'เอนก เหล่าธรรมทัศน์' รมว.กระทรวง อว. ย้ำประเทศไทยก้าวหน้ามากกว่าที่คนไทยรู้ มั่นใจไทยใช้นวัตกรรมเป็นทางออกประเด็นเศรษฐกิจและสังคมบนความไม่แน่นอนหลังโควิด-19 ได้ฉลุย ขายฝันไทยจะเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่จะได้รับดอกผลจากการพัฒนาเทคโนโลยีฟิวชันเป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาดใน 20 ปีข้างหน้า เชื่อการพัฒนาสุดยอดเทคโนโลยีระยะยาวจะพาให้ลูกหลานไทยมีอนาคต
สำหรับทางออกวิกฤตของประเทศไทยช่วงการเกิดโควิด-19 สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA มองที่ 6 ด้านนวัตกรรมและแนวทางสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ไทยต้องเร่งพัฒนา ทั้งนวัตกรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ นวัตกรรมสุขภาวะและการแพทย์ แพลตฟอร์มการฟื้นฟูการท่องเที่ยว นวัตกรรมบริการภาครัฐ การแก้ปัญหาวิกฤตมลพิษและสิ่งแวดล้อม รวมถึงแพลตฟอร์มเทคโนโลยีแห่งโลกอนาคต ย้ำไทยต้องพัฒนานวัตกรรมต่อเนื่องภายใต้การหยุดชะงักและความผันแปรทางเศรษฐกิจและสังคม เพราะนวัตกรรมคือการรับมือที่มีประสิทธิภาพที่สุดในช่วงหลังการระบาด
ล่าสุด ไทยถูกจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมดีขึ้นในปีนี้ จากดัชนี Bloomberg Innovation Index พบว่า ขีดความสามารถทางนวัตกรรมของประเทศไทยในปีนี้ขยับขึ้น 4 อันดับ จากอันดับที่ 40 ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 36 จากจำนวนทั้งสิ้น 60 ประเทศทั่วโลก ถือเป็นลำดับที่ 3 ของกลุ่มประเทศอาเซียน โดยที่เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และสวิตเซอร์แลนด์เป็น Top 3 ในตารางปี 64
***ดัชนีดีขึ้นเพราะผลักดัน
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวในงาน INNOVATION THAILAND FORUM 2021 โดยอธิบายถึงเหตุผลที่ประเทศไทยสามารถผลักดันดัชนีนวัตกรรมขึ้นมาได้ว่าเป็นเพราะการผลักดันสัดส่วนงบประมาณวิจัยและพัฒนาเมื่อเทียบกับรายได้ประชาชาติ จาก 0.38% เมื่อ 7 ปีที่แล้ว รัฐบาลไทยในช่วงที่ผ่านมาให้ความสำคัญมากขึ้นจนเมื่อปีกลายเพิ่มขึ้นเป็น 1.1% และปีนี้ 1.5% ที่ถูกเสนอเข้าไปแล้ว ครม.ให้ความเห็นชอบ
'ใน 1.5% นี้เป็นงบจากภาคเอกชนราว 70% ที่เหลือ 30% มาจากภาครัฐ แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว สัดส่วนการลงทุนจะไม่ต่ำกว่า 2% เราจึงตั้งใจผลักดันให้สัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นตามลำดับ หวังว่า 7 ปีข้างหน้าจะผลักดันให้เป็น 2.0% ของ GDP เชื่อว่าเงินที่ใส่เข้าไปจะช่วยให้การสะสมความสำเร็จและประสบการณ์จะผลิดอกออกผลในทางปฏิบัติมากขึ้น”
สัดส่วน 2.0% คาดว่ามีความเป็นไปได้สูง ดร.เอนก ย้ำว่าขณะนี้หลายภาคส่วนให้ความสนใจในการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาค่อนข้างมาก การนำเอางานวิจัยและนวัตกรรมเข้ามาพัฒนาประเทศเพื่อช่วยให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลางจึงเป็นเรื่องที่สามารถทำได้อย่างแน่นอน
