ผู้จัดการรายวัน 360 - เฮอร์บาไลฟ์ นิวทริชั่น เผยคนไทยมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนเรื่องการสูงวัยอย่างมีสุขภาพดี แต่ความกลัวเจ็บป่วยเพราะภูมิคุ้มกันต่ำรั้งอันดับหนึ่งปัญหาความกังวลเรื่องการสูงวัย
เฮอร์บาไลฟ์ นิวทริชั่น บริษัทโภชนาการระดับโลก เผยผลสำรวจการสูงวัยอย่างมีสุขภาพดีประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2563 โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจทั้งสิ้น 5,500 คน จาก 11 ประเทศและเมือง ได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และฮ่องกง
เมื่อตอบคำถามว่าการสูงวัยเป็นปัญหาสำคัญสำหรับผู้ตอบแบบสำรวจหรือไม่ ประเทศไทยมีคะแนนนำมาเป็นอันดับสองจาก 11 ประเทศ โดยร้อยละ 64 ของผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยตอบว่าการสูงวัยเป็นเรื่องที่พวกเขาให้ความสำคัญ ตามหลังเวียดนาม (ร้อยละ 72) และนำหน้าอินโดนีเซีย (ร้อยละ 63) ในขณะที่ร้อยละ 57 ของผู้ตอบแบบสำรวจภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโดยเฉลี่ยเห็นความสำคัญเรื่องการสูงวัย
“ไทยเป็นประเทศที่มีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ผลสำรวจการสูงวัยอย่างมีสุขภาพดีประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกปี 2563 ของเฮอร์บาไลฟ์ นิวทริชั่น เผยว่า เรื่องการสูงวัยเป็นเรื่องที่ผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยส่วนใหญ่ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง แต่มีเพียง 3 ใน 10 ของผู้ตอบแบบสอบถามเท่านั้นที่เชื่อมั่นว่าพวกเขาจะก้าวสู่การสูงวัยอย่างมีสุขภาพดีได้” นายสุพจน์ ฤทธิพิชัยวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการ เฮอร์บาไลฟ์ นิวทริชั่น ในประเทศไทย กล่าว
“เฮอร์บาไลฟ์ นิวทริชั่น มุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่ส่งเสริมให้คนไทยเห็นความสำคัญของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตสู่การได้รับโภชนาการที่ดีและมีไลฟ์สไตล์ที่แข็งแรงกระฉับกระเฉงให้มากขึ้นเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและช่วยให้พวกเขามีสุขภาพดีแม้ยามสูงวัย เฮอร์บาไลฟ์ นิวทริชั่นจะเดินหน้าแบ่งปันข้อมูลความรู้และเคล็ดลับที่มีประโยชน์ผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนเริ่มเตรียมตัวสู่การสูงวัยอย่างสุขภาพดีตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อชีวิตที่ยืนยาวพร้อมสุขภาพที่ดีขึ้นและมีความสุขกับชีวิตมากขึ้น”
ผลสำรวจยังพบอีกว่า ไทยเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามที่ได้เริ่มเตรียมตัวอย่างจริงจังเพื่อการสูงวัยอย่างมีสุขภาพดีบ้างแล้วมากที่สุด (ร้อยละ 90) โดยร้อยละ 74 ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยเชื่อว่าพวกเขาจะมีความสุขมากขึ้นแม้จะมีอายุมากขึ้น
เมื่อให้นิยาม การสูงวัยอย่างมีสุขภาพดี อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ร้อยละ 62 ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยตอบว่า การสูงวัยอย่างมีสุขภาพดีคือการที่สมองได้ฝึกคิดตลอดเวลาและมีสติปัญญาที่เฉียบแหลม รวมไปถึงไม่เจ็บป่วยเป็นโรคเรื้อรังหรือเฉียบพลัน (ร้อยละ 58), ยังออกกำลังกายได้อย่างสม่ำเสมอ (ร้อยละ 54), ใช้ชีวิตอย่างมีอิสระได้ด้วยตัวเอง (ร้อยละ 50)
ความกลัวว่าจะต้องเจ็บป่วยเพราะมีภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นปัญหาความกังวลอันดับหนึ่งเรื่องการสูงวัยสำหรับผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทย
-2 ใน 5 (ร้อยละ 42) ของผู้ตอบแบบสอบถาม กังวลว่าตัวเองจะเจ็บป่วยเพราะมีภูมิคุ้มกันต่ำลงเมื่ออายุมากขึ้น
-1 ใน 5 (ร้อยละ 20) กลัวว่าพวกเขาจะใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้น้อยลงเมื่อร่างกายอ่อนแอลง
-1 ใน 5 (ร้อยละ 19) กังวลว่าสัญญาณที่บ่งบอกความสูงวัยจะทำให้รูปร่างหน้าตาของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไป
- 3 ใน 10 ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยเชื่อว่าการพูดคุยถึงเรื่องการสูงวัยอย่างมีสุขภาพดีควรเริ่มต้นเมื่อถึงอายุ 30-49 ปี โดยร้อยละ 27 ของผู้ตอบแบบสอบถามมองว่าการสูงวัยกลายเป็นเรื่องสำคัญเมื่ออายุ 50-59 ปี
สำหรับปัญหาสุขภาพสำคัญเกี่ยวกับการสูงวัยสำหรับพวกเขา มีดังต่อไปนี้
-ปัญหาเกี่ยวกับกระดูกและข้อต่อ (ร้อยละ 61)
-ปัญหาเกี่ยวกับสมอง (ร้อยละ 42)
-ปัญหาด้านสายตา (ร้อยละ 34)
• ปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร (ร้อยละ 31)
ทั้งนี้ ร้อยละ 77 ของผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยเชื่อว่าพวกเขาจะสามารถทำตามความฝัน เป้าหมาย และสิ่งที่พวกเขาสนใจเมื่อครั้งอายุยังน้อยได้ ทว่า ร้อยละ 71 เชื่อว่าไหวพริบความเฉลียวฉลาดของพวกเขาจะถดถอยลง อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 90 ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยกล่าวว่า พวกเขาได้เริ่มเตรียมตัวอย่างจริงจังเพื่อการสูงวัยอย่างมีสุขภาพดีบ้างแล้ว ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยสิ่งที่พวกเขาเริ่มทำ ได้แก่
• เลือกรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น (ร้อยละ 75)
• ออกกำลังกายให้มากขึ้น (ร้อยละ 67)
• ทำกิจกรรมหรือมีงานอดิเรกที่ได้ฝึกฝนสมองอยู่เป็นประจำ (ร้อยละ 60)
• รับประทานอาหารเสริมที่ช่วยส่งเสริมการสูงวัยอย่างมีสุขภาพดี (ร้อยละ 56)
• ไปตรวจเช็กสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ (ร้อยละ 45)