ผลงาน
จุดเด่นของ Smart Canvas คือ เป็นเสมือนพื้นที่กลางที่เชื่อมต่อทุกคนเข้าด้วยกัน ภายในสามารถสร้างไฟล์เอกสารผ่าน Docs สร้างตารางคำนวณผ่าน Sheets จนถึงการเรียกประชุมผ่าน Google Meets และการติดตามโปรเจกต์ต่างๆ ได้ทันที
พร้อมกันนี้ ยังได้เพิ่มความสามารถในการเพิ่มคำบรรยายขณะประชุมผ่าน Google Meet 5 ภาษา และสามารถแปลข้อความเหล่านั้นเป็นภาษาอื่นๆ ได้แบบเรียลไทม์ ช่วยทำลายกำแพงทางด้านภาษาระหว่างเวลาทำงานได้ด้วย
เบื้องหลังการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูง
ซุนดาร์ ให้ข้อมูลต่อเนื่องถึงความคืบหน้าในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ของกูเกิล จาก 2 ปีที่แล้วที่มีการแสดงให้เห็นศักยภาพของผู้ช่วยส่วนตัวในการโต้ตอบบทสนทนาภายใต้โครงการอย่าง Google Duplex มาในปีนี้ ได้แนะนำเครื่องมือใหม่อย่าง LaMDA ซึ่งเป็นปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถสนทนาได้ในทุกหัวข้อ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุ สิ่งของ หรือเรื่องราวต่างๆ
พร้อมกับแสดงความสามารถของ LaMDA ที่เรียนรู้ข้อมูลดาวพลูโต ทำให้นักเรียน หรือนักศึกษาที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับดาวพลูโต ซึ่งจะให้คำตอบที่สมเหตุสมผล ทำให้การเรียนรู้ทำได้สนุกขึ้น โดย LaMDA จะคอยเรียนรู้บทสนทนาที่เป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น
เมื่อความสามารถของ LaMDA มากขึ้น ก็จะเปิดโอกาสให้บริการอื่นๆ ของกูเกิลที่มีการนำ AI ไปใช้งานอย่าง Google Search พัฒนามากขึ้น โดยในอนาคตผู้ใช้จะสามารถค้นหาข้อมูลขณะเดินทางอย่าง “เส้นทางที่มีวิวภูเขาสวยงาม” หรือให้ YouTube เล่นฉากของวิดีโอที่เฉพาะเจาะจงอย่าง “สิงโตคำรามท่ามกลางพระอาทิตย์ยามเย็น”
นอกเหนือจากการค้นหาแล้ว กูเกิลยังได้พัฒนา Google Maps ให้มีความละเอียดมากยิ่งขึ้น อย่างการแสดงทางม้าลาย สัญญาณไฟจราจรที่จะเปิดใช้ใน 50 เมืองภายในสิ้นปีนี้ รวมถึงเปิดใช้การแสดงผลพื้นที่ที่มีผู้ใช้งานหนาแน่นเพื่อช่วยในตัดสินใจก่อนออกจากบ้านไปยังพื้นที่สาธารณะในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ได้
ขณะเดียวกัน ยังพัฒนาการนำทางด้วย AR ให้ฉลาดมากขึ้น ด้วยการเพิ่มป้ายบอกทางเสมือนในเส้นทางต่างๆ ที่เปิดให้บริการ AR Liveview และนำร่องให้บริการนำทางภายในอาคาร เริ่มจากสนามบินขนาดใหญ่ 3 แห่ง และจะขยายไปยังพื้นที่สาธรณะอื่นๆ ต่อไป
นำแมชชีนเลิร์นนิ่ง ‘ค้นหาช่วงเวลาประทับใจ’
อีกหนึ่งการอัปเดตสำคัญของ Google Photos บริการจัดเก็บรูปภาพบนคลาวด์ขนาดใหญ่ของกูเกิล ที่เตรียมจะคิดค่าบริการในการฝากรูปภาพเพิ่มเติม หลังจากให้บริการฟรีมาตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา โดยในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ จะเรียกเก็บค่าบริการกรณีที่ฝากรูปเกินพื้นที่ 15GB ไม่นับรวมกับรูปที่ฝากไว้ก่อนหน้านี้
