เดลล์ เทคโนโลยีส์ (Dell) เปิดปี 64 ด้วยการประกาศตัวผู้ให้บริการระบบคลาวด์ (Cloud Service Providers หรือ CSPs) ชั้นนำ 6 รายในประเทศไทย ควงเอไอเอส คลาวด์ เอชเอ็ม เอ็นทีที โปรเอ็น คอร์ป เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น และแทนเจอรีน มั่นใจการเพิ่มจำนวนจาก 2 รายในช่วง 3 ปีก่อนมาเป็น 6 รายในปี 64 นั้นไม่มากเกินไป เพราะตลาดคลาวด์ไทยมีความพร้อมบนแนวโน้มสดใส คาดการเติบโตตลาดปีนี้อยู่ในระดับพอสมควร ท่ามกลางโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้องค์กรต้องหาทางรับมือกับเหตุไม่คาดฝัน ก่อนจะไม่มีที่ยืนหากไม่พร้อมเท่าที่ควร
นายนพดล ปัญญาธิปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ประจำประเทศไทย เดลล์ เทคโนโลยีส์ กล่าวถึงวิสัยทัศน์เพื่อรุกตลาดคลาวด์เต็มรูปแบบในประเทศไทยในปี 64 ว่า เดลล์ได้มีการศึกษาตลาดไฮบริดคลาวด์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทมีการทำงานกับ 2 พันธมิตรผู้ให้บริการคลาวด์ในประเทศไทยมาก่อนหน้านี้ แม้จะสามารถทำตลาดได้ดี แต่ก็ไม่เติบโตมากเท่ากับช่วงปี 63 ที่เกิดวิกฤตจนตลาดคลาวด์เติบโตเป็นพิเศษ สำหรับปี 64 บริษัทได้ตั้ง 6 พันธมิตร CSP โดยมองว่าแต่ละรายมีจุดแข็งและโอกาสในการเข้าถึงตลาดที่ไม่เหมือนกัน มั่นใจว่าทุกรายจะสามารถให้ทางเลือกที่องค์กรต้องการลงทุนคลาวด์ตามปริมาณการใช้งาน (consumption-based) และในรูปแบบ as-a-service ที่รองรับเศรษฐกิจแบบ on-demand และสภาพแวดล้อมการทำงานจากระยะไกล (remote work)
“การตั้งพันธมิตร CSP ทั้ง 6 ราย ไม่ได้ทำให้ไทยมี CSP จำนวนมากที่สุดในอาเซียน เราไม่เปรียบเทียบกันเพราะเป็นการวางแผนตามความต้องการของตลาด โดยพิจารณาคู่กับความพร้อมของพาร์ตเนอร์ โอกาสและความพร้อมจึงเป็น 2 แกนที่เราใช้พิจารณาพันธมิตร CSP ในไทย เรามีการทำงานใกล้ชิดกับพันธมิตร เมื่อมีวัตถุประสงค์ที่ตรงกันจึงทำให้สามารถเปิดธุรกิจร่วมกันได้ เช่นเดียวกับประเทศอื่นในอาเซียนที่เดลล์มีพันธมิตรลักษณะนี้อยู่แล้ว เนื่องจากเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก”
6 CSP ที่เดลล์ เทคโนโลยีส์ลงนามข้อตกลงประกอบด้วย เอไอเอส คลาวด์ เอชเอ็ม เอ็นทีที โปรเอ็น คอร์ป เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น และแทนเจอรีน ในการทำงานร่วมกัน ทั้งหมดจะตอบวิสัยทัศน์ของเดลล์ที่มองเห็นโอกาสในการขยายบริการเพื่อให้บริการลูกค้าได้ดียิ่งขึ้นในปีนี้ โดยเฉพาะการให้บริการในแบบ as-a-service บน Dell Technologies Cloud Platform ที่รองรับทั้งพับบลิกและไพรเวตคลาวด์
ใช้เท่าไหร่ จ่ายเท่านั้น
ด้วยพันธมิตร CSP 6 รายที่เดลล์เปิดตัว ทุกรายจะสามารถช่วยให้ลูกค้าย้ายเวิร์กโหลดทั้งแบบเก่าและแบบใหม่ข้ามผ่านไพรเวตและพับบลิกคลาวด์ สามารถทำงานแบบไฮบริดคลาวด์ที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายลง ความร่วมมือนี้จะช่วยเสริมความแกร่งให้แก่สายผลิตภัณฑ์โซลูชันที่สมบูรณ์เป็นรูปแบบ as-a-service ที่ครอบคลุมองค์กรทุกอุตสาหกรรม ทุกขนาด
