xs
xsm
sm
md
lg

มองโอกาส AIS Business รุกตลาด SME ฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากช่วงโควิด-19

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แม้ว่าในภาพรวมของธุรกิจโทรคมนาคมจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 น้อยกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทำให้ผู้บริโภคมีการลดค่าใช้จ่าย รวมถึงการขาดรายได้จากธุรกิจโรมมิ่ง และกลุ่มนักท่องเที่ยว ทำให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมต่างเร่งปรับตัวเพื่อหาช่องทางสร้างรายได้เข้ามาเสริมจากธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ

เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาระหนักจึงตกลงมาอยู่ที่กลุ่มธุรกิจองค์กรที่ต้องเร่งคว้าโอกาสในช่วงที่องค์กรธุรกิจทุกภาคส่วนต้องปรับตัวในการทำดิจิทัล ทรานฟอร์เมชัน เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ยังมองไม่เห็นจุดสิ้นสุด

โดยผู้ที่เข้ามารับหน้าที่ผลักดันกลุ่มธุรกิจองค์กรของเอไอเอส ให้เติบโตอย่าง ‘ธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย’ ที่มีประสบการณ์ในการดูแลลูกค้าองค์กรธุรกิจของไมโครซอฟท์ ก่อนย้ายไปรับตำแหน่งประธานชไนเดอร์ อิเล็คทริค ที่ดูแลเกี่ยวกับดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน ตามด้วยเข้ามาร่วมงานกับทางเอไอเอส ในช่วงเดือนตุลาคม 63 ที่ผ่านมา จึงเข้ามาเร่งผลักดันการรุกเข้าไปในตลาด SME ที่ถือเป็นฐานรากของเศรษฐกิจในประเทศไทย เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเหล่านี้เดินหน้าต่อไปได้

ธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหาร กลุ่มลูกค้าองค์กร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา เชื่อว่าทุกคนต่างได้รับผลกระทบทั้งในแง่ของการใช้ชีวิต และธุรกิจ แต่ในอีกมุม โควิด-19 กลายเป็นเวทีที่ช่วยสร้างให้เกิดการคิดอะไรใหม่ๆ จากการมองถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ช่วยให้ธุรกิจปรับตัวให้เข้ากับการแข่งขันที่รุนแรงได้ง่ายขึ้น ด้วยการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล

“เป้าหมายของการเข้ามาร่วมงานกับเอไอเอส ในครั้งนี้ คือ การนำความเป็นผู้นำในการให้บริการเครือข่าย AIS 5G เข้ามาสนับสนุนองค์กรในไทย ภายใต้การนำโซลูชันระดับโลกเข้ามาช่วยภาคธุรกิจให้เติบโตขึ้นภายในช่วง 3 ปีข้างหน้า”

ด้วยการนำประสบการณ์ที่มีในกลุ่มของลูกค้าองค์กรธุรกิจในไทยที่มีการปรับตัว และตอบสนองต่อเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ทำให้มั่นใจว่าจะสามารถขยายฐานลูกค้าให้มากขึ้น ทั้งกลุ่มลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ และกลุ่ม SME ที่จะมีการเติบโตในระดับเลข 2 หลัก ด้วยการเลือกนำโซลูชันที่เหมาะสมไปใช้งาน

“ดิจิทัล เทคโนโลยี จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ภาคธุรกิจที่มีการประยุกต์ใช้งานได้ประโยชน์ และช่วยให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน”

***ช่วย SME ฟื้นฟูธุรกิจ


ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีจำนวนผู้ประกอบการ SME กว่า 3.1 ล้านราย สร้างจีดีพีให้แก่ประเทศไทยถึง 43% ก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 13 ล้านคน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ SME ถือเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญของธุรกิจดิจิทัล และอีคอมเมิร์ซ ที่มีมูลค่ารวมกว่า 4 ล้านล้านบาท จะเห็นได้ว่าดิจิทัล และอีคอมเมิร์ซได้กลายเป็นช่องทางสำคัญที่เข้ามาสร้างความท้าทายให้แก่ SME เนื่องจากต้องเผชิญกับปัญหาอย่างการรักษา และติดต่อลูกค้ากลุ่มเดิม พร้อมกับการหาลูกค้าใหม่ และการปรับตัวเข้าสู่ช่องทางออนไลน์ เพื่อให้ SME สามารถเข้าสู่ช่องทางออนไลน์ได้มากขึ้น

