พาโล อัลโต้ เน็ตเวริก์ส แนะแนวทางปฏิบัติในการปกป้องลูกให้พ้นจากภัยทางไซเบอร์ ระบุทุกวันนี้ภัยไซเบอร์คุกคามเข้าใกล้ตัวผู้ใช้เรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ทุกคนต้องทำงานและเรียนจากที่บ้าน ทำให้ใช้เวลากับโลกเสมือนจริงมากขึ้น และแน่นอนว่าอาจเป็นการเพิ่มโอกาสของภัยจากคนแปลกหน้าที่พยายามเข้าถึงครอบครัว พ่อแม่จึงจำเป็นต้องสวมบทบาท CIO หรือหัวหน้าฝ่ายสารสนเทศ ของบ้านเพื่อช่วยให้ทุกคนรู้วิธีท่องโลกอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย
เจน มิลเลอร์ ออสบอร์น รองผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองภัยคุกคาม Unit 42 โดยพาโล อัลโต้ เน็ตเวริก์ส เผยเคล็ดลับเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติง่ายๆ ในการปกป้องเด็กๆ ให้พ้นจากภัยทางไซเบอร์ภายในบ้าน เริ่มด้วย การทำความเข้าใจว่าบุตรหลานกำลังทำอะไรบนโลกออนไลน์ โดยหากมีการใช้อุปกรณ์ส่วนตัว ให้ตั้งค่าการควบคุมโดยผู้ปกครองในอุปกรณ์ของลูก เพื่อให้บุตรหลานจะต้องได้รับอนุญาตก่อนที่จะดาวน์โหลดหรือทำการซื้อสิ่งใด ขณะเดียวกัน ก็ควรตรวจสอบการตั้งค่าของแอปพลิเคชันยอดนิยม เช่น Fortnite ซึ่งมีตัวเลือกในการบล็อกการแชตในเกม
นอกจากนี้ พ่อแม่ควรรู้และเข้าใจบัญชีโซเชียลมีเดียที่เด็กๆ ใช้ รู้ว่าผู้ติดต่อของพวกเขาคือใครและกำลังสนทนาอะไรอยู่ และควรพูดคุยกับพวกเขาเกี่ยวกับการเปิดกว้างของอินเทอร์เน็ต อิสระที่ทุกคนสามารถโพสต์อะไรก็ได้บนโลกออนไลน์และสอนการสังเกตข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง
ข้อแนะนำที่ 2 คือ การระวังพฤติกรรมที่น่าสงสัยกับแอปพลิเคชันการประชุมทางวิดีโอ เนื่องจาก “อันตรายจากคนแปลกหน้า” มักมากับโลกเสมือนจริงเช่นเดียวกับที่เราพบเจอในสังคมทุกวัน ผู้ปกครองจึงควรแนะนำเด็กๆ ให้ออกจากการประชุมออนไลน์ หากพบเจอการกระทำที่น่าสงสัยซึ่งไม่สามารถยอมรับได้ในชีวิตจริง เช่น ผู้เข้าร่วมประชุมที่ไม่รู้จักและไม่มีการแจ้งเตือนมาก่อน
ข้อแนะนำที่ 3 คือ อธิบายถึงความสำคัญของรหัสผ่านที่คาดเดายาก อาจจะเล่าเปรียบเทียบรหัสผ่านกับกุญแจบ้าน ว่ากุญแจนั้นปกป้องทุกสิ่งภายในบ้านและจำเป็นต้องเก็บรักษามันไว้ให้ปลอดภัย ห่างไกลจากคนแปลกหน้า หรือแม้กระทั่งจากเพื่อนของพวกเขาเอง สำหรับรหัสผ่านนั้นก็เหมือนกับกุญแจ ที่ควรใช้ต่างกันเพื่อเปิดประตูแต่ละบาน ควรใช้รหัสผ่านที่ต่างกันสำหรับอุปกรณ์ส่วนตัวและบัญชีต่างๆ ที่สามารถกำหนดรหัสผ่านได้ด้วยตัวเอง นอกจากนี้ ควรเล่าถึงตัวจัดการรหัสผ่าน (password manager) ซึ่งเหมือนกับพวงกุญแจ เป็นแอปพลิเคชันที่เก็บรหัสผ่านไว้ด้วยกันเพื่อการใช้งานง่าย ผู้ปกครองควรเข้าถึงรหัสผ่าน/password manager ของบุตรหลานได้
ข้อแนะนำที่ 4 คือ สังเกตสิ่งที่บุตรหลานกำลังทำ อาจจะวางตำแหน่งหน้าจอเพื่อให้สามารถมองเห็นกิจกรรมของบุตรหลาน และถ้าเป็นไปได้ ให้ใช้พื้นหลังเสมือนจริงขณะที่มีการเรียนทางไกล เพื่อช่วยปกป้องความเป็นส่วนตัวและให้มุ่งความสำคัญกับการเรียนรู้ ที่สำคัญควรพูดคุยกับเด็กๆ เกี่ยวกับอันตรายของการคลิกลิงก์ที่มีข้อเสนอดีเกินจริง กระตุ้นให้เด็กตั้งถามพ่อแม่ก่อนจะคลิกเข้าไป เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว จากนั้นให้เปิดแท็บเบราว์เซอร์ใหม่เพื่อเข้าไปยังเว็บไซต์โดยตรง
ข้อแนะนำที่ 5 คือ อย่าเปิดเผยข้อมูลเกินความจำเป็น ควรกำหนดขอบเขตเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กๆ สามารถโพสต์ทางออนไลน์ เช่น ไม่มีภาพใบหน้า ไม่เปิดเผยตำแหน่งที่ระบุตัวตนได้ง่ายและไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ชื่อ นามสกุล ข้อมูลติดต่อโรงเรียน ร่วมกับการเปลี่ยนการตั้งค่าอุปกรณ์ของคุณเพื่อปิดเมทาดาทา (metadata) บนแอปพลิเคชันกล้อง วิธีนี้ช่วยให้มั่นใจได้ว่าคนแปลกหน้าไม่สามารถรู้ได้ว่าครอบครัวอยู่ที่ไหนจากรูปภาพที่โพสต์ทางออนไลน์
ข้อสุดท้ายคือ ควรปรับปรุงระบบให้ทันสมัยอยู่เสมอ เพราะการอัปเดตซอฟต์แวร์ล่าสุดให้อุปกรณ์อยู่เสมอ หมายถึงการอัปเดตความปลอดภัยด้วยเช่นกัน