เสียวหมี่ (Xiaomi) เปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นเรือธงล่าสุดประจำปี "Mi 11" เด่นที่ชิป Qualcomm Snapdragon 888 ใหม่ล่าสุด จัดเต็มชุดกล้องหลัง 3 ตัวความละเอียด 108 ล้านพิกเซล ระบบบันทึกเสียงแบบภาพยนตร์ เคาะราคา 21,990-23,990 บาทพร้อมทำโปรโมชันจองแบบไม่เกรงใจรุ่น หวังขึ้นแท่นสมาร์ทโฟนขายดีที่สุด 3 อันดับแรกของไทยให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
มร.คามัล เหลียง ผู้จัดการทั่วไป ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวในงานเปิดตัว Mi 11 ว่า Xiaomi มีการเติบโตสูงมากในช่วงปีที่ผ่านมา โดยสามารถขึ้นเป็นแบรนด์สมาร์ทโฟนรายใหญ่ 5 อันดับใน 54 ตลาดทั่วโลก และสามารถเป็นที่ 1 ใน 10 ตลาดโดยหนึ่งในนั้นคือสเปน
"เฉพาะตลาดไทย Xiaomi เติบโต 234% เป็นสมาร์ทโฟนอันดับ 4 ของไทย ที่ทำได้เพราะ 3 เหตุผล คือ สินค้าคุณภาพในราคาที่จับต้องได้ ความแข็งแกร่งเรื่องอีคอมเมิร์ซ และการทำตลาดอุปกรณ์ AIoT ซึ่งมีความหลากหลายไม่เพียงแค่สมาร์ทโฟน"
สำหรับ Mi 11 สินค้าเรือธงที่ Xiaomi เตรียมมาเปิดตลาดในปีนี้ยังคงเด่นที่กล้องดิจิทัล นอกจากส่วนซอฟต์แวร์ที่ปรับให้การใช้ปุ่มเดียวเพื่อถ่ายวิดีโอจากกล้อง AI ยังมีการใช้ฮาร์ดแวร์เซ็นเซอร์กล้องขนาดใหญ่ที่ทำให้สามารถรับภาพในมุมที่กว้างขึ้นโดยที่ข้อบกพร่องของสีน้อยลง ขณะเดียวกัน ยังมีการใช้เลนส์เทเลมาโครเป็นครั้งแรก
พลภัทร์ สายบัวทอง ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์เสี่ยวหมี่ ประเทศไทย ระบุว่า เลนส์เทเลมาโครจะทำให้ได้ภาพถ่ายที่ละเอียดกว่าภาพจากดวงตามนุษย์ เหนือกว่าคู่แข่งที่ยังใช้เลนส์เทเลโฟโต้ สนนราคาเริ่มต้น 21,990-23,990 บาท
ราคารุ่นท็อป 23,990 บาทถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับรุ่นเริ่มต้นที่ Xiaomi ทำตลาดในไทย 2,790 บาท นอกจากเน้นทำตลาดสมาร์ทโฟน Xiaomi จะโฟกัสการเชื่อมสมาร์ทโฟนเข้ากับอุปกรณ์ไอโอที เป็นกลยุทธ์ในการทำการตลาดอุปกรณ์ AIoT ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 1,000 หมวดสินค้าแล้ว
ปีนี้บริษัทมีแผนลงทุนพัฒนาตลาก AIoT ต่อเนื่อง และจะเดินหน้าขอใบรับรองรวมถึงผ่านกระบวนการตรวจสอบมาตรฐานเพื่อนำเข้าสินค้าไทยให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่องและถูกต้องเพื่อให้คนไทยได้ใช้งาน
"คีย์หลักในปีนี้ที่ Xiaomi จะทำมี 3 ส่วน หนึ่งในนั้นคือการขยาย Mi Shop หน้าร้านค้าปลีก เนื่องจากแม้จะแข็งแกร่งในตลาดอีคอมเมิร์ซ แต่ปีนี้ Xiaomi ไปที่รีเทลมากขึ้น จะมีการจัดตั้ง Mi Shop เพื่อแสดงสินค้าทั้งอีโคซิสเต็มของ Xiaomi ตั้งเป้าขยายจากมากกว่า 30 ร้านในขณะนี้ เป็นเกินหลัก 100 ร้าน ร่วมกับการจับมือพันธมิตรขยายจุดจำหน่าย 4,000 จุดทั่วประเทศไทยให้เป็น 8,000 จุด"
