กสศ.จับมือกลุ่มสหภาพแรงงานจังหวัดปราจีนบุรี จัดเวที “ปลุกพลัง” เยาวชนแรงงานนอกระบบการศึกษาเติมทักษะชีวิตก้าวแรกสู่อาชีพเสริม ได้อย่างมั่นคงแนะ 7 ปัจจัยความสำเร็จที่ต้องเรียนรู้ก่อนไปลงมือทำ ด้านสหภาพฯ ฮิตาชิ พร้อมเป็น ศูนย์กลางบริการช่างชุมชน สานฝันธุรกิจอาชีพช่างบริการสังคม
เมื่อวันที่ 7 ก.พ. ที่ผ่านมา นายปัญญา ตลุกไธสง ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานจังหวัดปราจีนบุรี ในฐานะประธานสหภาพฮิตาชิแห่งประเทศไทย ร่วมกับโครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษาโดยเครือข่ายเชิงพื้นที่ : ภาคตะวันออก (จังหวัดปราจีนบุรี) จัดกิจกรรม "ปลุกพลัง" เยาวชนแรงงานนอกระบบการศึกษา จำนวน 41 คน ด้วยการเติมเต็มทักษะชีวิตถึงก้าวแรกในการประกอบอาชีพเสริมควรเริ่มต้นอย่างไร พร้อมบอกเล่าความสำเร็จการมีอาชีพเสริม ระหว่างทำงานประจำในโรงงานจนฐานะเศรษฐกิจครอบครัวมั่นคง โดยแกนนำสหภาพแรงงานฯ ที่เป็นช่างตัดผม ทำเบเกอรี่ส่งขายในโรงงาน หรือ พนักงานฮิตาชิที่ให้บริการติดตั้งและล้างแอร์ในพื้นที่ พร้อมกับระดมวางแผนพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพเสริมรุ่นถัดไป จากนั้นมอบอุปกรณ์สนับสนุนการประกอบอาชีพเสริมแบบรายบุคคลจากทุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)แก่เยาวชนแรงงานนอกระบบการศึกษา จำนวน 11 คน 9 อาชีพ
น.ส.กฤษฏา นานช้า หรือ ครูแดง ผู้อำนวยการโรงเรียนสอนศิลปะการปรุงอาหารไอเชฟ กล่าวว่าก้าวแรกที่คิดจะทำอาชีพเสริม คือ ค้นหาอาชีพเสริมจากสิ่งที่ตัวเองชอบและมีทักษะ เป็นสิ่งที่ทำแล้วไม่เครียดไม่เบื่อหน่าย เช่น ทำอาหาร ร้องเพลง งานฝีมือ เสริมสวย นวด ฯลฯ จากนั้นให้ไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจากความสามารถธรรมดาจนเป็นความสามารถพิเศษ ก้าวถัดมา คือ เลือกรูปแบบอาชีพที่เหมาะสมกับตัวเองที่สุด สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กัน คือ สินค้า หรือ ทักษะที่ทำดีพอหรือไม่ พร้อมกับใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปเพื่อเพิ่มมูลค่าจากสินค้าเดิม ๆ ธรรมดา เป็นสินค้าพิเศษ เช่น แตงโม หากขายแบบชั่งกิโลกรัมจะได้ลูกละ 30 – 40 บาท แต่หากนำมาแกะสลักจะจำหน่ายได้ราคาดีลูกละหลายร้อยบาท รวมถึงต้องประเมินกำลังและศักยภาพตัวเอง 4 ด้านด้วยกัน คือ 1.เงินทุน 2.อุปกรณ์ 3.วัตถุดิบ และ 4.ลูกค้า มีความพร้อมมากน้อยเพียงใด
สำหรับช่องทางในการทำอาชีพเสริม สิ่งสำคัญต้องพาตัวเองไปหาลูกค้า เพื่อให้บริการหรือขายสินค้า เรื่องที่ต้องคำนึง คือ บริการดี การเดินทางหรือค่าขนส่งสินค้า หรือ ให้บริการลูกค้าย่อมมีต้นทุน รวมถึงเวลาไปพบลูกค้า ต้องจัดสรรเวลาให้เหมาะสม เนื่องจากต้องทำงานประจำควบคู่ไปด้วย แต่อย่างไรก็ตามช่องทางจัดจำหน่ายมีหลากหลาย อาทิ ขายผ่านออนไลน์ เช่น เฟสบุ๊ก แต่ต้องระวังเรื่องค่าโฆษณา หรือ เปิดหน้าร้าน ต้องทำเลดี และ ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งต้องใช้เงินทุนสูงและมีค่าใช้จ่ายจากการจ้างพนักงานเฝ้าร้านเพราะตัวเองต้องไปทำงานประจำ
ครูแดง กล่าวย้ำว่าปัจจัยแห่งความสำเร็จในการประกอบอาชีพเสริม มี 7 ข้อ คือ 1.ต้องรู้จุดแข็งของอาชีพเสริม 2. เข้าใจและสามารถค้นหาลูกค้าและเข้าใจตลาดอย่างท่องแท้ และ 3.เริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ และ สิ่งที่ตัวเองมั่นใจมีศักยภาพ อย่าทำเกินตัว และ แสวงหาโอกาสต่อยอด 4.รักษาคุณภาพและความเชื่อมั่นให้ลูกค้าที่มีต่อธุรกิจ ใส่ใจรายละเอียดและปรับปรุงคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ 5.จัดสรรทั้งเวลาและเงินเพื่อไม่ให้อาชีพเสริมกระทบงานประจำ 6.สร้างทีมงาน และเครือข่าย และ 7.รู้จักการนำเสนอ หาวิธีหรือช่องทางในการนำเสนอตัวเอง
