xs
xsm
sm
md
lg

ยูโอบีดึงเอสเอ็มอีไทยทำดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันปีนี้เกิน 200 ราย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


โครงการ Smart Business Transformation (SBTP) มีเป้าหมายปรับเปลี่ยนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยให้เป็นองค์กรดิจิทัลให้ได้มากที่สุด
ธนาคารยูโอบีไทยตั้งเป้าหมายช่วยเอสเอ็มอีไทยทำดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันมากขึ้นปีหน้า ขยายจากปีนี้ที่มี 200 รายเริ่มใช้เทคโนโลยีโซลูชันจาก โครงการ Smart Business Transformation (SBTP) ปี 2 ระบุเตรียมรุกกลุ่มธุรกิจระดับกลางที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ทายาทรุ่นที่ 2 ให้จับคู่กับบริษัทโซลูชันไทยที่เชื่อถือได้ วางแผนพาบริษัทเทคโซลูชันไทยบุกเอสเอ็มอีต่างประเทศเต็มรูปแบบ

สิรินันท์ จิรดิลก ผู้อำนวยการอาวุโส Digital Engagement & FinTech Innovation ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงโครงการ Smart Business Transformation (SBTP) ซึ่งมีเป้าหมายปรับเปลี่ยนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยให้เป็นองค์กรดิจิทัลให้ได้มากที่สุด ว่าปีนี้มีองค์กรที่ตัดสินใจใช้เทคโนโลยีโซลูชันจากโครงการนี้กว่า 200 ราย โดยปีหน้าบริษัทจะเน้นขยายให้มีการใช้งานเทคโนโลยีโซลูชันของคนไทยมากขึ้น วางเป้าหมายให้บริษัทมีส่วนช่วยสนับสนุนเทคโนโลยีของบริษัทไทยให้สามารถขยายสู่ตลาดภูมิภาคได้

"โครงการนี้จะขยายตัวเพิ่มแน่นอนในปีหน้า ปัจจัยผลักดันเพราะโครงการเป็นที่รู้จักมากขึ้น เราทำสัมมนาผ่านเว็บไซต์หรือเว็บมินาร์มากกว่า 25 ครั้ง ทำร่วมกับพันธมิตรหลายรายเพื่อช่วยแนะนำโซลูชันที่เหมาะสม"

โครงการ Smart Business Transformation (SBTP) เป็นโครงการที่ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) และเดอะ ฟินแล็บ (The FinLab) บริษัทร่วมทุนของยูโอบีร่วมกันทำแบบปูพรมทั่วภูมิภาค นอกจากเว็บมินาร์หลายบท โครงการยังรวบรวมรายการโซลูชันที่คัดเลือกมาแล้วว่าเชื่อถือได้มาให้องค์กรเอสเอ็มอีได้เลือกใช้งาน ซึ่งจะทำให้ธนาคารสามารถสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าเอสเอ็มอีได้ในระยะยาว

สำหรับประเทศไทย ยูโอบีร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อคัดเลือกโซลูชันไทยที่เชื่อถือได้และได้รับการยอมรับจากรัฐ ผู้ร่วมโครงการจะได้รับส่วนลดหรือสิทธิพิเศษ รวมถึงได้รับเชิญไปร่วมสัมมนา แอดไลน์พูดคุยข้อมูลเพิ่มเติมจากพันธมิตรโครงการ ทำให้แม้จะเป็นโซลูชันเล็ก แต่ก็ผ่านการทดสอบแล้วว่ามีประสิทธิภาพพร้อมทำตลาด ทำให้องค์กรมีโอกาสได้ทดลองใช้ฟรีก่อนเริ่มชำระค่าบริการจริง

ความต่างของโครงการในปีหน้าคือการต่อยอด จากที่เริ่มโครงการช่วงกลางปี 2019 ยูโอบีช่วยเอสเอ็มอีไทยทำดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันผ่านเทคโนโลยีโซลูชันของต่างประเทศ เนื่องจากเป็นโครงการระดับภูมิภาค แต่ปีนี้บริษัทเริ่มนำเทคโนโลยีโซลูชันไทยเข้ามาเสนอให้เอสเอ็มอีไทย ทำให้การดำเนินงานง่ายกว่าการสื่อสารกับบริษัทต่างประเทศที่ต้องทำผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์