'เรายังเป็นประเทศรายได้ปานกลาง เป้าหมายที่นักพัฒนาพูดคือต้องหลุดจากประเทศรายได้ปานกลาง แต่ถ้าเราพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงไม่ได้ เราก็จะส่งออกสินค้าการเกษตร แรงงาน หรือท่องเที่ยว และจะยังอยู่เป็นประเทศรายได้ปานกลางต่อไป เพราะรายได้สุทธิมันไม่สูง ที่ผ่านมาเราต้องนำเข้าเทคโนโลยีหรือชิ้นส่วนที่ผลิตเองไม่ได้เข้ามาประกอบ แม้จะมีหมอ มีพยาบาล และอีกหลายอาชีพที่รายได้ดี แต่ก็ยังไม่พอจะทำให้ไทยเป็นประเทศรายได้สูง ดังนั้น การที่ไทยจะก้าวข้ามไปเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ไม่มีวิธีไหนนอกจากการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า และเป็นเทคโนโลยีที่ผลิตเพื่อใช้ประโยชน์ได้จริง'
ดร.เอนก ย้ำว่า กระทรวง อว. ถือเป็นส่วนที่ทำผลประโยชน์ระยะยาวของประเทศ อย่างสั้นที่สุดคือระยะปานกลาง แต่ประเทศไม่ได้อยู่ที่ผลประโยชน์ของปัญหาระยะสั้น เช่น ภัยหนาว ความอดอยาก หรือปัญหาการศึกษาในเยาวชน ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลต้องแก้ปัญหาเร่งด่วนเท่านั้น ไทยจึงต้องมองปัญหาที่ระยะปานกลางและระยะยาวด้วย ไม่อย่างนั้นลูกหลานไทยจะไม่มีอนาคต
'ลูกหลานเราจะต้องดีขึ้นกว่าเรา ด้วยการลงทุนวิจัยนวัตกรรมและพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ศิลปะ'
***อย่าใจร้อน
ดร.เอนก กล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยสามารถผลิตดาวเทียมดวงเล็กได้แล้ว และกำลังจะผลิตดาวเทียมขนาดใหญ่ขึ้นจาก 150 มาเป็น 300 กิโลกรัม เพื่อโคจรมุ่งเข้าไปที่ดวงจันทร์ซึ่งมีระยะไกลกว่า 300,000 กิโลเมตรให้ได้ในช่วง 7 ปีข้างหน้า โดยดาวเทียมดวงนี้จะเคลื่อนตัวช้าๆ และไม่มีคนบนยาน จะมีการใช้หุ่นพร้อมกับระบบ AI ในการรับการควบคุมจากภาคพื้นดิน
'การส่งยานอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์ได้ใน 7 ปีจากนี้ จะเป็นโครงการที่แสดงความก้าวหน้าในการพัฒนาหุ่นยนต์ไทย เพราะจะมีระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ทำงานจากระยะไกลเกิน 3 แสนกิโลเมตร จะมีระบบควบคุมทิศทาง ควบคุมความเร็ว และวิทยาการดาวเทียมที่จะทำให้เกิดอุตสาหกรรมอวกาศ ซึ่งประเทศไทยก็เคยพัฒนาอุตสาหกรรมการบินทางอากาศได้สำเร็จจนได้รับยกย่องให้เป็นหนึ่งในผู้นำของเอเชีย โดยช่วงแรกจะพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมกึ่งอวกาศ ก่อนจะพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมอวกาศเต็มรูปแบบ’
'ถามว่าจะเป็นไปได้ไหม ถ้าตอบแบบเมื่อก่อนคือฝันไปเลย แต่ตอนนี้คือ มันอาจจะเป็นไปได้ เพราะอย่างน้อยที่สุดใน 7 ปีข้างหน้า เราจะสามารถส่งดาวเทียมไปโคจรรอบดวงจันทร์ได้ เรื่องนี้ไม่ธรรมดา เพราะมีแค่ 3 ชาติในเอเชียที่ทำอย่างนี้ได้ คือ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย และเกาหลีกำลังจะเป็นชาติที่ 4 ประเทศไทยขอเป็นชาติที่ 5’
