xs
xsm
sm
md
lg

'AIS 5G' บุกภาคอุตสาหกรรม หลังกดปุ่มเปิดใช้คลื่น 26 GHz (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เป็นเวลา 1 ปีแล้วนับตั้งแต่ AIS เริ่มเปิดให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ในประเทศไทยสำหรับกลุ่มลูกค้าผู้บริโภคทั่วไป นับตั้งแต่ทาง กสทช. ออกใบอนุญาตคลื่นความถี่ 2600 MHz ให้ทางเอไอเอสที่พร้อมกดปุ่มให้บริการ ทำให้จนถึงปัจจุบัน 'ประเทศไทย' ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในประเทศที่มี 5G ให้ใช้งานกันทั่วประเทศ

การลงทุนเครือข่าย 5G ของโอเปอเรเตอร์ในปีที่ผ่านมา ทำให้เห็นภาพของการนำไปใช้งานในกลุ่มของผู้บริโภคทั่วไปมากยิ่งขึ้น จากความสามารถของคลื่นความถี่ย่านกลางอย่าง 2600 MHz ที่ให้ทั้งความเร็ว และระยะในการให้บริการที่ครอบคลุม ต่อเนื่องมายังการนำคลื่นความถี่ 700 MHz มาเสริมให้ความครอบคลุมของ 5G เพิ่มมากขึ้นไปอีก

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ในช่วงปีที่ผ่านมา 5G ในฝั่งของผู้ใช้งานทั่วไปได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี คือการที่บรรดาผู้ผลิตสมาร์ทโฟนทยอยนำดีไวซ์ที่รองรับการใช้งานเข้ามาวางจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่เครื่องระดับราคา 1 หมื่นบาท ไปจนถึง 5 หมื่นบาท ซึ่งจุดที่ทำให้เกิดการใช้งานในวงกว้างมากที่สุดคงหนีไม่พ้น iPhone 12 ที่เข้ามาเปลี่ยนภาพของการเชื่อมต่อ 5G ให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างเต็มประสิทธิภาพ

กลับกันในฝั่งของภาคอุตสาหกรรม เอไอเอส ได้มีการเริ่มทดลองทดสอบนำ 5G ไปใช้งานในภาคอุตสาหกรรมที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการนำ 5G เข้าไปวางเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางไอซีทีการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ สวนอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ให้สามารถยกระดับภาคการผลิตต่างๆ เพื่อเตรียมรับมือกับอุตสาหกรรม 4.0 ที่จะเกิดขึ้น

จนถึงการมาของ 5G บนคลื่นความถี่ 26 GHz หรือระดับ mmWave ที่ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะมาช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่ภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็น 5G ที่เหมาะกับการใช้งานภายในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวว่า คลื่น 5G 26 GHz จะเป็นคลื่นความถี่ที่เป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนในการนำไปพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยให้ดีขึ้น ด้วยการนำ 5G ไปใช้ให้เกิด Use Case ได้อย่างจริงจัง

โดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา AIS ใช้เงินลงทุนราว 35,000 ล้านบาท ในการลงทุน 4G, 5G และฟิกซ์บรอดแบนด์ ทำให้สามารถให้บริการ 5G ได้ครบทั้ง 77 จังหวัด ในเดือนกรกฎาคม 2563 โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีดีไวซ์ที่รองรับ และปริมาณความต้องการในการใช้งานที่สูงขึ้น

'ที่ผ่านมา AIS ย้ำมาตลอดว่า 5G จะเกิดขึ้นอย่างจริงๆ จังๆ ในอีก 2 ปีข้างหน้า เมื่อดีไวซ์ และแอปพลิเคชันต่างๆ รองรับการใช้งานในวงกว้าง แต่ในมุมของ AIS ไม่สามารถรอให้ถึงเวลานั้นแล้วค่อยพัฒนาโครงข่ายได้'

สำหรับในปีนี้ AIS วางงบลงทุนสำหรับ 5G และฟิกซ์บรอดแบนด์ไว้ราว 25,000-30,000 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายที่จะใช้โครงข่ายดิจิทัลร่วมกันพัฒนาประเทศไทยให้ดีขึ้น พร้อมกับพันธมิตรทางธุรกิจในทุกภาคส่วน

ประเดิมด้วยการเข้าไปชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 26 GHz ทำให้ปัจจุบัน AIS เป็นโอเปอเรเตอร์ที่ได้รับใบอนุญาตคลื่นความถี่ 5G ทั้งหมด 1330 MHz แบ่งเป็น 700 MHz จำนวนแบนด์วิธท์ 30 MHz ตามด้วย 2600 MHz แบนด์วิธท์ 100 MHz และ 26 GHz ที่แบนด์วิธท์สูงถึง 1200 MHz

***จุดเด่นของ AIS 5G mmWave


แนวคิดในการนำคลื่นความถี่มาให้บริการ 5G ของ AIS ยังคงนำแนวทางในการใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่ให้เต็มประสิทธิภาพอย่าง Super Block มาใช้งาน เหมือนในยุคของ 4G 1800 MHz การที่มีคลื่นความถี่เต็มผืน 20 MHz จะช่วยให้ใช้งานได้ดีที่สุด พอมาเป็นยุคของ 5G ก็นำแนวทางนี้มาปรับใช้เช่นเดียวกัน