เอไอเอส ก็จะเข้าไปช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงช่องทางการขายออนไลน์ ที่ปัจจุบัน SME กว่า 38.6% มีช่องทางออนไลน์ และกว่า 79.3% รับชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์แล้ว ไม่ว่าจะเป็นโอนเงิน พร้อมเพย์ หรือระบบเพย์เมนต์ใหม่ที่เกิดขึ้น

“ประเทศไทยยังสามารถที่จะฝ่าฟันไปได้ ภายใต้การดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อให้ในภาพรวมสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยการเข้าถึงช่องทางออนไลน์ และดิจิทัลเพย์เมนต์ จะเข้ามาเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ SME เข้าสู่ธุรกิจที่เป็นออนไลน์มากขึ้น”


นอกจากนี้ เอไอเอสได้ทำการสำรวจกลุ่มลูกค้า SME พบว่า ในช่วงล็อกดาวน์จะเน้นไปที่ 1.การควบคุมค่าใช้จ่ายเป็นหลัก ตามด้วย 2.การสร้างธุรกิจสำรอง อย่างการแตกไลน์ธุรกิจใหม่ พร้อมกับ 3.สร้างสินทรัพย์ผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นที่เหลือก็จะมีการใช้ 4.สื่อออนไลน์ในการโปรโมตสินค้ามากขึ้น 5.วางแผนสำรองในการทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ รวมถึง 6.การหาเครื่องมือ และตัวช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ

โจทย์ทางธุรกิจของ เอไอเอส จึงกลายเป็นการเข้าไปเสริมกลยุทธ์ใน 6 ส่วนนี้ของ SME ประเทศไทย ที่ต้องมีการปรับตัวรับมือกับโควิด-19 ทั้งการเพิ่มรูปแบบการส่งเสริมการขายในตลาดออนไลน์ นำนวัตกรรมมาช่วยในการปรับตัวรับสถานการณ์ เพิ่มความยืดหยุ่นรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น จนถึงการปรับโครงสร้างต้นทุนด้วยการนำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการ


ด้วยประสบการณ์ในการให้บริการทางด้านโทรคมนาคมมากว่า 30 ปี ทำให้ปัจจุบัน AIS Business 5G มีลูกค้าในกลุ่ม SME กว่า 2.5 ล้านราย และมีฐานลูกค้ารวมกว่า 41 ล้านราย ขณะเดียวกัน มีสมาชิกที่สมัครเข้าใช้งาน AIS BizUP SME Privilege กว่า 1 แสนราย ที่สามารถเข้าถึง BizUp Partners ได้มากกว่า 40 ราย

นอกจากนี้ การที่ CSL หรือซีเอส ล็อกซอินโฟ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มธุรกิจของเอไอเอส ทำให้มีช่องทางในการแนะนำธุรกิจบน Yellow Pages ที่มีผู้เข้าใช้งานมากกว่า 13.5 ล้านเพจวิว รวมถึงการนำเสนอผลิตภัณฑ์ และโซลูชันสำหรับ SME โดยเฉพาะมากกว่า 80 รูปแบบ

“การที่เอไอเอสมีผลิตภัณฑ์ และโซลูชันที่พร้อมให้ SME เข้ามาเลือกนำไปใช้งานจะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่ SME ในการเข้าถึงตลาดได้รวดเร็วขึ้น หรือในกรณีที่ยังไม่มีผลิตภัณฑ์และโซลูชันที่เหมาะสม ทางเอไอเอสก็พร้อมที่จะทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ ภายใต้ AIS The StartUp มากกว่า 50 ราย เพื่อพัฒนาร่วมกัน”

