ฟังวิสัยทัศน์ ‘สเตฟาน นูสส์’ ประธานกลุ่มคลัสเตอร์ ผู้ขยับมาดูแลประเทศไทย ลาว และพม่าให้ ‘ชไนเดอร์ อิเล็คทริค’ (Schneider Electric) หลังจากสะสมประสบการณ์หลายปีจากหลากประเทศ สำหรับปีนี้ ชไนเดอร์มีแผนจะใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งของตัวเองในการผลักดันให้ตลาดไทยเติบโต โดยเฉพาะธุรกิจขนาดย่อม หรือ SME ที่คิดเป็นสัดส่วน 90% ของบริษัทในประเทศ ซึ่งหากผลักดันให้ SME ไทยทำดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันจนลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้สำเร็จเมื่อไร เมื่อนั้น ชไนเดอร์เชื่อว่าจะเกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายทั้งในประเทศไทยและโลกใบนี้
ความแข็งแกร่งที่ชไนเดอร์มั่นใจนั้นมีหลายจุด หนึ่งในนั้นคือ ชไนเดอร์ถูกจัดอันดับให้เป็นบริษัทที่ ‘ยั่งยืน’ ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในโลกประจำปี 2020 ที่ผ่านมา ชไนเดอร์วางตัวเป็นผู้จัดการให้คลังสินค้าของหลายบริษัทสามารถได้การรับรองเรื่องสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน ก็เจาะเซกเมนต์ย่อยเรื่องบริการจัดการพลังงานในธุรกิจหลายขนาดที่ต้องการลดความเสี่ยงเวลาหยุดทำงาน หรือต้องการระบุปัญหาก่อนอุปกรณ์ไฟฟ้าจะเกิดความเสียหาย รวมถึงผู้บริโภคทั่วไปที่ไม่ต้องการรับความเสียหายจากไฟฟ้าขัดข้อง ทำให้ทุกคนหมดห่วงเรื่องปัญหาไฟตก ไฟกระชากจะทำร้ายอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีทั้งตู้เย็น ตู้แช่ หรืออุปกรณ์อื่น
เบื้องต้น สเตฟานย้ำว่า การลงทุนของชไนเดอร์ในช่วงปี 64 จะเน้นหนักที่การพัฒนากรีนโซลูชันเพื่อรักษ์สิ่งแวดล้อม เบื้องต้นตั้งเป้าให้ 80% ของรายได้บริษัทมาจากธุรกิจกรีนโซลูชัน เพิ่มจาก 70% ของรายได้ปัจจุบันที่ทำได้ในทุกวันนี้
***ฝังอยู่ใน DNA
แนวโน้มการลงทุนปี 64 มาจากตัวตนของชไนเดอร์ เรื่องนี้ สเตฟาน นูสส์ ประธานกลุ่มคลัสเตอร์ ดูแลประเทศไทย ลาว และพม่า ชไนเดอร์ อิเล็คทริค อธิบายว่า ภารกิจเรื่องความยั่งยืนนั้นไม่ใช่ ‘เรื่อง on top’ หรือกิจกรรมรองที่ชไนเดอร์เลือกชูขึ้นมาแค่ผิวเผิน แต่ความมุ่งมั่นนี้ฝังอยู่ใน DNA ด้วยฐานะกิจกรรมหลักของบริษัทอย่างเหนียวแน่น
สถิติล่าสุดพบว่า ชไนเดอร์สามารถช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่โลกได้รวม 134 ล้านตันแล้วโดยรายได้มากกว่า 70% ของบริษัทมาจากหลายบริการโซลูชันที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม จุดเด่นของชไนเดอร์บวกกับประสบการณ์ 15 ปีทำให้บริษัทได้รับเลือกเป็นบริษัทที่ยั่งยืนที่สุดในโลก ซึ่งคัดเลือกจาก 8,000 บริษัททั่วโลก
วันนี้ ชไนเดอร์เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจใน 100 ประเทศ มีพนักงานรวม 135,000 คน ธุรกิจที่โฟกัสประกอบด้วย 2 ด้านคือ ด้านจัดการพลังงานและการให้บริการระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรม ธุรกิจหลังนั้นครอบคลุมการทำดิจิทัลทรานฟอร์เมชัน เช่นระบบ IoT และอีกหลายระบบที่จะพาให้ธุรกิจก้าวไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 อย่างยั่งยืน ชไนเดอร์มีลูกค้าใหญ่ 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอาคาร ดาต้าเซ็นเตอร์ อุตสาหกรรม และระบบโครงสร้างพื้นฐาน