อีกตัวอย่างนวัตกรรมไทยที่มีความก้าวหน้านั้นเป็นของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชันมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งเป้าผลิตเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยด้วยฝีมือของนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยของไทยเองภายในปี 2575 และยังเข้าร่วมภาคีนานาชาติเพื่อผลิตโรงไฟฟ้าจากพลังงานฟิวชัน ซึ่งเป็นพลังงานแบบเดียวกับที่เกิดบนดวงอาทิตย์ เป็นพลังงานสะอาด เปรียบเหมือนเป็นการสร้างดวงอาทิตย์บนโลกเพื่อเป็นแหล่งพลังงานใหม่ภายใน 20-30 ปีข้างหน้า โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 20 ประเทศในโลกที่เข้าร่วมภาคีนานาชาตินี้ สะท้อนถึงความสามารถและความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมของไทย แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยทำได้ และได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ
'เทคโนโลยีนิวเคลียร์ ก่อนหน้านี้คนอาจคิดถึงแต่เรื่องระเบิดปรมาณู แต่เราไม่ได้สนใจเรื่องการทำลายล้าง เราสนใจเรื่องฟิวชัน กระบวนการนี้ทำได้ไม่เกิน 20 ประเทศในโลก ส่วนใหญ่อยู่ที่สหรัฐฯ ยุโรป จีน และญี่ปุ่น จะทำร่วมกับมิตรประเทศแบบ 50-50 เราจะไม่ซื้อ แต่เราจะทำ’
ก่อนหน้านี้ ไทยพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อสันติจากเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ได้รับจากสหรัฐอเมริกาอายุ 60 ปี ตามปกติจะต้องมีการจัดซื้อเครื่องที่ 2 แต่นักนิวเคลียร์ของไทยต้องการพัฒนาเอง ถือเป็นความภูมิใจว่าประเทศไทยสามารถพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขึ้นเองได้ไม่น้อยกว่า 50% โดยจัดซื้อเฉพาะส่วนแกนของระบบเท่านั้น คาดว่าจะสามารถพัฒนาได้ทั้งหมดในเครื่องที่ 3
***วัคซีนโดยคนไทย
ความเก่งของคนไทยยังสะท้อนชัดมากขึ้นในวิกฤต เมื่อเกิดโควิด-19 ไทยสามารถทำวัคซีนไฮเทค 2 ชนิดสำเร็จจนผ่านการทดลองในลิงมาแล้ว ชนิดแรกคือ เทคโนโลยี mRNA ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเลือกใช้เทคโนโลยีเดียวกับบริษัทยายักษ์ใหญ่อย่างไฟเซอร์ของสหรัฐอเมริกา และอีกเทคโนโลยีคือเทคโนโลยี Tobacco ใบยาที่มีนิโคตินอ่อนสำหรับสู้โควิด-19
รมว.อว.ย้ำว่า ความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนใบยาถือเป็นเรื่องใหม่มาก และไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่สามารถพัฒนาสำเร็จ ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยพัฒนาวัคซีนไฮเทคได้เลย แต่สำหรับครั้งนี้ไทยสามารถพัฒนาได้เองโดยเริ่มตั้งแต่ต้น และกำลังเริ่มทดลองใช้ในคน โดยไม่มีการขอตัวอย่างแกนวัคซีนเพื่อนำมาต่อยอดในช่วงท้าย ความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 จึงถือว่าก้าวกระโดดสำหรับประเทศไทย
วัคซีนโควิด-19 นี้ถือเป็น 2 ใน 7 โครงการวัคซีนที่ อว.ได้ให้ทุนพัฒนา ยังมีอีก 5 ชนิดที่กำลังจะแจ้งเกิดตามมา ทั้งหมดนี้ อว. พยายามสร้างความมั่นใจให้คนไทยรู้ว่า 'ไทยไม่ได้แล้งนวัตกรรม' แต่เป็นประเทศที่เต็มไปด้วยนวัตกรรม
