ดีอีเอส พบตัวผู้กระทำผิด พ.ร.บ.คอมพ์ 19 บัญชีเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ จากการยื่นดำเนินคดี 496 ยูอาร์แอล ช่วง 13 ต.ค.- 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา เตือนใช้สื่อโซเชียลอย่างสร้างสรรค์ แม้จะใช้บัญชีอวตาร ก็สืบหาตัวบุคคลได้ ขณะที่การดำเนินคดีต่อเจ้าของแพลตฟอร์มเตรียมส่งหนังสือแจ้งเตือนชุดที่ 7 ออกภายในสัปดาห์นี้ ย้ำหากทำธุรกิจในไทยต้องทำอย่างถูกกฎหมาย
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า กระทรวงดีอีเอส ได้ดำเนินคดีเว็บไซต์ผิดกฎหมาย ระหว่างวันที่ 13 ต.ค.-4 ธ.ค.2563 ทั้งสิ้น 496 ยูอาร์แอล (แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก 284 ยูอาร์แอล ยูทูป 81 ยูอาร์แอล ทวิตเตอร์ 130 ยูอาร์แอล และอื่นๆ 1 ยูอาร์แอล) ในจำนวนนี้ได้ดำเนินการพิสูจน์ทราบตัวตนบุคคลแล้ว จำนวน 19 บัญชี แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก 15 ราย และทวิตเตอร์ 4 ราย และได้ส่งข้อมูลผู้กระทำความผิดให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายแล้วแต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อได้
ทั้งนี้ ผลการดำเนินการดังกล่าวเป็นการทำงานเชิงรุกที่ไม่ได้ส่งแค่ยูอาร์แอลเท่านั้น แต่เป็นการสืบทราบหาผู้กระทำความผิดด้วย ดังนั้น ขอให้ประชาชนระมัดระวังในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นบัญชีจริงหรืออวตาร เจ้าหน้าที่สามารถพิสูจน์ทราบตัวตนบุคคลได้ การโพสต์ใดๆ ควรมีวิจารณญาณ
ขณะที่การดำเนินการกับเจ้าของแพลตฟอร์มตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ที่ไม่ดำเนินการปิด หรือลบเนื้อหาผิดกฎหมายภายใน 15 วัน ตามที่มีการส่งหนังสือไปแจ้งเตือนให้ดำเนินการนั้น สำหรับชุดแรกที่ดำเนินการกับเฟซบุ๊กอยู่ในขั้นตอนของตำรวจในการเชิญตัวแทนมาสอบปากคำเพื่อส่งให้ศาลดำเนินคดีต่อไป
ดังนั้น หากเจ้าของแพลตฟอร์มไม่ต้องการให้ดำเนินการทางอาญา ต้องติดต่อเพื่อเปรียบเทียบปรับต่อคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับเสียก่อน ไม่เช่นนั้นจะถูกนำส่งไปยังขั้นตอนอาญา ซึ่งเมื่อถึงขั้นตอนนั้นคดีจะมีจำนวนมากเพราะ 1 ยูอาร์แอล นับเป็น 1 คดี หากเจ้าของแพลตฟอร์มต้องการทำธุรกิจในประเทศไทยอย่างราบรื่นไม่มีคดีต้องดำเนินการปิดทันทีที่กระทรวงดีอีเอสมีหนังสือแจ้งเตือน
นายพุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า เดือน พ.ย.ที่ผ่านมา มีการดำเนินการส่งหนังสือแจ้งเตือนไปแล้ว 2 ชุด และคาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะมีการทำหนังสือแจ้งเตือนอีก 1 ชุด ซึ่งเมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้ส่งหนังสือแจ้งเตือนชุดที่ 5 และครบกำหนดไปแล้วเมื่อวันที่ 21 พ.ย.63 จำนวน 718 รายการ แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก 487 ยูอาร์แอล (ปิดแล้ว 98 ยูอาร์แอล คงเหลือ 389 ยูอาร์แอล) ยูทูป 137 ยูอาร์แอล (ปิดแล้วทั้งหมด) ทวิตเตอร์ 81 ยูอาร์แอล (ปิดแล้ว 8 ยูอาร์แอล คงเหลือ 73 ยูอาร์แอล ) และเว็บไซต์/อื่นๆ 13 ยูอาร์แอล (ปิดแล้ว 6 ยูอาร์แอล คงเหลือ 7 ยูอาร์แอล) โดยในชุดที่ 5 นี้ อยู่ระหว่างขอความเห็นชอบมอบหมายผู้แทนร้องทุกข์กล่าวโทษตามมาตรา 27 ต่อ ปอท. ต่อไป
สำหรับชุดที่ 6 ได้ส่งหนังสือแจ้งเตือนไปเมื่อวันที่ 18 พ.ย.63 และครบกำหนด 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา จำนวน 312 รายการ แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก 167 ยูอาร์แอล (ปิดแล้ว 49 ยูอาร์แอล คงเหลือ 118 ยูอาร์แอล) ยูทูป 111 ยูอาร์แอล (ปิดแล้วทั้งหมด) ทวิตเตอร์ 28 ยูอาร์แอล (ปิดแล้ว 5 ยูอาร์แอล คงเหลือ 23 ยูอาร์แอล) และเว็บไซต์/อื่นๆ 6 ยูอาร์แอล (ปิดแล้ว 1 ยูอาร์แอล คงเหลือ 5 ยูอาร์แอล) ซึ่งกำลังเตรียมรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขอความเห็นชอบร้องทุกข์กล่าวโทษตามมาตรา 27 กับเจ้าของแพลตฟอร์มที่ไม่ดำเนินการตามคำสั่งศาลต่อไป
ขณะที่ภายในสัปดาห์นี้ เตรียมทำหนังสือแจ้งเตือนต่อแพลตฟอร์มต่างๆ เป็นชุดที่ 7 จำนวน 607 รายการ แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก 331 ยูอาร์แอล (ปิดแล้ว 22 ยูอาร์แอล คงเหลือ 309 ยูอาร์แอล) ยูทูป 144 ยูอาร์แอล (ปิดแล้ว 65 ยูอาร์แอล คงเหลือ 79 ยูอาร์แอล) ทวิตเตอร์ 128 ยูอาร์แอล (ปิดแล้ว 6 ยูอาร์แอล คงเหลือ 122 ยูอาร์แอล) และเว็บไซต์/อื่นๆ 4 ยูอาร์แอล (ปิดแล้ว 2 ยูอาร์แอล คงเหลือ 2 ยูอาร์แอล)