พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย พล.ต.ท.นพ.พรชัย สุธีรคุณ นายแพทย์ (สบ 8) โรงพยาบาลตำรวจ พล.ต.ต.เมธี รักพันธุ์ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 (ผบก.น.6) พ.ต.อ.พันษา อมราพิทักษ์ ผู้กำกับการ สน.ปทุมวัน (ผกก.สน.ปทุมวัน) ร่วมกันแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงกรณี ร.ต.อ.บุญชู พรรณกลิ่น อายุ 59 ปี รองสารวัตรปราบปราม กองกำกับการ 4 กองบังคับการตำรวจรถไฟ ผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิตภายในห้องพักผู้ป่วยชั้น 11 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลตำรวจ
พล.ต.ท.นพ.พรชัย กล่าวว่า ร.ต.อ.บุญชู มาในช่วงแรกยังไม่มีอาการ แต่มีโอกาสไปสัมผัสผู้ติดเชื้อโควิด-19 จึงไปตรวจที่โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ได้รับผลเป็นบวก คือติดเชื้อโควิด-19 จึงติดต่อมาที่โรงพยาบาลตำรวจ ก่อนไปรับตัวมาเพื่อดูแล ช่วงแรกที่มาถึงโรงพยาบาลผู้ป่วยไม่มีอาการ จึงให้พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนามในวันที่ 18 เมษายน วันถัดมาเริ่มมีอาการหายใจติดขัด เมื่อพบว่ามีอาการเพิ่มมากขึ้น จึงย้ายผู้ป่วยเข้าไปรักษาตัวที่อาคารเฉลิมพระเกียรติเพื่อดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ผู้ป่วยมีประวัติเป็นเบาหวานอยู่ มีอาการหายใจไม่ค่อยสะดวก มีปริมาณออกซิเจนในเลือดต่ำ ในวันเกิดเหตุผู้ป่วยขออนุญาตไปเข้าห้องน้ำแล้วหายเงียบไป พยาบาลจึงติดตามไปดู พบผู้ป่วยอยู่ในห้องน้ำ และผู้ป่วยหยุดหายใจไป จึงพยายามนำผู้ป่วยออกมา ทีมแพทย์พยายามกู้ชีพอย่างเต็มที่ สุดท้ายไม่สามารถช่วยชีวิตได้ สรุปว่าผู้ป่วยเสียชีวิตที่หอผู้ป่วย ตึกเฉลิมพระเกียรติ
พล.ต.ท.นพ.พรชัย เปิดเผยว่า โรงพยาบาลตำรวจมีกลุ่มงานจิตเวชดูแลอยู่ ซึ่งมีเว็บเพจชื่อ Depress We Care ซึ่งหากมีความเครียดสามารถปรึกษาได้ตลอดเวลา แต่เนื่องจากหน่วยงานยังมีข้อจำกัด หากมีปัญหายังสามารถโทรติดต่อปรึกษาหารือกับกรมสุขภาพจิตได้ด้วย ในรายนี้เราไม่ทราบว่าผู้ป่วยเครียด เพราะผู้ป่วยเข้ามาในโรงพยาบาลเพียง 2-3 วัน สิ่งที่แพทย์ระมัดระวังในช่วงแรกคืออาการเจ็บป่วย กับปริมาณออกซิเจนในเลือดต่ำ จึงไม่ทันระวังในเรื่องอื่นๆ ทั้งนี้จะเพิ่มมาตรการในการระมัดระวังเรื่องความเครียดของผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น พร้อมยอมรับว่า ขณะนี้แนวโน้มผู้ติดเชื้อมีเพิ่มมากขึ้นทุกวัน บางครั้งการคัดกรองอาจจะทำได้ยาก อีกทั้งสถานพยาบาลมีปัญหาการรองรับผู้ติดเชื้อไม่เพียงพอต่อผู้ป่วยแต่ละวัน จึงทำให้มีการส่งตัวผู้ติดเชื้อมายังโรงพยาบาลสนามของโรงพยาบาลตำรวจ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบประวัติ หรือภาวะความเครียดย้อนหลังก่อนเข้ามารักษาตัวได้
ด้าน พล.ต.ต.เมธี กล่าวว่า หลังรับแจ้งจากโรงพยาบาลตำรวจว่ามีผู้เสียชีวิต ผกก.ปทุมวัน ก็รายงานให้ตนทราบ จึงแนะนำการปฏิบัติแจ้งให้พนักงานสอบสวนท้องที่ร่วมกับแพทย์ชันสูตรพลิกศพผู้ตาย ขณะเข้าไปตำรวจใส่ชุดป้องกันเชื้อโควิด-19 ตามมาตรฐานของสาธารณสุข
