เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) เผยบริการเอสไอเอสคลาวด์ (SiS Cloud) มีฐานลูกค้าองค์กรไทย 300-400 รายใน 3 ปีที่ผ่านมา มั่นใจตลาดโตจนแตะหลักพันรายได้ในอนาคต ชี้องค์กรรัฐเข้ามาเป็นลูกค้าคลาวด์มากขึ้น สะท้อนว่าการจัดการงบประมาณแผ่นดินรองรับรูปแบบการเช่าใช้และจ่ายตามการใช้งานของบริการคลาวด์ วางเป้าการเติบโต 2 เท่าตัวต่อปีได้ต่อเนื่อง
นายสมชัย สิทธิชัยศรีชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า วันนี้ธุรกิจ SiS Cloud มีแนวโน้มเติบโตดีในทุกอุตสาหกรรมของประเทศไทย โดยเฉพาะภาครัฐที่ทำโครงการผ่านหลายแอปพลิเคชันนั้นล้วนแต่ “วิ่งบนคลาวด์” ขณะเดียวกัน กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลยังเป็นการส่งเสริมให้ตลาดคลาวด์ในประเทศไทยขยายตัวและแข่งขันได้กับบริการคลาวด์ต่างประเทศ
“หลายแอปพลิเคชันที่รัฐทำ วิ่งบนคลาวด์ทั้งนั้น เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ใช้คลาวด์ เพราะจัดซื้อไม่ทันการขยายตัว” สมชัยระบุ “วันนี้รัฐให้การสนับสนุนธุรกิจคลาวด์ในประเทศไทยแบบไม่รู้ตัว โดยเฉพาะการออกกฎหมายให้ข้อมูลสำคัญต้องเก็บอยู่ในประเทศไทย ตรงนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี”
ผู้บริหารเอสไอเอสระบุว่า SiS Cloud วันนี้มีจุดแข็งที่สามารถแข่งขันได้ดี นอกจากโมเดลราคาที่หลากหลายตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักแสนบาท ในช่วง 3 ปีที่เริ่มธุรกิจสามารถรักษาการเติบโต 2 เท่าตัวต่อปีได้ตลอด เชื่อว่าจะยังคงอัตราเติบโตเช่นนี้ไปอีกหลายปี
สถิติพบว่า 70% ของฐานลูกค้า SiS Cloud เป็นองค์กรใหญ่ เหตุผลคือองค์กรขนาดเล็กยังมีการใช้งานคลาวด์ที่น้อยกว่า จุดนี้ทำให้บริษัทมองว่าจะโฟกัสให้เพิ่มฐานลูกค้ากลุ่มองค์กรเล็กให้มากขึ้น ผ่านลูกค้ารวมที่เอสไอเอสมีมากกว่า 7,000 ราย ร่วมกับการชูปัญหาสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอน เพื่อเร่งให้องค์กรทุกขนาดมองเห็นความสำคัญของการลงทุนบนคลาวด์ ซึ่งจะเพิ่มหรือลดตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปได้อย่างยืดหยุ่นและไม่เจ็บตัว
พันธมิตรหลักของ SiS Cloud คือเดลล์ จุดนี้นายนพดล ปัญญาธิปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ประจำประเทศไทย เดลล์ เทคโนโลยีส์ เผยว่าปี 64 คือปีที่การสำรวจพบว่า 60-70% ขององค์กรไทยจะโฟกัสการปรับแพลตฟอร์มให้ทันสมัย การสำรวจนี้จึงสะท้อนว่าปีนี้คือปีเริ่มต้นของการขยายตัวของคลาวด์ที่จะเห็นภาพชัดยิ่งขึ้น เนื่องจากแรงกระตุ้นของโควิด-19 ทำให้มีโอกาสที่จะเห็นการเติบโต 100-200% ในปี 64
สำหรับบริการ SiS Cloud เป็นบริการที่เริ่มต้นเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว เอสไอเอส ระบุว่ามองเห็นแนวโน้มการเติบโตและความต้องการขององค์กรที่มีต่อการใช้งานคลาวด์เพิ่มมากขึ้น จึงมีความคิดที่จะพัฒนาธุรกิจด้านนี้เพิ่มเติม โดยมองเห็นความเป็นไปได้ในการเป็นผู้ให้บริการด้านคลาวด์ด้วยตัวเอง (Cloud Service Provider)