'ใกล้จะสำเร็จแล้ว 2 ตัวคือ ที่คณะแพทย์จุฬา ทำวัคซีนโดยใช้โปรตีน mRNA เป็นเทคนิคเดียวกันกับไฟเซอร์ ทำช้ากว่าเขาไม่กี่เดือน ตอนนี้สำเร็จแล้วกำลังทดลองในคน ปลายเมษายนจะเริ่มฉีด โดยจะใช้ร่วมกับวัคซีนที่เรากำลังซื้อ สำหรับวัคซีนใบยาสูบจะทดลองในคนช่วงมิถุนายนเป็นต้นไป เชื่อว่าครึ่งหลังของปีก็จะเริ่มใช้ได้' รมว.อว. ระบุ 'อย่าตื่นเต้นแค่เรื่องวัคซีนเพื่อคนไทย แต่ให้เราตื่นเต้นกับวัคซีนโดยคนไทย อันนี้เป็นมายเซ็ตใหม่ที่ผมพยายามพูดมาเรื่อยๆ อย่าเพิ่งรำคาญก็แล้วกัน’
ทั้งนี้ นักวิจัยไทยนั้นเก่งทั้งศาสตร์และศิลป์ แต่ส่วนที่ต้องแก้ไขคือระบบ ทำให้มีแผนเร่งเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงให้มากที่สุดและเร็วที่สุด เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแห่งนวัตกรรมให้ได้ดีขึ้น โดยการพัฒนาของนักวิจัยไทยยังมีหน้ากากที่สามารถเพิ่มออกซิเจนให้ผู้สวมได้ หน้ากากนี้ถูกพัฒนาหน่วยคนไทยทำให้สามารถจำหน่ายในราคา 4,000-9,000 บาท ต่ำกว่าท้องตลาดที่จำหน่ายอยู่ในหลักหมื่น
***ต้องสร้างคน
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวถึงดัชนีอันดับนวัตกรรมของประเทศไทยว่าตัวเลข GERD ผลิตภัณฑ์มวลรวมที่ลงไปในงานวิจัยและพัฒนาซึ่งไทยเติบโตจาก 0.3% มาอยู่ที่เกิน 1% นั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะการจัดลำดับมีการนำตัวเลขอัตราส่วนนักวิจัยต่อประชากรมาคำนวณด้วย โดยพบว่าเมื่อเอาสัดส่วนนักวิจัยรวมทั้งภาครัฐและเอกชนไทยมาคำนวณเป็นสัดส่วนเทียบกับประชากร พบว่าสูงขึ้น
'แต่สิ่งที่ไทยต้องมองคือการสร้างกำลังคน สร้างเด็กที่อยู่ในสาย STEM จุดนี้ไทยยังตามหลังหลายประเทศ ตัวนี้ต้องเร่งและใช้เวลานาน เพราะเด็กจะจบมาต้องใช้เวลานานกว่า 3-4 ปีกว่าจะศึกษาจบ ซึ่งนักศึกษาที่จบด้านวิศวกรหรือเทคโนโลยีแล้วผันตัวเป็นสตาร์ทอัปได้นั้นยังมีจำนวนน้อย การศึกษาจากบลูมเบิร์กย้ำว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทด้านเทคโนโลยีของไทยมีจำนวนคงที่ แปลว่าผู้เล่นที่เป็นสตาร์ทอัปที่โตมาเป็นบริษัทเทคโนโลยีขนาดกลางและใหญ่ที่พัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีนั้นไม่เพิ่มจำนวน ดังนั้นต่อให้เราลงทุนสูง แต่ถ้าไม่มีบริษัทใหม่เกิดขึ้นมา อุตสาหกรรมก็จะไม่เติบโต’
อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้ไม่ใช่สัญญาณที่ไม่ดี ดร.พันธุ์อาจ อธิบายว่าเพราะช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา บริษัทใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ไทยเริ่มตื่นตัวพัฒนาดีพเทคมากขึ้น หน่วยงานลงทุนของหลายบริษัทเริ่มสนใจลงทุนด้านเทคโนโลยีการแพทย์และเทคโนโลยีขั้นสูง การลงทุนแต่ละครั้งเป็นหลักร้อยล้านบาท ซึ่งเมื่อการลงทุนต่อหน่วยเพิ่มขึ้น แต่จำนวนการลงทุนไม่ได้เยอะขึ้น ดังนั้น หน้าที่หลักของ NIA จึงเป็นการเพิ่มสตาร์ทอัปรุ่นใหม่ในตลาด เพิ่มทางเลือกการลงทุน ดัชนีนวัตกรรมจึงจะเพิ่มขึ้นได้
