xs
xsm
sm
md
lg

เปิดไฮไลต์งาน Huawei Developer Conference 2021 หัวเว่ยอัดฉีด 220 ล้านดอลล์กระตุ้นธุรกิจคลาวด์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


จาง ผิงอัน ย้ำว่าหัวเว่ยจะลงทุนในโครงการ HUAWEI CLOUD Partner Innovation Program มูลค่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
หัวเว่ยเปิดตัว 6 ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่เสริมแกร่งให้แพลตฟอร์มคลาวด์ เตรียมงบอัดฉีดโครงการหนุนพันธมิตรด้านคลาวด์ปีนี้ 220 ล้านเหรียญสหรัฐ โครงการที่ได้รับเงินกะตุ้นมากที่สุดคือ HUAWEI CLOUD Partner Innovation Program ที่จะได้รับงบมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐตลอดปี เพื่อปูพรมดันธุรกิจคลาวด์ของหัวเว่ยให้เติบโตรอบด้านในวันที่ไม่อาจโตได้ในบางตลาด

นายจาง ผิงอัน (Zhang Ping’an) ประธานกลุ่มธุรกิจคลาวด์และบริการคลาวด์สำหรับผู้บริโภคของหัวเว่ย กล่าวในงาน HDC.Cloud 2021 ว่าในปี พ.ศ.2564 บริษัทจะมีการลงทุนมูลค่า 220 ล้านดอลลาร์สหรัฐในโครงการ Huawei Developer Program 2.0 ซึ่งจะรวมถึงโครงการ HUAWEI CLOUD Partner Innovation Program ที่เพิ่งประกาศเปิดตัวไป โครงการ Kunpeng OpenMind Project และโครงการ Ascend OpenMind Project ซึ่งการลงทุนสนับสนุนนี้จะช่วยให้ทั้ง 3 โปรเจกต์คลาวด์เดินหน้าเติบโตและสร้างอีโคซิสเต็มที่แข็งแกร่งได้อย่างต่อเนื่อง

"หัวเว่ยจะลงทุนในโครงการ HUAWEI CLOUD Partner Innovation Program มูลค่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โฟกัสหลักคือเน้นการช่วยเหลือพันธมิตรด้านบริการ Software-as-a-Service (SaaS) และผู้ขายซอฟต์แวร์อิสระ (ISV) รวมทั้งจัดหาทรัพยากรคลาวด์ สร้างความเป็นไปได้ด้านเทคโนโลยี และสนับสนุนด้านการส่งเสริมธุรกิจ โครงการดังกล่าวจะครอบคลุมขอบข่ายคลาวด์เฉพาะทาง 6 ด้าน ได้แก่ ด้านไมโครเซอร์วิส-คอนเทนเนอร์, บริการ SaaS, บิ๊กดาต้า, AI, วิดีโอ และเทคโนโลยีเอดจ์คอมพิวติ้ง”


หัวเว่ยย้ำว่า นับตั้งแต่เปิดตัว Huawei Developer Program เมื่อปี พ.ศ.2558 หัวเว่ยก็ยึดมั่นต่อหลักปรัชญาที่ว่าด้วยฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์แบบเปิด การสร้างความพร้อมให้พาร์ตเนอร์ (Partner Enablement) และการพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถ (Talent Development) พร้อมการสร้างอีโคซิสเต็มที่มั่นคงและเฟื่องฟูให้แก่แวดวงอุตสาหกรรม ปัจจุบัน HUAWEI CLOUD, Kunpeng และ Ascend ได้ดึงดูดนักพัฒนาเข้ามามีส่วนร่วมแล้วกว่า 2.4 ล้านคน โดย HUAWEI CLOUD IaaS ขึ้นเป็นอันดับ 2 ของจีน และเป็นอันดับ 5 ของโลก กลายเป็นผู้ค้าบริการคลาวด์ในกระแสหลักที่เติบโตเร็วที่สุด

ภายในงานประชุมนักพัฒนาของหัวเว่ยประจำปี พ.ศ.2564 หรือ Huawei Developer Conference (HDC.Cloud) 2021) หัวเว่ยได้เปิดตัว 6 ผลิตภัณฑ์และบริการน่าสนใจ ได้แก่ คลัสเตอร์คลาวด์ความเร็วสูง HUAWEI CLOUD CCE Turbo, ผู้ช่วยเขียนโปรแกรมอัจฉริยะ CloudIDE, ฐานข้อมูลแบบ GaussDB (สำหรับ openGauss), บริการ Trusted Intelligent Computing Service หรือ TICS, รูปแบบบริการ Pangu Model (รวมถึงโมเดล Chinese NLP ที่ใหญ่ที่สุดในโลกและโมเดล CV) และโครงสร้างพื้นฐานทางซอฟต์แวร์เพื่อระบบประมวลผลอันหลากหลาย

ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ทั้ง 6 นี้ หัวเว่ยเชื่อว่าเป็นมิติใหม่ของประสิทธิภาพและคุณภาพที่จะช่วยยกระดับบรรดานักพัฒนาในการสร้างมาตรฐานใหม่ โดยนายริชาร์ด ยู ผู้อำนวยการของหัวเว่ย และซีอีโอของกลุ่มธุรกิจคลาวด์และกลุ่มธุรกิจเพื่อผู้บริโภคของหัวเว่ย กล่าวเปิดงานว่าภายในปี พ.ศ.2568 บริษัทหรือองค์กรทั่วโลกทั้งหมดจะหันมาใช้เทคโนโลยีคลาวด์ โดยคลาวด์ถือเป็นอนาคตของอุตสาหกรรมไอซีที และเป็นพื้นฐานของการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีขององค์กรเหล่านั้น ซึ่งนักพัฒนาก็เป็นเหมือนจิตวิญญาณของอุตสาหกรรมนี้ หัวเว่ยจะเดินหน้าเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรม และทำงานร่วมกับนักพัฒนาและพันธมิตรเพื่อเร่งการเติบโตของคลาวด์และการเปลี่ยนผ่านอย่างอัจฉริยะของทุกธุรกิจ