นายปัญญา กล่าวว่าเยาวชนแรงงานนอกระบบการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ ที่เลือกอาชีพเสริมแบบรายกลุ่ม จำนวน 31 คน 5 อาชีพ ส่วนใหญ่เป็นพนักงานประจำในโรงงาน เช่น ฮิตาชิ กับ ไฮเออร์ ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะช่างแอร์เป็นอาชีพเสริมที่น้อง ๆ ให้ความสนใจมากที่สุดถึง 13 คน แต่ด้วยข้อจำกัดอุปกรณ์ติดตั้งหรือล้างแอร์ราคาสูงการจัดซื้ออุปกรณ์แบบรายบุคคลย่อมทำไม่ได้ แต่หากจัดซื้อเป็น “อุปกรณ์กลาง” เพื่อให้เยาวชนเหล่านี้ได้รวมกลุ่มกันที่ล้วนทำงานอยู่ในโรงงานเดียวกัน สามารถเบิกอุปกรณ์กลางนำไปประกอบอาชีพเสริมเป็นช่างแอร์ได้แทนที่จะฝึกอบรมได้รับความรู้ไปเพียงอย่างเดียวแต่ขาดทักษะปฏิบัติจริง
ทั้งนี้ภายหลังฝึกอบรมสามารถหาลูกค้าได้ ทางสหภาพฯ จะคอยสนับสนุนพี่เลี้ยงที่ประกอบอาชีพเสริมเป็นช่างแอร์มาช่วยฝึกสอนระหว่างไปให้บริการลูกค้าจนเชี่ยวชาญสามารถสะสมทุนจัดซื้ออุปกรณ์ได้ด้วยตัวเอง สอดคล้องกับการระดมความคิดเห็นระหว่างสหภาพฯ กับกลุ่มเยาวชน ต้องการให้เกิดการพัฒนาศักยภาพและทักษะอาชีพเสริมจากการปฏิบัติจริง มีเป้าหมายพัฒนาศักยภาพเป็นช่างชุมชน ดังนั้นทางกลุ่มสหภาพแรงงานจังหวัดปราจีนบุรี พร้อมเป็นศูนย์กลางบริการช่างชุมชนให้บริการดูแลอุปกรณ์กลางที่ใช้ซ่อมแซมหรือติดตั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า อาทิ แอร์ ตู้เย็น พัดลม เครื่องซักผ้า ปั๊มน้ำ ฯลฯ นับเป็นการช่วยส่งเสริมสนับสนุนสินค้าและผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการที่เยาวชนแรงงานนอกระบบการศึกษาทำงานอยู่ เกิดผลดีร่วมกันกับทุกฝ่ายทั้งผู้ประกอบการ ครอบครัวเยาวชน และ ชุมชนต่างได้รับประโยชน์ทั้งทางธุรกิจและเพื่อสังคมไปพร้อมกัน
ตัวอย่าง ทุนพัฒนาทักษะอาชีพเสริมแบบรายบุคคล อาทิ นายพงศ์พิพัฒน์ พิมพงษ์ อายุ 25 ปี พนักงานโรงงาน ฮิตาชิ ได้รับทุนเป็น “อุปกรณ์อัดกรอบพระ” โดยตั้งใจว่าภายใน 1 เดือน น่าจะชำนาญจนรับจ้างอัดกรอบพระได้แล้ว ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นเพื่อน ๆ พี่ ๆ ที่ทำงานในโรงงานฮิตาชิ โดยจะใช้เวลาวันหยุดงาน หรือ วันที่ไม่มีรายได้จากการทำงานล่วงเวลา (โอที) มาทำอาชีพเสริมแทน
ขณะที่นายศรุต ทุมประสิทธิ์ อายุ 18 ปี ประกอบอาชีพก่อสร้างขอรับทุนเป็นเครื่องตัดเหล็กไฟเบอร์ เพื่อไปช่วยงานบิดาที่ทำงานก่อสร้างส่วนมารดาทำงานประจำในโรงงาน แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์จัดซื้ออุปกรณ์ประกอบอาชีพก่อสร้างและงานเหล็ก สำหรับ น.ส.นฤมล แซ่ลี้ อายุ 24 ปี บุตรผู้ใช้แรงงาน ได้รับทุนเป็น “จักรเย็บผ้า” ขนาดเล็ก เพราะอยากมีรายได้เสริมจากรับจ้าง ตัด ปะ เปลี่ยนซิปแก้ทรงผ้า ระหว่างวันหยุดงานรับจ้างเป็นพนักงานเสริ์ฟร้านหมูกะทะ จึงตั้งใจนำอุปกรณ์ไปฝึกกับร้านเย็บผ้าข้างบ้านที่ตัวเองรู้จักสนิทสนม เพื่อได้เรียนรู้วิธีหาลูกค้าและปฏิบัติทดลองทำจริงไปพร้อมกัน คาดว่าหากเย็บผ้าจนชำนาญน่าจะมีรายได้เสริม 200 – 300 บาทต่อวัน
สำหรับกลุ่มสหภาพแรงงานจังหวัดปราจีนบุรี ประกอบด้วย บริษัท ฮิตาชิ คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด , บริษัท พี.เอม.ฟูด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายปลาสวรรค์ทาโร่ , บริษัท ไฮเออร์ อีเล็คทริค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) , บริษัท ฮิตาชิ ทรานสปอร์ต ซิสเต็ม (ประเทศไทย) จำกัด , บริษัท ฮาบิโร (ไทยแลนด์) จำกัด , บริษัท ไทยโคอิโตะ , บริษัท นิสเซ่น เคมิเทค (ประเทศไทย) จำกัด , บริษัท ไทย ยานากาวา จำกัด , และ บริษัท กุลธรพรีเมียร์ จำกัด เป็นต้น