ด้าน พ.ต.อ.พันษา กล่าวถึงรายละเอียดการชันสูตรพลิกศพ ว่า ช่วงหลังเวลา 17.00 น. วันที่ 20 เมษายน พนักงานสอบสวนไปตรวจที่เกิดเหตุ พร้อมแพทย์ผู้ชันสูตร ที่ภายในห้องน้ำหอพักผู้ป่วย ชั้น 11 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลตำรวจ เบื้องต้นสาเหตุเสียชีวิตมาจากการขาดอากาศหายใจ และทำให้ตนเองเสียชีวิต ไม่ได้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 จากนั้นได้ส่งศพไปที่นิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ
ทั้งนี้ จากการสอบสวนถึงมูลเหตุจูงใจ ทราบว่าผู้ตายเครียดที่ทำให้แม่ ภรรยา และลูก เสี่ยงติดเชื้อ ขณะนี้แม่กับภรรยาได้ไปตรวจหาเชื้อ และอยู่ระหว่างกักตัว ผู้ตายก็ยังไม่รู้ผลว่าแม่และภรรยาติดเชื้อหรือไม่ ประกอบกับผู้ตายมีโรคประจำตัวเป็นความดันและเบาหวาน รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ระหว่างที่พักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลตำรวจ รู้สึกรักและเป็นห่วงครอบครัว แต่ไม่กล้าโทรไปคุยกับแม่และภรรยา เพราะรู้สึกละอายใจ แต่ได้โทรไปคุยญาติสนิท และบ่นว่าทำไมต้องมีโรคนี้ด้วย ซึ่งสอดคล้องกับการบ่นกับเพื่อนผู้ป่วยที่โรงพยาบาลตำรวจ ว่าฝากแม่กับครอบครัวด้วย จนวันเกิดเหตุ ผู้ตายเข้าห้องน้ำตั้งแต่ 15.00 น. ตามปกติ จนเวลา 16.00 น. มีโทรศัพท์ดังขึ้นหลายครั้ง เพื่อนที่อยู่ในห้องพักด้วยกันก็จะตามให้มารับโทรศัพท์ แต่เรียกไม่ตอบ และเห็นว่านานเกินไป จึงตามแพทย์และพยาบาลมา พบว่าเสียชีวิตอยู่ในห้องน้ำ โดยใช้เข็มขัดผูกคอตนเองกับตะขอเหล็กบริเวณอ่างกระจกล้างหน้าในห้องน้ำ
โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนยันอีกครั้ง ตามการชันสูตรของ สน.ท้องที่ และการสอบพยานแวดล้อม ผู้ตายไม่ได้ตายด้วยโรคโควิด-19 แต่ตายเนื่องจากทำให้ตัวเองตายด้วยความเครียดส่วนตัว ด้วยโรครุมเร้า ตำรวจได้มีการชันสูตรพลิกศพตามระเบียบข้อกฎหมายทุกประการ วันนี้ศพอยู่นิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อรอรับกลับไปบำเพ็ญกุศล พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นห่วงกำลังพลภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติและประชาชน จึงได้สั่งการไปยังแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ให้ระดมสรรพกำลัง อุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องมือต่างๆ มาช่วยดูแลประชาชนและพี่น้องตำรวจ ทั้งที่ป่วยด้วยโรคติดเชื้อโควิด-19 และโรคอื่นๆ ไม่ให้มีการแพร่ระบาดมากไปกว่านี้ ส่วนการสร้างมาตรการในการป้องกันตัวของตำรวจในการปฏิบัติหน้าที่พบประชาชน กำชับให้ดูแลตนเองตามมาตรฐานของกรมควบคุมโรค ศบค. กระทรวงสาธารณสุขเป็นอย่างดี เพื่อป้องกันไม่ตำรวจรับเอาเชื้อเข้ามา ขณะเดียวกัน ก็ป้องกันไม่ให้ตำรวจเป็นแหล่งแพร่เชื้อไปสู่ประชาชน นอกจากนี้ ไม่ให้ตำรวจเข้าไปอยู่ในแหล่งที่แพร่เชื้อของโรคได้
มาตรการต่างๆ เหล่านี้เป็นความห่วงใยของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อกำจัดขอบเขตการแพร่กระจ่ายของโรค และเซฟกำลังพลในหน่วยให้สามารถทำงานรับใช้ประชาชนต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถึงแม้กำลังพลบางส่วนได้รับผลกระทบบ้าง แต่ยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบกับประสิทธิภาพการทำงาน
สำหรับยอดตำรวจที่ติดเชื้อโควิด-19 ณ วันที่ 20 เมษายน ยังคงพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 412 คน รวมยอดสะสมตั้งแต่เดือนมีนาคม มีจำนวน 498 คน