"การมี CSP ที่ทำระบบคลาวด์ในประเทศและมีการสร้างอินฟราสตรักเจอร์เอาไว้แล้ว จะรองรับให้ลูกค้าที่ทำไพรเวตคลาวด์ สามารถนำไปอยู่บนพับลิกคลาวด์ของพันธมิตรได้” นพดล อธิบาย “CSP ไม่เพียงให้พับลิหคลาวด์ที่ต่อยอดเป็นไพรเวตได้ แต่เราจะต่อยอดให้ลูกค้าทำคลาวด์แบบ pay per use ได้ด้วย CSP จะพร้อมเข้ามาช่วยดูแลวางภาพโซลูชันโดยรวม ให้เกิดบริการที่สามารถจัดการกับเวิร์กโหลดดั้งเดิม เช่น แบ็กออฟฟิศ และคลาวด์เนทีฟใหม่ได้ในแพลตฟอร์มเดียว"
ผู้บริหารเดลล์ย้ำว่า กลยุทธ์ของบริษัทคือการนำสิ่งที่ดีที่สุดของพับบลิกคลาวด์เข้าสู่ดาต้าเซ็นเตอร์ และนำสิ่งที่ดีที่สุดของดาต้าเซ็นเตอร์มาสู่พับบลิกคลาวด์ โดยจะมุ่งทำมัลติคลาวด์ใช้แบบไฮบริดได้ สร้างความมั่นใจให้องค์กรจัดการข้อมูลบนคลาวด์ได้ง่าย ทั่วถึง และปลอดภัย บนจุดเด่นคือการบริหารทุกคลาวด์ได้ในที่เดียว
จากข้อมูลของบริษัทวิจัยพีดับลิวซี (PwC Thailand) พบว่า การเกิดขึ้นของโควิด-19 กระตุ้นให้บริษัทไทยกว่า 50% หันมาใช้บริการบนคลาวด์กันในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้งานไฮบริดคลาวด์ที่สามารถเข้ามารองรับสภาพแวดล้อมของการทำงานจากระยะไกล (remote work) ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ PwC คาดว่าแนวโน้มนี้จะยังคงดำเนินต่อไปเนื่องจากบริการคลาวด์มอบทั้งความปลอดภัยและความคล่องตัวที่ธุรกิจต้องการในการรับมือกับวิกฤต
เดลล์เรียกแพลตฟอร์มไฮบริดคลาวด์ตัวเองว่า “Dell Technologies Cloud” นายประหยัด รุ่งสมัยทอง ผู้อำนวยการฝ่าย Presale เดลล์ เทคโนโลยีส์ ประเทศไทย ระบุว่า จุดเด่นของระบบคลาวด์จากเดลล์คือความยืดหยุ่น คล่องตัว ง่าย และบริหารในที่เดียว ครบทั้งการนำเสนอประสบการณ์การใช้งานแพลตฟอร์มคลาวด์ที่สอดคล้องกันในสภาพแวดล้อมระบบคลาวด์ทุกรูปแบบ ครอบคลุมตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานแบบไพรเวต คลาวด์ พับบลิก คลาวด์ ไปจนถึงการใช้งานที่พื้นที่ที่เป็นปลายทาง (Edge locations) เพื่อขจัดไซโล (silos) และความซับซ้อนของคลาวด์จำนวนมากผ่านศูนย์กลาง (hub) การปฏิบัติงานหน้าจอเดียว ทำให้เกิดเป็นไฮบริดคลาวด์ที่สอดคล้องกัน องค์กรธุรกิจจะสามารถตอบสนองสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไปได้เร็ว ยืดหยุ่น และสามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างเหมาะสม
คุ้มทุนใน 6 เดือน
เดลล์ยกข้อมูลจากฟอร์เรสเตอร์ (Forrester) มาโชว์ว่าลูกค้าที่ใช้ Dell Technologies Cloud ในระยะเวลา 3 ปีขึ้นไปสามารถเห็นผลตอบแทนจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 170% และเรียกคืนค่าใช้จ่ายได้ภายในระยะเวลาไม่ถึง 6 เดือน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรูปแบบ as-a-service ที่เดลล์ร่วมมือกับผู้ให้บริการคลาวด์ ทำให้องค์กรสามารถลงทุนในรูปแบบค่าบริการตามการใช้งาน ทั้งองค์กรธุรกิจขนาดกลาง-ขนาดเล็ก (SMBs) ไปจนถึงระดับเอนเทอร์ไพรซ์ในทุกอุตสาหกรรม ตลอดจนถึงภาครัฐและเอกชน
