การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของ ‘ดีแทค’ ตั้งแต่ปี 63 ต่อเนื่องมาถึงปี 64 อย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ เน้นการรักษาฐานลูกค้าในระยะยาว ด้วยการเพิ่มประสบการณ์ใช้งานอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงตามพื้นที่ที่ลูกค้ามีปริมาณการใช้งานเพิ่มขึ้น บนพื้นฐานของการถือครองทรัพยากรคลื่นความถี่ที่จำกัด พร้อมไปกับการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ความยั่งยืน
ผลที่เกิดขึ้นคือ ในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา แม้ว่าจะเจอสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบในทุกอุตสาหกรรม แต่ ‘ดีแทค’ ยังสามารถรักษาฐานลูกค้ารวมไว้ได้ที่ 18.9 ล้านราย ลดลงจากปีก่อนหน้าราว 1.8 ล้านเลขหมาย
โดยส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากกลุ่มนักท่องเที่ยว และแรงงานต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทย ทำให้เมื่อมีการปิดประเทศกลุ่มลูกค้าเหล่านี้ลดลง ส่งผลให้ในช่วงปลายครึ่งปีหลังของปี 2563 ดีแทคเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้าชาวไทยมากยิ่งขึ้น
ชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวถึงเป้าหมายของดีแทคที่ตั้งไว้ในปีนี้ คือ การนำเทคโนโลยีสื่อสารเข้าไปช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่คนไทยทุกคน เพื่อให้สังคมไทยแข็งแกร่งมากขึ้น
‘การนำอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึง และใช้งานได้จะเป็นจุดมุ่งหมายหลักในการทำธุรกิจของดีแทคในปีนี้ จากเทคโนโลยีการสื่อสารทั้ง 5G และ 4G บนระดับราคาที่เหมาะสม รวมถึงการเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงบริการดิจิทัลให้ทุกอย่างง่ายขึ้น’
จากข้อมูลที่ดีแทคทำการสำรวจพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้าชาวไทยในช่วงปีที่ผ่านมา ได้มีการแบ่งกลุ่มลูกค้าออกเป็น 4 กลุ่มด้วยกัน เริ่มจาก 1.เน็ตภูธรหน้าใหม่ (The New Rurals) ที่เห็นปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน จากการย้ายถิ่นฐานของคนเมือง และการใช้งานของชุมชนที่เพิ่มขึ้น
เนื่องจากข้อมูลปริมาณการใช้งานดาต้าในภูมิภาคของดีแทคเพิ่มสูงขึ้นถึง 9 เท่า ขณะเดียวกัน ปริมาณการเข้าถึงสมาร์ทโฟนในภูมิภาคก็เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับในเขตตัวเมือง ทำให้เห็นความจำเป็นในการขยายการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไร้สายให้เพียงพอกับความต้องการของลูกค้า
2.ขยันผ่านเน็ตทางไกล (The Remote Deskers) เมื่อเข้าสู่ยุควิถีชีวิตใหม่ ทำให้กลุ่มผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมีการปรับตัวกับการทำงาน และการเรียนรู้มากขึ้น ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมา แอปพลิเคชันเกี่ยวกับการทำงานร่วมกันอย่าง Zoom และ Google Meets เพิ่มสูงขึ้นถึง 5,050% และ 740% ตามลำดับ
3.อยู่ติดบ้านด้วยเน็ตบันเทิง (The non-stop Streamer) อีกพฤติกรรมที่เกิดขึ้นคือ เมื่ออยู่ในช่วงล็อกดาวน์ ปริมาณการใช้งานแอปเพื่อความบันเทิงในที่พักอาศัยเพิ่มสูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นการดูหนัง ฟังเพลง และชอปปิ้งออนไลน์
