MGR Online - “เอนก” สั่งคณบดีโรงเรียนแพทย์คัดนิสิตแพทย์ช่วยรับสายด่วน 1668-1669 แก้ปัญหาคนไม่พอ พร้อมระดมนิสิตนักศึกษาแพทย์ พยาบาล และสาธารณสุข ช่วยรัฐบาลฉีดวัคซีนให้ได้วันละ 5 แสนคน เริ่ม พ.ค.นี้ ขณะที่ ปลัด อว.เผย รพ.สนามรับ พร้อมผู้ป่วยแล้วกว่า 8 พันเตียง
วันนี้ (23 เม.ย.) ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยระหว่างลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสนามของ อว.ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ว่า ขณะนี้ ได้สั่งการให้คณบดีโรงเรียนแพทย์ของ อว. ช่วยคัดนิสิตนักเรียนแพทย์ที่มีความพร้อมมาช่วยรับโทรศัพท์ เพื่อแก้ปัญหาที่ประชาชนโทร.เข้าหมายเลข 1668 หรือ 1669 ที่ไม่มีคนมากพอจะรับสายแล้ว เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะการทำงานอะไรก็ตาม มักมีปัญหา แต่ก็ต้องแก้ไขกันไป ในยามรบทัพจับศึก บางครั้งฝ่ายสนับสนุนนั้นก็สำคัญมาก ส่วนในเรื่องของวัคซีนที่หลายฝ่ายกังวลนั้น ขอเรียนให้ทราบว่าประเทศไทยมีวัคซีนพอ และ อว. ก็พร้อมในการเตรียมบุคลากรไปช่วยฉีดวัคซีนด้วย หากรัฐบาลจะฉีดให้ได้วันละ 5 แสนคน ก็จำเป็นที่จะต้องมีบุคลากรสนับสนุนที่เพียงพอ ซึ่ง อว.มีอาสาสมัครนิสิตนักศึกษาที่เรียนแพทย์ พยาบาล และสาธารณสุข มาช่วยฉีดก็ได้ โดยจะเริ่มในเดือน พ.ค.นี้ ซึ่งจะฉีดอย่างเร่งรีบ จริงจัง
รมว.อว.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ อว.ได้เตรียมใช้กล้องความเร็วสูงทดสอบคุณสมบัติการป้องกันละอองไอจามซึมผ่านหน้ากากอนามัย การผลิตชุด PPE ใช้เองในประเทศ การพัฒนาตู้ความดันบวก-ความดันลบเพื่อใช้คัดกรองและป้องกันเชื้อจากผู้ป่วย และการพัฒนาชุดทดสอบไวรัสที่ย่อส่วนห้องแล็บ PCR ไว้บนชิปขนาดเล็กเพื่อสู้กับโควิด-19 เพราะขณะนี้เราไม่ใช่แค่รบกับโควิด-19 หากแต่ต้องดูแลขวัญและกำลังใจประชาชนเองด้วย ซึ่งการพูดคุยกันในสื่อสังคมทุกวันนี้ บ่อยครั้งจะพากันแตกตื่น และตระหนก ดังนั้น จำเป็นต้องมีการสื่อแก้ไขข้อข้องใจให้กับสังคมให้มีความเข้าใจในปัญหา และมองเห็นลู่ทางหรือแนวทางในการแก้ไขด้วย
ด้าน ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว.กล่าวว่า สำหรับโรงพยาบาลสนามของ อว. ขณะนี้ ได้จัดแล้วทั้งหมด 41 แห่ง กระจายในทุกภาคทั่วประเทศ มีเตียงรวมกันกว่า 12,000 เตียง สามารถเปิดรับผู้ป่วย และมีบุคลากรดูแลพร้อมแล้วกว่า 8,000 เตียง และปัจจุบันมีผู้ป่วยที่รับเข้ามาดูแลในโรงพยาบาลสนามแล้วประมาณ 1,600 เตียง และหากผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาลสนามมีอาการหนักขึ้นจนกระทั่งต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ของ อว. ซึ่งมี 22 แห่งทั่วประเทศ ก็มีความพร้อมในการดูแลเช่นกัน ผู้ป่วยสามารถวางใจได้ว่าเมื่อมาอยู่โรงพยาบาลสนามแล้ว หากมีความจำเป็นจะต้องเลื่อนขึ้นไปอยู่โรงพยาบาลหลักเพื่อรักษาอาการที่หนัก เรามีความพร้อมทั้งจำนวนบุคลากร เตียง รวมไปถึงเครื่องมือทางการแพทย์ต่างๆอย่างเพียงพอ
ทั้งนี้ มีรายงานจากแนวหน้า นครราชสีมา : เมื่อใจเราเป็นดวงเดียวกัน เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว. อว.