 สิรินันท์ จิรดิลก
สำหรับการระบาดของโควิด-19 ผู้บริหารยูโอบีกล่าวว่า เป็นช่วงเวลาที่เอสเอ็มอีต้องการปรับเปลี่ยนตัวเองให้อยู่รอด โครงการจึงมีการปรับไม่ได้นำเสนอเฉพาะเทคโนโลยี แต่เน้นให้ผู้ประกอบการทำธุรกิจต่อได้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Line หรือ Shopee เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น โครงการจึงมองที่เทคโนโลยีที่เหนือชั้นกว่าเดิม เช่น ระบบแชตบอทของคนไทย Zwiz.ai ซึ่งมีการสอนการประยุกต์ใช้ผ่านเว็บมินาร์ ตั้งแต่การติดตั้งแชตบอท การให้สิทธิทดลองใช้ 2-3 เดือน ก่อนจะตัดสินใจจ่ายเงินเมื่อพึงพอใจ

“โครงการนี้เราทำก่อนโควิด-19 ยูโอบีมีลูกค้าขนาดใหญ่ กลาง ถึงเล็ก ปีหน้าเราจะเน้นที่ระดับกลาง ที่กำลังเปลี่ยนผู้บริหารสู่รุ่นที่ 2 จะมีการผลักดันให้เข้าเวิร์กชอป นอกจากนี้ โครงการปีหน้าจะขยายไปที่เทคโนโลยีโซลูชันคนไทยมากขึ้น เราอยากมีส่วนสนับสนุนบริษัทเทคโนโลยีไทย เพื่อนำเอาไปให้บริษัทอื่นในภูมิภาคได้ใช้งาน เหมือนที่โซลูชันของมาเลเซียสามารถนำมาใช้กับประเทศอื่นได้ จุดนี้เราจะจัดเป็น “เทคพิชชิ่ง" เป็นการคัดเลือกและพิชชิ่งระดับภูมิภาค”

สิรินันท์ เผยว่าเกิน 90% ของเอสเอ็มอีที่นำเทคโนโลยีจากโครงการไปใช้ เป็นองค์กรระดับเล็กที่สามารถปรับใช้เทคโนโลยีได้เร็ว เช่น การนำร้านค้าเข้าอีมาร์เก็ตเพลส สำหรับปีหน้า แม้ยูโอบีจะมีแผนขยายไปยังเอสเอ็มอีระดับกลาง แต่สถานการณ์โควิด-19 อาจมีผลกระทบกับการติดต่อกับลูกค้ากลุ่มนี้ซึ่งต้องเดินทางไปพบ ถือเป็นข้อจำกัดที่มีโอกาสให้สัดส่วนลูกค้ากลุ่มนี้ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก

สิรินันท์ มองว่าโควิด-19 ไม่ได้เร่งให้โครงการนี้ขยายตัว แต่มีผลต่อการเปลี่ยนลักษณะการเข้าร่วมโครงการมากกว่า โดยโควิด-19 มีผลให้จำนวนคนเข้าร่วมเว็บมินาร์มีมากขึ้น ผ่านความต้องการที่มากขึ้น ทำให้เปลี่ยนจากการใช้เวลาดำเนินการนานให้สั้นลง

ความท้าทายของโครงการนี้คือ มายด์เซ็ตของผู้บริหารองค์กร สิรินันท์ อธิบายว่าเทคโนโลยีโซลูชันวันนี้มีให้เลือกหลากหลาย แต่องค์กรไม่น้อยยังสับสนว่าควรเลือกแบบไหนจึงจะเหมาะสมมากกว่า ดังนั้น การเข้าถึงและความรู้ในการตัดสินใจที่น้อย ถือเป็นความท้าทายที่หนักกว่าประเด็นของเงินลงทุน

สิรินันท์ ยอมรับว่า ดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันกลายเป็นพื้นที่ที่ธนาคารหันมาแข่งขันกันในยุคนี้ เนื่องจากหลายธนาคารพยายามแสดงจุดยืนสนับสนุนเอสเอ็มอีให้เติบโต ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับนโยบายรัฐที่ดีอยู่แล้ว

"แต่ละธนาคารใช้วิธีต่างกัน ธนาคารใหญ่จะมาลงลึกอย่างที่เราทำอาจจะไม่ได้ แต่เราทำให้เอสเอ็มอีเข้าถึงได้ง่ายด้วยเว็บมินาร์ ให้เอสเอ็มอีเข้าใจตัวเองก่อน ให้รู้ปัญหา เพื่อจะได้หาโซลูชันที่ถูกต้อง"