4.เน็ตคือหัวใจสำคัญ (The Critical User) สุดท้ายคือกลุ่มที่พึ่งพาระบบการใช้งานของอินเทอร์เน็ตในการปฏิบัติการต่างๆ ทั้งในพื้นที่ให้บริการประชาชน โรงพยาบาล บริการฉุกเฉิน และกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นต้องใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในการให้บริการ
***5G ที่สร้างประโยชน์ได้จริง
เมื่อเห็นถึงกลุ่มลูกค้าที่ใช้งานชัดเจนแล้ว ทำให้ในปีนี้ ‘ดีแทค’ ได้วางแผนลงทุนโครงข่ายอย่างต่อเนื่องด้วยงบลงทุนราว 15,000 ล้านบาท ในการเสริมประสิทธิภาพโครงข่ายทั้ง Massive MIMO เพื่อรองรับปริมาณการใช้งานในพื้นที่เดียวกันให้ดีขึ้น รวมถึงการเปิดให้บริการ 5G
ประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี ดีแทค กล่าวเสริมว่า สิ่งที่ดีแทคเริ่มลงมือทำไปแล้วคือการเปิดให้บริการคลื่นความถี่ 700 MHz ที่ปัจจุบันถูกนำมาใช้งานทั้ง 4G และ 5G เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ตามความต้องการของผู้ใช้งาน
โดยภายในไตรมาส 1 ดีแทค จะมีพื้นที่ให้บริการ 5G บนคลื่น 700 MHz จำนวน 4,400 สถานีฐาน ทำให้ครอบคลุมพื้นที่ใช้งานราว 15 จังหวัด และจะทยอยขยายเพิ่มเติมในบริเวณที่มีอุปกรณ์รองรับการใช้งาน และความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่สูงขึ้น
ขณะเดียวกัน ด้วยจุดแข็งของคลื่น 700 MHz ที่สามารถกระจายสัญญาณในระยะไกล จะช่วยเข้ามาเสริมพื้นที่ให้บริการ 4G ของดีแทคให้มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลตามภูมิภาคต่างๆ ทำให้ในภาพรวมแล้วประชาชนทุกคนจะได้ประโยชน์จากการเปิดให้บริการคลื่น 700 MHz นี้
สำหรับในภาคอุตสาหกรรม ‘ดีแทค’ ก็เร่งเดินหน้าความร่วมมือกับพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง อย่างการนำ 5G คลื่น 26 GHz เข้าไปร่วมมือกับทาง ปตท. นำไปใช้กับกล้องตรวจการณ์อัจฉริยะ ร่วมมือกับทางอาซีฟา เพื่อนำไปควบคุมระบบจัดการไฟฟ้าอัจฉริยะ และ WHA ในการนำ 5G ไปใช้กับระบบริหารจัดการน้ำอัจฉริยะ
ในแง่ของการลงทุนโครงข่าย ดีแทคได้เตรียมความพร้อมใน 4 ด้านหลักๆ ด้วยกันคือ 1.การพัฒนาชุมสายให้เป็นลักษณะของ Virtual Core Network กล่าวคือเป็นโครงข่ายที่รองรับการใช้งาน 5G อยู่แล้วในอนาคตสามารถปรับเปลี่ยนเพื่อให้บริการได้ทันที 2.ย้ำถึงการเป็นระบบโครงข่ายสื่อสารที่มีความมั่นคงปลอดภัย 3.ลงทุนโครงข่ายให้สามารถแสดงศักยภาพที่แท้จริงของ 5G ในการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด และ 4.ส่งเสริมความยั่งยืนด้วยการประกาศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 50% ภายในปี 2573
***เก็บแรงในช่วงต้นของ ‘มาราธอน’ 5G
ฮาว ริเร็น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด ดีแทค ย้ำถึงการแข่งขันในยุคของ 5G ที่เกิดขึ้นในปีนี้ว่าจะเป็นภาคต่อเนื่องของการวิ่งมาราธอน ที่ผู้ให้บริการเครือข่ายแต่ละค่ายจะต้องลงทุน และพัฒนาโครงข่ายตามทรัพยากรที่มี เพื่อตอบสนองต่อการใช้งานของผู้บริโภค
‘เกมของดีแทคที่เกิดขึ้นในวันนี้ คือ การสร้างประสบการณ์ใช้งานดิจิทัลให้แก่คนไทยทุกคน ไม่ใช่เฉพาะบางกลุ่มที่เข้าถึง 5G จึงได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ แต่เป็นการเข้าไปศึกษาถึงพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้าในระดับบุคคลเพื่อนำเสนอการเชื่อมต่อที่ดี และคุ้มค่าที่สุด’
