xs
xsm
sm
md
lg

HPE ชี้ 4 เทรนด์ธุรกิจกำหนดอนาคตคลาวด์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ด้วยความท้าทายจากสถานการณ์โรคระบาด องค์กรทั่วโลกต่างเร่งปรับตัวให้เข้ากับความปกติใหม่ ซึ่งเป็นโลกที่ความเร็วเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด การตัดสินใจและการลงมือปฏิบัติงานต้องเกิดขึ้นแบบเรียลไทม์ และเทคโนโลยีคลาวด์กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ภายใต้ 4 เทรนด์ที่จะเข้ามากำหนดอนาคตของธุรกิจคลาวด์

1.จาก Hybrid Cloud สู่ Distributed Cloud

การย้ายข้อมูลทั้งหมดไปยังพับลิกคลาวด์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแอปพลิเคชันจำนวนมหาศาลที่องค์กรใช้งานมานับสิบๆ ปีมีโครงสร้างที่ซับซ้อน อีกทั้งยังมีข้อจำกัดในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล องค์กรจึงเลือกที่จะใช้ประโยชน์จากไฮบริดคลาวด์ ซึ่งไอดีซีคาดการณ์ว่าตลาดในปี 2020 มีมูลค่าถึง 6,000 ล้านเหรียญ และจะเติบโตถึง 22,000 ล้านเหรียญในอีก 3 ปีข้างหน้า


นายพลาศิลป์ วิชิวานิเวศน์ กรรมการผู้บริหาร บริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด เอ็นเตอร์ไพรส์ ประเทศไทย กล่าวว่า การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ HPE GreenLake บริการด้านฮาร์ดแวร์ โซลูชัน ในรูปแบบของคลาวด์ ซึ่งเปิดโอกาสให้องค์กรสามารถเลือกใช้เทคโนโลยีได้อย่างที่ต้องการด้วยคอนเซ็ปต์ ‘The Cloud That Comes to You’

“หลังจากเปิดตัวเมื่อ 3 ปีก่อน HPE GreenLake มีอัตราการเติบโตสูงกว่าพับลิกคลาวด์ และมูลค่ายอดการใช้งานในเอเชียแปซิฟิกในปี 2020 เพิ่มขึ้นถึง 77% จากปีก่อนหน้า แม้ว่าเราจะต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ก็ตาม”

ขณะเดียวกัน การเติบโตอย่างโดดเด่นของไฮบริดคลาวด์ถือเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น อีกหนึ่งเทรนด์ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ โซลูชันแบบ Distributed Cloud ซึ่งช่วยให้องค์กรสามารถบริหารจัดการดาต้าเซ็นเตอร์ที่อยู่ในหลากหลายพื้นที่ได้ด้วยวิธีการที่สะดวก ยืดหยุ่น และกระชับฉับไว ซึ่งนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากในยุคที่องค์กรมีการใช้งานคลาวด์ที่หลากหลายยิ่งขึ้น

2.ความคุ้มค่าของ Hybrid Cloud ไม่เป็นที่กังขาอีกต่อไป


บริการคลาวด์มักมาพร้อมกับการให้บริการแบบ As-a-Service และการคิดค่าใช้จ่ายตามการใช้งานจริง (pay-per-use) ซึ่งเปิดให้องค์กรเข้าถึงเทคโนโลยีทันสมัยล่าสุด พร้อมปรับเพิ่มหรือลดการใช้งานได้ตามความต้องการ ช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนเพื่อติดตั้งก่อนการใช้งาน และเพิ่มความยืดหยุ่นด้านการเงินสำหรับการสร้างสรรค์โครงการใหม่ๆ อีกด้วย

“โมเดลดังกล่าวตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนเช่นปัจจุบันเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง เช่น ธุรกิจร้านอาหารเชน ซึ่งมีข้อจำกัดในด้านเงินทุน อีกทั้งยังต้องการความรวดเร็วในการติดตั้งระบบและเริ่มใช้งาน โดยจากการเก็บข้อมูลของลูกค้าทั่วโลกพบว่า รูปแบบ As-a-Service ของ HPE GreenLake สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน (CAPEX) ได้ถึงร้อยละ 30-40 และยังช่วยให้ลูกค้ารักษาสภาพคล่อง และบริหารจัดการค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจอีกด้วย”

3.ภาคการเงินเป็นหนึ่งธุรกิจหลักที่ใช้ Hybrid Cloud ในวงกว้าง

ผลวิจัยโดย MarketsandMarkets คาดว่า การใช้งานเทคโนโลยีคลาวด์ในธุรกิจการเงินในปี 2021 จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีสูงถึง 24.4% และมีมูลค่าตลาด 29,470 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสาเหตุหลักๆ เป็นเพราะกฎระเบียบข้อบังคับด้านข้อมูล ยิ่งไปกว่านั้น ข้อมูลยังควรต้องจัดเก็บในที่ที่จะนำไปใช้งานได้ง่ายภายในเครือข่ายของธนาคาร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

“HPE ได้นำ HPE GreenLake มาให้บริการ Core Banking As-a-Service แก่ 3 ธนาคารชั้นนำของไทย โดยหนึ่งในนั้นเป็นการเตรียมความพร้อมสู่ยุคดิจิทัลแบงกิ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับธุรกรรมที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบขึ้นถึง 3 เท่า จากที่เคยต้องใช้เวลาข้ามคืนในการจัดการเวิร์กโหลด ปัจจุบันเหลือเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น นอกจากนี้ยังช่วยให้ธนาคารสามารถเปิดให้บริการหลัก เช่น โมบายแบงกิ้งได้ตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย”

4.ประสบการณ์การใช้งานเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการเลือกใช้งาน

เมื่อมีการใช้งาน Hybrid Cloud การมองเห็นภาพรวมของการใช้งานและค่าใช้จ่ายมีความจำเป็นอย่างยิ่ง สิ่งที่บุคลากรด้านไอทีต้องการ คือ ประสบการณ์การใช้งานที่ง่าย สะดวก และระบบที่เอื้อให้พวกเขาบริหารจัดการเวิร์กโหลดได้ทั้งบนไพรเวทคลาวด์และพับลิกคลาวด์

สอดคล้องกับการที่ HPE เปิดตัว HPE GreenLake Central แพลตฟอร์มที่รวบรวมข้อมูลของระบบคลาวด์ทั้งหมดไว้ในหน้าเดียว อีกทั้งยังมีเทคโนโลยีเอไอที่คอยติดตามประสิทธิภาพของการใช้งาน และให้คำแนะนำหากต้องมีการปรับเพิ่มหรือลดขีดความสามารถของระบบ ซึ่งจะยิ่งช่วยให้คลาวด์ตอบโจทย์ทางธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น นวัตกรรมที่มาพร้อมกับประสบการณ์การใช้งานที่ไร้รอยต่อเช่นนี้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ HPE GreenLake มีมูลค่าของสัญญากว่า 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่เติบโตสูงสุดของ HPE ในปัจจุบันอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น