'3 บทสรุปจากการจัดดัชนีนวัตกรรมปีนี้ คือไทยยังสามารถแข่งขันกับนานาประเทศในวงการอุตสาหกรรมการผลิต แต่จะต้องเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ต้องใช้เทคโนโลยีและกระบวนการที่มากขึ้น นอกจากนี้ สัดส่วนนักวิจัยและการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ยังสวนทางกับจำนวนการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาที่ยังเพิ่มขึ้นน้อย ขณะเดียวกัน ก็ต้องผลักดันให้เกิดสตาร์ทอัป เพื่อดันให้การลงทุนเพิ่มขึ้น ทั้งหมดเป็นหน้าที่ของ NIA ในระยะกลาง’
ในส่วนช่องว่างในสังคมไทย ทั้งความเหลื่อมล้ำในสังคม การศึกษา โอกาสในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงแหล่งเงินทุน สำนัก NIA ต้องการแก้ปัญหาด้วยการเน้นสนับสนุนการทำนวัตกรรมเพื่อสังคม ตอนนี้มี 9 สาขาที่เลือกมาจากเกณฑ์ของสหประชาชาติ ทั้งเรื่องการพัฒนาไมโครไฟแนนซ์ ภัยธรรมชาติ สิทธิสตรี ความยั่งยืน รวมถึงการสร้างย่านนวัตกรรมในพื้นที่นอกกรุงเทพฯ เพื่อลดความเสี่ยงการเข้าไม่ถึง
'ความเหลื่อมล้ำเป็นโจทย์ที่เราต้องแก้ แต่เรามีนวัตกรรมทางสังคมที่จะเป็นเครื่องมือ'
ดร.พันธุ์อาจ ระบุ 'เราเป็นมิตรกับทุกประเทศ มีการทูตนวัตกรรม ทำ G2G กับทุกสถานทูต มีการร่วมมือกับนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ โครงการประสบความสำเร็จมากคือญี่ปุ่นที่ลงทุนหลักพันล้านไปแล้วในไทย เรากำลังทำกับฝรั่งเศสและอิสราเอล อีกส่วนคือสตาร์ทอัปทั้งคนไทยและต่างชาติ เป็นสตาร์ทอัปซิตี เป็น 3 ตัวที่เชื่อมทุกประเทศได้หมด’
สำหรับปีนี้ นวัตกรรมไทยที่คนไทยจะได้เห็นแน่นอนคือเดลิเวอรีของคนไทย รวมถึงนวัตกรรมเฮลท์เทค รวมถึงการแพทย์ทางไกล ซึ่งในอนาคต เทคโนโลยีด้านอวกาศอาจจะเอามาใช้กับการแพทย์ได้ โดยแผนการเพิ่มดัชนีนวัตกรรมของไทยในอนาคต คือการนำเสนอรัฐบาลให้พิจารณาทำนวัตกรรมฐานข้อมูล หรือหน่วยงานบูรณาการข้อมูลสารสนเทศนวัตกรรม เพื่อทำให้ลำดับนวัตกรรมไทยสูงขึ้น เนื่องจากมีบางกรณีที่ข้อมูลไปไม่ถึง หรือบางส่วนยังเป็นข้อมูลเก่า
ประเด็นที่น่าสนใจจากงาน INNOVATION THAILAND FORUM 2021 ไม่เพียงอยู่ที่นวัตกรรมเชิงสังคมที่ถูกโฟกัสมากขึ้นเพราะโควิด-19 ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทยที่ถูกจัดลำดับว่ามีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในอาเซียน เป็นอันดับ 4 ของโลก แต่ยังมีประเด็นการใช้นวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่คนไทยเปลี่ยนพฤติกรรมจากการจองท่องเที่ยวล่วงหน้า 36 วัน ลดลงเหลือ 2-3 วันก่อนเดินทางมากกว่า 80% ของการจอง
ภัทรพร โพธิ์สุวรรณ์ นายกสมาคม Thailand Tech Startup Association (TTSA) ระบุว่าเพื่อตอบการเปลี่ยนแปลงนี้ บทบาทของเทคโนโลยีในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจึงมี 3 ด้าน ได้แก่ การสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวรู้สึกปลอดภัย การอำนวยความสะดวก และการส่งมอบประสบการณ์ โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีลดการสัมผัส การคัดกรองนักท่องเที่ยวจากการวัดอุณหภูมิ การลงทะเบียนยืนยันตัวตน การยืนยันการฉีดวัคซีน และการควบคุมความหนาแน่น