ด้วยเหตุนี้ จึงก่อให้เกิดการศึกษาถึง 5 เทรนด์ผู้บริโภคที่เข้ามาสนับสนุนการใช้งานมือถือในยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็น 1.Digital-First Experiences หรือการสร้างประสบการณ์ดิจิทัลที่ราบรื่น เชื่อมต่อออนไลน์สู่ออฟไลน์ ผ่านทั้งดีแทคแอป และการใช้ช่องทางสื่อสารใหม่ๆ ในการเข้าถึงลูกค้า
2.Digital Inclusion ด้วยการเข้าไปปรับอัตราเร่งในการเข้าถึงดิจิทัลให้ผู้ใช้งานทุกคนเข้าถึงได้ผ่านดีแทคแอป 3.360-degree Personalization หรือการนำข้อมูลการใช้งานของลูกค้ามาวิเคราะห์ เพื่อนำเสนอข้อเสนอเฉพาะบุคคลในเวลาที่ลูกค้าต้องการ
4.New Business Normal จากการเข้าไปร่วมกับพันธมิตรมอบบริการที่คุ้มค่าของทั้งสินค้า และบริการต่างๆ ที่ใช้งานในชีวิตประจำวันทั้งประกันสุขภาพ ส่วนลดร้านขายยา บริการโอนเงิน จนถึงส่วนลดบริการดิจิทัลอื่นๆ และสุดท้าย 5.Trust Matters ตอกย้ำถึงภาพของแบรนด์ที่จริงใจ ซื่อสัตย์ คิดดี ทำดี ไว้ใจได้ในทุกบริการ
‘ภาพการให้บริการของดีแทคในปีนี้ค่อนข้างชัดเจนว่าคือการให้บริการเทคโนโลยีสื่อสารเพื่อคนไทยทุกคน และยอมรับว่าในเกมของ 5G ดีแทคอาจจะไม่ใช่ผู้นำ แต่ดีแทคจะไม่ยอมทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแน่นอน’
***พร้อมมองหาคลื่นใหม่มาให้บริการ
แม้ทีมผู้บริหารดีแทคจะย้ำว่า ปัจจุบันคลื่นความถี่ที่ดีแทคถือครองจะมีครบทุกย่านทั้งความถี่ต่ำ กลาง และสูง และเพียงพอต่อการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง แต่ก็ปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า ดีแทค ได้กลายเป็นโอเปอเรเตอร์ถือครองคลื่นความถี่น้อยที่สุดเมื่อเทียบในกลุ่มของ 3 ผู้ให้บริการหลัก
โดยถ้ามองเฉพาะกลุ่มของคลื่นความถี่ที่ให้บริการแก่ผู้ใช้งานทั่วไป (คลื่น Sub-6 หรือความถี่ตำ่กว่า 6000 MHz) เอไอเอสจะมีคลื่นความถี่ให้บริการถึง 220 MHz ตามด้วยทรูมูฟ เอชที่ 190 MHz และดีแทค มีเพียง 70 MHz เท่านั้น แม้จะรวมการเป็นพันธมิตรกับทีโอที บนคลื่น 2300 MHz อีก 60 MHz เข้าไป ดีแทคก็มีคลื่นความถี่ให้บริการที่ 130 MHz เท่านั้น
ความหวังของดีแทคจึงอยู่ที่การเปิดประมูลคลื่นความถี่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยหนึ่งในนั้นคือคลื่น 3500 MHz ที่ถือเป็นคลื่นมาตรฐานในการให้บริการ 5G และเป็นคลื่นความถี่หลักที่ดีแทคแสดงความชัดเจนถึงความต้องการมาตลอด
มาร์คุส แอดอัคทูสเซ่น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มกิจการองค์กร ดีแทค กล่าวเสริมในจุดนี้ว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการเปิดประมูลคลื่นดีแทคพร้อมที่จะเข้าไปศึกษาถึงการนำคลื่นความถี่มาให้บริการ และสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทุกครั้งเสมอ
สุดท้ายนี้ เมื่อสังเกตถึงทิศทางต่างๆ ของดีแทค ทำให้เห็นได้ว่า เป็นกลยุทธ์ที่จะช่วยให้สามารถยืนหยัดต่อไปในทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะความพยายามในการรักษาฐานลูกค้าต่างจังหวัดที่ไม่ได้มีความจำเป็นต้องเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบน 5G เหมือนที่ค่ายอื่นมีให้บริการ พร้อมกับเน้นสร้างประสบการณ์ใช้งานอินเทอร์เน็ตไร้สายให้ทุกคนเข้าถึงอย่างแท้จริง