กูเกิลตอกย้ำโฟกัสอนาคตของบริษัทด้วยการประกาศเริ่มสร้างศูนย์วิจัยควอนตัมคอมพิวติ้งแห่งใหม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยจะตะลุยจ้างหัวกะทิหลายร้อยคนต่อเนื่องในอีกหลายปีนับจากนี้ การโฟกัสเทคโนโลยีอัจฉริยะอย่างจริงจังเป็นสัญญาณล่าสุดว่ายักษ์ใหญ่ไอทีจะแข่งขันเพื่อเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ ให้เป็นเครื่องมือที่ใช้งานได้จริง โดยเฉพาะการแก้ปัญหาที่ควอนตัมคอมพิวเตอร์จะมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต
ควอนตัมคอมพิวเตอร์ (Quantum Computer) คือระบบคอมพิวเตอร์ที่ทำงานด้วยทฤษฎีควอนตัมฟิสิกส์ ต่างจากของคอมพิวเตอร์ธรรมดาซึ่งทำงานบนระบบเลขฐานสอง (Binary Digits หรือ Bits) โดยควอนตัมคอมพิวเตอร์นั้นจะใช้คิวบิต (Qubit) หรือ Quantum Bit หน่วยย่อยของข้อมูลซึ่งสามารถมีข้อมูลได้หลายสถานะในตำแหน่งเดียว ทำให้ทำงานได้ทรงพลังมากกว่าคอมพิวเตอร์ธรรมดาที่มีเพียง 0 หรือ 1 เท่านั้น
ล่าสุด การแข่งขันในวงการควอนตัมคอมพิวติ้งกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น เห็นได้ชัดเมื่อกูเกิล เจ้าพ่อเสิร์ชเอนจิ้นประกาศตั้งศูนย์วิจัยแห่งใหม่ในซานตาบาร์บารา แคลิฟอร์เนีย ซึ่งจะเป็นห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ควอนตัมแห่งแรกของกูเกิล ที่มีนักวิจัยและวิศวกรหลายสิบคน
เริ่มดำเนินการแล้ว
ข้อมูลขณะนี้ระบุว่า Google Quantum AI campus เริ่มดำเนินงานแล้วโดยมีนักวิจัยยุคบุกเบิกไม่กี่คน แต่ในอนาคต กูเกิลวางเป้าหมายจะมีบทบาทมากขึ้นในการผลิตเครื่องควอนตัมคอมพิวเตอร์ของตัวเอง โดยกูเกิลกล่าวในการประชุมนักพัฒนา I/O ประจำปีนี้ ว่าการผลิตภายในบริษัท (In-house manufacturing) และจำนวนคอมพิวเตอร์ควอนตัมที่เพิ่มขึ้น จะเร่งให้วงการควอนตัมคอมพิวติ้งมีพัฒนาการคืบหน้าโดยเร็ว
งานสำคัญอันดับแรกของศูนย์ควอนตัมคอมพิวติ้งแห่งใหม่ของกูเกิล คือ การทำให้องค์ประกอบการประมวลผลข้อมูลพื้นฐานที่เรียกว่า qubits มีความเสถียรมากขึ้น
เจฟฟ์ ดีน (Jeff Dean) รองประธานอาวุโสฝ่ายวิจัยและสุขภาพ Google Research and Health ผู้มีส่วนช่วยให้กูเกิลสร้างเทคโนโลยีที่สำคัญของบริษัททั้งด้านการค้นหา การโฆษณา และ AI ระบุว่า Qubit มักถูกรบกวนได้ง่ายจากปัจจัยภายนอก ที่ทำให้การคำนวณดำเนินต่อไปไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีการแก้ไขข้อผิดพลาด ซึ่งจะช่วยให้คอมพิวเตอร์ควอนตัมทำงานได้นานขึ้น และมีประโยชน์มากขึ้น
กูเกิลเชื่อว่าใน 1 หรือ 2 ปี จะเกิดพัฒนาการในวงการควอนตัมคอมพิวติ้งที่ก้าวกระโดด ที่ผ่านมา ควอนตัมคอมพิวเตอร์สามารถแก้ปัญหาที่ซับซ้อนในกระบวนการพัฒนายาหรือวัสดุใหม่ก็จริง แต่เครื่องจักรในเทคโนโลยีควอนตัมคอมพิวติ้งยังมีข้อจำกัดและเป็นโครงการวิจัยราคาแพงที่ยังไม่แพร่หลาย ทำให้ระบบต้องการการพัฒนาอีกมาก
อย่างไรก็ตาม การเปิดศูนย์ใหม่จะเป็นแรงกระตุ้นให้โปรแกรมเมอร์ที่ต้องทำงานกับบริการของกูเกิลได้ตื่นตัวรับกับพัฒนาการใหม่ที่จะเกิดขึ้น เช่นเดียวกับการแสดงความมั่นใจของซุนดาร์ พิชัย (Sundar Pichai) ผู้บริหารระดับสูงของ Alphabet บริษัทแม่ของกูเกิลที่กล่าวในระหว่างปาฐกถาบนเวที Google I/O ถึงความคาดหวังว่าสักวัน บริษัทจะสามารถสร้างคอมพิวเตอร์ควอนตัมที่แก้ไขข้อผิดพลาดได้ (error-corrected quantum computer)
จาก 100 สู่ 1 ล้าน
ในการสร้าง error-corrected quantum computer กูเกิลระบุว่า จะต้องใช้เวลาหลายปี โดยเฉพาะการสร้าง "ทรานซิสเตอร์ควอนตัม" ตัวแรกของโลกซึ่งมี "ควิบิตเชิงตรรกะ" (logical qubits) ที่เรียงต่อกันเป็นร้อยเป็นพันจนสร้างคอมพิวเตอร์ควอนตัมที่แก้ไขข้อผิดพลาดได้ ซึ่งเป็นงานที่กูเกิลกำลังทำการวิจัยในแคมปัสใหม่ Quantum AI อย่างจริงจัง
กูเกิลย้ำว่า ปัจจุบันโลกมีการใช้คอมพิวเตอร์ควอนตัมที่สามารถคำนวณได้ไกลกว่าพลังของคอมพิวเตอร์ทั่วไป แต่เพื่อเดินทางต่อไปในอนาคต คอมพิวเตอร์ควอนตัมที่เป็น error-corrected quantum computer จะเป็นเครื่องมือใหม่ที่ตอบโจทย์อนาคตของการประมวลผล ทำให้กูเกิลเดินหน้าขยายทีมงาน Quantum AI ในแคมปัสใหม่ของบริษัทอย่างจริงจัง และจะไม่หยุดนิ่งเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสร้าง 1,000,000 ควิบิต (physical qubit) ที่ทำงานร่วมกันภายใน error-corrected quantum computer ซึ่งจะเป็นการก้าวกระโดดครั้งใหญ่จากระบบปัจจุบันซึ่งมีจำนวนน้อยกว่า 100 ควิบิตเท่านั้น