ขณะที่ อารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ระบุว่าวันนี้ข้าราชการไทยได้รับผลกระทบโดยตรงเรื่อง eService โดยโจทย์ของรัฐบาลไทยคือข้าราชการจะให้บริการสังคมอย่างไรโดยไม่ให้ผู้คนมารวมกันอย่างหนาแน่น
'ผลคือวันนี้ข้าราชการไทยต้องเรียนรู้เทคโนโลยีเพื่อทำให้บริการได้รวดเร็วและต้องใช้ระบบเปิดแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ก่อนหน้านี้ ข้าราชการไม่มี eMeeting แต่ตอนนี้โควิด-19 เป็นตัวเร่งทำให้สิ่งที่เคยคิดไว้ สามารถเกิดขึ้นได้ทันที ทั้งบริการ eService บริการจองคิวล่วงหน้า ซึ่งเริ่มใช้กับกรมที่ดินที่สามารถจองคิวล่วงหน้าได้ทำให้ไม่เกิดการแออัดยัดเยียดในหน่วยงาน’
นอกจาก eService ที่สามารถกระจายให้ประชาชนสามารถติดต่องานราชการจากบ้านได้ 24 ชั่วโมง ปัจจุบันหน่วยงานรัฐยังสามารถรับความคิดเห็นประชาชนได้ผ่านสื่อโซเชียลได้โดยตรง จากก่อนหน้านี้ที่มีการสำรวจเพียงปีละครั้ง ต้องใช้เวลานานกว่าจะสามารถปรับปรุงบริการได้ แต่ขณะนี้สามารถพิมพ์ชื่อหน่วยงานแล้วจัดลำดับการรีวิวหน่วยงานรัฐได้ทันที รวมถึงจำนวนดาวที่จะเป็นประโยชน์ต่อการรับความคิดเห็นแล้วนำมาปรับปรุงบริการของรัฐได้โดยตรง
'ที่สำคัญ ระบบราชการ 4.0 ที่ภาครัฐผลักดันมานานหลายปี ก็สามารถเกิดขึ้นได้จริงในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ระบบที่เปิดและเชื่อมโยงกันเริ่มทลายกำแพงให้ข้อมูลเชื่อมต่อกันระหว่างหน่วยงานแล้ว ทั้งหมดนี้ทำให้ประชาชนสามารถเป็นศูนย์กลางในการออกแบบและพัฒนาบริการรัฐ นวัตกรรมจึงเป็นคำตอบของหน่วยงานรัฐในอนาคต โดย 3 ส่วนที่จะเห็นในหน่วยงานรัฐหลังจากนี้คือ 1.การสร้าง citizen portal ที่สะดวกให้ประชาชนเข้าถึงง่าย 2.คือการเปิดกว้างให้ประชาชนเข้ามาร่วมให้ไอเดียเพื่อให้สามารถได้รับบริการที่ตรงจุดและ 3.คือการแชร์ข้อมูลเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการบริการมากที่สุด’
สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ทิ้งท้ายว่าขณะนี้ปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่รุนแรงมาก โดยช่วงหลังภาวะล็อกดาวน์ สภาพสิ่งแวดล้อมของโลกที่ดีขึ้นนั้นเริ่มกลับมาย่ำแย่เช่นเดิม การศึกษาพบว่ามนุษย์กลับไปทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็ว เห็นได้ชัดจากการศึกษาในจีนที่พบว่าช่วงมกราคม-พฤษภาคมปี 2563 ค่ามลพิษ เช่น PM 2.5 นั้นลดลงแต่ตัวเลขก็กลับมาเป็นปกติเร็วกว่าเดิม
นวัตกรรมที่มีการพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ปัญหา PM 2.5 แล้วคือเครื่องฟ้าใส เครื่องฟอกอากาศระดับเมืองที่ขณะนี้พัฒนามาถึงรุ่นที่ 2 ซึ่งทำให้อากาศบริสุทธิ์สามารถกระจายตัวโดยที่ผู้คนไม่ต้องมารวมอยู่ที่หน้าเครื่องเหมือนรุ่นแรก เป็นการลดความหนาแน่นและรักษาระยะห่างตามมาตรการยับยั้งโควิด-19
บอกแล้วว่า ไทยไม่ได้แล้งนวัตกรรม!