โดยบนคลื่น 2600 MHz จะเป็น Super Block ที่ 100 MHz ในขณะที่ 26 GHz จะเป็น Super Block ที่ 400 MHz นั่นแปลว่า AIS สามารถนำคลื่นความถี่ 26 GHz ที่มีกว่า 1200 MHz มาแบ่งให้บริการในแต่ละโรงงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพถึง 3 Super Block ในช่วงเวลาเดียวกัน

วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ ให้ข้อมูลเสริมถึงการนำ 5G บนคลื่น mmWave อย่าง 26 GHz ที่ออกแบบมาให้นำไปใช้งานในโรงงานอุตสาหกรรมว่า การที่มีคลื่นปริมาณมากพอทำให้ไม่ต้องแชร์ทรัพยากรกับผู้ใช้งานทั่วไปและสามารถปรับแต่งให้เหมาะสมกับการใช้งานแต่ละโรงงานได้

จุดเด่นของ 5G บน 26 GHz คือ เป็นคลื่นความถี่ที่ได้รับใบอนุญาตทำให้ไม่มีการชนกันของคลื่นสัญญาณ เชื่อมต่อได้บนความหน่วงต่ำ ทำให้ตอบรับการใช้งานที่แม่นยำ และที่สำคัญคือการนำไปใช้เป็น 5G Private Network ที่สามารถแยกเน็ตเวิร์ก (Dedicated) ใช้งานเฉพาะพื้นที่ ให้เกิดความปลอดภัย (Secure) ของข้อมูลภายในโรงงานอุตสาหกรรม

สุดท้ายคือ สามารถนำคลื่นความถี่มาแบ่งใช้งานให้เหมาะสม (Optimized) กับแต่ละรูปแบบการใช้งาน ทั้งการส่งข้อมูลปริมาณมหาศาลเพื่อนำไปวิเคราะห์ หรือเน้นที่ความเร็วในการตอบสนอง ซึ่งผู้ให้บริการเครือข่าย และโรงงานอุตสาหกรรมต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด

สมชัย ไทยสงวนวรกุล ประธาน EEC Industrial Forum ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า 5G จะกลายเป็นปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการนำนวัตกรรมเข้ามาใช้งานในยุคของอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อให้คนไทยข้ามพ้นกับดักรายได้ปานกลาง และช่วยให้ทุกคนเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ในลักษณะของการนำนวัตกรรมเข้ามาขับเคลื่อนประเทศ

ที่ผ่านมาในพื้นที่ EEC ก่อนหน้านี้มีการนำ 5G บนคลื่นความถี่ 2600 MHz มาใช้ขยายสัญญาณ แต่ในวันนี้พร้อมแล้วที่จะนำ 5G บนคลื่น 26 GHz มาใช้งาน ที่จะนำประโยชน์ของ 5G มาใช้ในภาคอุตสาหกรรมให้ดีที่สุด

***สู่การนำไปใช้ควบคุมรถ-หุ่นยนต์-สายพานการผลิต


สมชาย งามกิจเจริญลาภ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอสเอ็นซี ฟอร์เมอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมา SNC ถือเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่มองหาการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเชื่อมต่อให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และเชื่อว่า 5G จะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ภาคการผลิตได้อย่างลงตัว

โดยทาง SNC เริ่มมีการนำ AIS 5G ไปประยุกต์ใช้งานใน 3 ส่วนด้วยกัน คือ การใช้ควบคุม และสั่งการรถ AGV (Automated Guided Vehicles) สำหรับขนส่งชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับสายการผลิตภายในโรงงาน และระหว่างโรงงาน ทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และช่วยเพิ่มผลผลิตให้โรงงาน

ถัดมาคือ การนำไปใช้กับ Smart Robot ในการสั่งงานแขนกลหุ่นยนต์ในส่วนของสายการผลิต ซึ่งจะช่วยลดความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากคน และช่วยให้โรงงานมีความปลอดภัยมากขึ้น ลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับมนุษย์ได้ สุดท้ายคือ การนำ 5G ไปใช้เชื่อมต่อระหว่างเซิร์ฟเวอร์ และเครื่องจักร เพื่อให้สามารถตรวจสอบกำลังการผลิต และปรับเปลี่ยนได้แบบเรียลไทม์

'การมี 5G เข้ามาผสมผสานกับโซลูชันต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโรงงานผลิตจะช่วยลดการสูญเสีย ทำให้สามารถวางแผนการผลิต ควบคุมต้นทุนได้ตลอดเวลา และช่วยส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันด้วยนวัตกรรมในโรงงานอุตสาหกรรมด้วย'

ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นของการนำเครือข่าย 5G ไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมในวันนี้ ถือเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของการนำ 5G ไปใช้งานให้เกิดประโยชน์ได้สูงที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น