เมื่อวานนี้ (22 เมษายน 2564) มีโอกาสเดินทางมาเยี่ยมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส ) ผมเคยมาหลายครั้งแล้ว แต่ครั้งนี้มาในยามที่บ้านเมืองมีวิกฤติ หรือที่คนโบราณเรียกว่า ยาม “ร้อนร้าย”
มาเยี่ยม มทส. คราวนี้ พบความจริงประการหนึ่งว่า แม้ อว. เราอาจจะมีโรงพยาบาลสนาม และทำได้ทั่วประเทศ เพราะเรามีสถานที่และบุคลากรที่พร้อม แต่โรงพยาบาลสนาม จริงๆ ก็ทำไม่ง่าย ต้องอาศัยอธิการบดีที่เป็นผู้นำสูงมาก จึงจะตัดสินใจ และนำปฏิบัติการได้ ผมจึงอดภูมิใจที่อธิการบดีและผู้นำของ มทส. ตัดสินใจรวดเร็ว ช่วยกันทำโรงพยาบาลสนามขึ้นมา ซึ่ง ก็นับเป็นแห่งที่สองของจังหวัดนครราชสีมา วิกฤติโควิดคราวนี้ หากเรามัวแต่คิดหรือวางแผนให้รอบคอบ กังวลแต่เรื่องงบประมาณ เราก็จะกลายเป็นฝ่ายตั้งรับ สู้โควิดได้ไม่ทันการณ์
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่าง ก็คือ เราพบว่าราชการส่วนภูมิภาคร่วมนำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดทำงานได้ดี ร่วมงานใกล้ชิด กับ นพ. สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ร่วมมือกับ อว. ผมขอชื่นชมในความตั้งใจ และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของส่วนภูมิภาคทั้งหมด
การทำงานอะไรก็ตาม มักมีปัญหา แต่ก็ต้องแก้ไขกันไป ควรให้กำลังใจ กันและช่วยเหลือกัน และในยามรบทัพจับศึก บางครั้งฝ่ายสนับสนุนนั้นก็สำคัญมาก ผมจึงได้ขอให้ท่านคณบดีโรงเรียนแพทย์ของ อว. ช่วยคัดนิสิตนักเรียนแพทย์ที่มีความพร้อมมาช่วยรับโทรศัพท์ เพื่อแก้ปัญหาที่ประชาชนโทร.เข้า 1668 หรือ 1669 แล้ว กลับไม่มีคนมากพอจะรับสาย
สุดท้าย ผมเห็นว่าในขณะนี้เราไม่ใช่แค่รบกับโควิด-19 หากแต่ต้องดูแลขวัญและกำลังใจประชาชนเองด้วย ซึ่งการพูดคุยกันในสื่อสังคมทุกวันนี้ บ่อยครั้งจะพากันแตกตื่น และ ตระหนก ไปเสีย ดังนั้นจำเป็นต้องมีการสื่อแก้ไขข้อข้องใจให้กับสังคมให้พวกเขามีความเข้าใจในปัญหา และมองเห็นลู่ทางหรือแนวทางในการแก้ไขด้วย
ในเรื่องของวัคซีนที่หลายท่านกังวลนั้น ผมขอเรียนให้ทราบว่าเรามีวัคซีนพอ และ อว. ก็พร้อมในการเตรียมบุคลากรไปช่วยฉีดวัคซีนด้วย หากรัฐบาลจะฉีดให้ได้วันละห้าแสนคนนั้น ก็จำเป็นที่จะต้องมีบุคลากรสนับสนุนที่เพียงพอ ซึ่ง อว. เราจะมีอาสาสมัครนิสิตนักศึกษาที่เรียนแพทย์ พยาบาล และสาธารณสุข มาช่วยฉีดก็ได้ โดยจะเริ่มในเดือนพฤษภาคมก็ได้ ฉีดอย่างเร่งรีบ จริงจัง
ท้ายสุดนี้ ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีว่าการ อว. ผมมีความยินดีที่จะให้ช่วยทุกท่านที่ทำงาน ขอให้กำลังใจกับบุคลากรทุกระดับทุกท่าน และขอเน้นย้ำว่าเราไม่ควรตระหนก แม้เราจะมีจุดอ่อน แต่เราก็ช่วยกันแก้ไข แก้ไขทุกวัน ที่สำคัญ มหาวิทยาลัยนั้นจะมีค่า ต้องทำเสมือนมีลมหายใจร่วมกับจังหวัดและภาคที่ตนเองอยู่ เมื่อเรามีใจดวงเดียวกันกับเขา อีกหน่อยจะร่วมกันทำอะไร ก็จะทำได้ดี เกิดเป็นพลังที่มาหนุนช่วยในงานของเรา