ชไนเดอร์ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมาหลายสิบปี มีตัวแทนจำหน่าย รวมถึงพันธมิตรที่เป็นบริษัทออกแบบและรับงานระบบ มีการร่วมกันวิจัยนวัตกรรมใหม่ รวมถึงการพัฒนาซอฟต์แวร์ และกำลังจะลุยตลาดงานอาคารอัจฉริยะ รถไฟฟ้า รวมถึงระบบที่รองรับเทคโนโลยีทันสมัยอย่าง 5G
แต่ทุกอย่างก็ชะงักไปในช่วงปี 63 ปีที่ยากลำบากของหลายธุรกิจซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สำหรับชไนเดอร์นั้นมองว่าเป็นปีที่น่าจดจำ เพราะแม้โควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อโลก แต่โลกก็สามารถตอบสนองได้เร็ว มีการพัฒนาวัคซีนได้ภายใน 10 เดือน มีการพัฒนาก้าวกระโดดด้านรถไฟฟ้า และการขยายตัวก้าวกระโดดของอีคอมเมิร์ซ
***โควิด-19 ตัวเร่งชั้นดี
สเตฟานมองว่า หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงของปี 63 คือการมีตัวเร่งที่ผลักดันให้ทุกคนเข้าถึงดิจิทัลมากขึ้นในทุกกิจกรรมที่ทำ ทั้งการทำงานจากบ้าน พฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ และอีกหลายความเปลี่ยนแปลงที่ตอกย้ำคำว่า ‘digital จะมีอยู่ในทุกที่’ ตั้งแต่ปี 63 เป็นต้นไป
นี่จึงเป็นโอกาสของชไนเดอร์ ซึ่งชูตัวเองเป็นบริษัทระดับโลกที่สามารถจัดการพลังงานเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลโดยเน้นความยั่งยืน
ผู้บริหารอธิบายว่า ภาวะเช่นนี้ทำให้ธุรกิจชไนเดอร์เติบโตดีมาก โดยเฉพาะไทยที่ภาพรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มกลับมาดีอีกครั้ง ขณะที่ดิจิทัลทรานฟอร์เมชันก็มีเซกเมนต์ตลาดองค์กรไทยที่เติบโตดี รวมถึงอีคอมเมิร์ซแดนสยามที่ขยายตัวชัดเจนระหว่างช่วงโควิด-19
‘ปี 63 เป็นปีที่น่าจดจำของเราใน 4 ด้าน ด้านแรกคือ ราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้น 29% ดีที่สุดในอุตสาหกรรม เป็นที่นิยมของนักลงทุนทั่วโลก ด้านที่ 2 คือแม้ยอดขายจะลดลง 4.7% แต่ก็เป็นผลประกอบการที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับผู้ให้บริการในตลาดรวม ด้านที่ 3 คือการเร่งเพิ่มจำนวนผลิตภัณฑ์เพื่อเชื่อมโยงคลาวด์ ทำให้บริษัทได้รับความไว้วางใจให้ทำดาต้าเซ็นเตอร์และให้บริการโซลูชันในหลายพันธมิตร เช่น ธุรกิจด้านอีคอมเมิร์ซที่ขยายเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าตัว และด้านที่ 4 คือการได้รับยกย่องว่าเป็นบริษัทที่ยั่งยืนที่สุดในโลก’
การสำรวจพบว่า ยอดขายของบริษัทไทยในช่วงปี 63 นั้นหดตัวเฉลี่ย 6.1% แปลว่าบริษัทสามารถทำผลประกอบการได้ดีกว่าตลาด ขณะเดียวกันก็ทำประสิทธิภาพได้ดีกว่าตัวเลข GDP ประเทศ ปัจจัยส่งเสริมคือตลาดที่กำลังเปลี่ยนผ่านมาสู่ยุคดิจิทัล
ขณะที่การได้ตำแหน่งแชมป์อันดับ 1 ด้านความยั่งยืนของโลก สเตฟาน มองว่า เป็นเพราะบริษัทดำเนินการด้านความยั่งยืนต่อเนื่องมา 15 ปีแล้ว แน่นอนว่าตำแหน่งนี้ไม่ได้เป็นผลดีกับธุรกิจเรื่องความไว้วางใจในชไนเดอร์มากขึ้นเท่านั้น แต่เป็นผลดีกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับชไนเดอร์ ทั้งซัปพลายเออร์และพนักงาน
ในช่วงปี 63 ชไนเดอร์ อิเล็คทริค วางแผนเตรียมการสำหรับอนาคตโดยลงทุนซื้อกิจการบริษัทหลายแห่ง เพื่อมาช่วยต่อยอดศักยภาพด้านการจัดการพลังงานและโซลูชันซอฟต์แวร์ ที่ช่วยเติมเต็มรูปแบบการดำเนินงานในอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยเรียกว่า ‘4x Integration’ ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญของ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค
4 กลยุทธ์ที่ชไนเดอร์จะยึดเพื่อจัดการพลังงานคือการผสานระบบพลังงาน เข้ากับระบบอัตโนมัติ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของดิจิทัลทรานฟอร์เมชัน การเชื่อมต่อเต็มรูปแบบให้โครงสร้างพื้นฐานทำงานเต็มที่โดยใช้โซลูชันของบริษัทอย่าง EcoStruxure ตั้งแต่ในพื้นที่โรงงาน หรือจุดที่ใช้งานไปยังคลาวด์ การออกแบบระบบควบคุมวงจรใช้งาน ไปจนถึงการบำรุงรักษา และการเน้นบริหารจัดการผ่านศูนย์ครบวงจรขององค์กรในที่เดียว
ที่สุดแล้ว ชไนเดอร์มองว่าบริษัทมีโอกาสเติบโตที่แข็งแกร่ง ทำให้บริษัทวางเป้าหมายจะเติบโตให้เร็วกว่าตลาด บนวัตถุประสงค์คือการช่วยให้ทุกคนเข้าถึงและใช้พลังงานเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุด ตามสโลแกน ‘life is on’ ที่ชไนเดอร์โปรโมตต่อเนื่อง
***6 พันธกิจปี 64
สำหรับปี 64 บริษัทจะใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งผลักดันให้ธุรกิจเติบโต ผ่าน 6 พันธกิจที่จะเน้นการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน คู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรด้วยโซลูชันดิจิทัลเพื่อโลก โดยไม่ลืมสร้างความเชื่อใจให้ลูกค้าชไนเดอร์รู้สึกถึงความปลอดภัย พร้อมกับสนับสนุนความหลากหลายและความเท่าเทียมในสังคม รวมถึงการรองรับประชาชนทุกรุ่นทุกเจเนอเรชัน และสุดท้ายคือการสร้างความยั่งยืนที่จับต้องได้ให้แก่คนทั้งโลก ไม่ใช่ประเทศใดประเทศหนึ่ง
ในส่วนของประเทศไทย สเตฟานมั่นใจว่าชไนเดอร์ไทยมีบุคลากรที่เข้มแข็ง ทำให้มั่นใจว่าจะไปสู่ภาพรวมธุรกิจที่ดียิ่งขึ้นอีกในปี 64 โดยที่ผ่านมา ชไนเดอร์มีความร่วมมือด้านดาต้าเซ็นเตอร์กับหลายบริษัทในไทย ทั้ง WHA ผู้ให้บริการระบบโลจิสติกส์และอุตสาหกรรมรายใหญ่ และบริษัทอีสท์วอเตอร์ ผู้สูบจ่ายน้ำในภาคตะวันออกที่เน้นธุรกิจบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศไทย
‘บุคลากรไทยมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว ทีมงานไทยมีความเป็นมืออาชีพ และโควิด-19 ไม่ได้ทำให้บริษัทอ่อนแอลง ตรงกันข้าม ธุรกิจของชไนเดอร์แข็งแรงขึ้น โพสิชันในตลาดก็ยังโดดเด่นและแตกต่างจากรายอื่น โดยเฉพาะธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ซึ่งได้รับแรงผลักดันมากจากโควิด-19 ทำให้ธุรกิจเติบโตมากกว่าเดิม’
สำหรับธุรกิจในพม่า สเตฟาน ระบุว่าไม่สามารถวิจารณ์ทางการเมืองถึงสถานการณ์พม่า แต่ยอมรับว่าได้รับผลกระทบหลักเรื่องบุคลากร เนื่องจากบริษัทมีพนักงานในพม่า 40 คน ซึ่งต้องดูแลต่อเนื่อง
แผนการลงทุนของชไนเดอร์ในปีนี้ คือการเน้นพัฒนาโซลูชันที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมโลกหรือกรีนโซลูชัน โดยจากที่ 70% ของรายได้ชไนเดอร์วันนี้มาจากกรีนโซลูชัน ทิศทางของบริษัทในปีนี้คือการทำให้มีโซลูชันด้านความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อการทำดาต้าเซ็นเตอร์ที่ดีต่อโลก เบื้องต้นบริษัทวางเป้าว่าจะเพิ่มสัดส่วนจาก 70% ให้เป็น 80% ที่ทำรายได้จากกรีนโซลูชัน และจะพัฒนาต่อไปโดยจะเน้นการนำดิจิทัลมาช่วยเพื่อให้ธุรกิจปรับตัวด้านความยั่งยืนได้ดีขึ้น