สำหรับแนวคิดหลักในการรุกตลาด SME ของ AIS Business 5G ในครั้งนี้ จะอยู่ภายใต้คำนิยามอย่าง “ง่าย มั่นใจ ครบทุกมิติ” เริ่มที่ง่าย จากการที่มีบริการหลากหลาย พร้อมตอบโจทย์ธุรกิจทุกรูปแบบ มั่นใจ บนบริการและเครือข่ายที่มีคุณภาพ ครบทุกมิติ จากการที่มีผู้เชี่ยวชาญช่วยดูแล

ทั้งนี้ จากรายได้รวมของ เอไอเอส ในช่วง 9 เดือนของปี 2563 อยู่ที่ 126,816 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 4% และคาดการณ์รายได้เมื่อรวมทั้งปี 2563 จะมีรายได้รวมลดลงในตัวเลขหลักเดียว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลกระทบมาจากการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ลดลงในช่วงโควิด-19 ด้วยเหตุนี้ กลุ่มลูกค้าองค์กรของเอไอเอสจึงมีความสำคัญมากขึ้น จากเดิมที่มีสัดส่วนรายได้ราว 6-8% ขยับขึ้นมาเป็น 10% ในช่วงปีที่ผ่านมา และมีโอกาสที่จะเติบโตอีกมาก หลังจากที่องค์กรธุรกิจ โดยเฉพาะ SME ต้องปรับตัวมาใช้ช่องทางดิจิทัลมากยิ่งขึ้น

“ปัจจุบันรายได้ในกลุ่มธุรกิจองค์กรของเอไอเอส มาจากองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่เป็นหลัก ในขณะที่ SME มีสัดส่วนในตลาดรวมธุรกิจองค์กรสูงถึง 53% ดังนั้น การขยายบริการให้มาตอบรับความต้องการของธุรกิจ SME จะช่วยให้กลุ่มลูกค้าองค์กรของเอไอเอส สามารถเติบโตต่อไปได้”

***ติดอาวุธดิจิทัล 7S ให้ SME


สำหรับบริการ และโซลูชันที่ AIS Business 5G นำเสนอมาเป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบการ SME ได้เข้าถึงเทคโนโลยี ประกอบไปด้วย 4 โซลูชัน และ 3 บริการที่จะเข้าไปช่วยเหลือธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น 1.AIS SME Mobile Services รูปแบบการสื่อสารที่เหมาะกับธุรกิจออนไลน์ อย่างการออกแพกเกจ SME Pro Social เริ่มต้นเดือนละ 599 บาท รับทั้งโทร.และเน็ต พร้อมใช้ฟรีบริการผู้ช่วย LIVE สด รับฟรีส่วนลดอุปกรณ์ LIVE สด เบื้องต้นแบบครบเซ็ต ใช้ฟรี Social App (Facebook, Instagram, LINE และ What App)

2.AIS SME Internet Services ให้บริการอินเทอร์เน็ตไฟเบอร์ความเร็วสูงแก่ธุรกิจที่ต้องมีบริการอินเทอร์เน็ตให้ลูกค้า อย่าง โรงแรม อพาร์ตเมนต์ และหอพัก 3.AIS SME Digital Marketing Services นำเสนอเครื่องมือการตลาดดิจิทัล เพื่อสื่อสารไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย 4.AIS SME IT & Digital Solutions ระบบไอทีหลังบ้านที่ได้มาตรฐานระดับโลก ทั้งโซลูชัน Work From Home, Cloud, ระบบบัญชีออนไลน์, ระบบติดตาม จนถึงการคุ้มครองประกันภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security insurance)

5.AIS SME Full e-Services บริการ E-Service ที่อำนวยความสะดวกให้แก่นิติบุคคล อย่างบริการรับบิลและใบเสร็จทางออนไลน์ eWithholding TAX และ myAIS สำหรับลูกค้าองค์กร 6.AIS SME Special Privileges ให้สิทธิพิเศษ รวมถึงสะสม AIS Points และ 7.AIS SME Strategic Partnership ในการสร้างโอกาสการเติบโตกับพาร์ตเนอร์ทั้งในไทยและต่างประเทศ ภายใต้ 3 โครงการ คือ AIS The StartUps, AIS BizUp Partners และ AIS Channel Partners


กำลังโหลดความคิดเห็น