ส่วนที่ 2 คือการลงทุนด้านการตลาดเพิ่มเท่าตัวเพื่อให้มีสัมพันธ์ที่ดีและเสริมแกร่งคอมมูนิตี Mi Fan ส่วนที่ 3 คือการลงทุนด้านบริการหลังการขาย จะมีการเพิ่มจำนวนศูนย์บริการจาก 12 จุดมาเป็น 25 จุดภายในครึ่งปีแรก และจะมีการเปิดตัวคอลเซ็นเตอร์ภาษาไทย รวมถึงบริการที่จะรองรับเรื่องจากลูกค้าได้ถึงหน้าบ้าน
แม้เศรษฐกิจช่วงหลังโควิด-19 ยังมีความเสี่ยงและผันผวน แต่ Xiaomi เชื่อว่าสถานการณ์ในไทยจะดีขึ้นในเวลารวดเร็ว เช่นเดียวกับสถานการณ์ทั่วโลก โดยในประเทศไทยยิ่งเห็นชัดถึงโอกาสในตลาดโดยเฉพาะกลุ่มเด็กรุ่นใหม่
"โอกาสแรกที่ Xiaomi เห็นคือการเติบโตด้าน e-commerce ที่สูงมาก คนไทยหลายคนชอปออนไลน์ ซึ่งเป็นจุดที่ Xiaomi แข็งแกร่งอยู่แล้วส่วนที่ 2 คือการทำงานกับหลายฝ่ายในประเทศไทย ทั้งส่วนโอเปอเรเตอร์ซึ่งร่วมมือกันผลักดันให้อุปกรณ์ 5G มีจำหน่ายในตลาดมากขึ้นจริงจังเพื่อผลักดันการใช้งาน 5G ในประเทศไทยให้เพิ่มขึ้น"
Xiaomi ไม่ได้บอกชัดเจนว่า ต้องการให้ส่วนแบ่งการตลาดไทยเติบโตเท่ากับการลงทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ระบุเพียงว่า ในปีที่แล้วบริษัทมีส่วนแบ่งคิดเป็นอันดับ 4 ของตลาดไทย (อันดับ 1 คือซัมซุง รองลงมาเป็นวีโว่ และออปโป้) สำหรับปีนี้เชื่อว่าบริษัทจะเติบโตได้มากกว่าเดิม และขึ้นเป็น Top 3 ของประเทศไทยให้เร็วที่สุด
สิ่งที่ Xiaomi เตรียมไว้เพื่อการแข่งขัน คือการทำให้สินค้าของบริษัทอยู่ในระดับที่ราคาเท่าถึงได้ ขณะเดียวกัน Xiaomi มองว่า 5G จะเป็นพื้นที่ที่มีการขยายตัวสูง บริษัทจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาสมาร์ทโฟนเทคโนโลยี 5G อย่างจริงจัง โดยภายใน 5 ปี ข้างหน้าบริษัทตั้งเป้าขยายงบประมาณวิจัยและพัฒนาขึ้นไปเป็น 5 หมื่นล้านหยวน จากปัจจุบันที่ลงทุนไปแล้ว 1 หมื่นล้านหยวน
ปีนี้ Xiaomi มีแนวโน้มจะเปิดตัวสมาร์ทโฟน 5G ในระดับราคาที่ต่ำกว่าเดิม โดยผู้บริหารบอกเพียงว่าจะมี "เซอร์ไพรส์" ที่เหนือกว่าการออกสมาร์ทโฟน 5G ราคาต่ำหมื่นในตลาดมิดเรนจ์ รวมถึงรุ่น hi-end ที่เคยทำตลาดมา
นาทีนี้ Xiaomi มองว่าคนไทยรู้จักแบรนด์ Xiaomi ดีแล้ว เพราะมีสินค้าที่หลากหลายทั้งเครื่องฟอกอากาศ หุ่นยนต์ และเครื่องดูดฝุ่น แต่บริษัทจะเตรียมสร้างการรับรู้ในตลาดสมาร์ทโฟนให้มากขึ้น ว่าเป็นสินค้าที่ดีมีคุณภาพ
ในภาพรวม Xiaomi ยกให้ไทยเป็นกลุ่มท็อปใน 10 ประเทศอาเซียนที่บริษัทให้ความสำคัญ ตลาดไทยมีทีมงานท้องถิ่นที่ดูแลธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ไทยเป็นตลาดที่แข็งแกร่งอันดับต้นของอาเซียน
ปัจจุบัน สินค้ากลุ่ม AIoT ของ Xiaomi มีจำหน่ายในประเทศไทยราว 200 รายการ บริษัทเผยว่าได้วางกลยุทธ์เปิดตัวสินค้า AIoT อย่างน้อย 1 ชิ้นต่อเดือน กลยุทธ์หลักคือการเชื่อมโยงสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์ AIoT เข้าด้วยกัน เพื่อให้ Xiaomi เป็นแบรนด์ที่ "สุดคูล" และสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ได้ดีในราคาตรงไปตรงมา