การที่ลูกค้าธนาคารทำดิจิทัลทรานสฟอร์เมชัน ไม่มีผลทำให้ยอดการขอสินเชื่อเพื่อลงทุนระบบเซิร์ฟเวอร์ไอทีลดลง
สำหรับงานสัมมนาล่าสุด ยูโอบีเลือกกระตุ้น "ผู้บริหารด้านการเงิน” ให้ตื่นตัวกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อตั้งรับโลกเศรษฐกิจยุคหลังโควิด-19 โดยดึงหัวข้อ "Digital CFO บทบาทของผู้บริหารในยุค Digital Transformation” เพื่อให้เอสเอ็มอีไทยเข้าถึงความสำคัญของ Digital Transformation ที่มีความชัดเจนมากขึ้นหลังโลกต้องเผชิญหน้ากับโควิด-19 ที่ผู้บริหารการเงินยุคใหม่จะต้องปรับตัว มองหาแนวทางดิจิทัลมาใช้ขับเคลื่อนธุรกิจให้ก้าวไปข้างหน้า รวมถึงต้องให้ความสำคัญ ใส่ใจ และเรียนรู้เครื่องมือทางเทคโนโลยีใหม่ เพื่อการทำงานที่คล่องตัวมีประสิทธิภาพ

งานนี้ยูโอบีดึงบริษัทคนไทยอย่าง Fusion Solution มาแสดงวิธีการเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลโดยใช้ Power BI และ Microsoft Azure ขณะเดียวกันก็เชิญบริษัท BigWork มาถ่ายทอดการปรับกระบวนธุรกิจสู่ Digital Transformation ผ่านระบบ ERP on Cloud ซึ่งช่วยแก้ปัญหาเรื่องข้อมูลไม่เชื่อมโยงกันของเอสเอ็มอีบางราย ซึ่งจะทำให้พนักงานได้ทำงานบนระบบเดียวกัน จัดการคลังสินค้าได้ง่ายขึ้นสำหรับธุรกิจที่มีหลายสาขา แถมยังจัดการข้อมูลแบบเรียลไทม์จากที่ผ่านมา การคีย์ข้อมูลจะทำให้ใช้เวลาหลายวันกว่าธุรกิจจะได้รับรายงาน แถมยังเป็นคลาวด์ที่ฟีเจอร์อัปเดตได้อัตโนมัติ

ความร่วมมือระหว่างยูโอบีกับไมโครซอฟท์ในโครงการนี้ไม่ใช่รูปแบบเอ็กซ์คลูซีฟ ผู้บริหารระบุว่า ลูกค้าสามารถตัดสินใจเลือกหรือไม่เลือกระบบที่นำเสนอได้อย่างเสรี โดยบริษัทเปิดกว้างทำงานคู่ขนานกับทุกบริษัทเทคโนโลยีไทย รวมถึงทุกบริษัทที่ต้องการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ ซึ่งยูโอบีมีบริการให้คำปรึกษาเรื่องการตั้งบริษัทที่สิงคโปร์ ทั้งด้านเอกสารตั้งบริษัท หาบุคลากร และการแนะนำทำเล ทำให้ทุกบริษัทที่เข้าโครงการล้วนสามารถใช้บริการส่วนนี้ได้เหมือนกัน

ในมุมผู้ให้บริการสินเชื่อ สิรินันท์ เผยว่าการที่ลูกค้าธนาคารทำดิจิทัลทรานสฟอร์เมชัน ไม่มีผลทำให้ยอดการขอสินเชื่อเพื่อลงทุนระบบเซิร์ฟเวอร์ไอทีลดลง เนื่องจากการพัฒนาสู่ระบบคลาวด์ที่มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการตั้งระบบแม่ข่ายนั้นจะเป็นการเปลี่ยนการใช้เงินจากทุนมาเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือน ซึ่งเอสเอ็มอียังมีค่าใช้จ่ายเหมือนเดิม แต่ปรับบัญชีได้ ทำให้การใช้คลาวด์ หรือการเป็นสมาชิกบริการโซลูชันราคาประหยัดแบบจ่ายรายเดือน จะช่วยให้เอสเอ็มอีบริหารเงินสดได้ดีขึ้น




กำลังโหลดความคิดเห็น