จุดแข็งของเอสไอเอสคือการเป็นพาร์ตเนอร์กับบริษัทที่เป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีเกี่ยวกับคลาวด์ที่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่งในการให้บริการคลาวด์สำหรับองค์กร รวมถึงการมีพันธมิตรด้านศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์สำหรับการจัดการเครือข่ายและการจัดเก็บข้อมูล นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เอสไอเอสมองเห็นความเป็นไปได้ในธุรกิจบริการคลาวด์ ปัจจุบันบริษัทมีตัวแทนขายหรือคู่ค้าที่มีมากกว่า 100 ราย
ผู้ใช้บริการคลาวด์ของเอสไอเอสมีทั้งกลุ่มหน่วยงานราชการ กลุ่มการเงินการธนาคาร กลุ่มสถาบันการศึกษา กลุ่มสถานพยาบาล กลุ่มด้านน้ำมันและพลังงาน และกลุ่มอื่นๆ โดยในไตรมาส 2 ของปีนี้ เอสไอเอสมีแผนจะเปิดให้บริการคลาวด์รูปแบบใหม่ภายใต้ชื่อ "Enterprise Elastic Cloud" ซึ่งเป็นคลาวด์สำหรับองค์กรที่ใช้เทคโนโลยีชั้นนำโดยเน้นจุดเด่นที่ทำให้ผู้ใช้งานสามารถจ่ายค่าบริการได้ตามการใช้งานจริงแบบรายชั่วโมง เพื่อรองรับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปขององค์กรในอนาคตที่มีแนวโน้มลดการลงทุนขนาดใหญ่ลง เปลี่ยนเป็นการเช่าใช้และชำระค่าบริการตามจริงแทน โดยเอสไอเอสจะถือเป็นผู้ให้บริการคลาวด์ในประเทศรายแรกๆ ที่ให้บริการในลักษณะนี้
แม้บริการคลาวด์อาจถูกมองเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย แต่ในต่างประเทศมีการพิสูจน์แล้วว่าบริการคลาวด์ช่วยให้องค์กรมีความสามารถในการปรับตัวได้ดีในการใช้ทรัพยากร ทั้งสำหรับการประมวลผล การจัดเก็บ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานและอื่นๆ ซึ่งด้วยการเข้าถึงระบบนิเวศที่เติบโตอย่างรวดเร็วของผลิตภัณฑ์คลาวด์ในแบบ on-demand นี้เอง องค์กรต่างๆ เข้าถึงทั้งความคล่องตัว ทั้งความสามารถในการปรับเพิ่มขนาดระบบการทำงาน ทั้งยังประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งทั้งหมดจำเป็นต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมทั้งกระตุ้นการดำเนินการการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (digital transformation)
วันนี้ เอสไอเอสยังไม่ใช่ผู้ให้บริการคลาวด์รายใหญ่ที่สุดของไทยแม้จะลงทุนมาแล้วหลายสิบล้านบาท เบื้องต้น สมชัยระบุว่าได้รับอนุมัติให้ลงทุนเต็มที่ในธุรกิจคลาวด์ สำหรับการเริ่มให้บริการแบบเช่าใช้รายชั่วโมง บริษัทมองว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อระยะเวลาคุ้มทุนที่อาจจะยืดยาว เบื้องต้นมีการสำรองเงินบนความมั่นใจว่าธุรกิจบริการคลาวด์จะไปได้ดี โดยเฉพาะการขยายไปประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค เช่น ลาวที่เริ่มธุรกิจไปบ้างแล้ว