เอไอเอสสู้ภัยโควิดระลอก 3 นำเทคโนโลยี 5G ช่วยสังคม 4 มิติ ทั้ง รพ.สนาม การแพทย์ทางไกล เอไอ อัจฉริยะ และอสม.ออนไลน์ ย้ำประเทศจะผ่านวิกฤตได้ต้องร่วมมือเป็นเอกภาพทั้ง 3 ฝ่าย คือ รัฐ เอกชน และประชาชน
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า ท่ามกลางการแพร่ระบาดระลอกที่ 3 ของ COVID-19 “AIS 5G สู้ภัย COVID-19” พร้อมจัดทัพทั้งองคาพยพอีกครั้งในการสนับสนุนการทำงานของภาคสาธารณสุขที่เป็นศูนย์กลางบริหารจัดการ การรับมือกับ COVID-19 แบบเต็มสรรพกำลัง เพื่อฟื้นฟูประเทศ ผ่านการทำงานด้วยเทคโนโลยีสื่อสารและดิจิทัลเซอร์วิสใน 4 มิติ ได้แก่
มิติแรก โรงพยาบาลสนาม ติดตั้งเครือข่าย AIS 5G, 4G, Free Wifi ในโรงพยาบาลสนามหลักกว่า 31 แห่ง มากกว่า 10,000 เตียงทั่วประเทศ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น เชื่อมต่อระบบ CCTV เพื่อเฝ้าระวังผู้ป่วย การส่งต่อข้อมูลการแพทย์ ตลอดจนให้ผู้ป่วยที่กักตัวสามารถสื่อสาร ติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวให้คลายความกังวล มีกำลังใจในการฟื้นฟูสุขภาพ มิติที่สอง การแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine เทคโนโลยีที่ช่วยลดภาระการทำงานของแพทย์และพยาบาล ในการติดต่อสื่อสารกับผู้ป่วย ที่ช่วยลดการสัมผัส และลดความแออัด โดยเบื้องต้นได้ร่วมกับแอปพลิเคชัน “Me -More” ให้บริการในโรงพยาบาลสนามในเครือกรุงเทพมหานคร
มิติที่สาม 5G AI อัจฉริยะ เดินหน้าร่วมมือกับราชวิทยาลัย จุฬาภรณ์ และโรงพยาบาลเครือข่าย คือ โรงพยาบาลน่าน โรงพยาบาลร้อยเอ็ด และโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ โดยการนำ AI CT Scan ปอด เข้ามาให้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยจะช่วยวิเคราะห์รูปภาพทางการแพทย์เชิงปริมาณจากการตรวจวินิจฉัยทางเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) ปอดของผู้ป่วยเพื่อวิเคราะห์ผู้ติดเชื้อ COVID-19 โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและโซลูชันปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) กับแพลตฟอร์มที่ได้รับการเทรนด์จากข้อมูลของผู้ป่วยจริงในประเทศจีน ซึ่งเป็นการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างแม่นยำ รวดเร็ว และสามารถวิเคราะห์ผลได้ภายในเวลาเพียง 25 วินาทีต่อ 1 เคส ความแม่นยำสูงสุดในการวินิจฉัยสูงถึง 96% นับว่ามีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง
นวัตกรรมนี้จะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ได้รับความปลอดภัย ลดปริมาณการตรวจสารคัดหลั่ง ลดจำนวนชุดตรวจ COVID-19 ช่วยลดการใช้ PPE และแบ่งเบาภาระให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ และช่วยให้บุคลากรหลายๆ ท่านสามารถกระจายตัวไปดูแลเคสผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น ที่สำคัญ เป็นการสร้างความเท่าเทียมในการได้รับโอกาสทางสาธารณสุขผ่าน 5G ได้อย่างชัดเจน
มิติที่สี่ อสม. ซึ่งเอไอเอสยังคงเสริมขีดความสามารถของ อสม. อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมี อสม.มากกว่า 5 แสนรายที่ใช้งาน แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ช่วยในการรายงาน การคัดกรอง เฝ้าระวัง รวมถึงติดตามผลในกลุ่มเสี่ยง และการสำรวจสุขภาพจิตจากความเครียดที่มาจากผลกระทบของ COVID-19 โดยเฉพาะในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ที่มีการเดินทางของกลับบ้านของคนเมือง ยิ่งจะทำให้การทำงานของ อสม.ต้องยิ่งมีความเข้มข้นขึ้นมากกว่าเดิม
นายสมชัย กล่าวว่า การระบาดระลอก 3 เป็นเรื่องใหญ่มาก แม้ว่าความรู้สึกปีนี้แตกต่างจากปีที่แล้วซึ่งประชาชนกังวลมากกว่า ทั้งๆ ที่ตัวเลขปีที่แล้วน้อยกว่าปีนี้อย่างมาก ดังนั้นหากต้องการก้าวผ่านวิกฤตนี้ไม่ใช่แค่เอไอเอส แต่ทั้ง 3 องค์กร ต้องร่วมมือกันเป็นเอกภาพ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน รัฐต้องมีความพร้อมเรื่องวัคซีน เพราะวัคซีนคือคำตอบ เพื่อไม่ให้เกิดระลอกที่ 4 และ 5 ให้คนไทยได้รับวัคซีน 70% ตามที่องค์กรอนามัยโลกระบุ
มาตรการเยียวยาต้องเป็นการช่วยระยะยาวไม่ใช่การแจกเงินเพียงอย่างเดียว ภาคประชาชนต้องไม่แข่งขันกันด้วยการช่วยเหลือในพื้นที่ซ้ำซ้อนกัน ควรช่วยกันทำในพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ ขณะที่ประชาชนต้องประหยัด เงินที่ได้ต้องนำมาช่วยธุรกิจหลักของตนเองให้อยู่ได้ระยะยาว หวังว่าภายในไตรมาส 2 จะทำให้วิกฤตนี้จบลง เพื่อให้ครึ่งปีหลังไทยฟื้นฟูและเติบโตต่อไป