ขณะนี้ ชไนเดอร์ทำโครงการเพื่อสังคมในประเทศไทยหลายด้าน โดยเฉพาะโครงการในพื้นที่ที่เข้าไม่ถึงไฟฟ้า ยังมีความร่วมมือกับโรงเรียนเพื่อจัดคอร์สอบรมให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เบื้องต้น ปีนี้บริษัทตั้งเป้ารับผิดชอบต่อสังคมและต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่โลกให้ได้เพิ่มขึ้นอีก 20% ภายใน 3 ปี
***ลุยดิจิทัลทรานฟอร์เมชัน
สเตฟาน มองว่า การผลักดันธุรกิจชไนเดอร์ในไทยเป็นเรื่องเรียบง่าย นั่นคือการเน้นไปที่ด้านดิจิทัลทรานฟอร์เมชัน ซึ่งตลาดไทยมีความพร้อมและมีการเติบโตที่มั่นคง
‘ชไนเดอร์มองที่ลูกค้าเป็นหลัก บริษัทพร้อมจะหนุนลูกค้าให้ทำดิจิทัลทรานสฟอร์เมชัน นี่เป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ เพราะว่าตลาดเมืองไทยมีความพร้อม มีหลายส่วนพร้อมที่จะทำดาต้าเซ็นเตอร์ ไทยมีโครงการมากมายทั้ง EEC มีโครงข่าย 5G ซึ่งไม่เพียงเอกชน ภาครัฐก็พร้อมเปลี่ยนสู่ดิจิทัล เช่น ดีป้า และการสนับสนุนเรื่องสมาร์ทซิตี มีการวางกลยุทธ์หลายด้าน ซึ่งธุรกิจของชไนเดอร์นั้นสอดคล้องกับแนวโน้มในไทย และสนับสนุนองค์กรในเรื่องเดียวกัน’
ชไนเดอร์เชื่อว่าแม้จะมีวัคซีนโควิด-19 แล้ว ผู้คนก็จะยังเวิร์กฟอร์มโฮม และให้ความสำคัญกับความยั่งยืนต่อไป โดยหลายคนหลายองค์กรพร้อมจะสนับสนุนเรื่องนี้ โดยเฉพาะ SME ที่สเตฟานมองเป็นความท้าทายหลัก
‘การทำอย่างไรให้ SME ทำดิจิทัลทรานฟอร์เมชันได้ รวมถึงการทำให้ SME มีความรู้ในการตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน ทั้งหมดต้องได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่านี้’ สเตฟานระบุ ‘ไม่ใช่ว่า SME เป็นกลุ่มเซกเมนต์ที่เปิดใจยาก แต่ดิจิทัลทรานฟอร์เมชันจำเป็นต้องร่วมกันหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ หน่วยงานการไฟฟ้า และภาคการผลิต บริษัทขนาดใหญ่เริ่มทำแล้ว และผู้บริหารแต่ละคนมีวิสัยทัศน์เรื่องความยั่งยืน จึงยังมีความท้าทายว่าจะทำอย่างไรให้บริษัทเล็กมีวิสัยทัศน์และมีทิศทางเดียวกัน’
ปัจจุบัน กว่า 90% ของบริษัทในไทยเป็น SME หากชไนเดอร์ทำภารกิจนี้สำเร็จ บริษัทเชื่อว่าจะเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย สำหรับไทย สเตฟาน มองว่าข้อดีคือความนิยมใช้เทคโนโลยีที่แพร่หลายอยู่แล้ว เห็นจากการใช้โทรศัพท์มือถือมากกว่า 1 เครื่องต่อ 1 คน แถมคนไทยยังมีการใช้อินเทอร์เน็ตมากมายมหาศาล ที่สำคัญยังตั้งอยู่ในตำแหน่งศูนย์กลางของภูมิภาค
สเตฟานหยอดคำหวานว่า ดีใจที่ได้ดูแลตลาดไทย ซึ่งพนักงานและผู้คนมีความเป็นมิตร โดยเล่าว่าจากที่เคยทำงานที่ตุรกีและหลายประเทศ พบว่าไทยแตกต่างจากประเทศอื่นโดยเฉพาะเรื่องปัจจัยพื้นฐาน เช่น การก่อสร้างถนน รถไฟ ซึ่งเด่นไม่แพ้เรื่องความพร้อมด้านดิจิทัลทรานฟอร์เมชัน ความนิยมใช้อินเทอร์เน็ต และตำแหน่งของประเทศที่เป็นศูนย์กลางขนส่งสินค้า
ส่วนตัวของสเตฟาน ที่เคยดูแลหน่วยธุรกิจที่สิงคโปร์ด้านการตลาดทั้งภูมิภาค การย้ายมาเป็นคลัสเตอร์ในตลาดไทย จะทำให้สามารถเชื่อมต่อกับทีมไทยได้เหนียวแน่นขึ้น และสานต่อมุมมองการทำดิจิทัลทรานฟอร์เมชันและความยั่งยืน ที่สเตฟาน ระบุว่า จะต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายอย่างจริงจัง จึงจะผลักดันให้ดิจิทัลทรานฟอร์เมชันเกิดขึ้นได้