โดยเหตุผลหนึ่งที่ กูเกิล เปลี่ยนจากบริการฟรี มาเป็นเก็บเงิน เนื่องจากที่ผ่านมามีภาพถูกนำมาฝากไว้ใน Google Photos มากกว่า 4 ล้านล้านภาพ แต่มีการเปิดย้อนกลับไปดูรูปภาพในความทรงจำราว 2 พันล้านครั้งเท่านั้น จึงเป็นที่มาของการนำแมชชีนเลิร์นนิ่งมาใช้ในการวิเคราะห์รูปภาพเพื่อนำมาแสดงผลอีกครั้ง
ฟีเจอร์ที่ถูกนำเสนอใน Google Photos นี้เรียกว่า Memories ที่จะคอยดึงความทรงจำจากรูปภาพ ด้วยการนำ AI มาวิเคราะห์เวลา สถานที่ ผู้คน สิ่งของภายในภาพ เพื่อแสดงผลออกมาเป็นช่วงเวลาประทับใจ รวมถึงภาพเคลื่อนไหวจากภาพนิ่ง และฉลาดถึงขั้นการซ่อนช่วงเวลาที่สร้างความเจ็บปวด หรือสูญเสียออกไปไม่ให้แสดงผลซ้ำ ซึ่งในอนาคตจะเปิดให้ผู้ใช้สามารถควบคุมรายละเอียดต่างๆ ที่จะแสดงผลใน Memories ได้ละเอียดมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มพื้นที่ส่วนตัว หรือ Locked Folder เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเก็บรูปภาพที่มีความสำคัญมากขึ้น หรือรูปภาพที่ไม่ต้องการให้คนอื่นเห็นได้ ภายในโฟลเดอร์นี้ ซึ่งจะใช้การปลดล็อกด้วยรหัสผ่านในการเข้าถึง โดยจะเริ่มเปิดให้ผู้ใช้งาน Android ภายในสิ้นปีนี้
ย้ำจุดยืนรักษาความปลอดภัยของข้อมูล
สำหรับหลัก 3 ประการที่กูเกิลนำมาใช้ในการจัดการความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นการนำระบบรักษาความปลอดภัยที่ทันสมัยที่สุดในการดูแลโครงสร้างพื้นฐานในการเก็บข้อมูล ตามด้วยการตั้งให้ผลิตภัณฑ์ และบริการต่างๆ มีค่าความปลอดภัยตั้งแต่เริ่มต้น และที่สำคัญคือผู้ใช้ต้องสามารถควบคุม และตั้งค่าความปลอดภัยได้
“ในปี 2019 กูเกิลได้เพิ่มเครื่องมืออย่าง Auto-Delete ที่จะคอยลบประวัติการใช้งานผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของกูเกิลในทุกๆ 18 เดือนโดยอัตโนมัติ พร้อมกับตั้งค่าการลบข้อมูลที่เป็นค่าพื้นฐานในบัญชีผู้ใช้งานกว่า 2 พันล้านบัญชีแล้ว และในปีนี้จะยกระดับความปลอดภัยในส่วนนี้ให้มากยิ่งขึ้น”
เริ่มต้นด้วยการเพิ่มปุ่มสำหรับลบประวัติการค้นหาในช่วง 15 นาทีล่าสุด แจ้งเตือนผู้ใช้งาน Maps ว่ามีการเก็บข้อมูลการเดินทางอยู่ เพื่อให้สามารถตัดสินใจได้ว่าจะเปิดหรือปิดการเก็บไทม์ไลน์ในการเดินทาง
รวมถึงการพัฒนาระบบจัดการรหัสผ่านให้มีความปลอดภัย ต่อเนื่องจากการเปิดให้ใช้การยืนยันตัวตน 2 ขั้นตอน เนื่องจากผู้ใช้งานส่วนใหญ่มักจะตั้งรหัสผ่านเดียวกันในทุกๆ บริการ ทำให้กูเกิลเพิ่มระบบตั้ง และจดจำรหัสผ่านอัตโนมัติในแต่ละเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันที่ใช้งานด้วย Password Manager ที่จะเชื่อมต่อการใช้งานทั้งบนเบราว์เซอร์ Chrome และสมาร์ทโฟน Android
นอกจากนี้ ในกรณีที่กูเกิลตรวจพบในฐานข้อมูลว่ามีการรั่วไหลของรหัสผ่านก็จะแจ้งเตือนให้ผู้ใช้ทำการเปลี่ยนรหัสทันที เพื่อช่วยให้ข้อมูล และบัญชีผู้ใช้ปลอดภัยมากที่สุด