ริชาร์ด ยู
สำหรับประเทศไทย หัวเว่ยย้ำว่า ในฐานะผู้ให้บริการด้านคลาวด์ระดับโลกรายแรกที่สร้างศูนย์ข้อมูลในประเทศไทย บริษัทได้เน้นให้ HUAWEI CLOUD โฟกัสที่จะช่วยผลักดันให้วิสัยทัศน์ Thailand 4.0 ของประเทศไทยเป็นจริงขึ้นมาได้ เพื่อรองรับการให้บริการในตลาดไทยอย่างแท้จริง เบื้องต้นมีการฝึกอบรมผ่านออนไลน์ โดยหัวเว่ย ประเทศไทย ได้จัดคอร์สสัมมนาผ่านเว็บไซต์ในชื่อว่า Cloud Diary ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างลูกค้าในประเทศและพาร์ตเนอร์จากทุกภาคอุตสาหกรรมที่มาช่วยแบ่งปันประสบการณ์การใช้งานคลาวด์ที่ดีที่สุดให้แก่ผู้สนใจ โดยงานสัมมนาดังกล่าวมีผู้เข้ารับชมเป็นนักพัฒนา นิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย อาจารย์ และพนักงานในองค์กรต่างๆ มากถึงกว่า 700,000 คน ทั้งนี้ หัวเว่ยจะยังคงจัดงานสัมมนาผ่านเว็บไซต์ดังกล่าวต่อไปในปี พ.ศ.2564 ซึ่งเน้นแบ่งปันองค์ความรู้ที่จำเป็นสำหรับยุคดิจิทัลในบริบทที่ใกล้เคียงกับสถานการณ์จริงมากที่สุด

"การที่ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านโครงสร้างพื้นฐาน ICT ถือเป็นเพียงก้าวแรกในการขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลของภูมิภาค อีกหนึ่งหัวใจสำคัญที่ขาดไม่ได้คือการเสริมแกร่งและพัฒนาทักษะให้แก่บุคลากรด้าน ICT ในประเทศ”

ปัจจุบัน หัวเว่ยดำเนินการฝึกอบรมแบบออฟไลน์ HUAWEI CLOUD ผ่านงาน Warrior Workshop เป็นประจำทุกเดือน ครอบคลุมผู้ใช้งานเทคโนโลยีด้าน IT จากหลากหลายองค์กรธุรกิจ เอสเอ็มอี และสตาร์ทอัป นอกจากการเสวนาในหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น การรักษาความปลอดภัย การย้ายเซิร์ฟเวอร์และศูนย์ข้อมูลขึ้นไปบนคลาวด์ AI และแมชชีนเลิร์นนิ่ง ยังมีการจัดเวิร์กชอปฝึกฝนด้วยการลงมือทำซึ่งมีมืออาชีพคอยกำกับดูแลทีละขั้นตอน

นอกจากนี้ ยังจัดการแข่งขัน Cloud Developer Contest ซึ่งจะจัดขึ้นในปีนี้โดย HUAWEI CLOUD ประเทศไทยจะได้รับการอัปเกรดเป็นโครงการ Huawei Spark สำหรับบริษัทสตาร์ทอัปสายเทคโนโลยี โครงการนี้ตั้งเป้าในการสนับสนุนและเร่งผลักดันการเติบโตของสตาร์ทอัปเพื่อการเชื่อมต่อกันอย่างสมบูรณ์แบบในโลกอัจฉริยะ ซึ่งหัวเว่ย ประเทศไทย จะร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ในภาคอุตสาหกรรมเพื่อส่งมอบทรัพยากรด้านการเงิน การฝึกอบรมเชิงเทคนิค วิธีการเข้าทำตลาด และด้านเครือข่าย เพื่อช่วยสร้างศักยภาพที่จำเป็นให้แก่เหล่าสตาร์ทอัป

ยังมีโครงการ Huawei Spark Program สำหรับประเทศไทย อยู่ในระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน พ.ศ.2564 แบ่งเป็นช่วงเปิดรับใบสมัคร คัดเลือกครั้งแรก การฝึกอบรม คัดเลือกครั้งที่ 2 และการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ในประเทศไทยซึ่งคาดว่าน่าจะมีสตาร์ทอัปเข้าร่วมมากกว่า 100 แห่ง โดยจะมีคณะกรรมการตัดสินที่ประกอบด้วยบุคลากรจากหัวเว่ยและพาร์ตเนอร์ ทั้งนี้ ผู้ชนะจากโครงการจะได้รับรางวัลในรูปแบบที่หลากหลาย ตั้งแต่สิทธิเข้าร่วมโครงการ Huawei Spark Fire ได้รับ Cloud Credit โดยอ้างอิงจากเกณฑ์ที่กำหนด คาดว่าโครงการการแข่งขันนี้จะช่วยดึงสตาร์ทอัปเทคโนโลยี ผู้นำในภาคอุตสาหกรรม ผู้เชี่ยวชาญชั้นนำ คนหนุ่มสาวที่มีพรสวรรค์ และผู้ประกอบการให้มาร่วมกันพูดคุยเกี่ยวกับนวัตกรรมและแอปพลิเคชันใหม่ล่าสุดของเทคโนโลยี ICT ครอบคลุมในหลากหลายภาคอุตสาหกรรม


กำลังโหลดความคิดเห็น