เบื้องต้น ผู้บริหารเดลล์ไม่เปิดเผยถึงเป้าหมายจำนวน CSP ว่าตั้งใจเปิดตัวกี่ราย แต่ระบุว่า CSP เติบโตสูงมากเนื่องจากตลาดขยายตัว การวิจัยของไอดีซี (IDC) พบว่าภายในปี 67 มูลค่าตลาดคลาวด์ไทยจะเติบโตเป็น 15,000 ล้านบาท ถือว่าสูงมาก ซึ่งหากเดลล์พบว่ามีความต้องการที่เติบโตยิ่งขึ้น ก็จะต้องวางแผนใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการให้ได้มากที่สุด
CSP แต่ละรายจะไม่แย่งกัน โดยการแบ่งตลาดของ CSP จะแบ่งตามความเชี่ยวชาญซึ่งเดลล์ระบุว่า ทุกรายต่างมีลูกค้าอยู่แล้ว และสามารถต่อยอดไปเป็นคลาวด์เซอร์วิสได้ทันที บางบริษัทมีลูกค้าเป็นธุรกิจเฉพาะกลุ่มที่ไม่เหมือนใคร ขณะที่บางบริษัทมีลูกค้าเป็นองค์กรใหญ่ เอนเทอร์ไพรซ์ และธนาคาร เชื่อว่าแต่ละ CSP จะสามารถเจาะได้หมดทุกระดับ
แม้ในประเทศไทยจะยังไม่มีการสำรวจสัดส่วนลูกค้ามัลติคลาวด์ที่แน่ชัด แต่ผู้บริหารระบุว่า กลุ่มลูกค้าเกือบทั้งหมดมองว่า “การมีคลาวด์เดียวนั้นทำธุรกิจไม่ได้” เบื้องต้นการสำรวจระดับโลกพบว่า 93% ของผู้ใช้คลาวด์ส่วนใหญ่จะใช้งานคลาวด์มากกว่า 2 ระบบ สำหรับประเทศไทยเชื่อว่ายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของมัลติคลาวด์ ดังนั้น ไทยจึงยังมีโอกาสงามรออยู่ในตลาด และพันธมิตรทุกรายจะเข้าไปช่วยตอบโจทย์ในการสร้างมัลติคลาวด์ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะต้องวางแผนให้ดีตั้งแต่ต้น จึงจะทำงานได้ลื่นไหล
ผู้บริหารยืนยันว่า การเปิดตัว CSP ในไทยไม่ได้สำคัญที่จำนวน แต่จุดหลักที่เดลล์ให้น้ำหนักมากกว่าคือ CSP ทุกรายมี “รูม” ที่ยังสามารถเติบโตได้อีกมาก เพราะทุกรายมีจุดแข็งครอบคลุมตลาดโดยรวมซึ่งไม่เหมือนกัน สิ่งที่เดลล์ได้เรียนรู้ในธุรกิจคลาวด์ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาทำให้มีการพัฒนาโมเดลและรูปแบบการทำตลาดที่ตอบโจทย์ยิ่งขึ้น
โตเต็มที่ปี 64
เมื่อถามถึงภาพรวมการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจคลาวด์ของเดลล์ ผู้บริหารมั่นใจว่าบริษัทมีความพร้อมและตลาดก็มีแนวโน้มที่ดีทั่วโลก ปี 64 จึงคาดว่าจะทำให้เกิดการเติบโตพอสมควร เห็นได้ชัดจากการสำรวจเรื่องความพร้อมที่พบว่าองค์กรไทยมีความพร้อมมากขึ้น ขณะเดียวกัน มีตัวเร่งเรื่องโควิด-19 และความต้องการเตรียมพร้อมของหลายองค์กร เพื่อรับมือกับเหตุคาดฝันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
นายสมชัย สิทธิชัยศรีชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า 2 กลุ่มเป้าหมายหลักของความร่วมมือครั้งนี้ คือ กลุ่มองค์กรที่ใช้ SAP อยู่แล้ว เนื่องจากกลุ่มนี้เห็นความยุ่งยากในการจัดการช่วงระยะหลัง ซึ่งต้องใช้อุปกรณ์ที่ซับซ้อน ทำให้ต้องมีการลงทุนสูงขึ้น แต่เมื่อโควิด-19 ทำให้เกิดความผันผวนด้านเศรฐกิจ องค์กรจึงอยากเลือกวิธีการลงทุนที่คล่องตัว
“กลุ่มนี้เชื่อว่าจะมีขนาดมากเป็นพิเศษ กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ในประเทศไทย ก่อนนี้ทุกอย่างอยู่ที่การขายซอฟต์แวร์ แต่ขณะนี้ซอฟต์แวร์ถูกนำมาวิ่งบนคลาวด์แล้วสามารถให้บริการได้เลย ลูกค้ากลุ่มนี้จะชอบเพราะว่าสามารถตอบความต้องการได้แง่การให้บริการ และการใช้บริการที่สะดวกกว่าเดิม”